Skip to main content
sharethis

นักวิเคราะห์มองเรื่องที่นายกรัฐมนตรีกัมพูชาคนใหม่ 'ฮุน มาเนต' เดินทางเยือนจีนเป็นชาติแรกหลังรับตำแหน่ง เพื่อกระชับสัมพันธ์และเป็นไปตามกรอบความร่วมมือ ''เพชรหกเหลี่ยม" ของจีน ในขณะที่อาเซียนหลายประเทศกำลังขัดแย้งกับจีนในประเด็นข้อพิพาททะเลจีนใต้

19 ก.ย. 2566 เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของกัมพูชา ฮุน มาเนต เดินทางไปเยือนกรุงปักกิ่ง ประเทศจีนในฐานะการเดินทางเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรก หลังจาก  ฮุน มาเนต เพิ่งได้สืบทอดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาจากอดีตผู้นำอำนาจนิยม ฮุน เซน พ่อของเขาเองเมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา

ภาพการพบปะกันระหว่างฮุน เซน(ซ้าย) ในขณะที่ยังเป็นนายกรัฐมนตรีและฮุน มาเนต ลูกชาย(กลาง) ที่เดินทางไปเยือนจีนเมื่อปี 2020 และได้พบกับสีจิ้นผิง(ขวา) ภาพจากเฟซบุ๊กของ Hun Manet

มีการวิเคราะห์ถึงการเดินทางของไปเยือนจีนเป็นที่แรกของ ฮุน มาเนต ว่ายังคงจุดยืนเดิมของกัมพูชาในการสานสัมพันธ์อย่างอบอุ่นกับจีนผู้ที่เป็นพันธมิตรทางการเมืองและทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกับกัมพูชามากที่สุด ในคำแถลงของกระทรวงต่างประเทศของกัมพูชาระบุว่าทั้งสองประเทศทำการหารือกันเพื่อกระชับความสัมพันธ์สำหรับอนาคตร่วมกัน โดยจะมีการสร้าง "ประชาคมกัมพูชา-จีน" ขึ้นซึ่งเป็นแนวทางยุทธศาสตร์สำหรับความสัมพันธ์สองฝ่ายและสำหรับประเด็นในระดับภูมิภาคไปจนถึงระดับโลก

ที่ผ่านมาจีนมีอิทธิพลอย่างมากในระดับที่มีนัยสำคัญต่อการเมืองและเศรษฐกิจของกัมพูชา เห็นได้ว่ามีโครงการต่างๆ จากทุนจีนจำนวนมากอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของกัมพูชารวมถึงกรุงพนมเปญด้วย ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมหรือคาสิโน นอกจากนี้ธนาคารของรัฐบาลจีนยังได้ให้ทุนกู้ยืมแก่กัมพููชาในการสร้างสนามบิน, ถนน และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ โดยที่กัมพูชาเป็นหนี้จีนอยู่ 10,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นคิดเป็นมากกว่าร้อยละ 40 ของหนี้ต่างชาติทั้งหมดของกัมพูชา

กัมพูชามีการสานสัมพันธ์กับจีนผ่านทางอดีตผู้นำ ฮุน เซน แล้ว โดยที่ ฮุน เซน เพิ่งจะประกาศลงจากตำแหน่งเมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมาหลังจากที่ปกครองกัมพูชามาเกือบ 40 ปี พรรคประชาชนกัมพูชาของ ฮุน เซน สามารถยึดกุมอำนาจผ่านการปกครองแบบอำนาจนิยมที่มีการกำจัดคู่แข่งทางการเมืองทำให้ไร้กำลังในการต่อกร

ก่อนหน้าที่ ฮุน มาเนต จะเดินทางเยือนจีน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของจีน หวังอี้ ก็เคยเดินทางเยือนกัมพูชาเพื่อย้ำจุดยืนในข้อตกลงร่วมที่ทั้งสองประเทศจะเป็นพันธมิตรต่อกัน ในช่วงเวลาไม่นานหลังจากที่ฮุน เซน ประกาศว่าจะมีแผนลงจากตำแหน่งผู้นำ

ฮุน มาเนต เคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพกัมพูชามาก่อนที่จะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มาเนตเรียนจบจากนายร้อยเวสต์ปอยต์ ที่สหรัฐฯ ก็จริง แต่ก็มีการประเมินไว้ว่าเขาจะรักษาความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ เอาไว้แบบห่างๆ เท่านั้น

ที่ผ่านมาในสมัย ฮุน เซน ทางการสหรัฐฯ แสดงการไม่ยอมรับต่อการกระทำที่ไม่เป็นประชาธิปไตยของฮุน เซน และแสดงความกังวลต่อเรื่องที่กัมพูชากับจีนร่วมกันขยายฐานทัพเรือเรียมที่อ่าวไทยเมื่อปีที่แล้ว (2565) ซึ่ง ฮุน เซน แถลงปฏิเสธมาโดยตลอดว่ากัมพูชาไม่ได้ให้สิทธิแก่จีนในการตั้งฐานทัพของตัวเองที่เรียม

กัมพูชาประกาศสนับสนุนนโยบาย "จีนหนึ่งเดียว"

มีการตั้งข้อสังเกตอีกว่า ก่อนหน้าที่ ฮุน มาเนต จะเดินทางไปเยือนจีนตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรี หลี่เฉียง นั้น ฮุน มาเนต เคยแถลงไว้ว่ารัฐบาลใหม่ของกัมพูชาจะ "มีจุดยืนคงเดิม" ต่อนโยบาย "จีนหนึ่งเดียว" และต่อ "นโยบายไม่แทรกแซง" กิจการของจีน โดยที่นโยบายจีนหนึ่งเดียวที่ว่านี้เป็นนโยบายที่จีนอ้างว่าประเทศไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีนในข้อพิพาทเรื่องอาณาเขตอธิปไตยคาบสมุทรไต้หวัน

นอกจากนี้จีนกับกัมพูชายังระบุถึงแผนการจะพบปะหารือหรือประชุมร่วมกันในงานอื่นๆ เช่นงานรำลึก 65 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ หรืออาเซียน-จีน เอ็กซ์โป ครั้งที่ 20 ซึ่งทางการจีนระบุว่าการมาเยือนของผู้แทนกัมพูชาจะเป็นการส่งเสริม "ความร่วมมือทางยุทธศาสตร์อย่างครอบคลุมระหว่างทั้งสองประเทศในขั้นถัดไป"

นักวิเคราะห์มองว่าการที่กัมพูชายังคงความสัมพันธ์กับจีนไว้เป็นวาระหลักๆ สำหรับกัมพูชา ในช่วงที่สหรัฐฯ กับจีนกำลังมีการแข่งขันทางยุทธศาสตร์ต่อกันมากขึ้นเรื่อยๆ แสดงให้เห็นว่ากัมพูชาต้องการผลประโยชน์ตอบแทนจากจีนเพื่อแลกกับการสนับสนุนนโยบายการต่างประเทศของจีน

Chhay Lim นักวิชาการจากศูนย์เพื่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยภูมินทร์พนมเปญ วิเคราะห์ว่าการที่กัมพูชาผูกมิตรกับจีนนั้นพวกเขามีวาระด้านนโยบายการต่างประเทศบางอย่างอยู่แน่นอน และการผูกสัมพันธ์ทางการเมืองและการทูตอย่างแน่นแฟ้นเช่นนี้ เป็นการส่งเสริมให้เกิดการสนับสนุนกันเองแบบต่างตอบแทนในวาระบางอย่าง

Lim ยกตัวอย่างเรื่องที่กัมพูชาประกาศสนับสนุนนโยบายจีนหนึ่งเดียวที่เป็นเสมือนจุดยืนต่อประเด็นซินเจียง, ฮ่องกง และไต้หวัน เพื่อเป็นการตอบแทนจีนก็จะสนับสนุนโครงการพัฒนาในกัมพูชาต่อไปถึงแม้ว่าชาติตะวันตกจะวิพากษ์วิจารณ์ฮุน เซน ในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการกดขี่ข่มเหงนักกิจกรรมทางการเมืองก็ตาม

กรอบความร่วมมือ "เพชรหกเหลี่ยม" ของจีน และประเด็นข้อพิพาททะเลจีนใต้

การที่กัมพูชาพัฒนาความสัมพันธ์กับจีน ยังเป็นส่วนหนึ่งของกรอบความร่วมมือ "เพชรหกเหลี่ยม" ของจีนด้วย ซึ่งกรอบดังกล่าวนี้มีการเน้นความสำคัญ 6 ด้านคือ ความร่วมมือทางการเมือง, ประสิทธิภาพและคุณภาพในการผลิต, เกษตรกรรม, พลังงาน, การแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนด้วยกัน

นอกจากนี้ในสื่อรัฐบาลจีนยังระบุอีกว่า สีจิ้นผิง ผู้นำจีนได้กล่าวเน้นย้ำถึงเรื่องที่จีนสนับสนุนกัมพูชาในการพัฒนา รักษาความพร้อมที่จะการสื่อสารกันในทางยุทธศาสตร์ และมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การบริหารในระดับที่ลึกซึ้งกว่าเดิม นอกจากนี้ยังระบุอีกว่ากรอบความร่วมมือของสองประเทศนี้ยังจะมีการสร้าง "แนวพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม" และ "แนวพื้นที่ปลาและข้าว" เป็นโครงการหลักๆ ที่จะพัฒนาร่วมกันด้วย

กัมพูชาเป็นประเทศที่สนับสนุนจีนมานานแล้ว รวมถึงแสดงตัวสนับสนุนจีนในเวทีของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ด้วย เพื่อแลกกับเงินทุนพัฒนาจากจีน มีการตั้งข้อสังเกตจากนักวิเคราะห์ว่า กัมพูชาตัดสินใจไม่เข้าร่วมซ้อมรบกับอาเซียนในเดือน ก.ย. นี้ โดยที่อินโดนีเซียซึ่งเป็นประธานอาเซียนสมัยปัจจุบัน เป็นผู้ที่เสนอให้มีการซ้อมรบดังกล่าวในพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้ที่จีนอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ดังกล่าวในหลายส่วนมาก

Em Sovannara ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ในกรุงพนมเปญวิเคราะห์ว่าที่กัมพูชาไม่เข้าร่วมการซ้อมรบกับอาเซียนเพราะกัมพูชาไม่อยากมีความบาดหมางกับจีน

ในช่วงที่กัมพูชาเคยเป็นประธานอาเซียนในปี 2555 ก็เคยมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กัมพูชาว่าทำการปิดกั้นแถลงการณ์ร่วมกันของอาเซียนในประเด็นทะเลจีนใต้ เพราะกัมพูชาต้องการปกป้องจุดยืนของจีนในเรื่องข้อพิพาทน่านน้ำทะเลจีนใต้

เมื่อต้นเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา กลุ่มอาเซียนเองก็ยังคงมีความคิดเห็นไม่ตรงกันว่าจะดำเนินการอย่างไรดีในเรื่องที่จีนมีพฤติกรรมในเชิงรุกล้ำเขตน่านน้ำที่ยังเป็นข้อพิพาท

ยูเลียส เฮอร์มาวัน อาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ มหาวิทยาลัยปาราเฮียงกันคาทอลิก อินโดนีเซีย กล่าวว่าเขากลัวว่ากลุ่มผู้นำอาเซียนจะไม่สามารถแสดงการโต้ตอบร่วมกันต่อจีนได้ ซึ่งมันอาจจะแสดงให้เห็นว่า "จีนมีความสามารถควบคุมอาเซียนได้อย่างมากในฐานะกลุ่มระดับภูมิภาค"

ในกลุ่มประเทศอาเซียน มี ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, มาเลเซีย และบรูไน ที่แสดงออกต่อต้านจีนอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีประเทศสมาชิกอื่นๆ อย่าง กัมพูชา, อินโดนีเซีย, ลาว, พม่า, สิงคโปร์ และไทย ที่ไม่ได้แถลงการณ์ร่วมในการประชุมประจำปีเมื่อไม่นานนี้

อย่างไรก็ตาม มีนักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า กัมพูชาภายใต้ ฮุน มาเนต อาจจะพยายามเข้าหามีปฏิสัมพันธ์กับชาติตะวันตกไปพร้อมๆ กับที่ยังคงสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับจีน

Chhay Lim ระบุว่า ฮุน มาเนต มีความเข้าใจมุมมองของตะวันตก คำถามจึงไม่ได้อยู่ที่ว่ากัมพูชาจะเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ต่อความสัมพันธ์กับจีนหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าพวกเขาจะปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกหรือเข้าหาอย่างเป็นมิตรต่อตะวันตกมากขึ้นหรือไม่ เพราะประเทศตะวันตกก็มีโอกาสจะให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อกัมพูชา จากการที่สหรัฐฯ และยุโรปยังเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดสำหรับกัมพูชา

 

เรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net