Skip to main content
sharethis

ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอตช์ อัพเดทสถานการณ์หลัง พม.เป็นเจ้าภาพประชุมร่วมกับเตรียมพัฒน์ แก้ปัญหากรณี 'หยก' ยังไร้ความคืบหน้าแม้ผ่านมา 10 วันแล้ว ด้าน 'หยก' เข้าไม่ถึงสิทธิด้านการศึกษา ไม่มีสิทธิสอบ เหตุไม่มีชื่อในทะเบียน นร.

 

30 มิ.ย. 2566 ณัย ผาสุข ที่ปรึกษาองค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติฮิวแมนไรท์วอทช์ ออกมาโพสต์ทวิตเตอร์อัพเดทสถานการรณ์ของ 'หยก' ธนลภย์ ผลัญชัย เยาวชนอายุ 15 ปี และผู้ถูกกล่าวหามาตรา 112 เมื่อ 29 มิ.ย. 2566 ระบุว่า ตอนนี้ 'หยก' สามารถไปเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ โดยการแต่งชุดไปรเวทได้แล้ว แต่อาจารย์บางคนยังไม่ตรวจการบ้านให้ ไม่มีชื่อในทะเบียนนักเรียนทำให้ไม่มีสิทธิสอบ และไม่มีสิทธิรับวุฒิการศึกษา ส่วนการประชุมที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นเจ้าภาพ ยังคงไร้ความคืบหน้าเรื่องการแก้ไขปัญหาของหยก แม้จะผ่านมานานกว่า 10 วันแล้ว

 

 

ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (20 มิ.ย.) พม.ในฐานะศูนย์กลางร่วมปรึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาของ 'หยก' ธนลภย์ ผลัญชัย จัดประชุมกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อธิบดีกรมส่งเสริมสุขภาพเด็กและเยาวชน สหวิชาชีพ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 2 ผู้อำนวยการเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ และนายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการและตัวแทนผู้ปกครอง

อย่างไรก็ตาม การประชุมดังกล่าวโดนท้วงติงจากภาคประชาสังคมว่า เป็นการประชุมโดยที่ไม่มีตัวแทนของเยาวชนเข้าประชุมด้วย อาทิ 'หยก' หรือผู้ปกครองของเยาวชน จึงไม่เชื่อว่าการประชุมนี้จะสามารถหาแนวทางแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง 

ส่วนกรณีที่หยก ไม่มีสถานะเป็นนักเรียน เป็นผลมาจากเมื่อต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา แถลงการณ์ของโรงเรียนเตรียมอุดมศีกษาพัฒนาการ เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. และ 17 มิ.ย. ชี้แจงว่า หยก ไม่มีสถานะนักเรียนเนื่องจากทำตามระเบียบมอบตัวของโรงเรียนไม่ครบถ้วน โดยไม่ได้มามอบตัวพร้อมกับผู้ปกครองตามสายเลือด (บิดา-มารดา) ภายในวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการกรอกเข้าระบบจำนวนนักเรียน (DMC) 

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวเคยไปค้นเอกสารระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ 2 ฉบับ ได้แก่ "ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถาบันการศึกษา พ.ศ. 2548" และ "ระเบียบกระทรวงศึกษาว่าด้วยทะเบียนนักเรียน พ.ศ. 2535" ซึ่งบังคับใช้เป็นกฎหมายในขณะนี้ ไม่ได้ระบุว่าต้องให้ผู้ปกครองตามสายเลือดพาบุตร-ธิดาเข้ามอบตัวพร้อมกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net