Skip to main content
sharethis

'พิธา' ย้ำมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแน่นอน มาพร้อมมาตรการลดผลกระทบ SME และมีระบบขึ้นค่าแรงทุกปี โดยพิจารณาจากค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ และการเติบโตทางเศรษฐกิจ 

 

23 พ.ค. 2566 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานวันนี้ (23 พ.ค.) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงความคืบหน้าในการทำงานของพรรคก้าวไกล ซึ่งอยู่ในกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลว่า ถึงแม้ภาคธุรกิจและตลาดทุนอาจกังวลกับความล่าช้าในการรับรองผลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และท่าทีของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แต่ตนและพรรคก้าวไกลเริ่มทำงานทันทีด้วยการเดินสายพูดคุยกับประชาชนกลุ่มต่างๆ เพื่อรับฟังปัญหาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

โดยวันนี้ช่วงเช้า ตนและคณะทำงานเพื่อเปลี่ยนผ่านรัฐบาล (Transition team) ของพรรคก้าวไกล ได้ร่วมประชุมหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในหลายประเด็น และหลังจากนี้จะเดินสายพบกับกลุ่มอื่นๆ ต่อไป เช่น ตัวแทน SMEs, แรงงาน, ธุรกิจท่องเที่ยว, เกษตรกร, นักเรียนนักศึกษา และ เครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน

ในการพูดคุยกับสภาอุตสาหกรรมฯ ประเด็นเรื่องค่าแรงเป็นเพียงหนึ่งในหัวข้อที่หยิบมาพูดคุยกัน โดยสภาอุตสาหกรรมฯ เห็นตรงกับพรรคก้าวไกลว่า เราจำเป็นต้องมองภาพระยะยาวไปที่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเป็นหลัก ซึ่งจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาหลายด้านไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดการต้นทุนพลังงาน การยกระดับทักษะแรงงาน การช่วยเหลือส่งเสริม SME การพัฒนาอย่างยั่งยืน การปรับปรุงกฎระเบียบลดใบอนุญาต ตลอดจนการจัดการน้ำเพื่อเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม หัวข้อทั้งหมดนี้ ตนและสภาอุตสาหกรรมฯ เห็นตรงกันว่าต้องออกแบบให้ครบวงจรและประสานงานข้ามกระทรวงให้ได้ ซึ่งพรรคก้าวไกล ยืนยันว่ามีเจตจำนงทางการเมืองในการแก้ปัญหาทั้งหมดนี้

พิธา ยืนยันว่า พรรคก้าวไกลเห็นความจำเป็นในการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และในรัฐบาลใหม่จะมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามที่หาเสียงไว้อย่างแน่นอน โดยจะนำค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ และการเติบโตทางเศรษฐกิจมาพิจารณา พร้อมกันนี้ต้องมีแพกเกจนโยบายเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อ SME โดยยืนยันว่าหัวใจสำคัญในระยะยาวคือการปรับระบบค่าแรงขั้นต่ำขึ้นทุกปีโดยอัตโนมัติ ตามร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน ที่จะนำเสนอโดยพรรคก้าวไกล เชื่อมั่นว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างเป็นระบบจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งคนทำงานที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และฝั่งผู้ประกอบการจะสามารถควบคุมต้นทุนของตัวเองได้

"การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพื่อบรรเทาทุกข์ของประชาชนจะมีแน่นอน และเชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่นที่มีนโยบายค่าแรงจะเห็นด้วย โดยพรรคก้าวไกลเคยเสนอว่าค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นธรรม สอดคล้องกับผลิตภาพแรงงานที่เพิ่มขึ้นและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 450 บาทต่อวัน หลังจากนี้เราจะเดินหน้ารับฟังความเห็นจากคนทุกกลุ่มอย่างรอบคอบ เพื่อหาข้อสรุปและนโยบายสนับสนุนการปรับตัวที่เหมาะสม" หัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าว

ก่อนหน้านี้ พรรคก้าวไกล เคยหาเสียงนโยบายค่าแรงขั้นต่ำในช่วงก่อนการเลือกตั้งปี 2566 โดยจะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทันที 450 บาทเท่ากันทั่วประเทศ โดยคำนวณให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ และดัชนีค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นทุกปี 

พรรคก้าวไกล เสนอให้รัฐต้องช่วยแบ่งเบาภาระค่าแรงที่สูงขึ้นสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อย (SMEs) โดยช่วง 6 เดือนแรก รัฐจะช่วยสมทบเงินประกันสังคมในส่วนของผู้ว่าจ้าง และสำหรับแรงงานที่ถูกกระทบโดยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ งบประมาณที่ต้องใช้ต่อปีสำหรับเรื่องนี้ราว 16,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีระบบปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นทุกปี โดยการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ปี 2541 มาตรา 87 กำหนดให้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็นประจำทุกปี โดย 1. คำนึงถึงค่าครองชีพ และ 2. การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ระหว่าง 2 ปัจจัยนี้ หากปัจจัยใดเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่า ก็ให้นำมาเป็นฐานในการคำนวณปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำขั้นต้น ที่จะนำไปพิจารณาหารือในคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ในแต่ละปี 

อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนไปเมื่อปี 2562 'อนาคตใหม่' (ปัจจุบันคือพรรคก้าวไกล) ไม่ได้มีการเสนอปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ เพียงแค่ระบุว่าเป็นการปรับขึ้นค่าแรงตามอัตราเงินเฟ้อ และอิงตามสถานการณ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net