Skip to main content
sharethis

สรุปประเด็นสำคัญ “วิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการเขียนกฎหมายป้องกันรัฐประหาร” จากที่ ศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับมติชน ผ่านรายการเอ็กซ์อ๊อกtalk ออกอากาศเมื่อวันที่ 22 เม.ย. ที่ผ่านมา ทางยูทูบมติชนทีวี

นอกจากนี้ยังมีความเห็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทย-ก้าวไกล, ข้อเสนอปฏิรูปกองทัพ-ปฏิรูปศาล ทำได้แค่ไหนอย่างไร, ข้อเสนอนิรโทษกรรม ดราม่าทักษิณกลับบ้านที่ทำคนแตกขั้วมาตั้งแต่อดีตจนถึงวันนี้, ข้อเสนอแก้ ม.112 จะไปได้ไกลแค่ไหน สรุปมาไว้ด้านล่างนี้ด้วย

  • กฎหมายป้องกันรัฐประหาร: ถ้าหากมีการเสนอ ไม่ว่าฝ่ายไหนเป็นคนเสนอก็ควรสนับสนุน แม้ว่าจะค่อนข้างเป็นการแสดงจุดยืนเชิงสัญลักษณ์ ที่เล็งเห็นผลในทางปฏิบัติได้ยาก
  • วรเจตน์มองว่าการต่อสู้แบ่งได้เป็น 3 ส่วน อย่างแรกคือการที่ประชาชนออกมาสู้กับคณะรัฐประหาร การลบล้างผลพวงรัฐประหาร และการป้องกันรัฐประหาร
  • การต่อสู้กับรัฐประหารเป็นคนละเรื่องกับการล้มล้างผลพวงของรัฐประหารที่สำเร็จไปแล้ว ซึ่งไม่ควรมองปนกัน 
  • ส่วนที่พอจะทำได้ คือ ออกกฎหมายล้มล้างผลพวงหลังรัฐประหาร ประกาศให้การนิรโทษกรรมคณะรัฐประหารโมฆะเสียเปล่าทางกฎหมาย เพื่อเปิดทางให้คนทำรัฐประหารเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
  • การออกกฎหมายล้มล้างผลพวงหลังรัฐประหารต้องทำในระดับรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามปี 54-56 รัฐบาลของยิ่งลักษณ์ มีความพยายามแก้รัฐธรรมนูญ บางส่วนซึ่งไม่ใช่เรื่องลบล้างผลพวงรัฐประหาร เป็นการแก้อำนาจเชิงโครงสร้างทางการเมืองบางส่วน แต่ไม่สำเร็จถูกศาลปัดตกไป
  • ข้อสังเกตคือรัฐประหาร 2 ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในสภาวะหลังยุบสภา ไม่มีรัฐบาลตัวจริง อำนาจรัฐค่อนข้างอ่อนแอ ขณะที่ทหารมีทั้งอาวุธ และกลไกที่เอื้อให้ทำรัฐประหารได้ง่ายๆ และไม่ต้องรับผิด
  • ป้องกันรัฐประหารมันยาก จึงควรสร้างกลไกให้การทำรัฐประหารมันยากขึ้น สิ่งที่สำคัญคือเราต้องทำให้รัฐบาลพลเรือนมีอำนาจเหนือรัฐบาลทหาร รัฐบาลพลเรือนที่มีอำนาจเข้มแข็งและยาวนานมากพอ  
  • ประเด็นการปฏิรูปศาล วรเจตน์มองว่าต้องทำให้ศาลมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ที่ผ่านๆ มาศาลมักจะอ้างเรื่องความเป็นอิสระของตุลาการซึ่งนั่นทำให้ศาลหลุดจากความชอบธรรมทางประชาธิปไตย สิ่งสำคัญคือการปฏิรูปโครงสร้างศาลให้มีจุดยึดโยงเกาะเกี่ยวกับประชาชนเพื่อให้ใช้อำนาจในนามประชาชน
  • ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปศาล ในทางหลักการควรทำแน่นอน แต่ในทางปฏิบัติมันไม่ง่าย เพราะโครงสร้างศาลก็มีบุคลากรที่เป็นมรดกมาจากยุค คสช. อยู่ไม่น้อย การเปลี่ยนให้ถึงโครงสร้างต้องอาศัยพรรคการเมืองที่มีอำนาจเข้มแข็งมากพอ ระยะเวลา 4 ปีก็คงไม่พอ ตนมองว่าควรใช้ถึง 8 ปีด้วยซ้ำถึงจะพอเห็นผลบ้าง
  • วรเจตน์ แสดงความคิดเห็นเรื่องความขัดแย้งของพรรคเพื่อไทยกับปิยบุตร แสงกนกกุล บอกว่าการเขียนกฎหมายป้องกันรัฐประหาร ใครเสนอขึ้นมาก็เป็นเรื่องที่ดีทั้งนั้น เป็นเรื่องที่ต้องการความร่วมมือกันในระนาบกว้าง ส่วนที่ร่วมมือกันได้ก็ควรช่วยกันดัน
  • สำหรับมาตรา 112 จุดยืนของวรเจตน์ยังคงเหมือนเดิม กล่าวว่า ม.112 มีปัญหาจริงทั้งในแง่การบังคับใช้ ตัวบทกฎหมาย รวมถึงอุดมการณ์กำกับการใช้การตีความ เป็นปัญหาหลายเลเยอร์ซ้อนกัน ข้อที่เห็นชัดที่สุดคืออัตราโทษในกฎหมายนี้ สูงไม่ได้สัดส่วนกับความผิด กม.นี้เป็นผลพวงจากรัฐประหาร 2519 ด้วย ตนเห็นว่าอย่างน้อยต้องมีการลดโทษ

ข้อเสนอลบล้างผลพวงของรัฐประหาร

นิรโทษกรรม สร้างความปรองดอง ของพรรคการเมือง

ความจริงเรื่องรัฐธรรมนูญก็มีการพูดกันว่าอาจมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญกัน คงเป็นประเด็นใหญ่ที่คงต้องว่ากันอีกต่างหาก ส่วนประเด็นเรื่องลบล้างผลพวงรัฐประหารว่าทำได้ไหม ทำอย่างไร ตนเห็นว่ายังพูดกันน้อยและความเข้าใจยังไปคนละทิศคนละทาง

เพื่อให้เข้าใจชัดเจนขึ้น ในบริบทของรัฐธรรมนูญไทยเรื่องรัฐประหารอาจจะต้องแยกเรื่องนี้ออกเป็น 3 กลุ่ม หนึ่งคือการลบล้างผลพวงรัฐประหาร สองคือการสู้กับคณะรัฐประหาร และการป้องกันรัฐประหาร คือ 3 เรื่องนี้มันพูดซ้อนๆ กันอยู่

เอาเรื่องการป้องกันรัฐประหารก่อน เพราะว่ามีพรรคการเมืองบางพรรคเสนอให้ความผิดฐาน “การทำรัฐประหารไม่มีอายุความ” หรือ “ห้ามศาลปฏิเสธไม่รับฟ้องคดีเกี่ยวกับการรัฐประหาร” ก็คงมีการพูดกันอยู่ 

“ผมมองว่าการป้องกันการรัฐประหารด้วยวิธีการทางกฎหมายเอาเข้าจริงน่าจะเป็นไปได้ยาก หรือเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่ว่าจะเขียนกฎเกณฑ์ที่เป็นกฎหมายขึ้นมาอย่างไรก็ตาม เมื่อทหารยึดอำนาจสำเร็จก็สามารถฉีกได้ทั้งสิ้น”

ต่อให้บางกรณีมีการเขียนกันสมัยที่กลุ่ม resolution มีการรณรงค์เรื่องนี้ กำหนดให้ไม่มีอายุความ กำหนดให้เป็นกฎหมายประเพณี มันก็ทำไม่ได้ ความจริงในทางหลักการ การเขียนกฎหมายให้เป็นประเพณีมันก็ไม่ถูกด้วย

“การเขียนกฎหมายเพื่อป้องกันรัฐประหารมันทำได้ในเชิงสัญลักษณ์ แต่ว่าในเชิงที่จะให้มันเกิดผลขึ้นจริงนั้นทำได้ยาก เป็นไปไม่ได้ เหมือนกับไม่ให้มีการฆ่ากัน เหมือนเขียนกฎหมายห้ามฆ่าคน มันไม่เกิดผลหรอก เพียงแต่ว่าผมไม่ได้บอกว่ามันไม่ดีนะ หมายถึงว่าถ้าจะทำก็ทำไปในเชิงสัญลักษณ์แต่ว่าอย่าไปเล็งผลเลิศว่าจะทำได้สำเร็จ มันอาจจะไม่มีผลในทางปฏิบัติเท่าไหร่”

ประเด็นนี้ที่มีบางพรรคเสนอแล้วก็บางพรรคก็เสนอตาม จากนั้นก็มีการเถียงว่าใครสู้มากกว่าใคร ตนมองว่าถ้าเกิดมันมีการพูดกัน เสนอกัน ก็ถือว่าเป็นเรื่องน่าสนับสนุนไม่ว่าฝ่ายใดเป็นคนเสนอ เพียงแต่ว่าอย่าไปเล็งผลเลิศว่ามันจะทำได้ในทางปฏิบัติ

เขียนกฎหมายป้องกันรัฐประหารเราเคยทำมาแล้ว ห้ามนิรโทษกรรมก็เคยทำมาแล้วรุ่นปี 2517 ไม่ใช่ไม่เคย แต่มันก็ยังเกิดอยู่ดี  อีกอันคือการสู้กับการรัฐประหารอันนี้เป็นการสู้กับความเป็นจริงว่าการที่ทหารเขายึดอำนาจ ประชาชนต่อสู้กับทหารสำเร็จไหม เขาสั่งเคอร์ฟิวแล้วกลับบ้านกันไหม เขาเรียกรายงานตัวแล้ว ปฏิกริยาของการถูกเรียกรายงานตัวเป็นอย่างไร การสู้กันในทางความเป็นจริงแต่ละคนมีข้อจำกัดต่างกันอยู่แล้วแหละ

“การป้องกันรัฐประหารที่ดีที่สุดคือการที่ประชาชนสามารถสู้กับคณะรัฐประหารได้จนการทำรัฐประหารไม่สำเร็จ ซึ่งบ้านเรายังไม่เคยทำสำเร็จเลย หมายความว่าทหารทำรัฐประหารปกติมันก็สำเร็จทั้งนั้นแหละ เว้นแต่ว่าในบางกรณีที่เขาสู้กันเองมันก็เป็นกบฎไป” 

แต่ในกรณีของบ้านเราซึ่งไม่มีครั้งไหนเลยที่ประชาชนลุกขึ้นมาต้านคณะรัฐประหารได้สำเร็จ ตนจึงมองว่าหนทางที่พอทำได้คือการสู้ในทางกฎหมาย คือการเขียนกฎหมายเพื่อล้มล้างผลพวงรัฐประหาร

หมายความว่าปกติเวลามีการยึดอำนาจแล้ว คณะยึดอำนาจเมื่อเขายึดอำนาจสำเร็จก็จะออกกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งในช่วงหลังๆ ก็จะทำเป็นรัฐธรรมนูญไป เมื่อมีการทำรัฐธรรมนูญนิรโทษกรรม กลไกทางกฎหมายมันก็ไม่เดิน

ล่าสุดรัฐธรรมนูญปี 57 ก็ทำเหมือนกับก่อนๆ มา มีการนิรโทษกรรมเอาไว้ในตัวรัฐธรรมนูญปี 57 เรียบร้อยเลย ทำให้คสช.ครองอำนาจต่อมาได้ ถ้าจะทำการลบล้างผลพวงรัฐประหารก็จะต้องเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาและประกาศให้การนิรโทษกรรมเป็นโมฆะไป หรือเสมือนว่าไม่เคยเกิดขึ้น คือเสียเปล่าไป เหตุผลที่ต้องเป็นแบบนั้นก็เพราะว่าเพื่อเปิดทางให้คนที่ทำรัฐประหารเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ พูดง่ายๆ คือเปิดทางให้คสช.ที่ตอนนี้ยังไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพราะว่ามันมีรัฐธรรมนูญล็อกเอาไว้อยู่ คือนิรโทษกรรมเอาไว้ต่อเนื่องกันมา ก็ต้องทำให้การนิรโทษกรรมมันเสียเปล่าไปซะในทางกฎหมายเพื่อดึงห้ามล้อตัวนี้ออก พอดึงห้ามล้อตัวนี้ออกการกระทำรัฐของคณะรัฐประหารในปี 57 มันก็ต้องไปพิสูจน์กันว่าเข้าองค์ประกอบความผิดฐานเป็นกบฎหรือไม่ ถ้าเป็นก็ต้องมีการลงโทษ

ความหมายของการลบล้างผลพวงรัฐประหารในบริบทที่ตนเคยเสนอเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่ในปัจจุบันอาจมีบริบทเรื่องอื่นๆ เพิ่มเติมอีก เช่น การใช้อำนาจในระหว่างนั้น เรานึกถึงการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในกรณีเหมืองทองอัครา ที่อาจยังไม่มีคนประเมินว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหนอย่างไร อันนี้คือความหมายของการลบล้างผลพวงรัฐประหาร ในด้านหนึ่งคือเปิดทางให้คณะรัฐประหารเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม อีกส่วนหนึ่งคือดำเนินการกับการใช้อำนาจในเวลานั้นที่มันก่อให้เกิดความเสียหายในเวลานั้น

ความจริงเรื่องนี้กลุ่มนิติราษฎร์เคยเสนอไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อนแล้วมันก็หายไป ตอนหลังคนมักไปโฟกัสว่าศาลยอมรับอำนาจการรัฐประหารเป็นหลักมากกว่า หรือจะไปเขียนกฎหมายมากกว่า แต่ตนมองว่าการเปลี่ยนทัศนคติของศาลมันค่อนข้างยาก ในหลายกรณีอาจจะทำไม่ได้ด้วย แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราเรียกร้องต่อศาลไม่ได้เลย เพราะหลายกรณีก็เรียกร้องได้ การตีความอาจทำได้ในบางส่วน แต่ถ้าถึงกับให้ศาลต่อต้านรัฐประหารเลยอาจจะยาก เนื่องจากทหารทำรัฐประหารสำเร็จแล้ว ประชาชนต่อต้านไม่สำเร็จ มันเป็นแบบนี้

เมื่อประชาชนมีอำนาจขึ้นมา เราก็ย้อนกลับไปดำเนินการกับเรื่องนั้น ทำให้การนิรโทษกรรมเป็นโมฆะซะ เปิดทางให้คนซึ่งทำรัฐประหารเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งต้องเริ่มต้นจากรัฐประหารครั้งที่ใกล้ที่สุดก่อนสมัยนิติราษฎร์เสนอนั่นคือรัฐประหารปี 49 ปัจจุบันก็คือต้องเป็นรัฐประหารปี 57

ข้อเสนอพรรคการเมืองกับความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ

วรเจตน์มองว่า ในทางปฏิบัตินั้นไม่ง่าย ถึงจะลบล้างผลพวงรัฐประหารได้ก็ต้องอาศัยความเข้าใจของศาลอีก ศาลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการฟ้องร้องคนที่ทำรัฐประหารขึ้นสู่ศาลให้ศาลตัดสิน ก็ต้องมีเจตจำนงก่อนทำ เมื่อทำเสร็จแล้วก็ต้องมีชุดคำอธิบาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังไม่เคยเกิดขึ้น

การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นอีกจุดหนึ่งที่มีโอกาสจะทำได้ 

วรเจตน์มองว่า เป็นจุดหนึ่งที่มีโอกาสทำได้ เพียงแต่ว่าตอนนี้ความสนใจของคนไปอยู่ที่เรื่องอื่นเป็นหลัก ไม่ได้อยู่ที่เรื่องนี้ แล้วสุดท้ายเอาเข้าจริงพรรคการเมืองอาจมองว่าเรื่องนี้ถ้าจะทำมันต้องไปแก้รัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่เลย เพราะว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นระดับรัฐธรรมนูญ

ความจริงในช่วงสมัยปี 54-56 รัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีความพยายามแก้รัฐธรรมนูญ ในบางส่วน ไม่ใช่เรื่องลบล้างผลพวงรัฐประหาร แต่แก้เรื่องอำนาจในเชิงโครงสร้างทางการเมืองบางส่วน แต่ไม่สำเร็จ ศาลรัฐธรรมนูญก็ตัดสิน ซึ่งตนก็ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาล

รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยมีโอกาสทำเรื่องนี้สำเร็จมากกว่า

วรเจตน์มองว่า มีโอกาสสำเร็จมากกว่าแน่นอน เพราะรัฐบาลทหารไม่ทำอยู่แล้ว แต่รัฐบาลพลเรือนซึ่งเชื่อมโยงกับรัฐบาลทหารยิ่งจะไม่แตะ แต่รัฐบาลที่ขีดเส้นว่าไม่เอาทหารก็ไม่แน่ว่าเขาจะทำ เท่าที่ผ่านมานโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไม่ชัดเจน เพราะมันส่งผลสะเทือนเยอะ 

“ผมรู้สึกว่าเราควรยกมาพูดกัน ไม่ใช่แค่การเรียกร้องในระดับการเมืองหรอก แม้แต่ในแวดวงวิชาการก็ควรทำเรื่องนี้เหมือนกัน มันต้องพูดกันให้มากกว่าการบอกให้ศาลต่อต้านรัฐประหาร ต้องคิดไปถึงว่าถ้าหากคณะทหารทำรัฐประหารไปแล้วสุดท้ายแล้วคุณจะลงโทษเขาได้ไหมอย่างไร หรืออย่างน้อยที่สุดคือเปิดทางให้เขาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ไหมอย่างไร ซึ่งอันนี้มันต้องการบรรยากาศทางการเมืองอีกแบบหนึ่ง ซึ่งสำหรับพรรคการเมืองที่อำนาจทางการเมืองยังไม่แข็งพอ เขาก็กังวลว่าถ้าไปแตะปุ๊บ คุณอาจเจอรัฐประหารอีก ก็อาจจะต้องทำประเด็นอื่นๆ นำไปก่อน”

ความขัดแย้ง ‘เพื่อไทย-ปิยบุตร’

ในความเห็นตนมองว่า เรื่องข้อเสนอลบล้างผลพวงรัฐประหารมันต้องการการร่วมมือกันในระนาบที่กว้าง อย่างข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยที่เขาเคยพูดทำนองว่าจะมีการบรรจุว่า “ไม่ให้มีอายุความลงไว้ในตัวรัฐธรรมนูญ” ในด้านหนึ่งก็เป็นเรื่องดี ไม่ว่าฝ่ายไหนเป็นคนทำควรสนับสนุนมากกว่าที่ไปบอกว่าเขาไม่สู้

“คือผมรู้สึกว่าในด้านหนึ่งก็โอเค ถ้าเกิดจะทำอันนี้ดี เพียงแต่ว่าทำแค่นี้มันพอไหม ต้องทำมากกว่านี้ไหม มันก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ผมรู้สึกว่าน่าจะสื่อสารกันในเชิงบวกมากกว่า ในความเห็นผมนะ”

ส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่องที่ควรผลักดัน ในพรรคเพื่อไทย ก็มีกลุ่มการเมืองที่หลากหลายอยู่ในพรรค เขาต้องสู้กันภายในเขาอยู่ พอมีเรื่องนี้แหลมออกมา แม้มันจะไม่ได้อยู่ในระดับที่หลายคนต้องการแต่มันก็เป็นสัญญาณอันหนึ่ง ในด้านหนึ่งส่วนที่มันร่วมมือกันได้ก็ควรร่วมมือกัน ส่วนที่จะผลักต่อไปอีกข้างหน้าก็ต้องผลักดันกันต่อ

การสู้กับการรัฐประหารมันเป็นคนละเรื่องกับการจัดการผลพวงรัฐประหารที่สำเร็จไปแล้ว 

เพราะว่าเรื่องสู้ เป็นเรื่องเชิงสถานการณ์ว่าแต่ละคนจะมีปฏิกิริยายังไง นักการเมืองแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน สถานการณ์มันก็ไม่เหมือนกัน สิ่งที่ตนอยากพูดก็คือ รัฐประหาร 2 ครั้งล่าสุดเรามีบทเรียนแล้วว่า การป้องกันรัฐประหารมันยาก เพราะถ้าทหารจะทำยังไงเขาก็ทำ แต่ว่าถ้าเราจะสู้ก็ต้องทำให้เขาทำรัฐประหารยาก ซึ่งการทำให้มันยากขึ้นก็มีกลไกบางส่วนที่พอจะช่วยได้  

ข้อสังเกตคือรัฐประหาร 2 ครั้งหลังเกิดขึ้นในสภาวะที่ไม่มีรัฐบาลตัวจริง มันเกิดขึ้นหลังจากยุคที่ยุบสภาแล้ว เกิดขึ้นหลังจากการเลือกตั้งโมฆะแล้วด้วย ทั้ง 2 รอบ ทั้งกรณีของทักษิณและยิ่งลักษณ์ ในอีกด้านหนึ่งก็มีคดีต่างๆ ที่กระหน่ำรัฐบาลมาก่อน กรณีคุณยิ่งลักษณ์คือคดีเลขาสมช. ซึ่งรัฐบาลไม่ได้เป็นตัวจริงแล้ว ถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ รัฐบาลอ่อนแอมากในเวลานั้นและในช่วงนั้นก็เกิดความขัดแย้ง ทหารจึงอ้างสาเหตุว่ามันมีความขัดแย้งกัน เขาจึงประกาศกฎอัยการศึก ซึ่งการประกาศกฎอัยการศึกของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2557 ในความเห็นตนมองว่าไม่ถูกต้อง เพราะว่าเป็นการประกาศทั่วราชอาณาจักร ซึ่งเป็นอำนาจของรัฐบาล จริงๆ ตามกฎอัยการศึกเป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์ ซึ่งพระมหากษัตริย์ใช้อำนาจนี้ก็ต้องมีคนลงนามรับสนองพระราชโองการ ซึ่งก็คือนายกรัฐมนตรี มันคืออำนาจนี่แหละที่ต้องทูลเกล้าฯ เสนอ แต่ตอนนั้นมีการประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร แล้วก็ยึดอำนาจในวันที่ 22 พ.ค.

“เพราะฉะนั้นในวันข้างหน้า หากคุณจะป้องกัน คุณต้องดึงสลักพวกนี้ออก คุณต้องทำให้การประกาศกฎอัยการศึก หรือการเขียนรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับกฎอัยการศึกมันต้องเปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่ปล่อยให้มีม้าไม้เมืองทรอยอยู่ในรัฐธรรมนูญที่ทหารเขาสามารถใช้ประกาศแล้วคุมรัฐบาลพลเรือนได้”

“อีกด้านหนึ่ง การป้องกันรัฐประหารสามารถทำได้โดยการทำให้ให้รัฐบาลพลเรือนมีอำนาจสูงสุดกว่าทหารจริง ไม่ใช่ทหารใช้อำนาจได้กึ่งรัฐอิสระแบบนี้ ซึ่งต้องสู้กัน ต้องค่อยๆ แคะเอาตัวกฎเกณฑ์พวกนี้ออกไป ซึ่งมันใช้เวลาแหละ ต้องไม่ลืมว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โอกาสที่จะได้บริหารประเทศต่อเนื่องมันน้อย มีช่วงหนึ่งโดนยึดอำนาจ ระบบของคณะรัฐประหารก็เข้ามา ใช้เวลาอย่างน้อยสมัยเดียวอาจจะไม่พอหรอก ต้องอย่างต่ำ 8 ปีซึ่งยังพอที่จะทำอะไรได้บ้าง ดึงอะไรออกไปได้บ้าง เพราะว่าถ้าอำนาจคุณไม่มากพอแล้วเจอระบบราชการที่แข็งขนาดนี้ ไม่หมูหรอก แต่ว่าก็ต้องคิดทำ”

นิรโทษกรรม ปรองดอง ทักษิณกลับบ้าน

วรเจตน์มองว่า กรณีของทักษิณที่จะกลับมาหลังเลือกตั้งมันมีหลายส่วนซ้อนกันอยู่ ต้องดูก่อนว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ทักษิณต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ต่างประเทศ ซึ่งก็เป็นเรื่องคดี เป็นคดีความที่เป็นผลพวงหลังรัฐประหารปี 49

ขอพูดในเชิงข้อกฎหมายก่อน จากการที่ตนได้ตามคดีพวกนี้ว่ามีการตัดสินคดีไล่ๆ มาตามลำดับ หลายคนคงพอทราบอยู่ว่า 10 ปีก่อน ตอนก่อนที่จะมีการตั้งคณะนิติราษฎร์ขึ้นมา สมัยที่ตนยังทำกลุ่ม 5 อาจารย์นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์อยู่ เราก็เคยมีการออกแถลงการณ์ ตนก็ยกร่างแถลงการณ์เรื่องคดียึดทรัพย์ และก็แสดงความไม่เห็นด้วยกับศาลฎีกา ณ เวลานั้น

หลังรัฐประหารปี 49 คดีแรกที่มีการตัดสินลงโทษคือ “คดีที่ดินรัชดา” คดีนี้เป็นคดีที่ทักษิณเซ็นต์อนุมัติให้คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร ซึ่งเป็นภรรยา ไปประมูลที่ดินที่รัชดา ซึ่งต่อมาถูกปปช.ในเวลานั้นหาว่าผิดกฎหมาย

“ซึ่งเราลองนึกภาพดูนะ หลังรัฐประหารคดีแรกที่ถูกลงโทษคือคดีที่เซ็นต์อนุมัติให้ภรรยาไปซื้อที่ดิน แล้วก็ซื้อจากการประมูลด้วยนะครับ คือให้ราคาสูงสุดด้วย ในความเห็นผมนะ ไม่มีทางเข้าองค์ประกอบความผิดนั้นได้ นี่คือคดีแรกที่ศาลฎีกาตัดสินลงโทษคุณทักษิณ ผมก็ไม่เห็นด้วย รวมทั้งคดียึดทรัพย์ด้วย”

“แต่ว่าเอาเข้าจริง บรรยากาศในตอนนั้นคนอาจจะรู้สึกว่า ชนชั้นนำในเวลานั้นมันมี consensus อันหนึ่งที่ในแง่ที่จะล้มรัฐบาลคุณทักษิณ พูดง่ายๆ ตุลาการภิวัฒน์มันก็จะออกมาในห้วงเวลานั้น”

“ผมเองตอนที่ทำแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารปี 49 แล้วต่อมาออกแถลงการณ์เรื่องคดียึดทรัพย์ เอาเป็นว่ามีนักวิชาการที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งที่อาจจะอยู่ในฝั่งที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยพูดกับผมว่า คือท่านก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการที่ผมมาแอนตี้รัฐประหารขนาดนั้น แต่ว่าพอเข้าใจได้ว่าผมมีจุดยืนแบบนี้ แต่ว่าตอนที่เราทำแถลงการณ์ออกมาเรื่องคดียึดทรัพย์ เขาบอกว่าเขาไม่เข้าใจเลยว่าทำไมผมต้องไปช่วยคุณทักษิณ คือตอนนั้นหลายคนคงคิดว่าผมคงได้ประโยชน์อะไรมหาศาลจากแถลงการณ์ฉบับนั้น แต่ความจริงไม่มีเลย”

วรเจตน์อธิบายว่า ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง การรัฐประหารเพื่อจัดการทักษิณเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ ส่วนเรื่องที่เอาคดีที่ดินรัชดามาทำให้ทักษิณถูกตัดสินจำคุก เรื่องนี้ก็ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นประเด็นจึงไม่ได้เกี่ยวกับว่าเป็นทักษิณหรือว่าใคร แต่เป็นเรื่องหลักการ 

“แล้วผมก็ไม่กลัวด้วยว่าใครจะบอกว่าผมได้ประโยชน์อะไรจากการรับเงินรับทอง ในทางกฎหมาย ผมมีความเห็นไม่ตรงกับศาลในเรื่องนี้ และก็ยังยืนยันจนถึงบัดนี้”

“สถาบันทางกฎหมายบางแห่งเอาเรื่องนี้ไปออกข้อสอบนะครับ แซะผมนิดหน่อยด้วยซ้ำ ใช้ชื่อผมเป็นนายฟรังซัวอะไรแบบนี้ นี่คือสะท้อนบรรยากาศโดยรวมในเวลานั้นมันเป็นยังไง”

ยืนยันในแง่กฎหมายก่อน แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามยืนยันในแง่ความเป็นจริง คำพิพากษาของศาลตั้งแต่คดีที่ดินรัชดา คดียึดทรัพย์ คดีเอ็กซิมแบงก์ คดีหวยบนดิน คดีหุ้นชินคอร์ปที่ต่อเนื่องมา ยกเว้นคดีที่ดินรัชดาที่ขาดอายุความไปแล้ว คดีอื่นยังมีผลทางกฎหมายอยู่ เราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม ศาลเขามีคำพิพากษายืนพื้นเอาไว้แบบนี้ ถ้าไม่มีการเลิกคำพิพากษากลไกหลายอย่างก็อยู่ในสภาพบังคับ

วรเจตน์กล่าวเพิ่มเติมถึง ความไม่โปร่งใสของกระบวนการยุติธรรมหลังรัฐประหาร ระบุว่า คณะรัฐประหารปี 49 ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ขึ้นมาแล้วดำเนินการตรวจสอบทักษิณโดยเฉพาะ เป็นการทำผ่านกลไกรัฐประหารถึงแม้จะอ้างว่าเอาเข้าสู่ระบบปกติก็ตาม ในหลายคดีมีการพิจารณาลับหลังจำเลย หลายเรื่องเป็นปัญหากับจำเลยในกระบวนการยุติธรรม จึงไม่ใช่ประเด็นเรื่องทักษิณ แต่เป็นเรื่องของหลักการ ถ้าเป็นคนอื่นก็ต้องดีเฟนต์ให้แบบนี้เหมือนกัน

วรเจตน์บอกว่า ทักษิณจะกลับบ้านหรือไม่ เป็นเรื่องของเขาที่ต้องตัดสินใจ ตนไม่ทราบ ถ้าทักษิณจะกลับ แล้วคำพิพากษายังมีผลอยู่ก็ต้องกลับมาติดคุก เว้นแต่ว่า ตามกลไกทางกฎหมายหรือคดีหมายซึ่งเป็นผลพวงจากรัฐประหารปี 49 จะโมฆะไป เรื่องกระบวนการยุติธรรมท้ายที่สุดจะยุติธรรมจริงหรือไม่ เป็นเรื่องที่ว่ากันไปในอนาคตข้างหน้า แต่ว่าเราปฏิเสธไม่ได้ว่าคดีทั้งหมดมันเป็นผลพวงของรัฐประหารปี 49

สำหรับคำถามที่ว่า “จะปรองดองได้ไหม อย่างไร” วรเจตน์มองว่า เป็นเรื่องยาก เพราะว่าประเด็นเรื่องทักษิณกลับบ้านเป็นเรื่องที่ทำให้คนแตกขั้วกันอยู่แล้ว เพราะว่าคนไม่ได้มองจากหลักการ พอมองแค่ว่าเป็นเรื่องของทักษิณจึงมีทั้งคนชอบและคนไม่ชอบ อีกประเด็นก็คือ เรื่องของคำพิพากษาของศาลที่มีอยู่แล้ว ซึ่งก็จะเป็นปัญหาอีก

ตนมองว่า ทักษิณมีสิทธิกลับมา ถ้ากลับมาแล้วเข้าสู่กระบวนการนี้ และก็ใช้กลไกทางการเมืองนิรโทษกรรมไป แต่ “ในทางหลักการมันก็ไม่ได้ดีเท่าไหร่”

แต่ถ้าเราพูดถึงเชิงหลักการที่ควรจะเป็น ก็ควรจะต้องล้างตัวคดีไปเลย แต่ตนเข้าใจว่าอันนี้ในทางการเมือง คงว่ากันไปทางการเมืองมากกว่าคิดจากฐานในทางกฎหมาย ซึ่งก็เป็นความชอบธรรมที่เขาจะคิด

‘ทักษิณกลับบ้าน’ เป็นข้อดีหรือข้อเสียทางการเมือง 

“คดีทั้งหมดมันเป็นผลพวงมาจากรัฐประหารปี 49 ความชอบธรรมมันน้อย เขาก็มีสิทธิกลับมาแหละในแง่นี้” 

วรเจตน์บอกว่าตนไม่อยากจะพูดในทางการเมือง เพราะมันไม่มีหลักเกณฑ์แน่นอน แต่จะพูดในมุมของหลักการในทางกฎหมาย

กระบวนการนิรโทษกรรมจะมีสิทธิเกิดขึ้นไหม

ประเด็นเรื่องนิรโทษกรรมเป็นเครื่องมือที่ฝ่ายการเมืองจะใช้ ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาขัดแย้งกันมานานแล้วว่า ถ้านิรโทษกรรมแล้วจะขัดแย้งกับสิ่งที่ตุลาการวินิจฉัยหรือไม่ เพราะว่าศาลมีการตัดสินคดีแล้ว

คำถามก็คือ เราจะรู้ได้ยังไงว่าศาลตัดสินคดีแล้วนั้นจะถูกต้องทั้งหมด บางเรื่องอาจจะไม่ถูกก็ได้ เพียงแต่ว่าเขาต้องการให้คำพิพากษามันยังอยู่ 

“เพราะฉะนั้นการที่คุณจะจัดการในทางการเมือง คุณก็จัดการไป ใครไม่เห็นด้วยคุณก็ไปสู้ทางการเมือง แต่ว่าในที่สุดแล้วถ้าฝ่ายการเมืองเขาเห็นว่าเขามีเสียงมากพอ มันก็เป็นสิทธิที่เขาจะทำไง แล้วถ้าเกิดมองว่าคดีมันเป็นผลพวงจากรัฐประหารปี 49 มันก็มีความชอบธรรมที่จะทำได้” 

อย่างไรก็ตาม วรเจตน์มองว่า ในทางหลักการ ควรล้างคดีทางกฎหมายก่อน หลังจากนั้นก็ใช้กระบวนการยุติธรรมในระบบปกติ ที่ไม่ได้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการรัฐประหาร 

“อย่าไปเชื่อมกับ คตส. ที่เป็นผลพวงจากการยึดอำนาจปี 49 ถ้าเราจะพูดจากหลักการเราต้องพูดแบบนี้สิ”

ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องของทักษิณ

แต่รวมถึงทุกคนที่โดนคดีที่เป็นผลพวงจากรัฐประหาร

ใช่ ต้องมาดูว่าแต่ละส่วนเป็นยังไง ใครทำอะไรเอาไว้แล้วต้องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายอย่างไรให้เสมอเหมือนกันทุกคนถึงจะถูกต้อง

แต่ในทางการเมืองมันไม่ใช่ของง่าย เวลาผ่านมานานขนาดนี้แล้วด้วย เหมือนกระดุมที่มันกลัดน่ะ เราเริ่มกลัดกระดุมอันหนึ่งผิด มันก็จะผิดๆๆ ไปตลอด

ผลก็คือเกิดกับศาลด้วยส่วนหนึ่ง คดีของทักษิณอาจจะเห็นไม่ชัดหรอกส่วนหนึ่ง มีไอเดียเรื่องตุลาการภิวัฒน์มาค้ำยันอยู่ในขณะนั้น เพราะอำนาจระดับนำในขณะนั้นเขารู้สึกว่าต้องจัดการทักษิณ มันพันกับอะไรหลายอย่าง นโยบายประชานิยมเดี๋ยวเราจะพูดกันด้วย

“การตัดสินใจกลับหรือไม่กลับอยู่ที่ตัวคุณทักษิณเลย เพราะเขามีสัญชาติไทย จะกลับเมื่อไหร่ก็ทำได้เสมอ เราไปไล่คนที่มีสัญชาติไทยออกนอกประเทศมันไม่ได้หรอก ควรจะเลิกวิธีคิดที่ว่าไม่ชอบประเทศนี้แล้วไล่ออกไป มันไม่ได้ เขาอยากกลับก็ต้องมีสิทธิกลับมา แต่ว่ากลับมาแล้วมีกลไกจัดการอย่างไรก็ต้องว่ากันไปทางการเมือง”

‘ปฏิรูปกองทัพ-ศาล’ ทำได้แค่ไหน อย่างไร

วรเจตน์มองว่าในเชิงหลักการ ควรต้องทำแน่นอนทั้ง 2 อันเลย เพียงแต่ว่าในทางปฏิบัติมันควรจะต้องทำแค่ไหน อย่างไร

เรื่องปฏิรูปศาลประเด็นที่สำคัญที่สุด ตนมองว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำให้ศาลมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เราปล่อยให้ศาลหลุดออกไปจากห่วงโซ่ความชอบธรรมทางประชาธิปไตยไม่ได้ ศาลต้องรู้สึกว่าตัวเองกำลังใช้อำนาจในนามของประชาชน ถึงแม้ว่าจะทำในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ แต่ก็ต้องรู้ว่าอำนาจมาจากประชาชน แล้วก็ต้องมีจุดเชื่อมโยงเกาะเกี่ยวกับประชาชน

หลังๆ เราจะเห็นว่าศาลอ้างเรื่องความเป็นอิสระของตุลาการกันใหญ่เลย ในแง่ของการตัดขาดห่วงโซ่ความชอบธรรมทางประชาธิปไตยจากประชาชน แต่ถ้าเราไปดูประเทศที่เป็นประชาธิปไตยเขาทำ 2 เรื่องนี้ไปด้วยกัน คือยังคงอิสระของศาลเอาไว้ แต่ในขณะเดียวกันคุณต้องมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย

ฉะนั้นมันต้องทำหลายอย่าง ถ้าพูดกันในรายละเอียด อาจจะต้องเริ่มคิดกันว่า ถ้าเป็นระดับศาลสูงสุดควรมีวาระไหม ถ้าเป็นระดับศาลสูงสุดนะ ศาลล่างไม่เป็นไรหรอก เพราะศาลสูงสุดคือศาลที่ตัดสินแล้วมันจบ ไม่ใช่วาระเฉพาะตัวตำแหน่งประธานนะ แต่หมายรวมถึงตัวพิพากษาตุลาการด้วย ตนโยนเรื่องนี้เข้าไปปุ๊บ คนก็เถียงกัน เห็นด้วยบ้างไม่เห็นด้วยบ้าง แต่เป็นประเด็นที่ต้องพูดกันแล้ว

หรือในคดีพวกนี้คนที่เป็นธรรมดาควรเข้าไปมีส่วนในทางคดีแค่ไหน จะมีระบบผู้พิพากษาสมทบไหม จะมีระบบลูกขุนไหม จะเอาลูกขุนแบบเกาหลีใต้ไหม ที่ลูกขุนตัดสินในเบื้องต้นก่อนแล้วอำนาจชี้ขาดสุดท้ายอยู่ที่ศาล หรือจะเอาอย่างในอเมริกา จะเอาอย่างไหนก็ว่ากันไป แต่วันนี้ต้องมีการโยนประเด็นขึ้นมาถกเถียงกันแล้ว ปล่อยไปแบบนี้ไม่ได้

เรื่องของการได้มาซึ่งผู้พิพากษาตุลาการ มันเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ แต่ต้องทำ การปฏิรูปศาลเป็นประเด็นที่ตนเคยพูดมาเป็น 10 ปีแล้ว มีครั้งนึงที่นิติราษฎร์จัดงานแล้วเชิญ สถิตย์ ไพเราะ อดีตรองประธานศาลฎีกา มาอ่านจดหมายเปิดผนึกถึงศาลเพื่อบอกศาลว่าถ้าศาลดำเนินการแบบนี้ในคดี ม.112 จะเกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้างในภายภาคหน้า แล้วมันก็เป็นแบบที่พูดเอาไว้เมื่อ 10 ปีมาแล้ว ทุกวันนี้ก็เห็นแล้วว่าเป็นอย่างไร

‘ปฏิรูปกองทัพ’ รัฐบาลพลเรือนต้องเข้มแข็งมากพอ

4 ปีอาจยังไม่พอ 

“ถึงเวลาจะทำจริงๆ มันต้องมีคนเสียประโยชน์กันบ้าง แต่ทำยังไงให้ยังอยู่กันได้ ไม่ใช่ทำลายล้างกัน ปรับให้เข้าที่เข้าทาง เรื่องอำนาจเรื่องการโยกย้ายต่างๆ ก็ต้องมาคุยกันเพื่อเปลี่ยนใหม่ ไม่ใช่ผู้นำเหล่าทัพขึ้นมาคุยกัน แต่รัฐมนตรีเป็นเสียงเดียวทั้งๆ ที่มาจากการเลือกตั้ง ถ้าเป็นงี้โหวตอะไรก็แพ้ผู้นำเหล่าทัพสิ” 

วรเจตน์ยืนยันหลักการว่ากองทัพต้องอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน แต่ตนรู้ว่ามันไม่ง่าย เวลาจะทำจริงๆ จะเจอแรงต้านในระบบมาก ฝ่ายที่ชูธงจะปฏิรูปต้องมีอำนาจที่เข้มแข็งยาวนานมากพอ

ทั้งนี้ เราต้องยืนยันในหลักการที่ว่า ไม่ให้อำนาจนอกระบบมาเปลี่ยนล้างกติกาแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน หมายถึงต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงจากในระบบ ซึ่งต้องการความต่อเนื่องอยู่ แต่อุปสรรคก็คือรัฐบาลที่เรามีมักไม่ได้ต่อเนื่อง เพราะถูกตัดช่วงโดยการรัฐประหารเรื่อยๆ การเปลี่ยนแปลงจากข้างในจึงเป็นเรื่องยาก

โครงสร้างของศาลไทย เราใช้กันมาตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 อีก ซึ่งยังไม่เปลี่ยนแปลง อุดมการณ์เรารับต่อเนื่องกันมา ทีนี้เวลาเราพูดเรื่องปฏิรูปศาล มันไม่ใช่แค่เฉพาะตัวศาล แต่หมายรวมถึงกระบวนการอบรมบ่มเพาะนักกฎหมายทั้งหมดด้วย มันจึงใหญ่ไปกว่านั้น

สำหรับข้อเสนอปฏิรูปกองทัพ ตนเห็นด้วยที่มีคนพูดเรื่องกฎหมายสภากลาโหม ยกตัวอย่างกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อยู่ในบ้านพักทหารแล้วศาลตัดสินว่าไม่เป็นเหตุให้พ้นจากตำแหน่ง ตนไม่ได้มีปัญหากับการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ คนเป็นนายกฯ การพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุผลเรื่องประโยชน์ขัดกัน ตนว่าตีความง่ายๆ แบบนั้นไม่ได้หรอก จะทำแบบคดีคุณสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีที่ทำกับข้าวออกทีวีแล้วต้องพ้นตำแหน่งตนก็ไม่เห็นด้วย

อย่างเคสของ พล.อ.ประยุทธ์ก็คล้ายๆ กัน แต่ปัญหาอันหนึ่งที่ซ่อนอยู่ข้างหลังและน่าเสียดายที่ไม่ค่อยมีคนพูดกันก็คือว่า ทำไม ผบ.ทบ. หรืออดีต ผบ.ทบ. ถึงอยู่ในบ้านพักหรือค่ายทหารหลังตนเองเกษียณอายุแล้ว ทำไมเราจึงปล่อยให้ทหารมีกฎเกณฑ์แบบนี้ เรื่องคุณประยุทธ์พ้นตำแหน่งหรือไม่เป็นเรื่องหนึ่ง แต่มันสำคัญน้อยกว่าว่าทำไมทหารถึงสร้างกฎเกณฑ์แบบนี้ขึ้นมาได้ เงื่อนไขของการให้เฉพาะ ผบ.ทบ.อยู่ในบ้านพักได้คืออะไร แล้วอธิบดีกรมอื่นๆ ล่ะ ถ้ายึดกฎเกณฑ์นี้ก็ควรจะอยู่ได้เหมือนกันไหม ต้องไปดูระเบียบต่างๆ กฎหมายว่าออกมาด้วยฐานคิดแบบไหน ถูกต้องหรือเปล่าหากปล่อยไปแบบนี้ หากเราไปแตะก็เป็นเรื่องผลประโยชน์ทั้งนั้น แบบนี้รัฐบาลที่จะแก้ได้ก็ต้องมีอำนาจพอสมควร

กองทัพไทยมีสภาพกึ่งๆ เหมือนรัฐอิสระ ไอเดียของการมีอำนาจสูงสุดของรัฐบาลพลเรือนเหนือทหารมันไม่เกิดขึ้นเพราะว่าระบบของไทยนี่แหละ ถ้าหากเรื่องนี้ยังไม่เกิด ทหารก็สามารถทำรัฐประหารได้เรื่อยๆ เพราะเขาคุมอาวุธ และเขาก็มีชุดคุณค่าอุดมการณ์ของเขาอันหนึ่ง เมื่อเราไปกระทบชุดอุดมการณ์ของเขา เขาพร้อมที่จะทำรัฐประหารได้ รัฐบาลพลเรือนก็ไม่สามารถต้านได้ แต่ในอีกด้านหนึ่งตัวกฎเกณฑ์หลายส่วนก็เอื้อให้ทหารทำได้ด้วย การปฏิรูปกองทัพจึงจำเป็นต้องทำ

จุดยืนเรื่อง ม. 112 ของแต่ละพรรค

วรเจตน์ให้ความเห็นว่า จุดยืนของตนนั้นชัดเจนมาแต่ไหนแต่ไรว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีปัญหาจริงๆ ทั้งในแง่การบังคับใช้ ทั้งในแง่ตัวบทกฎหมาย และก็ตัวอุดมการณ์ที่กำกับการตีความกฎหมาย มันเป็นปัญหาหลายระดับซ้อนกัน เราปฏิเสธความจริงข้อนี้ไม่ได้ ข้อที่เห็นชัดที่สุดคือตัวอัตราโทษในกฎหมายฉบับนี้ที่มันสูงจนไม่ได้สัดส่วนกับความผิด และเมื่อเทียบกับโทษอื่นๆ กฎหมายนี้ และมันก็เป็นผลพวงของรัฐประหารในปี 2519 ด้วย คนที่ติดตามเรื่องนี้ก็คงจะรู้ว่าตนก็พูดแบบนี้มาโดยตลอด อย่างน้อยต้องมีการเปลี่ยนเรื่องอัตราโทษ

บางคนอาจจะบอกว่าโทษมันแรงขนาดนี้ยังมีคนกล้าทำ แล้วถ้าทำให้มันเบาลงไปกว่านี้คนก็ยิ่งกล้าไปกันใหญ่สิ อันนั้นไม่ใช่ประเด็นเลย ประเด็นคือถ้าคุณกำหนดอัตราโทษเท่านี้มันต้องได้สัดส่วนกับเรื่องอื่นๆ ในระบบกฎหมายของเรา เราถือหลักความพอสมควรแก่เหตุ ความได้สัดส่วนอยู่ในตัวรัฐธรรมนูญ และเราต้องไม่ลืมว่ามันมีการแก้มาในช่วงรัฐประหารปี 2519 จริงๆ ไม่ได้แก้เฉพาะในส่วนนี้หรอก กฎหมายที่ตนเรียกโดยลำลองว่ากฎหมายตระกูลหมิ่นฯ หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ หมิ่นประมาทผู้พิพากษา พวกนี้มันถูกแก้มาทั้งหมดเป็นชุดในตอนนั้น ม.112 ก็เป็นอันหนึ่ง เพราะฉะนั้นในทางหลักการคืออันนี้มันต้องแก้

แต่ว่าจุดยืนของแต่ละพรรค เราจะเห็นว่าไม่เหมือนกัน มีทั้งฝ่ายที่ไม่แตะ หนึ่ง ก็คือไม่ยุ่งเลย บางพรรคประกาศว่าไม่ยุ่งในทางตัวบท แต่จะไปยุ่งในแง่การบังคับใช้

บางพรรคบอกว่าจะต้องแก้ในทางตัวบท บางพรรคก็เลิก เพราะฉะนั้นมันมีหลายเฉดมาก 

บางพรรคนี่หนัก คือแก้ให้โทษหนักกว่าเดิม ครอบคลุมมากกว่าเดิมอีก

ตนรู้สึกว่าในด้านหนึ่งสิ่งที่ดีก็คือ บัดนี้ประเด็นมาตรา 112 มันเป็นประเด็นที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะแล้ว นี่คือสิ่งที่ตนอยากเห็นเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ซึ่งในตอนนั้นพอพูดแล้วมีคนเข้ามาทำร้าย

วรเจตน์ทำนายว่า “ด้วยบรรยากาศทางการเมืองขณะนี้ การแก้ ม.112 ยากมากที่จะประสบความสำเร็จ” อย่างไรก็ดีการจัดการปัญหา ม.112 ในอนาคตต้องมีแน่นอน แต่จะแค่ไหน-อย่างไรต้องรอดูกันไป ที่แน่ๆ ก็คือ “มันจะขยับไปจาก 10 ปีก่อน มีโอกาสที่เรื่องนี้จะเข้าสภาได้”

“แต่เท่าที่ดู พรรคที่ค่อนข้างแน่วแน่เรื่องนี้ในตอนนี้คือพรรคก้าวไกล ถูกไหม แต่ต้องไม่ลืมว่าตอนสมัยพรรคอนาคตใหม่ อันนี้เพื่อความแฟร์ เพื่อเป็นข้อเท็จจริงสำหรับทุกพรรค พรรคอนาคตใหม่ดร็อปเรื่องนี้ ในตอนแรกสุดเขาไม่แตะเรื่องนี้ ถูกไหม แต่ว่าตอนนี้ อย่างน้อยพรรคที่สืบเนื่องมาเขาก็ไม่ได้เสนอเลิก แต่อย่างน้อยก็เสนอแก้แหละ ซึ่งแน่นอนจะมีแรงต้านเยอะ”

พรรคอีกพรรคหนึ่งที่ท่าทีในเรื่องนี้ก็ค่อนข้างก้ำกึ่งอึกอัก คือพรรคเพื่อไทย เขาก็รู้ว่าเป็นปัญหาอยู่ แต่ถ้าฟังจากทิศทางของเขา ระดับนำเขาคงบอกว่าจะไปแก้เรื่องการบังคับใช้ คงจะใช้วิธีนี้ ถ้าเป็นรัฐบาลคงพยายามทำให้การบังคับใช้เบาลง

แต่ว่าสถานการณ์เรื่องนี้ต่างจากเมื่อ 10 กว่าปีก่อนแล้ว เปลี่ยนไปหลายแบบ เปลี่ยนทั้งรัชสมัย เปลี่ยนทั้งความรู้สึกนึกคิดของผู้คนที่มีต่อเรื่องนี้ หลายส่วนเพราะฉะนั้นไม่ง่ายหรอก และเป็นเรื่องซึ่งอย่างน้อยเป็นปัญหาหนึ่งที่ต้อง handle กัน

ทีนี้ฝ่ายที่อยากจะทำให้หนักขึ้นกว่าเดิม อันนี้ก็เป็นสิทธิของเขา ให้มันหนักขึ้นกว่าเดิมก็เสนอมา ตนก็ยังถือว่าคนทั่วไปก็จะมองว่า อะไรที่มันไม่ใช่ มันก็ไม่สำเร็จหรอก แต่อย่างน้อยคือก็ดี คือทำให้ได้พูดกันในสภา คุณก็เสนอมา คุณก็เห็นว่าโอเคของปัจจุบันมันหนักขนาดนี้ คุณก็เสนอให้หนักขึ้นไปกว่าเดิมอีก มัน extreme เกินไปไหมอะไรประมาณนี้ ถูกไหม ก็ว่ากัน แต่ว่ามันยังจะใช้เวลาในการต่อสู้ ในการขับเคลื่อนไปอีกยาวนานพอสมควรในเรื่องนี้ ไม่ได้เร็วหรอก และจะเป็นประเด็น

ม.112 ก้าวไกลผลักดันเป็นนโยบาย

แต่จะจบแค่ที่สภาหรือเปล่า 

วรเจตน์บอกว่า คิดว่าอย่างนั้น ประเมินจากท่าทีของพรรคการเมือง เว้นแต่ว่าในระยะยาวข้างหน้าพรรคก้าวไกลกลายเป็นพรรคเสียงข้างมากในสภา ก็อาจจะกินเสียงเพื่อไทยไปได้หมด หรือว่าไปกินพรรคอื่นๆ มาด้วย กลายเป็นพรรคใหญ่มาก อีก 10 ปี 12 ปี 16 ปี 20 ปี ก็แล้วแต่ หรือไม่เกิดสภาวะแบบนั้นขึ้นเลย คะแนนเสียงมันก็จะแบ่งกันไปเรื่อยๆ เราไม่รู้

เลือกตั้งนี้คนคาดหวังเรื่อง ม.112

ใช่ อย่างน้อย ปัจจุบันมันขึ้นมาเป็นประเด็นสาธารณะ จะต้องนึกถึงบรรยากาศของเรื่องนี้ ตนก็อยู่มาใน 2 ห้วงบรรยากาศสมัยก่อนมันลำบากมากกว่าจะได้รายชื่อ มันไม่ใช่ของง่ายเลย ถึงขนาดที่ว่า ตอนที่ทำเรื่องนี้ เรื่อง ม.112 มันมาทีหลังเรื่องลบล้างผลพวงรัฐประหาร ตอนนั้นนิติราษฎร์ทำเรื่องลบล้างผลพวงรัฐประหาร บูมมาก ในช่วงก่อนน้ำท่วมใหญ่ ในเดือนกันยายนปี 2554 มีการแถลงข่าวครั้งแรก แล้วก็พรรคการเมืองพรรคหนึ่งก็แอนตี้มาก ผมต้องแถลงข่าวครั้งที่ 2 ในช่วงเวลา 2 สัปดาห์

แล้วหลังจากนั้นก็น้ำท่วมใหญ่ กระแสลบล้างผลพวงรัฐประหารก็หายไปกับหายไปกับสายน้ำ พอมาหลังปีใหม่มีประเด็น ม.112 เพราะมีเรื่องการเริ่มใช้หนักหน่วงขึ้น เป็นผลพวงของรัฐประหารปี 2549 มีคนเริ่มถูกดำเนินคดี ตนเห็นว่าเรื่องนี้ควรทำให้เป็นเรื่องสาธารณะ ก็เลยผลักดันกลายเป็น ครก.112 ในเดือนมกราคม 2555 แต่มีแรงต้านมหาศาลกว่าตอนนี้เยอะ ขนาดจะพูดในสาธารณะยังลำบากเลย แต่ตอนนี้ไปอีกระดับหนึ่งแล้ว

เพราะฉะนั้นองค์กรที่ใช้กฎหมาย เขาไม่สามารถเลี่ยงปัญหาแบบนี้ได้ โอเค คุณจะเลี่ยงปัญหาแบบนี้ได้ คุณก็ว่ากันไปตามตัวบทไปก่อน ตรงไปตรงมาตามนั้น อย่าตีความขยายหรือเทียบเคียงตัวบท อะไรที่ไม่เข้าก็คือไม่เข้า อะไรที่มันเข้า มันก็จะปฏิเสธยากว่า มันไม่เข้า ในสถานการณ์ที่มันเป็นกฎหมายแบบนั้น พูดจากฐานแบบนี้ก่อน มันต้องเป็นอย่างนั้นไป แล้วไปแก้เอา คนที่เคลื่อนไหวก็ต้องดูว่า ไม่ว่าจะมีความเห็นต่อกฎหมายมาตรานี้อย่างไรก็ตาม มันก็ยังเป็นกฎหมายอยู่ในเวลานี้ มันเป็นแบบนั้น

หาเสียงด้วยนโยบายแจกเงิน

ต้องแจงที่มาของเงินไหม

วรเจตน์มองว่า เราต้องยอมรับก่อนว่ามันเป็นการแข่งขันกันในการเลือกตั้ง เป็นเรื่องของการเสนอนโยบาย พรรคการเมืองก็ต้องเสนอนโยบายมาเพื่อที่เขาเข้าไปเป็นรัฐบาลจะทำอะไร แต่ละพรรคมีนโยบายแต่ละเรื่อง จุดเน้นแต่ละเรื่องเน้นต่างกันแล้วประชาชนจะตัดสินใจ

นโยบายที่เสนอมาทุกนโยบายมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ว่าอย่างน้อยที่สุดมันมีการเสนอออกมา และมีการวิพากษ์วิจารณ์กัน ตนจึงไม่มีปัญหากับการที่พรรคการเมืองเสนอนโยบาย ถึงจะมีคนบอกว่าจะต้องใช้เงินงบประมาณ เขาก็เสนอมาและถ้าเขาชนะเลือกตั้งจริง เขาทำตามนโยบาย ถ้ามันล้มเหลวเขาต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว ผ่านการเลือกตั้งในครั้งถัดไปแน่นอน ขอให้มีการเลือกตั้งในระนาบซึ่งมันสม่ำเสมอทุกสี่ปี ไม่เห็นจะต้องกลัวเลย

ทีนี้นโยบายที่ไม่ถูกกฎหมาย มันทำไม่ได้หรอก แต่กฎหมายมนุษย์เป็นคนเขียน สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ได้ก็อยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญที่เป็นกติกาพื้นฐานของประเทศ พรรคก็เสนอนโยบายมาภายใต้กรอบแบบนี้ พรรคการเมืองที่เสนอมาเป็นนโยบายใช้เงิน แต่จุดเน้นแต่ละพรรคไม่เหมือนกัน บางส่วนเน้นสวัสดิการ เด็ก คนชรา บางส่วนก็เน้นการปั๊มเศรษฐกิจให้ขึ้นมา ซึ่งเราก็ต้องฟังการแถลงและดูเหตุผลแต่ละส่วน แต่สุดท้ายที่สำคัญกว่าก็คือว่าประชาชนเขาตัดสินใจครับ คุณก็ขิงกันไปได้ในการเลือกตั้งว่านโยบายนั้นดีกว่าใคร ใครเจ๋งกว่าใครก็ว่ากันไปเลย

แต่ที่ตนอยากจะเน้นก็คือว่า ถ้าตัดสินใจมาแล้วมาผ่านกลไกแบบนี้มา ภายใต้กติกาแบบนี้ก็ต้องยอมรับกันใช่ไหม ไม่ใช่โอเคนโยบายแบบนี้ไม่เอา ประเทศเสียประโยชน์ คุณไปตัดสินข้างหน้าแล้วคุณใช้อำนาจนอกระบบเข้ามาจัดการน่ะ อันนี้ไม่ได้

ตนไม่ได้หมายความว่านโยบายพรรคการเมืองมันจะถูกหรือมันจะไม่ถูกอย่างไร แต่มันเป็นนโยบายที่เขาเสนอมาแล้วมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กัน คนที่คิดนโยบายเขาก็คิดแล้วล่ะว่านโยบายอันนี้ทำได้หรือทำไม่ได้แค่ไหน ทำตามนโยบายไม่ได้มันก็เสียหายกับพรรค ทำตามนโยบายได้ เป็นไปตามแผนมันก็ดีกับพรรค ก็เป็นแบบนี้

ไม่เห็นว่าจะต้องกลัวเลย ตราบเท่าที่คุณยังเสนอมาอย่างเปิดเผย ให้คนได้วิพากษ์วิจารณ์กันให้เห็นกัน ให้ได้เถียงกัน และนโยบายแต่ละอันก็มีเงื่อนไขของมัน มันก็มีเรื่องแจกเงินแต่ไม่ได้แจกแบบไม่มีเงื่อนไข เขาก็เสนอเงื่อนไขแต่ละอัน วัตถุประสงค์แต่ละอัน เพียงแต่ว่าเราต้องไปดูในรายละเอียดแต่ละอันว่ามันทำได้หรือทำไม่ได้

พอเป็นเรื่องนโยบาย เรื่องเศรษฐกิจ ประเด็นเรื่องนี้เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องสิ่งแวดล้อม มันเป็นประเด็นพยากรณ์บางอย่าง มันยากมากที่คุณจะหาคำตอบที่มันถูกเป๊ะทั้งหมด และอันนี้เป็นเรื่องที่กฎหมายหรือคนที่ใช้กฎหมายต้องสำรวมเขตแดนของตัวเองว่าหากไม่มาล้ำตรงนี้คุณก็ต้องอยู่ตรงนี้แล้วปล่อยให้เขาว่ากันไป เพราะว่ามันไม่มีใครพยากรณ์ได้หมด ถ้ามันไม่ถูกต้องมันก็เป็นเรื่องในทางการเมืองเอง คุณเลือกตั้งมาประชาชนก็รับผิดชอบ พรรคที่เขาเสนอก็ต้องรับผิดชอบ ผมยังรู้สึกว่าเราจะต้องเน้นเรื่องนี้เป็นหลักก่อน ยืนตรงนี้ก่อนแล้วเขามีสิทธิเสนอได้แล้วไม่ควรใจ้ในนามอันอื่นๆ มาทำลายหรือสร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจข้างนอกระบบมาทำลายอันนี้ อาจจะมีคนคิดว่าเอาแบบนี้ประเทศก็ต้องเสียหายไปแล้วใช่ไหม สมมุติว่ามีคนคิดแบบนั้น อันนี้คือการคิดล่วงหน้า คิดแทน justify การใช้อำนาจนอกระบบเข้ามาจัดการไม่ให้ประชาธิปไตยมันเดินไปตามที่มันควรจะเป็น 

"คุณปล่อยให้เดินเถอะ เดี๋ยวถ้ามันเสียหายนี่ มันเห็น คนเขาก็เห็นเองล่ะ ว่ามันทำได้หรือทำไม่ได้ แล้วมันก็จะเปลี่ยนไปเอง มันก็เป็นอย่างนี้อยู่แล้วโดยระบบ"

คนที่เสนอเขาก็ต้องหาเงิน พรรคที่ใช้เงินก็ต้องหาเงิน ดังนั้นสุดท้ายจะอยู่ที่ประชาชนเขาไว้วางใจหรือเชื่อหรือไม่ ซึ่งตรงนี้แต่ละพรรคการเมืองนั้นก็จะไม่เหมือนกันบางพรรคอาจมีเครดิตมาจากบางเรื่องคนก็โอเคคิดว่าทำได้ก็ลองซึ่งเป็นสิทธิของเขา เว้นแต่จะบอกว่าประชาชนตัดสินใจไม่ได้ ระบอบประชาธิปไตยไม่เหมาะสม หากปล่อยนักการเมืองมาทำอย่างโน้นนี้พังหมด อันนี้ก็ต้องเลิกใช้ระบอบนี้ 

การแข่งขันระหว่าง 'เพื่อไทย - ก้าวไกล'

ต่อประเด็นความขัดแย้งระหว่างผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลนั้น วรเจตน์ กล่าวว่า ตอนนี้เป็นบรรยากาศของการหาเสียงเลือกตั้ง ก็เป็นเรื่องปกติ ตนขีดเส้นกว้างๆ พรรคฟากนี้คือพรรคที่ไม่เอารัฐประหาร พรรคเพื่อไทยก็ไม่เอาเนื่องจากถูกรัฐประหารมาแล้วหลายรอบ พรรคก้าวไกลโดย position ก็ไม่เอา เพราะต่อมาจากพรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทยด้วย แต่เราเห็นว่าคู่แข่งกันในสนามฝั่งนี้เพื่อไทยกับก้าวไกลเหมือนจะเป็นคู่แข่งหลักกันอยู่ ขณะที่อีกข้างก็ตัดกันเหมือนกัน 

"เมื่อเข้าสู่สนามเลือกตั้งทุกพรรคการเมืองก็ต้องพยายามที่จะบอกว่าพรรคตัวเองนั้นดีอย่างไร นโยบายดีอย่างไร มันก็เป็นบรรยากาศของการแข่งขันกันในระบอบประชาธิปไตย มันจะต้องสู้กันไปถูกไหม ทีนี้ปัญหาของฝากฝั่งนี้ คือฝากฝั่งขีดเส้นรัฐประหารมันอยู่ตรงนี้ คือวิธีการมันอาจจะต่างกัน การ approach ปัญหา และการแก้ปัญหามันอาจจะแตกต่างกัน อาจจะด้วยบุคลิกภาพของพรรค ของผู้นำพรรคด้วยที่มันอาจจะมีความแตกต่างกันด้วย และแต่ละฝ่ายก็มีกองเชียร์ของตัว มีนางแบก มีนายแบก อะไรของตัวเอง ซึ่งผมรู้สึกว่าก็ดีนะคือ ผมไม่รู้สึกอะไร เป็นนายแบก นางแบกอะไรเปิดเผยไปเลย ดีออก แฟร์ออกว่า อันนี้ชัดเจนว่าคนนี้เป็นนางแบกพรรคนี้ คนนี้เป็นนายแบกพรรคนี้ เมื่อเราฟังเราจะได้รู้ว่าโอเคเขามี position ที่เขาเขียร์พรรคไหนเป็นหลัก ไม่ใช่เรื่องแปลก เรื่องปกติ"

"แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่าที่มันขบกันส่วนหนึ่งมันเป็นเพราะว่า ยกตัวอย่างอย่างพรรคก้าวไกลเขามีที่มาจากอนาคตใหม่ ถูกไหม มีอุดมการณ์ขอการตั้งพรรคขึ้นมาอย่างหนึ่ง อาจจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหญ่ในหลายระนาบ ซึ่งหลายเรื่องผมก็เห็นด้วยนะที่เขาจะปรับเปลี่ยนโครงสร้าง เน้นไปที่โครงสร้างในทางการเมืองการปกครองเป็นหลัก ในขณะที่เพื่อไทยเขาเน้นไปที่เรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก ดังนั้นแต่ละอันมันจะต่างกัน พอก้าวไกลเขาเน้นจุดนี้เป็นหลักมันต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างในระดับการเมืองการปกครองที่มันเห็นภาพชัดเจนกว่าเพื่อไทย ในด้านหนึ่งถ้าอุดมการณ์นี้ทำข้างนอก หมายถึงมันทำผ่านวิชาการ ทำผ่านการรณรงค์อะไรพวกนี้มันเต็มที่ไปได้  แต่พอมาลงในสนามเลือกตั้งนี่เขาต้องแข่งหาโหวตเตอร์จากคนอื่นเหมือนกัน มันทำภายในระบบแบบนี้ ถ้าไม่ระวังมันจะกลายเป็นการชูอุดมการณ์บางอย่างมันจะดูเหนือกว่าคนอื่นไป มันจะเหมือนกับโชว์เหนือ หรือขิงคนอื่น บลัฟ อะไรประมาณนั้น แต่ว่าพอในสนามเลือกตั้งนี่มันลงมาในระนาบเดียวกันไง คุณเล่นภายใต้กติกาอันนี้ อันนี้มันก็เป็นเพียงอุดมการณ์จะสูงขนาดไหนก็ตาม มันเป็นเพียง 1 ในนโยบายหลายๆ เรื่องที่เสนอให้ประชาชนดู แต่ละพรรคก็เสนอของเขาไปแต่ละส่วน ซึ่งแน่นอนพรรคนี้เสนอก็ไม่ถึงใจโหวตเตอร์พรรคนี้ อีกพรรคก็ไม่ถึงใจโหวตเตอร์พรรคนี้ หรือพรรคนี้เน้นจุดนี้ พรรคนี้ไม่เน้น แต่อันนี้มันทำภายในสนามเลือกตั้ง คุณไม่ได้ทำในเชิงของการมีขบวนการอะไรขึ้นมานอกระบบเลือกตั้ง พอมาลงในสนามเลือกตั้งมันก็เท่าๆ กันแล้ว มันก็ต้องแข่งภายใต้กติกาแบบนี้เท่ากัน ถูกไหม

"ความที่มันเป็นปัญหา คือ 2 พรรคนี้ โหวตเตอร์บางส่วนมันทับกัน มันไม่ได้ทับกันทั้งหมดนะ มันมีกลุ่มคนที่เชียร์แน่นอนแล้วนี่ 2 ส่วน แต่มันมีบางส่วนทับกันอยู่ ส่วนที่ทับกันอยู่เป็นส่วนที่ช่วงชิงกัน และเป็นไปได้ส่วนนี้มันอาจเป็นตัวชี้ขาดในระบบเขตจำนวนหนึ่ง การแข่งขันก็จะเข้มข้นมากยิ่งขึ้น การปะทะกันมันก็จะแรงมากยิ่งขึ้น ทีนี้จะทำอย่างไรสนามเลือกตั้งมันก็แข่งกันไปแบบนี้ล่ะ ผมก็รู้สึกว่าก็ต้องทะเลาะกันไปแบบนี้ แต่ถามว่าถ้าคุณจะไปเปลี่ยนในโครงสร้างอะไรก็ตาม ถ้าคุณขีดเส้นไม่เอารัฐประหารนี่ พรรคใดพรรคเดียวมันทำได้ไหม เราต้องถามอย่างนี้ก่อน ถ้าเขาอยู่ในระนาบที่ไม่เอารัฐประหารเหมือนกัน อันเดียวมันทำได้ไหม มันทำยากครับ อันเดียวมันจะทำยาก เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์มันก็จะกลายเป็น Love-Hate Relationship เป็นแบบนี้ล่ะ ตัวติ่งก็จะ against กันไป บางส่วนดัน บางส่วนดึง มันก็ผลักกันไปแบบนี้ 

เว้นแต่ว่าฝ่ายผู้นำพรรค คิดว่าต้องชูอันนี้ขึ้นมาเพราะคิดว่าในระยะยาวมันต้องเหลือหนึ่งเดียว มันก็ต้องกินอีกอันให้หมด เหลืออันเดียว ซึ่งไม่ใช่ใน 4 ปีนี้ ไม่ใช่ใน 8 ปีนี้ด้วย อาจจะยาวไปกว่านั้น แต่ว่าผมว่ายาก การแบ่งสัดส่วนมันจะเป็นไปอย่างนี้ บางส่วนพรรคหนึ่งอาจจะขึ้นมาเหนือกว่านำ มันก็เป็นไปได้หมดในวันข้างหน้า แต่มันจะต้องเป็นแบบนี้อยู่ แล้วมันก็ดึงกันไป ผลักกันไปแบบนี้ เพราะมันอยู่ในฝั่งซึ่งไม่เอารัฐประหารเหมือนกัน เพียงแต่ว่าระดับในเชิงต่อสู้มันต่างกันเพราะว่าวิธีการสู้ในระดับอุดมการณ์มันไม่เหมือนกัน มันคนละแบบ คึอ การเปลี่ยนในระดับโครงสร้างประเทศ 2 อันนี้มันมีมุมมองต่างกันหลายส่วนอยู่ มันมีส่วนที่ไปด้วยกันได้อยู่ส่วนหนึ่งกับส่วนที่มันคนละอันส่วนหนึ่ง

ต่อกรณีการส่งสัญญาณหรือเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลหยุดขัดแย้งกันนั้น วรเจตน์ กล่าวว่า ก็พูดของตัวเองกันไป นำเสนอของตัวเองกันไปเป็นหลักให้ประชาชนตัดสินใจผ่านระบบเลือกตั้ง บางเรื่องพรรคเพื่อไทยค่อนข้างชัดว่า ม.112 เขาไม่แก้ในความเห็นตน โดยใช้วิธีอื่น อาจบอกว่าไปคุยในสภา แต่ตนมองว่าเมื่อถามว่าแก้หรือไม่ เขาก็บอกไม่แก้

ขณะที่พรรคก้าวไกลบอกแก้ แต่พรรคเดียวสามารถแก้ได้ไหมในสภา ดังนั้นเรื่องนี้จึงต้องผลักต้องดัน ต้องพูดคุยกันไปอีก รวมทั้งสถานการณ์การเมืองข้างหน้าก็มีการปรับเปลี่ยนได้ อย่างพรรคอนาคตใหม่ในตอนทำพรรคขึ้นมาเขายังดรอป ม.112 เลย วันนี้เขาขยับให้มันมาเป็นแก้ แต่ตอนนี้แต่ละพรรคก็มี position ชัดเจนแล้วว่าแต่ละฝ่ายเป็นอย่างไร ดังนั้นมันขึ้นอยู่กับโหวตเตอร์แต่ละพรรคว่าจะเน้นส่วนไหน อย่างไร ตอนนี้ บางส่วนก็บอกว่าเน้นเอาอะไรที่เกี่ยวกับเรื่องรัฐประหารออกไปก่อน เปลี่ยนขั้วอำนาจก่อนซึ่งก็สำคัญอยู่ประเด็นนี้ มันก็เป็นประเด็นอยู่ สเต็ปถัดไปอาจเป็นอีกอันก็แล้วแต่

ต่อคำถามที่ว่าถึงที่สุดพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลจะจับมือกันแล้วต่อรองนโยบายกันนั้น วรเจตน์ กล่าวว่า ปกติก็จะเป็นแบบนั้น มันไม่มีพรรคไหนได้หมดหากต้องเป็นรัฐบาลผสม มันต้องเอานโยบายมาคุยกันมาต่อรองกัน หากจะแข็งอันเดียวกันจะร่วมกันไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาในโลกนี้ก็เป็นแบบนี้หากเป็นรัฐบาลผสม แต่ก็ขึ้นอยู่กับหลังเลือกตั้งตัวเลขจะเป็นอย่างไร ตนไม่คิดว่าจะมีรัฐบาล 2 พรรคพอที่จะเป็นรัฐบาลได้ อย่างต่ำต้อง 3 พรรค หากต้องการให้มีเสถียรภาพพอสมควรในการบริหาร และต้องไม่ลืมว่ายังมี ส.ว.ที่จะเป็นตัวแปรอีกอันที่สำคัญ หากคะแนนไม่ห่างกันมากขั้วเดิมก็อาจจะขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาลไปก็ได้

ส.ว.กับมติของประชาชน

ต่อข้อเรียกร้องที่ให้ ส.ว. โหวตตามพรรคการเมืองที่ได้เสียงสูงสุดในสภานั้น วรเจตน์ กล่าวว่า หากไปอ่านในรัฐธรรมนูญระบุว่า ส.ส. และ ส.ว. ย่อมเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย ส.ว.ก็อ้างว่าเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย มีเอกสิทธิคุ้มครองเหมือน ส.ส. แค่นี้มันก็ไม่ถูกแล้ว รัฐธรรมนูญนี้ เมื่อถามความเห็นตนมันก็ผิดศีลมุสาแล้ว เพราะว่า ส.ว. ไม่เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยได้เลยจากรากที่มา เพียงแต่ว่าอำนาจตอนนั้นมันก่อตั้งเขาขึ้นมา 

ในเบื้องต้นอย่าไปหวัง ส.ว.มาก เราเอาที่ตัว ส.ส.เป็นหลัก สุดท้ายตัวคะแนนเสียงประชาชนก็จะเป็นตัวบอก ส.ว.เองว่าเขาควรจะต้องโหวตอย่างไร เพราะรัฐบาลจะอยู่ได้ไม่ได้อาศัยเสียง ส.ว. แม้ ส.ว. โหวตเลือกนายกฯ ร่วมกับ ส.ส.ก็จริง แต่เมื่อตั้งรัฐบาลได้แล้ว การอยู่หรือไปของรัฐบาลอยู่ที่ความไว้วางใจของสภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียว หากอยากจะโหวตเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยก็อยู่ได้แป๊บหนึ่ง อาจจะต้องยุบสภาใหม่หรือทำอะไรใหม่ หรือคุณจะต้องมีวิธีอย่างอื่น จะเกิดการยุบพรรคหลังเลือกตั้งไหม ซึ่งเราไม่ทราบได้ถึงสถานการณ์ทางการเมืองในวันข้างหน้ามันมีตั้งหลายแบบ คราวก่อนเลือกตั้งแล้วก็ยุบพรรคไป ส.ส.ก็แตกไปบางส่วน รวมทั้งงูเห่าอะไร

ส.ว. เป็นองคาพยพที่แปลกปลอมในตัวระบบนี้ แม้จะมีอำนาจในความเป็นจริงอยู่ก็ตาม ได้แต่หวังว่าเขาจะเห็นแก่การบริการราชการแผ่นดินให้มันราบรื่นไปอย่างน้อย 4 ปี ก็จะได้โหวตให้เป็นไปตามเจตจำนงของคนส่วนใหญ่ที่เขาเลือกมา แล้วก็ฝ่ายข้างมากฟอร์มรัฐบาลได้แล้วก็ไม่ควรไปโหวตขัดเจตจำนงของเสียงข้างมาก อย่างน้อยในสภาผู้แทนฯ มันควรเป็นแบบนั้น

รวมไทยสร้างชาติ นายกฯ หาร 2

สำหรับคำถามที่ว่าฝั่ง พล.อ.ประยุทธ์ ที่ประกาศขออีก 2 ปี ซึ่งมีการประเมินกันว่าหลัง 2 ปีจะส่งต่อนายกฯ ให้พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค มีโอกาสเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดนั้น

วรเจตน์ กล่าวว่า หนึ่งต้องดูว่าตั้งรัฐบาลได้ไหม หากตั้งได้ก็เป็นไปได้ ตอนนี้เราคาดการณ์มันมีได้หลายสถานการณ์หลายซีนขึ้นอยู่กับผลการเลอืกตั้งครั้งนี้ หากการเลือกตั้งครั้งนี้ฝั่งไม่เอารัฐประหารชนะไม่ขาด หรือไม่มีพรรคการเมืองที่อยู่ขั้วรัฐบาลเดิมเปลี่ยนขั้วมาฝั่งที่ไม่เอารัฐประหาร ขณะที่อีกฝั่งตั้งรัฐบาลได้เสียงอาจจะปริ่มๆ พอๆ กัน เพราะมันไม่ขาด และมี ส.ว.ที่สนับสนุนนั้นก็จะอยู่ได้ช่วงหนึ่งก็เป็นไปได้ รวมทั้งเราก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นอย่างตัวองค์กรอิสระอาจจะมีบทบาทขึ้นมา เช่น ใบเหลือง ใบแดง หรือยุบพรรคที่อาจเกิดมีขึ้น มันจะเปลี่ยนสัดส่วนแค่ไหนอย่างไร ซึ่งเป็นไปได้ทั้งนั้นในทางการเมือง แต่โดยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนุญ ประยุทธ์ ก็อยู่ได้แค่อีก 2 ปี เว้นแต่ว่าจะไปแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งในทางกฎหมายก็ไม่ได้มีอะไรห้าม แต่ก็ไม่หมู ก็คงจะมีแรงต้านอยู่มาก อย่างไรก็ตามสำหรับตนในเชิงระบบวาระ 8 ปี มันไม่ควรมีแต่แรก มันเป็นการเขียนรัฐธรรมนูญโดยมองหน้าทักษิณเป็นหลักจึงมีวาระลักษณะนี้ในการเขียนรัฐธรรมนูญ แต่บังเอิญมาจ๊ะกับ ประยุทธ์ 

ส่วนเมื่อถึงเวลาครบวาระ ประยุทธ์ อีก 2 ปี นั้น ตอนนั้นจะมีเพียงสภาผู้แทนฯ ที่จะมีสิทธิเลือกนายกฯ เนื่องจาก ส.ว. 5 ปีแรกที่มีสิทธิร่วมเลือกนายกฯ นั้นหมดวาระแล้ว

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

เรื่องรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่ มันจะต้องพูดกันเยอะมาก ความเป็นไปได้ของการแก้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้มันแก้ยาก ซึ่งตนเคยพูดแล้วว่ามันแก้ไม่ได้โดยสภาพของมัน บังเอิญที่มันแก้ระบบเลือกตั้งได้ แต่มันเป็นความร่วมมือกันระหว่างพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค และ ส.ว.ก็ไม่ขวาง ที่เปลี่ยนระบบเลือกตั้งมาเป็นแบบนี้ แต่เรื่องอื่นจะยาก ยากตั้งแต่การเริ่มจะทำจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ต้องเริ่มจากการทำประชามติ และการแก้รัฐธรรมนูญมีระดับความเข้มข้นหลายระดับ และระดับที่ตนอยากเห็นไม่คิดว่าจะทำสำเร็จด้วยภายใต้ร่มเงาหรือกระบวนการแก้ไขของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มันจะต้องปรับกลายส่วน สำหรับตน ตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญอันนี้ที่จะต้องมีการพูดกัน มันมีกฎเกณฑ์จำนวนหนึ่งที่มันขัดกันเองในทางปฏิบัติ เพราะหลังจากที่มีการทำประชามติมันมีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญบางส่วน มีการปรับเปลี่ยนหน่วยราชการในพระองค์อะไรด้วย ซึ่งมันจะไม่รับกับตัวโครงสร้างที่มีมาแต่เดิมในรัฐธรรมนูญบางส่วน จะมีปัญหาบางอย่างที่มันขัดกัน เรื่องทหาร กองทัพ เรื่องศาล เรื่ององค์กรอิสระ คือโครงสร้างสถาบันทางการเมืองทั้งหมดเป็นเรื่องใหญ่มากเลยในทางเนื้อหา 

และรัฐธรรมนูญฉบับนี้จริงๆ ไม่ได้ห้ามแก้หมวด 1 ทั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ ส่วนบทบัญญัติที่ห้ามแก้เลยคือรูปบบการปกครองอันนี้ห้ามเปลี่ยนรูปแบบการปกครองอย่างอื่นนั้นไม่ได้ห้าม แต่โดยบรรยากาศของสภาวะการณ์ที่มันเกิดขึ้นก็จะไม่มีการแตะหมวด 1 หมวด 2 ก็จะเป็นการแตะหมวดอื่นๆ เมื่อไม่แตะทั้งที่กลไปทั้งหมดมันสัมพันธ์กันโยงในกันในรัฐธรรมนูญ หากปฏิรูปก็ต้องปรับใหม่ ตนคิดว่าโดยนักการเมืองที่เป็นอยู่ในตอนนี้เขาคงวางลิมิตเอาไว้ อาจจะมีพรรคก้าวไกลที่แหลมไปกว่าอันอื่น แต่อันอื่นจะอยู่ในระนาบเดียวกันที่จะปรับเฉพาะในเชิงโครงสร้างสถาบันทางการเมืองเป็นหลัก ซึ่งถ้าปรับต่อให้ละหมวดหมวด 1 หมวด 2 ไว้ ในเชิงของรัฐธรรมนูญก็เยอะยุ่งยากมากเพราะมันมีกลุ่มผลประโยชน์มหาศาลมากๆ ที่ดำรงอยู่บางเรื่องต้องปรับควาเข้าใจหลายๆ อย่าง ที่มันจะต้องแก้ เพราะฉะนั้นในทางเนื้อหาต้องพูดเป็นวันๆ ว่ามันจะต้องแก้ตรงไหน แก้ในขั้นตอนอย่างไร

ในเชิงกระบวนการควรจะต้องแก้แบบไหนนั้น รัฐธรรมนูญที่ดีมันต้องตกผลึกในทางหลักการก่อน รัฐธรรมนูญมันเป็นผลของตัวระบอบที่มันมีอยู่จริง ภายใต้ระบอบที่มันเป็นอยู่อย่างนี้ตนเรียกระบอบที่มันตั้งชื่อไม่ได้ มันชักกะเยอกันอยู่ที่มันเป็นผลต่อเนื่องมาจาก 2475 ที่มันไม่ได้จบ ฝ่ายที่จะเป็นประชาธิปไตยตามหลักสากล ฝ่ายที่เป็นประชาธิปไตยแบบไทยไปอีกอย่างหนึ่ง ก็ยังดึงยังดันกันอยู่ภายใต้อาการแบบนี้เรายังไปไหนไม่ได้ไกลมากนัก จนกว่าไปถึงจุดหนึ่งกระแสของคนส่วนใหญ่เลยเห็นอันนี้จริงๆ เมื่อข้ามพ้นความทุกข์ยากในชีวิตประจำวันของเขาไปถึงจุดที่เขามองว่าอันนี้เป็นปัญหาในระดับตัวกลไกทางรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งวันนี้คนเห็นประเด็นเหล่านี้ก็เริ่มมากขึ้น ถ้าเทียบกับเมื่อสัก 10 กว่าปีก่อนก็มากขึ้นเรื่อยๆ รุ่นหลังๆ ก็เห็นปัญหาพวกนี้มากขึ้น เหลือเพียงแต่ว่าการจะดึงไว้ไม่ให้มันเปลี่ยนแปลงมันดึงได้แค่ไหน ตนไม่คิดว่าจะดึงได้ แต่ว่าทำให้มันช้าลงนั้นได้ สุดท้ายมันก็ต้องเปลี่ยนไปแต่มันก็ต้องใช้เวลาไม่เร็ว 

แล้วก็คนที่ไม่เคยมีอำนาจหรือตำแหน่งในทางการเมืองต้องเข้าใจด้วยว่าเมื่อเข้าไปทำงานในระนาบใหญ่แบบนี้ มันไม่หมูหรอก มันมีระบบราชการ มันมีอะไรบางอย่างวางไว้อย่างแข็งตัว 8 ปีที่เราเห็นเขาทำอะไรไว้บ้าง ช่วง 8 ปี หลังรัฐประหารต่อเนื่องมา ชุดกฎหมายที่ออกมา มันต้องเป็นเรื่องใหญ่ เพราะฉะนั้น 4 ปี ไม่พอเลย ฝ่ายที่ไม่เอารัฐประหาร หนึ่งต้องเปลี่ยนขั้วให้ได้ และต้องครองอำนาจให้ได้อย่างน้อย 8-12 ปี มันจะช่วยทำให้เราไปแคะอะไรได้บ้าง มีหลัการปกครองเข้าสู่ระบบที่มันควรจะเป็นบ้าง ปกครองแบบมีหลักวิชาบ้างในระดับหนึ่ง 

"ต้องไม่ลืมว่าฝ่ายที่เขาไม่เห็นด้วยกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเขาไม่ใช่ตะเกียงไร้น้ำมันนะ กลไกต่างๆ มันพรั่งพร้อมอยู่"

ฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงไม่มีเครื่องมือ แม้ฝ่ายการเมืองอาจมีอำนาจการเมืองอยู่ส่วนหนึ่ง แต่ที่เหลืออาจมีเพียงเหตุผลอย่างเดียวที่จะพูดได้บ้าง แต่เหตุผลก็ใช้เวลายาวนาน แต่โลกมันก็เป็นอย่างนี้ สุดท้ายก็ต้องใช้เวลา แต่ให้มีเจตจำนงที่จะทำ มีความแน่วแน่ มีความหวังที่จะทำ และมองสภาพแวดล้อมในทางปฏิบัติ มีมิตร ถ้าจะทะเลาะอะไรบ้างให้มันพอประมาณ มันทำในเดียวไม่ได้มันต้องขีดเส้นก่อนไม่เอานอกระบบเป็นอย่างแรก โดยภายในกลุ่มนี้มีกลายเฉดที่มันต้องสู้กันไปจนกว่าโหวตเตอร์จะเห็นว่าควรจะไปแบบไหน ซึ่งมันก็จะบีบให้พรรคการเมืองต้องทำเพียงแต่ว่ามันจะมากหรือน้อยแบบไหน ช้าหรือเร็วขนาดไหน ตนยังมองในแง่ดีอยู่ ถึงแม้มันจะช้าแต่มันจะค่อยๆ ไป

ถึงพรรคการเมืองและผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง

ตอนนี้เป็นการเลือกตั้ง แต่ก็เป็นการเลือกตั้งภายใต้กติกาของรัฐธรรมนูญที่มันมีปัญหาอยู่ แต่เรายังไม่มีทางเลือกอะไรมากนักในตอนนี้ก็ไปใช้สิทธิ์ให้มาก พยายามวิเคราะห์พิจารณานโยบายของพรรคการเมืองให้ดีๆ แล้วก็เลือก การเมืองเริ่มจากผลประโยชน์แต่ละคนทั้งทางเศรษฐกิจ อุดมการณ์ แต่ก็ต้องไปเลือก ยิ่งคนออกไปเลือกมากเท่าไหร่ จะทำให้กระบวนการบิดผันผลการเลือกตั้งเป็นไปได้ยากมากขึ้นเท่านั้น 

เลือกตั้งแล้วก็พยายามประคองให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอยู่ให้ได้ พยายามทำให้การเลือกตั้งเป็นความคุ้นชินปกติ มันต้องเลือกไปได้เรื่อยๆ ตนอาจจะมองโลกในความเป็นจริงนิดหน่อย เอาเข้าจริงสุดท้ายความเปลี่ยนแปลงที่มาจกนอกระบบเราปฏิเสธมันไม่พ้น มันมี อาจเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ เพียงแต่ว่าถึงตอนนั้นก็ประเมินดูว่าจะทำอะไรเพื่อต่อต้าน เพื่ออะไรได้บ้าง แค่ไหนอย่างไร 

"ส่วนการเลือกคิดแบบไหนก็ไปเลือก เมื่อเลือกแล้วหากไม่มีการบิดผันการเลือกตั้งก็พึงเคารพผลของการเลือกตั้ง อดทนที่จะเปลี่ยนแปลงไปภายใต้ตัวกลไกแบบนี้ มีแต่วิธีนี้วิธีเดียวที่จะทำให้ตัวประชาธิปไตยมันตั้งมั่นได้และสามารถที่จะไปต่อได้ โดยที่การเปลี่ยนแปลงไม่ต้องจบลงที่ความรุนแรงมากเกินไปถ้ามองโลกในแง่ดีนะ ถ้ามองโลกในแง่ร้ายก็คือว่ามันก็เป็นการชะลอเวลาของการเปลี่ยนแปลงใหญ่ออกไป ถ้าฝ่ายซึ่งยังกุมสภาพหลักอยู่ไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง ถึงจุดหนึ่งความเปลี่ยนแปลงที่มันมากกว่านั้นมันก็จะมา อาจจะนาน ผมอาจจะไม่อยู่ทันเห็นก็เป็นได้ได้เสมอ แต่ว่ามันก็จะมาอยู่ดีในที่สุด"

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net