Skip to main content
sharethis

ชวนมองปรากฏการณ์ ‘ส้มเทิร์นแดง’ ผ่านบทสนทนากับ 3 แอคติวิสต์คนรุ่นใหม่ เผยเหตุผลเลิกสมาทานการเมืองแบบก้าวไกล

  • ปรากฏการณ์ “ส้มเทิร์นแดง” หมายถึง คนที่เคยสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ เปลี่ยนใจมาสนับสนุนพรรคเพื่อไทย
  • ในการเลือกตั้งปี 2566 นักกิจกรรมหลายคน ผันตัวเข้าสู่ถนนการเมืองกับพรรคก้าวไกล และได้รับเลือกตั้งให้เป็น สส. ในสภา ในขณะเดียวกันก็มีนักกิจกรรมอีกกลุ่ม ประกาศตัวเป็นผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยอย่างชัดเจน แม้ว่านโยบายของพรรคแดงจะไม่ได้ตะโกนตอบรับข้อเรียกร้องบนท้องถนนเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา
  • ชวนมองปรากฏการณ์ “ส้มเทิร์นแดง” ผ่านบทสนทนากับ 3 แอคติวิสต์คนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนใจเลือกพรรคแดง ถึงเหตุผลและประสบการณ์ส่วนตัวที่ส่งผลกับการตัดสินใจ

จากคนใต้ที่ไม่เคยมองเพื่อไทย

“เราได้เข้าไปเห็นจริงๆ ว่าเขาทำงานยังไง ในกระบวนการคิด (นโยบาย) มันสูญเสียอะไรไปบ้าง แล้วก็เขาต้องต่อสู้กับอะไรไปบ้าง การเป็นเพื่อไทยหรือการเป็นทักษิณ หรือการเป็นคนทำงานกับคนไทยมันก็ไม่ใช่ว่าเขาจะสามารถทำทุกอย่างได้ง่ายไปหมด แล้วก็มาเจอกับข้อเท็จจริงที่ว่า เขาทำขนาดนี้เขายังโดนรัฐประหารเลย

มันก็เลยเริ่มมี empathy (ความเข้าใจ) กับพรรคเพื่อไทยแล้วว่า โอ้โห พรรคการเมืองอะไรโดนรัฐประหารทั้ง 2 ครั้ง โดนยุบพรรคมาอีกก่อนหน้านี้ ในขณะที่เราเติบโตมากับคนใต้ซึ่งเป็นแฟนคลับประชาธิปัตย์ที่โจมตีเพื่อไทยและคุณทักษิณมาตลอด รวมถึงเป็นคนที่ทำม็อบ กปปส.เรียกคนมารัฐประหารด้วย มันก็เลยตาสว่างขั้นสุด” 

มายมิ้นต์ – ศุกรียา วรรณายุวัฒน์ นิสิตคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และแอคติวิสต์ เล่าให้ประชาไทฟังถึงเหตุผลที่ทำให้เปลี่ยนใจมาเชียร์พรรคเพื่อไทย คือการได้เข้าร่วมโครงการ The Change Maker ของพรรคเพื่อไทย รวมถึงเข็ดขยาดกับแนวคิด “การเมืองใหม่” ที่ไม่ตรงปก และการทำงานไม่เป็นระบบของพรรคสีส้ม

(คนกลาง) ศุกรียา ร่วมโครงการ The Change Maker 

ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก THINK คิด เพื่อ ไทย

แต่ราคาของการเปิดตัวเชียร์เพื่อไทยในดงชนชั้นกลางยังคงเป็นคำถามเชิงค่อนขอดจากวงสังคมที่เรียกตัวเองว่าเป็นฝั่งประชาธิปไตย

“ก็คงจะเป็น Change Maker นี่แหละที่ทำให้นิสิตสาขาสามย่านถูกซื้อไปได้” คำครหาทำนองนี้เป็นเพียงแค่ส่วนเดียว 

ศุกรียา เล่าย้อนถึงตอนที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย และมีภาพถือป้ายเชียร์ธนาธร ตนเป็นลูกรักของนักวิชาการทุกหมู่เหล่า พวกเขาคงคิดว่าตนเชื่อแบบเดียวกัน แต่พอวันนึงตนออกตัวเชียร์เพื่อไทย ชอบทักษิณ การเลี้ยงดูปูเสื่อที่เคยได้รับก็เปลี่ยนไป

ช่วงการเลือกตั้งปี 2562 พรรคอนาคตใหม่คือพรรคเดียวที่สะท้อนวิธีคิดในวัยที่ได้เลือกตั้งเป็นครั้งแรก 

“ตอนที่เราชอบพรรคนี้ (อนาคตใหม่) เราชอบเพราะว่าเป็น ‘การเมืองใหม่’ เพราะว่าเราเป็นคนใต้ที่ที่บ้านก็จะรายล้อมไปด้วยคนที่เลือกประชาธิปัตย์     แล้วทุกคนก็จะบอกว่าเกลียดทักษิณ ทักษิณมันโกง แต่เราก็ไม่รู้หรอก เราได้ยินเขาพูดกันมาอย่างนี้ แล้วเราก็รู้สึกว่าจะให้เลือกเราเลือกประชาธิปัตย์เราก็เลือกไม่ได้ จะให้เราเลือกเพื่อไทยเราก็ไม่รู้จัก แล้วเราไม่มีที่ยืน เรากำลังจะอายุ 18 ปี เราจะเลือกตั้งครั้งแรก หลังจากผ่านรัฐประหารมา ไม่มีพรรคไหนที่สนใจเลย ไม่รู้จะเลือกพรรคไหนดี อยู่ดีๆ ก็มีพรรคนี้แหละผุดขึ้นมา” 

คำว่า “การเมืองใหม่” เป็นไอเดียที่จุดประกายความหวังในหมู่คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย เช่นเดียวกับศุกรียาที่ซื้อเรื่องนี้แบบสุดใจ เพราะมองว่า การเมืองต้องเป็นเรื่องของสิทธิของประชาชน ดูแลปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน อนาคตใหม่ไม่เหมือนพรรคอื่น เพราาะไม่ได้มองประชาชนเป็นหมากตัวหนึ่ง 

ศุกรียา บอกว่าถ้าเทียบกับวัฒนธรรมการติ่ง เมนของตนก็คือ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ในวันที่มีงานแฟนมีต  ตนเป็นแฟนคลับบัตร 2,500 บาท นั่งแถวหน้า กิจกรรมในงานมีทั้งถ่ายรูป จับมือ ตอบคำถาม เหมือนกับศิลปิน

งานแฟนมีตที่จัดขึ้นเพื่อหาเงินเข้าพรรค ก่อนการเลือกตั้งปี 2562

ภาพ: Sugreeya Wannayuwat

ศุกรียาและเพื่อนในชุดนิสิต จัดม็อบในมหาวิทยาลัย

หลังศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่

ภาพ: Sugreeya Wannayuwat

การออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งแรกๆ ของนิสิตคณะครุศาสตร์คนนี้ เกิดขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัยจากการชักชวนของกลุ่มแอคติวิสต์ชาวสามย่าน เช่น ฟอร์ด–ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และ เฟลอร์–สิรินทร์ มุ่งเจริญ 

จากตอนแรกที่ไปช่วยงานเพื่อนๆ ขายคุ้กกี้, ขายหนังสือ ตามม็อบต่างๆ ต่อมาชื่อของศุกรียาเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น จากการร่วมจัด “ม็อบตุ้งติ้ง” เพื่อส่งเสียงของผู้หญิง LGBTQ และคนชายขอบอื่นๆ ไปพร้อมๆ กับเรื่องประชาธิปไตย 

ในช่วงที่ม็อบค่อนข้างรุนแรง นักกิจกรรมเริ่มโดนกดปราบ ศุกรียาขณะนั้นที่โปรส้มมาก มีโอกาสร่วมวงทานข้าวกับผู้บริหารระดับสูงของพรรคส้มโดยบังเอิญ นั่นทำให้พบกับเอ๊ะแรก

“มีคนในโต๊ะถามเขาว่า “เมื่อไหร่ ธนาธร ปิยบุตร หรือว่าก้าวไกลจะออกมานำ เมื่อไหร่จะออกมานำประชาชนเรียกร้องนู่นนี่นั่น” แล้วเขาก็บอกว่า “เดี๋ยวรอลูกเข้าตีนก่อน” เราก็เลยแบบ…รอลูกเข้าตีน คืออะไร ตอนนั้นเรายังไม่รู้อะไรมากเท่าไหร่ แต่คนอื่นในโต๊ะเริ่มดูโกรธแล้ว”

ศุกรียาบอกด้วยว่า ในเกือบทุกการประชุมของแอคติวิสต์เฉพาะที่ตนเองได้ร่วม ก็จะมีคนของพรรคส้มเข้ามานั่งอยู่ด้วย 

“เขาจะต้องรอให้พวกเราเป็นอันตรายมากกว่านี้ก่อน หรือยังไงกันแน่ เราก็ไม่เข้าใจ…สรุปว่าเราเป็นส่วนหนึ่งกันหรือไม่ สรุปว่าเราเป็นอะไรกัน เป็นคนที่สู้ด้วยกัน หรือว่าจริงๆ แล้วม็อบก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่คุณต้องรอจังหวะถึงจะออกมาทำ”

และเอ๊ะสองก็มา ในวันที่ทนายอานนท์ นำภา และแกนนำหลายคนถูกจับ เมื่อปี 2563 ศุกรียากับเพื่อนจัดแฟลชม็อบที่แยกปทุมวัน แล้วมีคนจากพรรคก้าวไกลที่ยืนอยู่ข้างเวทีมาเข้าหาตน เขาแนะนำตัวว่าเป็นดอกเตอร์แล้วก็แต่งตัวภูมิฐาน และขอให้ตนปราศรัยโจมตีพรรคเพื่อไทยและคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เรื่องจับมือกับทหารตั้งรัฐบาลแห่งชาติ

ศุกรียาบอกว่า ในวันนั้นแม้ตนไม่รู้ว่าเพื่อไทยจะทำจริงไหม แต่ก็ปราศรัยไปในทำนองว่ารู้ทันเพื่อไทย และก็ถูกแฟนคลับเพื่อไทยโจมตีหนักเหมือนกัน แต่ตอนนั้นตนคิดแต่เพียงว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริงอย่างไร เพื่อไทยก็มีหน้าที่ออกมาชี้แจงต่อสาธารณะอยู่แล้ว

แต่เมื่อเวลาผ่านล่วงเลยไป ปัจจุบันคนๆนั้นได้เป็น สส. ส่วนตนเมื่อพักจากงานม็อบก็ได้มีเวลาคิดทบทวน ตนก็กลับมานั่งสงสัยว่าตนถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโจมตีเพื่อไทยหรือไม่ 

“เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องของความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่ากันด้วย เราเป็นแค่แอคติวิสต์ แล้วก็เป็นแค่คนๆหนึ่งที่ๆ อยากจะทำทุกอย่างที่ทำได้ แล้วเราก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่เราพูดไปมันจะมีผลย้อนกลับมายังไงบ้าง แล้วเราก็พูดในสถานการณ์คับขัน…เราอาจจะโง่จริงๆ แหละที่เชื่อเขาแล้วขึ้นไปพูดในตอนนั้น แต่ว่ามันสมควรแล้วหรือเปล่าที่เขาจะทำแบบนั้นกับเรา”

 

ศุกรียามือซ้ายถือคุ้กกี้ที่ไปช่วยขายในม็อบเยาวชนปลดแอก ที่อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ 18 ก.ค. 2563

 ภาพ: Sugreeya Wannayuwat

อีกหนึ่งตัวอย่างของการเมืองใหม่ที่ไม่มีจริง คือวิธีหาเสียงที่โจมตีคนอื่น

“เราไม่มีปัญหากับการที่ส้มเป็น กปปส.เก่า แต่เรามีปัญหากับการที่คนที่เคยทำลายประชาธิปไตยมาชี้หน้าด่าว่าคนอื่นไม่มีอุดมการณ์ มาบอกว่าคนอื่นไม่สู้ ไม่เป็นประชาธิปไตย ถ้าเป็นประชาธิปไตยต้องเป็นแบบฉันเท่านั้น

ประชาธิปไตยมันมีหลากความหมาย หลายรูปแบบ หลายวิธีการ เพราะฉะนั้นคนที่เคยทำลายประชาธิปไตยมาก่อน วันหนึ่งตาสว่างแล้วคิดว่าตัวเองดีกว่าใคร สำหรับเรามันเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้”

เรื่องระบบการทำงานภายในพรรค อดีตอาสาสมัครพรรคส้ม เปิดเผยว่าเคยถูกทิ้งให้รันงาน Tournament อีสปอร์ตของ สส. คนหนึ่ง ด้วยตัวเองเกือบทั้งหมด รวมถึงโปรเจคการศึกษาของ สส.จังหวัดหนึ่ง ที่ตนลงแรงลงใจไปมากแต่กลับถูกเทกลางทาง

ศุกรียา ยืนยันว่าเรื่องที่ตนเองเจอแม้จะดูเป็นประสบการณ์ส่วนตัว แต่ก็สะท้อนการทำงานของระบบในพรรคได้ดีมาก ถ้าพรรคยังไม่สามารถจัดการการทำงานในระดับเล็กๆ ให้ราบรื่นได้ แล้วจะไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประเทศได้อย่างไร

สำหรับความคาดหวังต่อรัฐบาล ศุกรียาระบุว่า พรรคเพื่อไทยต้องทำตามสิ่งที่หาเสียงไว้ให้ได้ ซึ่งขณะนี้เป็นพรรคที่ฟังก์ชันที่สุดในเรื่องเศรษฐกิจ เส้นตายที่จะพิสูจน์ฝีมือคือการลดค่าครองชีพของประชาชนให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นค่าไฟ ค่ารถไฟฟ้า ฉะนั้นตนขอให้พรรคเพื่อไทยดีลอย่างไรก็ได้ ให้ประชาชนได้ประโยชน์

ศุกรียาและเพื่อนร่วมเวทีปราศรัยใหญ่พรรคเพื่อไทย โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง

ภาพ: Sugreeya Wannayuwat

ชอบพรรคการเมืองที่จริงใจ

“สิ่งที่เราไม่ชอบคือ (ผู้สมัคร) สส.ส้มโพสต์รับอาสาสมัครในหลายพื้นที่ เราก็เข้าไปช่วยเขตหนึ่งของ กทม. (ผู้สมัคร) สส.พรรคส้มคนนั้นไม่มีความเป็นผู้นำที่มากพอ พรรคไม่เข้ามาควบคุม งานไม่แจกจ่ายอะไรเลย เข้าไปต้องคอยถามตลอดว่าอาทิตย์นี้จะให้ช่วยทำอะไรบ้าง 

พัท–ภูมิภัสส์ หิรัญวีวิชญ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นอีกหนึ่งเสียงที่บอกกับประชาไทถึงเหตุผลที่เปลี่ยนใจมาเชียร์พรรคเพื่อไทย เพราะไม่ชอบระบบการทำงานและท่าทีที่ดูไม่จริงใจของพรรคส้ม รวมถึงรู้สึกประทับใจนโยบายของพรรคแดงมากกว่า

(จากซ้าย) ภูมิภัสส์ และ น้ำฟ้า

ก่อนเข้าสู่โลกมหาวิทยาลัย ภูมิภัสส์ วางตัวเองเป็นเยาวชนนักเคลื่อนไหวอิสระ สร้างความรับรู้เรื่องอำนาจนิยมในโรงเรียน 

มูฟเมนต์ที่ทำให้เริ่มเป็นที่รู้จักคือ นร.ม.6 รวมตัวกันฟ้องศาลปกครองเลื่อนการสอบ TCAS เมื่อเดือน มี.ค. ปี 2564 เนื่องจากวันสอบติดต่อกันหลายวิชา และไม่มั่นใจในมาตรการป้องกันการระบาดของโควิด-19

ภูมิภัสส์ ซึ่งมีฐานะผู้ฟ้องรายชื่อที่ 2 บอกว่า พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคเดียวที่ยื่นมือเข้ามาช่วยกลุ่มนักเรียนและติวเตอร์ โดยพรรคมีทีมกฎหมายที่คอยให้คำปรึกษา รวมถึงช่วยประสานงานสื่อมวลชน ทั้งนี้ไม่มีการสนับสนุนมูฟเมนต์ด้วยการให้เงินแต่อย่างใด

ดร.ลิณธิภรณ์ และ ภูมิภัสส์

ภาพ: พรรคเพื่อไทย

 ภูมิภัสส์ และ นร. คนอื่น นัดเจอกันที่พรรคเพื่อไทยก่อนเดินทางไปยื่นฟ้องศาล

ภาพ: พรรคเพื่อไทย

“ครั้งแรกที่ทำงานกับเพื่อไทย ตอนฟ้องศาลเลื่อนสอบ ก็เจอกับ ดร.หญิง (ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ โฆษกพรรคเพื่อไทย) รู้สึกว่าทีมกฎหมายเพื่อไทยใส่ใจกับกลุ่มแอคติวิสต์มากกว่า เราต้องการฟ้องประเด็นนี้ ไม่ต้องการฟ้องประเด็นนี้ เขาก็ใส่ใจว่าเราเดินทางมาได้ไหม มาเจอกันที่นี่ก่อนไหม เรารู้สึกว่าเราได้รับการมองเห็น” 

เมื่อเข้าเรียนที่ธรรมศาสตร์ ภูมิภัสส์ เคลื่อนไหวเรื่องสถาบันฯ ร่วมกับม็อบเยาวชน และเรื่องเพศกับกลุ่มเฟมินิสต์ในมหาวิทยาลัยมาจนถึงปัจจุบัน เพราะเห็นว่าไม่มีความเท่าเทียมทางเพศในมหาวิทยาลัย แล้วในขบวนประชาธิปไตยก็ยิ่งแย่ เช่น การแอบถอดถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ซึ่งถือเป็นการข่มขืน และยังมีคนที่เป็นนักข่มขืนขึ้นปราศรัยบนเวที

เรื่องความเท่าเทียมทางเพศในการเมืองภาพใหญ่ ภูมิภัสส์ บอกว่า ความเป็นปิตาธิปไตยมีอยู่ในอยู่พรรคการเมือง แต่สำหรับตนรู้สึกโอเคกับเพื่อไทยมากกว่า เพราะเพื่อไทยยังทำนิทรรศการแบบ “นิทรรศกี” ขณะที่หลายๆ คนในก้าวไกลก็มีประเด็นเรื่องเพศ

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถูกตั้งคำถามเรื่อง “พฤติกรรมในครอบครัว” ว่าดูย้อนแย้งกับคุณค่าที่พรรคก้าวไกลนำเสนอหรือไม่  คนยิ่งจับตามากขึ้น เมื่อเขาก้าวขึ้นมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล

เมื่อปี 2562 ศาลยกฟ้อง กรณีพิธาทำร้ายร่างกายต่าย-ชุติมา เนื่องจากบาดแผลที่เกิดขึ้นของฝ่ายหญิง ไม่มีหลักฐานพอว่าเกิดจากการทำร้ายของฝ่ายชาย

ไทยรัฐออนไลน์รายงานคำพูด ต่าย-ชุติมา ให้สัมภาษณ์กับไนน์เอนเตอร์เทนว่า พอไต่สวนแล้ว มีการทำร้ายร่างกายจริง แต่ไม่ถึงกับเป็นความรุนแรงในครอบครัว แต่มันกระทบจิตใจตนเอง เลยทำให้ตนเองเริ่มกังวลในการอยู่ร่วมกัน

เวิร์คพอยท์ทูเดย์รายงานคำพูด ต่าย-ชุติมา ที่ไปออกรายการคลับฟรายเดย์ และเล่าให้ฟังถึงปัญหาในชีวิตคู่ที่เธออึดอัดใจ เช่น สามีบังคับไม่ให้กลับบ้านเกิน 18.00 น. ตั้งแต่แต่งงานมา หรือ เธอเผลอไปชมพระเอกฮอลลีวู้ด โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ ว่าเซ็กซี่จัง แล้วต้องกลายมาเป็นทะเลาะกันรุนแรง ถึงขั้นต้องกราบขอโทษ 

รวมถึงเคยไปให้สัมภาษณ์กับไทยรัฐ เปิดเผยว่า หลังแต่งงาน พิธา เคยขอไม่ให้ต่ายคบกับเพื่อนที่เป็นเกย์ หรือเป็นทอม หรือคนที่ลักษณะภายนอกไม่ใช่ผู้หญิง ด้วยเหตุผลว่าไม่เหมาะสม รวมถึงต้องใช้ชีวิตด้วยการมีกล้องวงจรปิดคอยจับตาดูความเคลื่อนไหวของตัวเองตลอด

ต้นเดือน ก.ย. 2566 โฆษกหญิงพรรคการเมืองหนึ่ง ออกมาโพสต์ว่า ถูก อดีตผู้สมัคร สส. ก้าวไกล จ.ชัยภูมิ ล่วงละเมิดทางเพศ

ย้อนไปเมื่อเดือน ปี 2565 ส.ก. เขตสาทร ถูกกล่าวหาว่าก่อเหตุล่วงละเมิดทางเพศ โดยผู้เสียหายบางส่วนเป็นผู้เยาว์

ก่อนหน้านั้นไม่กี่เดือนมีกรณีของ ส.ก.เขตวัฒนา ถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดทางเพศอดีตลูกจ้างหญิงข้ามเพศ โดยผู้ที่ออกมาเปิดโปงถูกฟ้องหมิ่นประมาททั้งทางอาญาและแพ่ง

ภูมิภัสส์ เล่าถึงผลกระทบด้านจิตใจว่าปกติเวลาที่ตนพูดเรื่องเฟมินิสต์ในโซเชียลก็จะมีทัวร์แอนไทเฟมินิสต์จากเฟซบุ๊กมาลง ต่อมาที่ตนเปิดตัวเชียร์เพื่อไทยทัวร์ก็ลงบ่อยและหนักขึ้นกว่าเดิม ซึ่งก็ส่งผลกับตนเหมือนกัน ขณะนี้ก็ต้องพบนักจิตบำบัดเป็นระยะ ส่วนชีวิตในมหาวิทยาลัยก็มักถูกบอกว่าเป็นคนแรงๆ ที่ขับเคลื่อนทุกประเด็น

เพราะรู้สึกว่าถูกเบียดขับจากความเป็นกระแสหลักที่ดูมีศีลธรรมสูงส่ง ทำให้ผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย ที่เรียกตัวเองว่า “นางแบก” มักมีอารมณ์ขันแบบจิกกัดตัวเอง ที่เข้าใจกันเองเฉพาะกลุ่ม

อีกคำหนึ่งที่โหวตเตอร์เพื่อไทยใช้เรียกตนเองคือ “อึ่งไข่” ซึ่งก็เกิดจากอารมณ์ขันเชิงประชดประชันน้อยเนื้อต่ำใจเช่นกัน

ภูมิภัสส์เล่าถึงที่มาของคำนี้ที่เริ่มต้นเกิดจากการตอบโต้กันของส้ม-แดงในโลกออนไลน์ แล้วนางแบกคนหนึ่งก็โต้กลับว่า คนเลือกก้าวไกลมักจะบอกว่าก้าวไกลมาจากประชาชน 14 ล้านเสียง ถ้างั้นคนอีก 10.9 ล้านคนที่เลือกเพื่อไทยเป็นอึ่งไข่หรือ

“เราออกมาบอกว่าเราเป็นอึ่งไข่ 10.9 ล้านตัวที่เลือกรัฐบาลนี้ แล้วก็มีนักวิชาการคนหนึ่งออกมาพูดว่ารัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลอึ่งไข่ ที่เก็บไข่จนเต็มตัว แล้วเดี๋ยวจะต้องโดนคนอีสานจับกิน แล้วจะสูญพันธุ์ เราก็แบบอะไรวะ มึงนั่งกาวไปได้ขนาดนั้น กูแค่ชอบอึ่งไข่ เพราะมันอยู่ในติ๊กต็อก”

(คนกลาง และขวาสุด) น้ำฟ้า และ ภูมิภัสส์

ม็อบ 26 ก.ค. 2566 ที่ลานสัญญาธรรมศักดิ์ มธ.รังสิต 

 

ไม่ซื้อก้าวไกล สังคมก็พร้อมตั้งคำถาม 

“ถ้าเป็นแอคติวิสต์ธรรมดา เราก็ไม่คิดจะหันออกจากพรรคก้าวไกล แต่กลายเป็นว่า คนที่เป็นว่าที่ผู้สมัคร สส. เป็นแอนไทเฟมินิสต์ เป็นชายไทยเล่นมุกหอม ด่าอิสลาม ยังได้มีพื้นที่สื่อ ได้ลง สส. พรรคก็ยังคิดที่จะส่งเขาลงในพื้นที่ นี่ก็แบบ สรุปแล้วเรสประเด็นความเท่าเทียมของพรรคยังไง”

ฟ้า–น้ำฟ้า ปั้นเหน่งเพชร นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ที่ระบุตัวเองว่าเป็น “เฟมินิสต์” และ “นางแบก” บอกกับประชาไทถึงเหตุผลที่เปลี่ยนใจมาเชียร์เพื่อไทย ว่า ตนเคยร่วมทำกิจกรรมกับพรรคส้มมาก่อน แต่รู้สึกไม่ซื้อในพฤติกรรมหลายๆ อย่างซึ่งดูขัดกับประเด็นที่พรรคพยายามนำเสนอ

น้ำฟ้า เป็นนักเรียนจาก รร. หญิงล้วนแห่งหนึ่งใน จ.นนทบุรี ที่ออกมาเคลื่อนไหวสร้างความรับรู้เรื่องอำนาจนิยมในโรงเรียน และความเท่าเทียมทางเพศ ต่อมาได้รู้จักคนทำงานพรรคจากการไปร่วมกิจกรรมเวิร์คชอปกับคณะก้าวหน้า ที่ จ.สงขลา ซึ่งนั่นทำให้ตนเปลี่ยนใจมาเชียร์เพื่อไทย

ราคาที่ต้องจ่ายเมื่อเปิดตัวเชียร์เพื่อไทย ยิ่งแพงขึ้นไปอีกเมื่อเรียนคณะรัฐศาสตร์ 

น้ำฟ้าบอกว่าตนถูกตั้งคำถามจากคนในคณะเดียวกันว่าทำไมถึงมีจุดยืนแบบนี้ มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกันบ้าง แต่เวลาคุยกับคนที่เลือกก้าวไกลก็พบว่า เขามักมีธงในใจ ถ้าตนตอบผิดแผกไปจากนั้นก็จะถูกมองว่าแบกจนบ้ง

ในช่วงที่มีกระแสข่าวลือว่าเพื่อไทยจะจับมือ 2 ลุงตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว น้ำฟ้าเล่าบรรยากาศที่จำไม่ลืมในคลาสเรียนวิชาหนึ่ง อาจารย์พูดในห้องเรียนแบบขำๆ ทำนองว่า คนที่เลือกเพื่อไทยอาจจะคิดว่าตัวเองโง่ ไม่น่าเลือกเลย 

“เขามายืนพูดอยู่หน้าโต๊ะเรา แล้วก็มองหน้าเรา เสร็จแล้วก็หันไปมองเพื่อน บอกว่าอันนี้คือล้อกันเล่นเฉยๆ นะ พอดีว่าสนิทกัน นี่ก็อึ้ง แล้วก็…ค่ะ อาจารย์เขาก็พูดว่า แต่ไม่เป็นไร คนเรามีเงื่อนไข ที่ต่างกัน ทำไมถึงเลือกหรือไม่เลือก” 

ในเทอมก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง น้ำฟ้าเคยเรียนวิชาอื่นกับอาจารย์คนนี้มาแล้วและแสดงตัวว่าชอบเพื่อไทยมากว่าก้าวไกล แต่ที่ตกใจมากกว่าคำพูดของอาจารย์คือมวลบรรยากาศที่เพื่อนทั้งห้องขำ

“มหาลัยเราไม่มีพื้นที่ให้กับคนที่เลือกพรรคแดงอยู่แล้ว ถ้าคุณเลือกส้มเมื่อไหร่นะ แล้วยิ่งคุณเป็นแอคติวิสต์คุณก็จะยิ่งได้รับการเชิดชูมากๆๆๆๆ แต่ถ้าคุณเลือกพรรคแดง แล้วคุณพูดอะไรออกมาก็จะถูกจับผิด ตั้งคำถาม ถูกมองว่าจัดตั้ง เป็นไอโอพรรคจ้างมา” 

สำหรับความคาดหวังต่อพรรคเพื่อไทย น้ำฟ้าบอกว่า สิ่งที่พรรคไม่ควรบาร์ต่ำกว่านี้คือ การกระทำอะไรก็แล้วแต่ที่ผิดหลักประชาธิปไตย พร้อมยกตัวอย่างเรื่องแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ว่า สสร.ก็ควรมาจากการเลือกตั้งเป็นสัดส่วนที่ไม่ต่ำกว่า 50% 

“เพื่อไทยเลือกที่จะเอาอำนาจรัฐที่จะมาจัดการปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้น ส่วนก้าวไกลกินอุดมการณ์มากกว่าที่จะดูที่การกระทำ คนอื่นอาจจะซื้อ แต่เราไม่ซื้อโซลูชั่นของก้าวไกล ไม่ได้บอกว่ามันไม่ดี แค่เราไม่ซื้อ”

น้ำฟ้า บอกว่า แม้ว่าตนจะเห็นความเป็นไปได้ของรัฐบาลข้ามขั้วมาตั้งแต่เห็นผลการเลือกตั้งแล้วก็ตาม แต่ก็ผิดหวังที่เพื่อไทยไปจับมือกับพลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ  ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้จับมือกับก้าวไกลแล้วไปต่อด้วยกันได้ แต่สุดท้ายถ้ามีก้าวไกลยังไงก็ไม่ผ่าน สว. 250 คน จึงมองว่าก็ต้องเลือกทางที่ไปต่อได้เพื่อจัดตั้งรัฐบาลให้เร็วที่สุด

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net