Skip to main content
sharethis

ปมค่าไฟแพง ผู้ประสานงานพรรครวมไทยสร้างชาติ อ้างเมื่อ 10 ปีที่แล้ว 'รัฐบาลยิ่งลักษณ์' เร่งอนุมัติทิ้งทวนทำล็อคผูกพันค่าไฟแพงไว้ ด้าน 'สฤณี' โพสต์สวนเตือนความจำ 8 เหตุการณ์เกิดขึ้นใน 'สมัยประยุทธ์'

19 ก.พ.2566 จากกรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาราคาค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นใจช่วงนี้ จนวานนี้ (18 เม.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์​โอชา​ นายกรัฐมนตรี​และ​รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​กลาโหม​ กล่าวถึงปัญหาดังกล่าาวว่า ต้องดูสาเหตุของปัญหา ว่าทำไมถึงแพง และต้องดูต้นทุนการผลิตและการบริหาร มันมีอะไรที่ซับซ้อนอยู่ในนั้นหลายอย่างนั้น 

ในขณะที่อีกกระแสโทษไปที่รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่าง หิมาลัย ผิวพรรณ ผู้ประสานงานพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์เร่งอนุมัติทิ้งทวน 5,000 เมกะวัตต์ นาน 10 ปี รู้ไหม ก่อนตนจะเข้ามา มีการอนุมัติในเรื่องของด้านพลังงาน 5,000 เมกะวัตต์  พร้อมระบุว่า พรรคเพื่อไทย ควรออกมาชี้แจงว่า ทำไม "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" ถึงทำล็อคผูกพันค่าไฟแพงไว้ ทำไมถึงอนุมัติให้กฟผ. ต้องซื้อไฟฟ้าจากบริษัทกัลฟ์ ถึง 5,000 เมกะวัตต์ เป็นเวลาถึง 10 ปี ส่งผลทำให้การสำรองไฟฟ้าล้นเกินความจำเป็น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตต้องจ่ายเงินให้เอกชน อิงตามเอกชน ทำให้ประชาชนต้องแบกรับค่าไฟฟ้าที่แพงมหาโหดนี้

อย่างไรก็ตาม สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ โพสต์โต้แย้งว่า มีเพื่อนบอกมาว่า IO รัฐและสื่อเสี้ยมกำลังปล่อยข่าวว่า ที่ค่าไฟแพงเพราะรัฐบาลยิ่งลักษณ์ คือ ถ้าไม่นับความชัดของข้อเท็จจริงที่ว่ารัฐบาลทหารอยู่มาจะ 9 ปีแล้วยังแก้ปัญหาไม่ได้ ก็อยากเตือนความจำทุกคนว่าเหตุการณ์ต่อไปนี้เกิดขึ้นใน “สมัยประยุทธ์” ทั้งนั้น

โดย สฤณี ลำดับประเด็นดังนี้

  1. ออกคำสั่ง คสช. ปลดเลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และแต่งตั้งกรรมการ กกพ. ใหม่ทั้งชุด
  2. ไม่มีการเปิดประมูลผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (IPP) อีกเลยตั้งแต่รัฐประหาร 2557 จนถึงปัจจุบัน
  3. แต่ระหว่างทางมีการอนุมัติให้ RATCH สร้างโรงไฟฟ้าใหม่มา “ทดแทน” ของเก่า แต่สร้างใหญ่กว่าเดิม หลังจากนั้นขายหุ้นครึ่งหนึ่งของโรงนี้ให้ GULF ในราคาพาร์(!) ได้เงินไม่ถึงสองล้านบาท
  4. ช่วงวิกฤติโควิด-19 โรงไฟฟ้ามากถึง 7-8 โรงจาก 12 โรงไม่ต้องเดินเครื่องเลย ไปดูว่าของใครบ้างที่ไม่เดินแต่ได้เงิน
  5. รัฐบาลทหารไม่เคยคิดที่จะปรับโครงสร้างพลังงานหรือเจรจาแก้สัญญาใดๆ กับเอกชน ให้ยุติธรรมกับประชาชนมากขึ้นตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
  6. ช่วง 6 เดือนสุดท้ายก่อนยุบสภา มีการอนุมัติให้ กฟผ. ลงนามซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนแม่โขงใหม่ (ยังไม่ได้สร้าง) อีก 3 แห่ง กำลังการผลิตรวมหลายพันเมกะวัตต์ ทั้งที่ไฟสำรองทะลุ 50%
  7. สัญญาซื้อไฟฟ้า (PPA) จากเขื่อนหลวงพระบางในลาว 1 ใน 3 เขื่อนใหม่ที่อนุมัติ ยาวถึง 35 ปี นานเป็นประวัติการณ์ (ก่อนหน้านี้ PPA ไซยะบุรียาว 31 ปีก็ว่านานแล้ว)
  8. ผลการเปิดประมูลพลังงานหมุนเวียนรอบล่าสุดที่เพิ่งประกาศผลก่อนสงกรานต์ มีเอกชนหน้าเดิมกวาดโควตาไปมากมายท่ามกลางความกังขาของทั้งวงการ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net