Skip to main content
sharethis

กกต.เตรียมประชุมกำหนดความชัดเจนกรอบหาเสียง 180 วัน 'อนุสรณ์ เพื่อไทย' จี้ กกต. บังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ 'วิษณุ' ย้ำ หน.พรรคที่เป็นรมต.ระวังเวลาลงพื้นที่

 

 

22 ก.ย.2565 กรณี คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แจ้งเตือนกรอบเวลา 180 วัน ก่อนวันครบอายุของสภาผู้แทนราษฎร (วันที่ 23 มี.ค.2566) ที่ผู้สมัคร และพรรคการเมืองต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ทำให้หลังวันที่ 24 ก.ย. ในเรื่องการหาเสียงต่างๆ นั้น

สำนักข่าวไทย รายงานว่า แสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณี กกต.เตรียมประกาศหลักเกณฑ์ให้พรรคการเมืองปฏิบัติ เพื่อเตรียมพร้อมช่วง 180 วันที่สภาผู้แทนราษฎรจะหมดวาระ ซึ่งจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย.นี้ ว่า วิธีการหาเสียงมีกำหนดอยู่ในระเบียบของกกต.อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกรณี 180 วัน กรณีสภาอยู่ไม่ครบวาระ หรือยุบสภาคือมาตรฐานแบบเดียวกัน เพียงแต่การเลือกตั้งครั้งนี้อาจจะแตกต่างออกไป เพราะมีกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับรอการประกาศใช้ ทำให้เงื่อนไขการหาเสียงบางอย่างยังไม่เกิดขึ้น เช่น หน่วยเลือกตั้ง เขตเลือกตั้ง ต้องรอกฎหมายฉบับใหม่ ทำให้ฐานของผู้สมัครและพรรคการเมืองที่จะนำไปใช้ในการหาเสียงยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งในช่วงบ่ายวันนี้ (22 ก.ย.) ทางสำนักงานกกต.จะเสนอร่างประกาศดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม กกต.เพื่อพิจารณา ก่อนแจ้งให้พรรคการเมืองทราบพรุ่งนี้ ( 23 ก.ย.) เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติให้เกิดความชัดเจนในการหาเสียง

เลขาธิการกกต. กล่าวถึงข้อกังวลที่พรรคการเมืองกลัวว่าในช่วง 180 วันอะไรทำได้ทำไม่ได้บ้าง ว่า ตัวระเบียบกำหนดไว้อยู่แล้ว พรรคการเมืองเคยใช้แล้ว แต่สิ่งที่ต่างออกมาคือระยะเวลาที่มากขึ้น ก่อนนี้มีพระราชกฤษีกาเลือกตั้ง กรณีไม่ครบวาระจะใช้เวลาหาเสียงประมาณ 30 วันก่อนที่จะมีเลือกตั้ง แต่ครั้งนี้แตกต่างออกไปเพราะ 180 วัน หรือ 6 เดือน มีกิจกรรมที่พรรคการเมืองจะหยุดไม่ได้ เช่น การประชุมใหญ่ การทำไพรมารี่โหวต การทำกิจกรรมทางการเมืองตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งกกต.จะชี้แจงให้พรรคการเมืองรับทราบในการประชุมชี้แจงพรรคการเมืองที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้(23 ก.ย.) เพราะระยะเวลา 6 เดือน หาเสียงทอดยาวมาก ซึ่งต้องดูองค์ประกอบว่าจะเข้าข่ายการหาเสียงการเลือกตั้งหรือไม่

ต่อคำถามที่ว่า จะมีความชัดเจนเรื่องการหาเสียงกับการช่วยเหลือประชาชนหรือไม่นั้น แสวง กล่าวว่า เส้นแบ่งทางกฎหมายมีอยู่แล้ว เพียงแต่ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรต้องดูเป็นกรณีไป ตัวระเบียบมีอยู่แล้ว เพียงแต่เงื่อนเวลาเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ใช้ระยะเวลา 180 วันเพิ่มขึ้นมา และมีกฎหมาย 2 ฉบับที่จะเป็นเครื่องมือการเลือกตั้งครั้งต่อไป แต่ยังไม่มีผลใช้บังคับเพื่อเป็นฐานในการทำงาน  

เมื่อถามย้ำว่าการไม่มีกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับจะมีปัญหาในการปฏิบัติหรือไม่นั้น แสวง กล่าวว่า ถ้าไปถึงวันที่ 23 มีนาคม  2566 ทุกอย่างจะเรียบร้อย และพรรคการเมืองก็จะมีเวลาเตรียมตัว และมีช่วงเวลาในการหาเสียง การทำไพรมารี่โหวตตามกฎหมายใหม่ แต่ถ้าสถานการณ์การเมืองทำให้พรรคต้องทำไพรมารี่โหวตตามกฎหมายเดิม จะมีพรรคการเมืองทำไพรมารี่ตามกฎหมายดังกล่าวได้หรือไม่  ส่งผู้สมัครได้หรือไม่  

“ผมไม่ได้ห่วงสำนักงานกกต. เพราะเตรียมพร้อมไว้อยู่แล้ว แต่กังวลกับพรรคการเมือง เนื่องจากปัจจุบันมีพรรคการเมืองจำนวนมาก ถ้ากฎหมายใหม่ใช้บังคับจะทำไพรมารี่โหวตตามกฎหมายใหม่ ซึ่งจะง่ายกว่าการทำไพรมารี่แบบเก่า เพราะใช้เขตจังหวัดเป็นเขต แต่หากใช้กฎหมายฉบับเก่าจะต้องไปทำไพรมารี่โหวตทุกเขตเลือกตั้ง ซึ่งมีการจัดตั้งสาขาและตัวแทนพรรคในทุกเขต ต้องจัดประชุม ตรวจเช็คองค์ประชุม บันทึกการประชุม ซึ่งจะต้องลงรายละเอียดคะแนนของการโหวตผู้สมัครที่อาจจะเป็นปัญหายุ่งยากต่อพรรคการเมือง” เลขาธิการกกต. กล่าวและย้ำว่าทุกเรื่องกฎหมายกำหนดไว้อยู่แล้ว ต้องดูข้อเท็จจริงแต่ละเรื่องว่าเป็นอย่างไร แต่ทุกคนต้องทำตามกฎหมาย ส่วนการลงพื้นที่ของรักษาการนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีก็ต้องจับตาตามปกติอยู่แล้ว

'อนุสรณ์ เพื่อไทย' จี้ กกต. บังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ 

ทีมสื่อพรรคเพื่อไทย รายงานต่อสื่อมวลชนว่า อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ในระหว่างที่กกต.เตรียมจะออกประกาศหลักเกณฑ์เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองปฏิบัติตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ภายในกรอบเวลา 180 วัน ว่าสิ่งใดทำได้หรือไม่ได้บ้างในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น มีส.ส.และว่าที่ผู้สมัครส.ส.ของพรรคเพื่อไทย ร้องเรียนเข้ามายังพรรค เพื่อให้ส่งเรื่องให้กกต.ตรวจสอบกิจกรรมการลงพื้นที่แจกของน้ำท่วมและโควิดของบรรดารัฐมนตรีในรัฐบาลหลายกรณี เช่น กรณีของ อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มีข่าวว่าทางส่วนราชการส่วนท้องถิ่นในพื้นที่อำเภอสีดา จังหวัดนครราชสีมา ได้ออกหนังสือสั่งการไปยังส่วนราชการต่างๆในลักษณะสั่งการให้ข้าราชการตำรวจปฎิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวก เกณฑ์คนมาต้อนรับและแจกถุงยังชีพจำนวน 5,000 ชุด ในวันที่ 24 กันยายน 2565 ถ้าถุงยังชีพที่นำมาแจกนั้น จัดซื้อด้วยเงินส่วนตัวของรัฐมนตรี ผิดกฎหมายหรือไม่ ถ้าเป็นถุงยังชีพจากเงินงบประมาณถือเป็นการทุจริตหรือไม่ การกระทำการดังกล่าวจะเกิดขึ้นในวันเสาร์ที่ 24 กันยายน 2565 สามารถกระทำการได้หรือไม่ เป็นการเอาเปรียบกันทางการเมืองอย่างชัดเจนหรือไม่ เพราะอำเภอสีดาแม้จะเคยมีน้ำท่วมก็มีเพียงตำบลเดียวและเกิดน้ำท่วมในช่วงระยะเวลาสั้นๆตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่จะมีการนำของมาแจกในเดือนกันยายนและกระจายแจกทั้งอำเภอ ลักษณะการกระทำเช่นนี้ ถือเป็นการหวังผลหาเสียงล่วงหน้าหรือไม่ ผิดกฎหมายหรือไม่

“การเร่งแจกของในช่วงคาบลูกคาบดอก ระหว่างรอกกต.เตรียมจะออกประกาศหลักเกณฑ์เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ภายในกรอบเวลา 180 วัน เจตนาบริสุทธ์หรือไม่ เป็นการหวังเอาเปรียบกันทางการเมืองหรือไม่เชื่อว่าสังคมตัดสินได้ จึงขอให้กกต.เร่งดำเนินการวินิจฉัย” อนุสรณ์ กล่าว

'วิษณุ' ย้ำ ต้องระวัง หน.พรรคที่เป็นรมต.ระวังเวลาลงพื้นที่

ขณะที่ปฏิกิริยาของ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ต่อประเด็นนี้ สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า วิษณุ กล่าวว่า กฎหมายกำหนดให้กกต.ต้องประกาศก่อน 180 วันก่อนที่สภาฯ จะสิ้นสุดลง เพราะฉะนั้นกกต.จึงทำแผน(ซิแนริโอ) 2 แบบคือ ถ้าอยู่จนถึงวันที่ 23 มี.ค. 2566 ต้องเตรียมการว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร เป็นการส่งสัญญาณให้รัฐบาลรู้ แต่หากยุบสภาก่อน ซึ่งไม่เกี่ยวกับกกต. เพียงแต่รัฐบาลต้องรู้ว่าถ้ายุบสภา รัฐบาลต้องทำอะไรและกกต. ต้องดำเนินการอะไรบ้าง เช่น เมื่อมีการยุบสภาก็ต้องเลือกตั้งใหม่ภายใน 45 วัน หากสภาอยู่ครบวาระก็ให้จัดการเลือกตั้งภายใน 60 วัน หรือจัดการเลือกตั้งวันที่ 7 พ.ค. 2566 ซึ่งเป็นการกำหนดรูปแบบไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร และในอดีตที่ผ่านมาก็ทำเช่นนี้ทุกครั้ง

ส่วนกรณีที่กกต.เตรียมออกหลักเกณฑ์เตือนพรรคการเมืองและผู้สมัคร ส.ส. ห้ามทำผิดกฏหมายช่วง 180 วัน ก่อนหมดอายุสภานั้น วิษณุ กล่าวว่า เป็นความรอบคอบที่ต้องเตือน ซึ่งที่ผ่านมาไม่จำเป็นต้องเตือนเพราะมีกฎหมาย ว่าด้วยการเลือกตั้ง แต่เนื่องจากขณะนี้กฎหมายเลือกตั้งอยู่ระหว่างการแก้ไข จึงยังต้องใช้กฎหมายเลือกตั้งฉบับเติม และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับกฎหมายเลือกตั้งก็ต้องใช้กฎหมายเลือกตั้งฉบับใหม่ จึงอยู่ระหว่างกฎหมายเก่าและกฎหมายใหม่ กกต.เลยออกคู่มือเตรียมการณ์เอาไว้ ทั้งเรื่องการแจกเงิน การหาเสียง

“ผมได้ประสานไปยังกกต.ให้ส่งประกาศมายังรัฐบาล เพื่อนำไปประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาต่อไป คาดว่ากกต.จะส่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวมายังรัฐบาลภายในวันนี้(22 ก.ย.) เพราะต้องมีผลก่อนวันที่ 24 ก.ย.65 ทั้งนี้ การออกหลักเกณฑ์ของ กกต. ในซีกของรัฐบาลก็ต้องเตรียมการ หากมีใครไปทำอะไรในฐานะพรรคการเมือง แต่หากทำในฐานะรัฐมนตรีถือเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ ซึ่งกรณีสวมหมวกสองใบ ทั้งเป็นรัฐมนตรีและเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองก็ต้องระมัดระวัง ซึ่งผมเห็นร่างประกาศคร่าว ๆ แล้ว เช่น กรณีแจกเงิน ซึ่งห้ามเฉพาะผู้สมัครส.ส.และพรรคการเมือง แต่ถ้าเป็นรัฐมนตรีไม่เป็นไร เพียงแต่ในอนาคตหากไปเป็นผู้สมัครส.ส.ก็ต้องระวัง หากแยกไม่ออก อาจจะเกิดการฟ้องร้องกันได้” วิษณุ กล่าว

เมื่อถามว่าคนที่เป็น หัวหน้าพรรคและเป็นรัฐมนตรีจะต้องระวังเรื่องการใช้จ่ายหรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า จะนำประกาศนี้แจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบในสัปดาห์หน้า

วิษณุ กล่าวว่า กรณีรัฐบาลอยู่ครบเทอม ไม่ต้องดำเนินการอะไร เพราะ กกต.จะเป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้ง การรับสมัคร แต่หากมีการยุบสภา รัฐบาลจะต้องออกพระราชกฤษฎีกายุบสภา เท่านั้น ส่วน ประกาศวันเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของ กกต. ต้องดำเนินการภายใน 5 วัน

ต่อคำถามที่ว่านายกรัฐมนตรีสามารถพูดได้หรือไม่จะยุบสภาหลังการประชุมเอเปคนั้น วิษณุ กล่าวว่า สามารถพูดได้ เพราะเป็นอำนาจในการยุบสภา แต่คงไม่ใช่เรื่องจับให้มั่นคั้นให้ตาย และเมื่อถามกันมาก ก็มีคำตอบว่า เอาไว้ว่ากันหลังเอเปค

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net