Skip to main content
sharethis

เมื่อไม่นานนี้มีข่าวเรื่องที่จีนพัฒนาฐานทัพเรือแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือฐานทัพเรือเรียมที่กัมพูชา ทำให้มีการวิเคราะห์ถึงผลที่จะเกิดตามมาในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์กัมพูชากับเวียดนามที่เป็นมิตรกันมานาน ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ รวมถึงเรื่องความมั่นคงในภูมิภาคทะเลจีนใต้จากการที่จีนสามารถขยายการลาดตระเวนทางน้ำมาในภูมิภาคนี้ด้วย

 

13 มิ.ย. 2565 จากกรณีการพัฒนาฐานทัพเรือเรียมในกัมพูชาที่จะทำให้จีนนำมาใช้ทางการทหารได้นั้น ได้ส่งผลให้เกิดความกังวลจากประเทศเวียดนามซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของกัมพูชา ขณะที่นักยุทธศาสตร์การทหารคอยติดตามเหตุการณ์เรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

มีแหล่งข่าวที่เป็นทูตเปิดเผยว่ากรณีฐานทัพเรียมและกรณีที่จีนมีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการยุทธศาสตร์ในกัมพูชานั้น น่าจะเป็นหนึ่งในวาระที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ เวนดี เชอร์แมน จะนำมาอภิปรายในการเดินทางเยือนเวียดนามระหว่าง 10-13 มิ.ย. นี้ ซึ่งจะมีการพบปะหารือกันกับตัวแทนรัฐบาลเวียดนามคือรองนายกรัฐมนตรีเวียดนาม Le Van Thanh, รัฐมนตรีต่างประเทศของเวียดนาม Bui Thanh Son และ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศของเวียดนาม Ha Kim Ngoc

อย่างไรก็ตามในแผนการเยือนครั้งนี้เชอร์แมนไม่ได้พบปะหารือกับเจ้าหน้าที่กลาโหมของเวียดนามเนื่องจากตารางเวลาที่ไม่ตรงกัน อย่างไรก็ตามเชอร์แมนเคยพบปะกับฝ่ายยุทธศาสตร์การทหารของเวียดนามมาก่อนตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งในตอนนั้นเชอร์แมนดำรงตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวงการต่างประเทศด้านกิจการทางการเมือง

 

จากทวีตของเวนดี เชอร์แมน เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. ที่ผ่านมา ระบุว่า "สหรัฐฯมีพันธกิจต่อความสัมพันธ์อย่างครอบคลุมของพวกเรา(สหรัฐฯ กับเวียดนาม) พวกเราสนับสนุนเวียดนามที่เข็มแข็ง, รุ่งเรือง และเป็นเอกราช" นอกเหนือจากนี้ทวีตของเชอร์แมนก็เน้นพูดถึงประเด็นอื่นๆ นอกเหนือจากความมั่นคง เช่น ประเด็นโลกร้อนหรือมลภาวะทางน้ำในเวียดนามใต้

ฝ่ายกัมพูชาและจีนแถลงยืนยันว่าการพัฒนาฐานทัพเรือด้วยความช่วยเหลือจากจีนในครั้งนี้ไม่ได้เป็นไปโดยมีเป้าหมายต่อประเทศอื่นแต่อย่างใด ผู้ที่แถลงในเรื่องนี้คือ Tea Banh รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของกัมพูชา ในคำแถลงระบุว่า "พวกเราต้องการพัฒนาปรับปรุงฐานทัพของพวกเราเพื่อปกป้องประเทศชาติ, เขตแดน และอธิปไตยของพวกเราเท่านั้น" ขณะที่เอกอัครราชทูตจีนหวังเหวินเทียนระบุว่าการพัฒนาทำให้เป็นสมัยใหม่ของฐานทัพเรือนี้ "ไม่ได้ตั้งเป้าต่อกลุ่มบุคคลที่สาม และจะดำเนินการให้ใกล้เคียงกับหลักปฏิบัติด้านความร่วมมือระหว่างกองทัพสองประเทศ"

อย่างไรก็ตามในคำแถลงของหวังเหวินเทียนก็ระบุว่า การพัฒนาฐานทัพเรือนี้แสดงให้เห็น "เสาหลักที่แข็งแรงของความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น" ระหว่างกัมพูชากับจีน

ภาพจากเฟซบุ๊กเพจ General TEA Banh

 

เวียดนาม ประเทศพันธมิตรยาวนานของกัมพูชาเริ่มเป็นห่วงที่กัมพูชาซบจีน

เวียดนามไม่เพียงแค่เป็นเพื่อนบ้านของกัมพูชาเท่านั้น แต่ยังเป็นประเทศพันธมิตรกับกัมพูชามายาวนานและเคยมีการเรียกขานในประวัติศาสตร์ว่าเป็น "พี่น้องจากอินโดจีน"

รัฐบาลปัจจุบันเข้าสู่อำนาจได้โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเวียดนาม หลังจากที่กองทัพเวียดนามเอาชนะเขมรแดงได้ในปี 2522 นายกรัฐมนตรีฮุนเซนซึ่งเป็นคนที่พูดภาษาเวียดนามได้อย่างดีก็เคยถูกวิจารณ์ว่าเป็น "หุ่นเชิดของเวียดนาม" มาก่อนในช่วงแรกๆ ที่เขาเข้าสู่วงการการเมือง

ข่าวเรื่องการที่โครงการพัฒนาต่างๆ ในกัมพูชาที่ได้รับความช่วยเหลือจากจีน รวมถึงเรื่องจีนช่วยกัมพูชาพัฒนาปรับปรุงฐานทัพเรือเรียมนั้นเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเวียดนามได้สูญเสียอำนาจต่อรองกับกัมพูชาไปมากขนาดไหนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

นักวิเคราะห์ชาวเวียดนามที่ไม่เปิดเผยชื่อเพราะเป็นห่วงเรื่องความอ่อนไหวของประเด็นกล่าวว่าเวียดนามมีความกังวลต่อเรื่องฐานทัพเรือเรียม เพราะมันเป็นฐานทัพเรือที่อยู่ใกล้กับฐานทัพเรือของเวียดนามที่เกาะฟู้โกว๊กมาก โดยที่ฐานทัพเรือนี้ตั้งอยู่ที่จังหวัดสีหนุวิลล์ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกัมพูชาและตั้งอยู่บนอ่าวไทยห่างจากฐานทัพเรือที่เกาะฟู้โกว๊กไม่ถึง 30 กม.

ฐานทัพเรือเรียมเป็นสถานที่ๆ กองทัพเรือเวียดนามเคยยึดครองจากกองกำลังของเขมรแดงที่นำโดย พล พต เมื่อปี 2522 หลังจากนั้นก็ส่งมอบความเป็นเจ้าของจากเขมรแดงสู่รัฐบาลกัมพูชา แต่กองทัพเรือของเวียดนามก็ได้รับเชิญให้เยี่ยมชมฐานทัพเรือเรียมเพียงแค่ 2 ครั้งเท่านั้น และไม่นานนี้อาคาร "ประสานมิตรภาพเวียดนาม" ซึ่งเป็นสถานปฏิบัติการที่สร้างโดยเวียดนามก็ถูกย้ายจากฐานทัพเรือนี้ไปอยู่ที่อื่น ซึ่งมีผู้รายงานว่าเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับบุคลากรของจีน

นักวิเคราะห์เวียดนามบอกว่าทางเวียดนามมีความรู้สึกผิดหวังอย่างมาก แต่เขาก็มองว่าการที่จีนเข้ามามีส่วนร่วมเช่นนี้ไม่ใช่เพื่อเป็นการตั้งเป้าหมายกับเวียดนาม แต่เป็นไปเพื่อทำให้รัฐบาลกัมพูชาส่งสารออกไปว่าพวกเขามีความแข็งข้อและนับเป็นสัญญาณเตือนต่อสหรัฐฯ

ในเดือน ก.ค. ปี 2525 รัฐบาลเวียดนามและกัมพูชาเคยลงนามข้อตกลง "น่านน้ำประวัติศาสตร์" เพื่อกำหนดเขตแดนน่านน้ำของทั้งสองประเทศและกำหนดแบ่งพื้นที่อธิปไตยตามกฎหมายในหมู่เกาะที่อยู่ในอ่าวไทย เพื่อให้ทั้งสองประเทศลดความเข้าใจผิดกันให้ได้มากที่สุด และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกันขึ้น

ภาพจากเฟซบุ๊กเพจ General TEA Banh

 

สหรัฐฯ มองเรื่องนี้อย่างไร

การที่จีนมีส่วนร่วมกับการพัฒนาฐานทัพเรียมนั้นได้สร้างข้อโต้แย้งขึ้นในโลกตะวันตกจากการที่สหรัฐฯ มองว่ามันเป็นเรื่องอันตรายที่จีนมีฐานทัพปฏิบัติการแห่งแรกในพื้นที่ที่เป็นผืนทวีปใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (หมายถึงพื้นที่อย่างไทย, พม่า, กัมพูชา, เวียดนาม, ลาว ตรงข้ามกับพื้นที่ประเทศหมู่เกาะอย่างฟิลิปปินส์หรืออินโดนีเซีย) เพราะเรื่องนี้อาจจะทำให้จีนสามารถขยายการลาดตระเวนได้มากขึ้นในบริเวณทะเลจีนใต้

มีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2562 แล้ว ในตอนนั้นสื่อวอลล์สตรีทเจอนัลรายงานเรื่องที่มีการทำข้อตกลงลับที่อนุญาตให้จีนวางกำลังทหารของตัวเอง เก็บกักอาวุธ และจอดเรือรบของตัวเองได้ที่ฐานทัพเรียม

ทางกัมพูชาและจีนบอกปฏิเสธเรื่องนี้หลายครั้งพวกเขาบอกว่า "การปรับปรุมฐานทัพเรือนี้ทำไปเพื่อเสริมความสมรรถภาพความเข็มแข็งให้กับกองทัพเรือกัมพูชาเพื่อการป้องกันเขตแดนน่านน้ำและการปราบปรามอาชญากรรมทางทะเลเท่านั้น"

แต่ทางการสหรัฐฯ ก็เคยวิจารณ์การพัฒนาท่าเรือเรียมว่า "ขาดความโปร่งใสในเจตนา ในเรื่องรายละเอียดพื้นฐาน และในเรื่องขอบเขตของโครงการนี้ รวมถึงเรื่องที่ว่ากองทัพจีนมีบทบาทในการก่อสร้างและในการใช้งานหลังก่อสร้างอย่างไรบ้าง"

Sovinda Po ผู้ช่วยวิจัยจากสถาบันกัมพูชาเพื่อความร่วมมือและสันติภาพกล่าวว่า รายงานข่าวล่าสุดในเรื่องฐานทัพเรือเรียมเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าสหรัฐฯ  ไม่ยอมรับในเรื่องที่กัมพูชากับจีนได้กลายเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดกันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปแล้ว Po บอกว่าเหตุผลที่แท้จริงที่สหรัฐฯ กล่าวประณามจีนเรื่องนี้มาโดยตลอดเพราะสหรัฐฯ ต้องการเตือนรัฐบาลกัมพูชาไม่ให้เข้าไปใกล้ชิดสนิทสนมกับจีน

Po วิเคราะห์อีกว่าเวียดนามก็ไม่พอใจเช่นกันที่เห็นว่าจีนเคลื่อนอิทธิพลเข้ามาใกล้กับเขตแดนของพวกเขามากขึ้น จากการที่จีนยังคงมีข้อพิพาทด้านอธิปไตยเขตแดนในทะเลจีนใต้ อีกทั้งโดยรวมๆ แล้วทั้งจีนและเวียดนามไม่ค่อยเชื่อใจกัน เรื่องนี้ทำให้ Po มองว่าการพัฒนาฐานทัพเรือเรียมจะทำให้เกิดภาวะหนีเสือปะจระเข้สำหรับประเทศอย่างกัมพูชา, เวียดนาม, สหรัฐฯ และจีน

 

ฐานทัพนอกประเทศหลายเป็นเรื่องปกติ?

จากรายงานล่าสุดของกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ เมื่อเดือน พ.ย. 2564 ระบุว่า จีนมีกองกำลังทางเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีเรือที่ใช้ทางการทหารรวม 355 ลำ และมีความเป็นไปได้ที่จะมีเพิ่มเป็น 460 ลำ ภายในปี 2573 เทียบกับสหรัฐฯ แล้วปัจจุบันพวกเขามีกองกำลังเรือ 297 ลำ แต่ขณะเดียวกันสหรัฐฯ ก็มีฐานทัพในต่างประเทศมากกว่า 800 แห่ง

เมื่อเทียบกับจีนแล้วในปัจจุบันจีนมีฐานทัพนอกประเทศอย่างเปิดเผยอยู่ที่ จิบูตี ที่เดียวจากข้อมูลของสื่อซีเอ็นเอ็น แต่จากข้อมูลของวิกิพีเดียที่อ้างอิงจากเว็บไซต์ด้านความมั่นคงและสื่อวอชิงตันโพสต์ก็ระบุว่าจีนยังน่าจะมีฐานทัพนอกประเทศที่อื่นๆ อีกรวม 4 แห่ง เช่นฐานทัพเรือด้านข่าวกรองทางสัญญาณ (SIGINT) ที่หมู่เกาะโกโก ประเทศพม่า, ฐานทัพที่ทาจิกิสถาน และฐานทัพไม่เปิดเผยชื่อที่กัมพูชา

เบลก เฮอร์ซิงเจอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายกลาโหมและเจ้าหน้าที่กองกำลังสำรองของกองทัพเรือสหรัฐฯ กล่าวว่า จีนก็เริ่มพยายามหาฐานทัพของตัวเองนอกประเทศแบบเดียวกับที่สหรัฐฯ ทำ เรื่องนี้กำลังกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดามากขึ้นเรื่อยๆ

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับกัมพูชาเสื่อมถอยลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาด้วยหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างในด้านผลประโยชน์เชิงภูมิศาสตร์การเมืองและเชิงยุทธศาสตร์, ประเด็นสิทธฺมนุษยชน, ประเด็นประชาธิปไตย และบทบาทของจีนในภูมิภาค

ในทางตรงกันข้ามความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับกัมพูชาดูจะดีขึ้นเรื่อยๆ จากที่ในช่วงราวสิบปีที่ผ่านมา จีนใช้นโยบาย "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" (BRI) ที่มีการอัดฉีดการลงทุนโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญๆ ในกัมพูชาไม่ว่าจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์, ทางด่วนเชื่อมระหว่างกรุงพนมเปญกับสีหนุวิลล์, โครงการท่าอากาศยานนานาชาติแห่งใหม่ที่เสียมเรียบ, ถนน, สะพาน และโรงไฟฟ้าพลังน้ำอีกหลายแห่ง

ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเคยพูดไว้ในที่ประชุมระดับภูมิภาคเมื่อปี 2564 ว่า "ถ้าหากผมไม่พึ่งพาจีน จะให้ผมไปพึ่งพาใคร ถ้าหากผมไม่ร้องขอจากจีน แล้วจะให้ผมไปร้องขอจากใคร"

เฮอร์ซิงเจอร์วิเคราะห์ว่า มันถึงเวลาแล้วที่จะต้องเล็งเห็นว่าอำนาจการต่อรองของสหรัฐฯ มีขีดจำกัดในภูมิภาคที่จีนอาศัยความได้เปรียบอยู่ อย่างไรก็ตามเฮอร์ซิลเจอร์มองว่าการใช้วิธีการแบบที่เขาเรียกว่า "ข่มเหงรังแกต่อหน้าสาธารณะ" จะไม่ได้ผล ไม่สามารถทำให้ชนะใจกัมพูชาได้ และจะถูกมองว่าสหรัฐฯ ก็เป็นแบบเดียวกับจีนเท่านั้น

 

 

เรียบเรียงจาก

 

China navy facility in Cambodia raises eyebrows in Vietnam and beyond, Radio Free Asia, 08-06-2022
https://www.rfa.org/english/news/cambodia/china-base-06082022100523.html

China and Cambodia break ground at naval base in show of 'iron-clad' relations, CNN, 10-06-2022
https://edition.cnn.com/2022/06/09/asia/china-cambodia-naval-base-military-intl-hnk/index.html
 

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_with_overseas_military_bases
 

ทวิตเตอร์ของ Wendy R. Sherman

https://twitter.com/DeputySecState/status/1535634206600093696
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net