Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่คอการเมืองทั้งหลายต่างลงความเห็นกันว่าอย่างไรเสียรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์อยู่ไม่ครบวาระอย่างแน่นอน แต่จะอยู่ได้นานขนาดไหน หรือมีอันเป็นไปด้วยเหตุอะไรนั้นก็เป็นไปได้หลายทาง คือ 

1.อยู่จนเกือบครบวาระแล้วยุบสภาฯ เพราะหากครบวาระจะทำให้ระยะเวลาในการจัดการเลือกตั้งภายใน 45 วันนับแต่วันที่สภาฯ สิ้นอายุ (รธน.ม. 102)และผู้ที่สมัคร ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 90 วัน แต่หากยุบสภาจะทำให้มีระยะเวลาในการจัดการเลือกตั้ง 45-60 วัน (รธน.ม. 103) และ ผู้ที่จะสมัคร ส.ส.จะต้องสังกัดพรรคการเมืองลดลงเหลือเพียงไม่น้อยกว่า 30 วัน ทำให้สะดวกต่อการย้ายพรรค แต่หากอยู่จนครบวาระคือ 23 มีนาคม 2566 จะทำเช่นว่านี้ไม่ได้

2.ยุบสภาภายในปี 2565 นี้ ซึ่งอาจจะเป็นก่อนการยื่นเสนอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญฯ ซึ่งจะมีการลงมติด้วย เพราะหากมีการยื่นฯ แล้วจะยุบสภาไม่ได้ และมีโอกาสที่จะถูกน็อกได้เหมือนกัน แม้ว่าโอกาสจะน้อย แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้ หรือหากยืดออกไปอีกหน่อยหนึ่งคือชิงยุบสภาก่อนวันที่ 24 สิงหาคมซึ่งเป็นเดือนที่ครบวาระ 8 ปีของการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งผมคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์คงไม่ได้กังวลในประเด็นนี้เท่าไหร่ ซึ่งหากเลยช่วงระยะนี้ไปแล้วก็คงอยู่ยาว

3.ลาออก ซึ่งประเด็นนี้แทบจะเป็นไปไม่ได้เช่นกัน เว้นเสียแต่ว่าเกิดเหตุการณ์พิเศษที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

เมื่อยุบสภาหรือถูกมติอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือลาออกก็คือ พล.อ.ประยุทธ์และคณะรัฐมนตรีจะต้องทำหน้ารักษาการต่อไป (เว้นเสียแต่จะสละสิทธิเช่นสมัย พล.อ.สุจินดา คราประยูร หลังเหตุการณ์พฤษภา 35) ข้อสงสัยที่ตามมาก็คือประเด็นที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการจะยุบสภาได้หรือไม่ซึ่งเราต้องมาดู

1) พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 41 และ มาตรา 48 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า

มาตรา 41 ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีรองนายกรัฐมนตรีหลายคน ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีผู้ใดดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน

มาตรา 48 วรรคหนึ่ง ให้ผู้รักษาราชการแทนตามความในพระราชบัญญัตินี้ มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ซึ่งตนแทน

2) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บัญญัติไว้ว่า

มาตรา 151 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ
เมื่อได้มีการเสนอญัติตามวรรคหนึ่งแล้ว จะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรมิได้ ...

มาตรา 167 วรรคหนึ่ง รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งตำแหน่งเมื่อ

(1)ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170

(2)อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร

(3)คณะรัฐมนตรีลาออก

(4)พ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุตามาตรา 144 (การเข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดทำโคงการหรืออนุมัติหรือจัดสรรงบประมาณโดยรู้ว่ามีการดำเนินการอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญบัญว่าด้วยการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ ตามรัฐธรรมนูญฯ -ผู้เขียน)

มาตรา 168 ให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้

(1) ในกรณีพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 167 (1) (2) หรือ (3) ให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ เว้นแต่ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 167 (1) เพราะเหตุขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 หรือมาตรา 160 (4) หรือ (5) (4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ (5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง)นายกรัฐมนตรีจะอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้

(2) ในกรณีพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 167 (4) คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งจะอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้

ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้ตาม (2) หรือคณะรัฐมนตรีที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปลาออกทั้งคณะ และเป็นกรณีที่ไม่อาจดำเนินการตามมาตรา 158 และมาตรา 159 ได้ไม่ว่าด้วยเหตุใดหรือยังดำเนินการตามมาตรา 158 และมาตรา 159 ไม่แล้วเสร็จ ให้ปลัดกระทรวงปฏิบัติหน้าที่แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนั้น ๆ เฉพาะเท่าที่จำเป็นไปพลางก่อน โดยให้ปลัดกระทรวงคัดเลือกกันเองให้คนหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี

มาตรา 169 คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 167 (2) และต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามมาตรา 168 ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

(1) ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป เว้นแต่ที่กำหนดไว้แล้วในงบประมาณรายจ่ายประจำปี

(2) ไม่แต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำหรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน

(3) ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน

(4) ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดอันอาจมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

กล่าวโดยสรุปก็คือนายกรัฐมนตรีที่จะต้องรักษาการฯ มีอำนาจเต็มทุกอย่างที่นายกรัฐมนตรีตัวจริงมี ยกเว้นตามข้อห้ามในมาตรา 168 และ 169  และการห้ามยุบสภาปรากฏในรัฐธรรมนูญเพียงในช่วงระยะเวลาที่มีการยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 และนายกฯ รักษาการในกรณีของการยุบสภาเพราะไม่มีสภาให้ยุบแล้วเท่านั้น ฉะนั้น นายกฯ รักษาการจึงมีอำนาจเต็มเหมือนตัวจริง ทุกอย่างรวมถึงการยุบสภาฯ ก็ย่อมกระทำได้อย่างแน่นอน ส่วนว่าจะเหมาะสมหรือไม่ว่ากันอีกเรื่องหนึ่ง

อ้อ นายกฯ รักษาการกับรักษาการนายกฯ นั้นไม่เหมือนกันนะครับ เพราะนายกฯ รักษาการ คือการพ้นจากตำแหน่งแล้วนายกฯ คนเดิมยังทำหน้าที่รักษาการต่อไป ส่วนรักษาการนายกฯ คือนายกฯ คนเดิมไม่อยู่ เดี้ยงหรือไม่มีแล้ว คนอื่นมาทำหน้าที่รักษาการแทนคนเดิมน่ะครับ

เข้าใจตรงกันแล้วนะครับ

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net