Skip to main content
sharethis

พบ 'Gig worker ในแอฟริกา' เผชิญการเลือกปฏิบัติ ลูกค้าแพลตฟอร์มจ้างฟรีแลนซ์ไม่ต้องการจ้างงานคนทำงานจากทวีปแอฟริกา คุณภาพงานของงานดิจิทัลยังคงเป็นที่น่าสงสัย คนทำงานขาดความมั่นคงและไม่มีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพ


ที่มาภาพประกอบ: UNHCR/Michele Sibiloni

  • ในแอฟริกามีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือมากกว่า 800 ล้านคน มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า 590 ล้านคน และมีคนทำงานในแอฟริกากำลังทำงานดิจิทัลในรูปแบบต่างๆ ภายใต้เศรษฐกิจ Gig Economy
  • พบ Gig worker ในแอฟริกาเผชิญการเลือกปฏิบัติ ลูกค้าแพลตฟอร์มจ้างฟรีแลนซ์ไม่ต้องการจ้างงานคนทำงานจากทวีปแอฟริกา มีชาวแอฟริกันที่ลงทะเบียนไว้ใน Upwork ที่เคยได้รับเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นไปเพียง ร้อยละ 6 เท่านั้น
  • คุณภาพงานของงานดิจิทัลยังคงเป็นที่น่าสงสัย คนทำงานขาดความมั่นคง ค่าแรงต่ำ และต้องทำงานหลายงานต่อเนื่องยาวนาน และไม่มีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพ

ทุกวันนี้ประชากรโลกมากกว่าครึ่งหนึ่งสามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ ในแอฟริกามีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือมากกว่า 800 ล้านคน และมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า 590 ล้านคน 

การกระจายตัวของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การเชื่อมต่อทั้งโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมในทวีปแอฟริกา 

การเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งคือคนทำงานในลากอส โจฮันเนสเบิร์ก จนถึงไนโรบี กำลังทำงานดิจิทัลในรูปแบบต่างๆ โดยใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ต ตัวอย่างงานเหล่านั้นก็ได้แก่ การถอดเทป การเขียนบทความ การติดแท็กรูปภาพ การเพิ่มประสิทธิภาพกลไกค้นหาทางออนไลน์ และการบริการลูกค้าทางออนไลน์ ฯลฯ งานเหล่านี้สามารถทำได้ในทุกที่ที่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาล องค์กรพัฒนาเอกชน และภาคประชาสังคมต่างๆ จึงมองว่างานดิจิทัลนั้นอาจแก้ไขปัญหาให้กับประเทศในแอฟริกา ทั้งการว่างงาน ความยากจน และความเหลื่อมล้ำ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

คุณภาพงานของงานดิจิทัลยังคงเป็นที่น่าสงสัย - คนทำงานขาดความมั่นคง


หนังสือ The Digital Continent เขียนโดย Mohammad Amir Anwar นักวิชาการด้านแอฟริกันศึกษาและการพัฒนาระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเอดินเบอระ 

ในหนังสือ The Digital Continent เขียนโดย Mohammad Amir Anwar นักวิชาการด้านแอฟริกันศึกษาและการพัฒนาระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเอดินเบอระ ที่ได้ทำการศึกษาเป็นเวลา 5 ปี เพื่อตรวจสอบงานคอลเซ็นเตอร์ งานทางไกล และผลกระทบต่อคนทำงาน 5 ประเทศในแอฟริกา ได้แก่ แอฟริกาใต้ เคนยา ยูกันดา ไนจีเรีย และกานา ได้แสดงให้เห็นว่าแม้ว่างานดิจิทัลจะช่วยให้คนทำงานมีความอิสระและความยืดหยุ่น แต่ก็ทำให้คนทำงานไม่มั่นคงและเผชิญกับความเปราะบางด้วยเช่นกัน

หนังสือเล่มนี้ได้ทำการสัมภาษณ์เชิงลึกพนักงานคอลเซ็นเตอร์และพนักงานทำงานระยะไกล (Remote work) เพื่อทำความเข้าใจประสบการณ์การทำงานดิจิทัล รายได้ ชั่วโมงการทำงาน ความสัมพันธ์ในการจ้างงาน และอิทธิพลของอัลกอริทึม (algorithms) ที่มีต่อคนทำงาน ซึ่งคนทำงานส่วนใหญ่ให้สัมภาษณ์ระบุว่างานดิจิทัลเป็นหนึ่งในแหล่งรายได้ที่สำคัญของพวกเขา 

งานประเภทคอลเซ็นเตอร์นั้นมักใช้สัญญาจ้างระยะสั้นและยืดหยุ่น ในอุตสาหกรรมนี้มักใช้การจัดหาพนักงานชั่วคราวเพื่อลดต้นทุนด้านแรงงาน บริษัทจัดหาคอลเซ็นเตอร์สามารถจ้างพนักงานและเลิกจ้างพวกเขาได้อย่างง่ายดาย ตัวอย่างเช่นตัวแทนบริษัทจัดหาคอลเซ็นเตอร์ในไนโรบีรายหนึ่งระบุว่าเดือน เม.ย. 2559 บริษัทของเขาเลิกจ้างพนักงานถึง 70 คน

นอกจากนี้บริษัทต่างๆ สามารถย้ายที่ตั้งได้อย่างสะดวกสบาย แม้ว่าในแอฟริกาใต้ธุรกิจคอลเซ็นเตอร์จะเติบโตขึ้นมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ก็มีหลายแห่งที่ปิดตัวลง อย่างในเคนยา ไนจีเรีย และกานา บางบริษัทย้ายไปยังจุดหมายปลายทางที่ค่าแรงที่ถูกกว่า 

ในทำนองเดียวกัน คนทำงานในทวีปแอฟริกามองว่าเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นโอกาสใหม่ แม้ว่าอุปสรรคทางเทคโนโลยีจะลดลง แต่ต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมายในการหาเลี้ยงชีพตามวิถีของ Gig Economy ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ของโลก แนวโน้มที่น่าเป็นห่วงคือมีคนทำงานเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่สร้างรายได้บนแพลตฟอร์มงานดิจิทัลได้อย่างเป็นกอบเป็นกำจริงๆ


แม้ว่าจะมีแรงงานล้นเกินบนแพลตฟอร์ม แต่ลูกค้าบางรายกลับไม่ต้องการจ้างงานคนทำงานจากทวีปแอฟริกา | ที่มาภาพประกอบ: WeeTracker (อ้างใน The Exchange Africa)

Upwork ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มหางานฟรีแลนซ์ออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นที่นิยมมากที่สุดในหมู่คนทำงานฟรีแลนซ์ในทวีปยุโรป แต่จากการประมาณการในหนังสือเล่มนี้พบว่าชาวแอฟริกันที่ลงทะเบียนไว้ใน Upwork ที่เคยได้รับเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นไปมีเพียง ร้อยละ 6 เท่านั้น ในกรณีของกานาและยูกันดา ตัวเลขนี้ต่ำลงไปอีกที่ ร้อยละ 3.1 และ ร้อยละ 2.7 ตามลำดับ

แพลตฟอร์มยังช่วยให้นายจ้างเข้าถึงแรงงานได้ทั่วโลก ในหนังสือเล่มนี้ยังระบุว่าลูกค้าต้องการแรงงานที่มีต้นทุนต่ำ เช่น อินเดีย และฟิลิปปินส์ และแม้ว่าจะมีแรงงานล้นเกินบนแพลตฟอร์ม แต่ผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าลูกค้าบางรายไม่ต้องการจ้างงานคนทำงานจากทวีปแอฟริกา

งานบนแพลตฟอร์ม ส่วนใหญ่แล้วมักเป็นการทำงานระยะสั้นๆ งานบางอย่าง (เช่น งานติดแท็กรูปภาพ) ใช้เวลาเพียงนาทีเดียวก็เสร็จสมบูรณ์, ส่วนงานอื่นๆ อาจใช้เวลานานขึ้น (เช่น งานผู้ช่วยเสมือน) คนทำงานต้องค้นหางานบนแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่องเพื่อหารายได้ให้เพียงพอ เนื่องจากบางแพลตฟอร์มจ่ายเพียง 0.10 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่องาน คนทำงานจึงต้องหางานให้มากที่สุด ซึ่งหมายถึงชั่วโมงที่ยาวนานขึ้น บางกรณีใช้เวลาทำงานถึง 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เลยทีเดียว

การควบคุมโดยอัลกอริทึม

ปัจจุบันแพลตฟอร์มต่างๆ ได้ใช้อัลกอริธึมควบคุมกระบวนการทำงานมากขึ้น ในด้านหนึ่งมันได้เพิ่มความเสี่ยงให้กับคนทำงานมากขึ้นด้วย

ในงานคอลเซ็นเตอร์ มีการใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยี เช่น การจัดการลูกค้าสัมพันธ์และการจัดการกำลังคน เครื่องมือนี้ถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มเวลาการทำงานของพนักงานคอลเซ็นเตอร์อย่างเต็มที่ โดยคนทำงานแทบจะไม่มีเวลาพักระหว่างสายหนึ่งไปยังอีกสายหนึ่ง

ในระบบ Gig Economy คนทำงานยังต้องเผชิญกับแรงกดดันที่คล้ายคลึงกันกับอัลกอริธึมที่คอยติดตามพวกเขาโดยการจับภาพหน้าจอจากเว็บแคมของแล็ปท็อป

แม้ว่าแพลตฟอร์มบางรายสามารถกำหนดเวลาและสถานที่ทำงานได้ตามต้องการ แต่ความยืดหยุ่นนี้ไม่ได้มีไว้สำหรับทุกคน ส่วนใหญ่แล้วความยืดหยุ่นนี้จะมีไว้เฉพาะคนทำงานที่มีประสบการณ์มากแล้วเท่านั้น

การเฝ้าระวังและการควบคุมโดยอัลกอริธึมส่งผลให้เกิดความแปลกออกจากสังคม มีการร้องเรียนเกี่ยวกับความเครียดทางจิตใจและร่างกาย รวมถึงการอดนอน เป็นเรื่องปกติในหมู่ผู้ตอบแบบสอบถามในหนังสือเล่มนี้

แพลตฟอร์ม Gig Economy บางแห่งมีนโยบายที่ว่าลูกค้าไม่ต้องจ่ายเงินให้กับฟรีแลนซ์ หากงานไม่บรรลุเป้าหมายหรือหากลูกค้าไม่พอใจ มีคนทำงานหลายสิบคนในกลุ่มตัวอย่างไม่เคยได้รับเงินจากการทำงาน ทั้งนี้การปฏิเสธการจ่ายค่าจ้างนั้น ถือว่าเข้าข่าย 'การบังคับใช้แรงงาน' ตามคำนิยามขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)

ขาดโอกาสก้าวหน้าในอาชีพ


งานคอลเซ็นเตอร์ผ่านแฟลต นอกเหนือจะถูกอัลกอริธึมควบคุมอย่างเข้มงวด งานหนักยาวนานแล้ว ก็ยังไม่ค่อยมีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพอีกด้วย | ที่มาภาพประกอบ: RemoteDesk

งานคอลเซ็นเตอร์มีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพน้อยมาก จากการสัมภาษณ์ส่วนใหญ่พบว่าพวกเขาไม่คาดหวังจะทำอาชีพคอลเซ็นเตอร์นี้ในระยะยาว ในหนังสือเล่มนี้พบว่ามีคนทำงานคอลเซ็นเตอร์มากว่า 5 ปี โดยไม่มีความก้าวหน้าทั้งในด้านเงินเดือนหรือสภาพการทำงาน

บริษัทแพลตฟอร์มและองค์กรต่างๆ เช่น ธนาคารโลก ได้สร้างวาทกรรมเกี่ยวกับเศรษฐกิจ Gig Economy ว่าจะช่วยผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือผู้ประกอบการได้ แต่ในหนังสือเล่มนี้ได้แสดงให้เห็นความเป็นจริงในเชิงบวกน้อยลง โอกาสในการทำงานดิจิทัลไม่ได้แปลว่างานจะมีคุณภาพดีเสมอไป รวมทั้งไม่มีความยั่งยืน

ในหนังสือเล่มนี้ระบุว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งในการวิจัยที่จะเปิดเผยให้เห็นถึงวิธีการทำงานในระบบเศรษฐกิจ Gig Economy นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการป้องป้องสิทธิแรงงาน และสนับสนุนการสร้างความสมานฉันท์ของคนทำงานในเครือข่ายเศรษฐกิจดิจิทัลด้วย

ที่มา
For workers in Africa, the digital economy isn’t all it’s made out to be (The Conversation, 22 February 2022)

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net