Skip to main content
sharethis

พลเอกอับดุลราห์มาน ทะเชียนิ ได้รับการประกาศให้เป็นผู้นำคนใหม่ของประเทศไนเจอร์ 2 วัน หลังทหารทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐ เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา


พลเอกอับดุลราห์มาน ทะเชียนิ

29 ก.ค. 2566 VOA รายงานว่าพลเอกอับดุลราห์มาน ทะเชียนิ ได้รับการประกาศให้เป็นผู้นำคนใหม่ของประเทศไนเจอร์ 2 วัน หลังจากที่กองกำลังอารักขาประธานาธิบดีซึ่งเขาเป็นผู้บัญชาการจับตัวประธานาธิบดีโมฮาเมด บาซูม และเข้ายึดอำนาจรัฐ เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา

ขณะที่ทะเชียนิกล่าวแถลงการณ์ผ่านช่องโทรทัศน์ของรัฐเมื่อวันที่ 28 ก.ค. คำแถลงระบุตำแหน่งของเขาว่าเป็น หัวหน้า "สภาแห่งชาติเพื่อการปกป้องประเทศ"

เขากล่าวว่าทหารเข้ายึดอำนาจจากบาซูมเพราะสถานการณ์ที่ย่ำเเย่ลงด้านความมั่นคงในประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเเอฟริกาตะวันตกแห่งนี้ ซึ่งขณะนี้กำลังต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธแบ่งเเยกดินเเดนที่นับถือศาสนาอิสลาม

ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาคร็องมีโอกาสพูดคุยกับบาซูม เมื่อวันที่ 28 ก.ค. ตามข้อมูลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสเเคเธอรีน โคลอนนากล่าวกับสื่อ AFP

มาคร็องกล่าวว่าบาซูมมีสุขภาพเเข็งแรงดีและยังมีช่องทางสามารถติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นได้

ผู้นำกองทัพบกของไนเจอร์ประกาศการสนับสนุนรัฐประหารที่เกิดขึ้น แม้จะเกิดเสียงประณามจากนานาชาติ

ผู้เเทนกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจแห่งแอฟริกาตะวันตก หรือ ECOWAS อับเดล ฟาตัว มูซาห์ บอกกับวีโอเอว่า "บาซูมยังคงเป็นประธานาธิบดีที่ชอบธรรมและชอบด้วยกฎหมาย และต้องได้รับการเเต่งตั้งกลับมาโดยเร็วที่สุด"

ขณะเดียวกันประธานาธิบดีประเทศเบนิน พาทริส ทาลิน เดินทางมายังเมืองหลวงของไนเจอร์ กรุงนีอาเม ในความพยายามที่จะเป็นตัวกลางหาทางออกให้กับวิกฤตครั้งนี้

ความนิยมในตัวประธานาธิบดีบาซูม ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้นำไนเจอร์เมื่อ 2 ปีก่อนถูกท้าทายจากความไม่มั่นคงในประเทศ

กลุ่มนักรบหัวรุนแรงทางศาสนาเริ่มฝังรากลึกช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมาในประเทศมาลี ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของไนเจอร์ และแผ่ขยายอิทธิพลมากขึ้น โดยนักรบเหล่านี้สังหารผู้คนหลายพันคนและทำให้ประชาชนต้องย้ายถิ่นฐานกว่า 6 ล้านในเขตซาเฮล

เกิดรัฐประหารเช่นกันในประเทศมาลี และบูร์กินาฟาโซ ประเทศอื่นบ้านของไนเจอร์ ในปี 2563 และ 2565 ตามลำดับ

หลังการล้มล้างรัฐบาลเดิม ผู้นำทหารดำเนินความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัสเซียมากขึ้น ทั้งยังตัดความเป็นมิตรกับประเทศตะวันตกซึ่งเป็นเเนวร่วมเดิม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net