Skip to main content
sharethis

ผู้อำนวยการและอาจารย์ศูนย์เอเชียศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด (Harvard University) ส่งจดหมายแสดงความกังวลถึงเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล กรณีถูกผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสั่งปลดออกจากตำแหน่งนายกสโมสรนิสิต หวั่นคำสั่งกระทบชื่อเสียงประเทศและมหาวิทยาลัยในฐานะพื้นที่เปิดกว้างทางวิชาการ

6 มี.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าผู้อำนวยการและอาจารย์ศูนย์เอเชียศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด (Harvard University) ส่งจดหมายแสดงความกังวลถึงเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เป็นที่ปรึกษาประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) จากกรณีที่ผู้บริการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีคำสั่งปลดเนติวิทย์ออกจากตำแหน่งนายกสโมสรนิสิต (อบจ.) เพราะถูกตัดคะแนนความประพฤติจากการจัดงานปฐมนิเทศนิสิตใหม่ ประจำปีการศึกษา 2564 โดยงานดังกล่าว อบจ. ได้เชิญปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยโตเกียว และผู้ลี้ภัย ม.112 รวมถึงพริษฐ์ ชิวารักษ์ และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักกิจกรรมจากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมมาร่วมกล่าวปาฐกในการปฐมนิเทศ

จดหมายจากวิกเตอร์และวิลเลียม ฟัง (Victor & William Fung) ผู้อำนวยการและคณาจารย์ประจำศูนย์เอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด และศาสตราจารย์เจมส์ ร็อบสัน (James Robson) อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาและอารยธรรมเอเชียตะวันออก ลงวันที่ 3 มี.ค. 2565 ระบุว่า "เรากังวลอย่างมากว่าการกระทำตามกฎระเบียบซึ่งเป็นการคุกคามต่อนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล อาจเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกรณีการถอดถอนเขาออกจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) การกระทำดังกล่าวอาจทำให้ชื่อเสียงของประเทศไทยเสียหายอย่างรุนแรง ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นสถานที่ที่เปิดกว้างสำหรับการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ และเป็นที่ที่เปิดให้นักวิชาการทำงานได้อย่างอิสระทั้งในการจัดการกิจกรรมของคณะและนิสิตนักศึกษา"

เจมส์ ร็อบสัน (James Robson) อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาและอารยธรรมเอเชียตะวันออก ศูนย์เอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยฮาเวิร์ด (ภาพจาก Harvard University Asia Center)
 

"เราจึงขอเรียกร้องให้ผู้ที่มีอำนาจตามหน้าที่จงใช้ดุลยพินิจตัดสินใจอย่างอิสระ และต้องหาช่องทางการพูดคุยเจรจามากกว่าการใช้วิธีเผชิญหน้าปะทะ เราเชื่อว่าผลประโยชน์ของประเทศไทยจะต้องได้รับการยึดถือมากที่สุด โดยเฉพาะในด้านการเป็นพื้นที่เปิดกว้างทางวิชาการและการเรียนรู้ระดับนานาชาติ" ข้อความในจดหมายระบุ

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net