Skip to main content
sharethis

เสวนา 'สุราก้าวหน้า ก้าวแล้วไปไหน' ผู้ประกอบการสะท้อนกฎหมายมีปัญหา กดศักยภาพสุราพื้นบ้านห้ามพัฒนา ‘พิธา’ ฉายภาพ ข้างหลังผลิตภัณฑ์ คือโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจของคนอีกมหาศาล

เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2564 อาคารอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกลร่วมกับกองทุนพัฒนาการเมือง จัดเสวนาหัวข้อ ‘สุราก้าวหน้า ก้าวแล้วไปไหน’ หลังร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ… หรือ ‘พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า’ ที่อดีตพรรคอนาคตใหม่เสนอ ได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้เเทนราษฎร โดยมีคณะรัฐมนตรีขอรับร่างกฎหมายดังกล่าวไปศึกษาก่อนจะส่งกลับคืนภายใน 60 วัน 

‘พิธา’ เผย 2 ด้าน ‘พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า’ ผ่าน คือ โอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจ ไม่ผ่าน คือ สังคม ‘ปากว่าตาขยิบ’ คงอยู่ต่อไป

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ขอเริ่มต้นด้วยการคารวะต่อบุคคลที่ยังอยู่ในวงการสุราชุมชน แม้ว่าจะต้องเผชิญกับข้อจำกัดทางกฎหมาย หรือความไม่ยุติธรรมต่างๆ แต่ยังคงเลือกทำธุรกิจต่อไปด้วยหัวจิตหัวใจที่เข้มแข็ง กระทั่งบางรายเติบโตสามารถส่งออกไปขายต่างประเทศได้ 

“ครั้งแรกที่รู้สึกถึงเสน่ห์สุราไทย จำไม่ได้ว่า เป็นสุราที่ผลิตจากตาลโตนด จังหวัดเพชรบุรี หรือดาวลอยซึ่งเป็นสุราของชาติพันธุ์ หรือสุราจากสะเอียบ จังหวัดแพร่ แต่พอชิมแล้วรู้สึกได้ถึงความกลมกล่อม ผมโตที่นิวซีแลนด์จึงพอจะรู้เรื่องไวน์ เวลาเดินกลับจากโรงเรียนจะมองเห็นไร่องุ่น กลับถึงบ้าน แม่บ้านก็จะเล่าเกี่ยวกับกระบวนการต่างๆให้ฟัง ทำให้มองเห็นต้นทุน มองเห็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจากองุ่นมาเป็นไวน์ โตขึ้น ไปฝึกงานที่คิวบา ไปอยู่กับครอบครัวที่ทำอาชีพโรลซิการ์ ก็ทำให้เห็นว่าพืชผลการเกษตรเมื่อมาทำร่วมกับวัฒนธรรมมูลค่าสูงขึ้นแค่ไหน ซิการ์หนึ่งแท่งราคา 15,000 บาท ราคาเท่ากับข้าวไทย 1 ตัน พอเทียบกันจะเห็นเลยว่า การเกษตรของไทย ทำมากแต่ได้น้อย ขณะที่ที่อื่นทำน้อยแต่ได้มาก” 

พิธา กล่าวต่อไปว่าเวลามองผลิตภัณฑ์สุรา ตนมองเห็นสิ่งข้างหลังอีกมากมาย ในเปรู มีเบียร์ข้าวโพดของชาวอินคาที่จะทานคู่กับหนูนา กลายเป็นเศรษฐกิจของชาติพันธุ์ที่ลืมตาอ้าปากได้ ถามว่าสุราพื้นบ้านของไทยสามารถไปอยู่ในย่านอย่างทองหล่อ สุขุมวิท เพื่อขายด้วยมูลค่าสูงได้หรือไม่ ตนเคยเห็นที่บาร์ โรงแรมห้าดาวของไทย แห่งหนึ่งรวมสุราไทยกว่า 60 ผลิตภัณฑ์วางบนบาร์ เวลาเสริฟฝรั่งมาพร้อมแผนที่ให้ฝรั่งเลือกว่าภาคไหน มาจากผลไม้อะไร ฝรั่งก็เลือกดื่มกัน ดังนั้น เรื่องศักยภาพไม่ห่วง เรื่องการตลาดเล่าด้วยประวัติศาสตร์เรื่องเหล้าที่ดื่มได้ ไม่ห่วง ห่วงเรื่องเดียวคือ กระบวนการผลิตซึ่งยังติดล็อกกฎหมาย ถ้าปลดล็อกได้ ตนมองเห็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องข้างหลังอีกมาก ไม่ว่าอุตสาหกรรมแพ็คเกจจิ้ง  ฉลาก ฝาขวด กระทั่ง ออแกนไนซ์เซอร์ที่จะรับจัดงานเทศการต่างๆ มองเห็นเกษตรกร คนขายปุ๋ย คนทำเครื่องจักร ระบบชลประทาน มองเห็นการเรียนการสอนระดับ ปวช. ปวส.ที่สามารถสอนเรื่องเหล่านี้ได้ มองเห็นแรงงานที่จะเกิดขึ้น เหล่านี้มีมูลค่ามหาศาลที่จะทำให้เศรษฐกิจลุกขึ้นได้ ตั้งแต่เกษตรกรขึ้นมาถึงผู้ประกอบการ

ในมุมราชการ พิธา กล่าวว่า เคยเป็นข้าราชการกระทรวงพาณิชย์มาก่อน ถ้ากฎหมายสุราก้าวหน้าผ่าน กระทรวงพาณิชย์ก็จะได้ทำหน้าที่ทูตพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรมจะได้ช่วยให้เกิดอุตสาหกรรมอนาคต กระทรวงวัฒนธรรมช่วยหาประวัติศาสตร์เล่า กระทรวงศึกษาธิการจะทำให้บทเรียนสนุกขึ้น วิชาชีวะ เคมี ฟิสิกส์ หรือประวัติศาสตร์ก็มาอยู่ตรงนี้ได้ ส่วนกระทรวงการคลังที่ไม่รู้จะเก็บเงินจากไหนก็จะได้รู้เสียที

“การปลดล็อกสุราจึงไม่ใช่แค่ปลดล็อกให้เกิดความเท่าเทียมสังคมเท่านั้น แต่คือโอกาสของคนมหาศาลข้างหลัง ในทางกลับกัน ถ้ากฎหมายสุราก้าวหน้าไม่ผ่าน โอกาสทั้งของ เอกชน ราชการ หรือการบริหาร ก็จะไม่เกิด ผู้ผลิตก็คงต้องเป็นศรีธนญชัย เจ้าเดียวกันอาจต้องจดทะเบียนแยกหลายหม้อต้ม ต้องแอบขายบอกว่าเป็นสไปร์ท เห็นสรรพสามิตมาก็วิ่งหนี จะยังคงเห็นเจ้าหน้าที่รัฐคอยกดขี่ข่มเหง เก็บส่วย จะกลายป็นบ้านเมืองปากว่าตาขยิบต่อไปเรื่อยๆ 

“การผ่าน พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ย่อมดีกว่า สามารถเปลี่ยนประเทศไทยในยามที่ลำบากที่สุดในรอบหลายปีได้ ถ้ารอบนี้เราทำไม่สำเร็จก็ไม่รู้จะอีกกี่ปีจะสำเร็จ ที่น่าเสียดายคือความอยุติธรรมหรือความบ้าบอคอแตกอีกหลายอย่างจะยังอยู่แบบนี้ต่อไป จึงหวังว่าจะผ่านกฎหมายได้เพื่อทำให้ไทยมีการพัฒนาต่อไปในอนาคต” พิธา ระบุ

เบื้องหลังร่างกฎหมาย ‘สุราก้าวหน้า’

จากนั้น วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้เล่าถึงความเป็นมาของร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า ในฐานะหนึ่งในทีมนโยบายสุราก้าวหน้าที่มีบทบาทสำคัญในการเขียนร่างกฎหมาย

“ยอมรับว่ากฎหมายนี้เป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น ยังไม่สามารถแก้ปัญหาในอุตสาหกรรมเหล้าเบียร์ไทยได้ทั้งหมด เรายังอยากใส่อะไรในร่างกฎหมายสุราก้าวหน้าอีกเยอะ เช่น เรื่องภาษีเพื่อให้รายเล็กสามารถแข่งขันกับรายใหญ่ได้มากขึ้น แต่พอมาคิดแล้วว่า ถ้าเขียนลงไปร่างนี้เลยก็จะถูกตีความเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงินทันที หมายความว่า จะต้องส่งให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาก่อน ผมมองหน้าประยุทธ์และเจ้าสัวที่อยู่ข้างหลังแล้วคิดว่าตัดเรื่องภาษีออกไปก่อนดีกว่า ซึ่งคิดถูกแล้ว เพราะจากนั้นมาร่างกฎหมายทุกฉบับของเราที่ถูกตีความว่าเป็นร่างเกี่ยวกับการเงินถูกประยุทธ์ปัดตกหมดทุกฉบับจริงๆ”  

วรภพ ยังกล่าวด้วยว่า เรื่องภาษีนอกจากเรื่องการจัดเก็บรายได้แล้ว สิ่งที่อยากเห็นคือการให้เงินภาษีครึ่งหนึ่งจากตรงนี้อยู่ที่ท้องถิ่น ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้การจัดเก็บรายได้ดีขึ้นด้วย เนื่องจากการลักลอบนำเข้าสุราจะหายไป เพราะเกี่ยวกับรายได้ของคนตรงนั้น เป็นผลประโยชน์รายได้ของเขาเอง 

ด้าน เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กรุงเทพ พรรคก้าวไกล หนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันนโยบายสุราก้าวหน้า กล่าวว่า ตอนคุยกันเรื่องภาษี มาจากฐานคิดว่า การดื่มสุราก็มีผลเสียกับสังคมได้จริง เลยคิดกันว่า ควรเป็นภาษีให้ท้องถิ่นเก็บเพื่อสามารถนำไปพัฒนาพื้นที่หรือจัดการผลกระทบที่อาจเกิดจากการดื่มสุรา นอกจากนี้คือ ปลดล็อกให้ท้องถิ่นสามารถออกอนุญาตด้วยตัวเองได้ เพื่อให้บางท้องถิ่นที่อาจไม่เห็นด้วยกับการผลิตสุราในพื้นที่ เช่น 3 จังหวัดชายแดนใต้ก็ให้กำหนดออกมาจากท้องถิ่น แต่หากจังหวัดไหนอยากหนุนการท่องเที่ยวด้วยสุรา หรือยกระดับการเกษตรด้วยสุราเป็นนโยบายก็สามารถสนับสนุนได้

“ถ้าจัดเก็บภาษีคืนให้ท้องถิ่น เรารู้ว่าจะเงินก้อนนี้กลายเป็นโรงพยาบาล จะนำไปใช้เพื่อพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ แต่ถ้ายังเก็บเข้าส่วนกลางเราไม่รู้เลยว่า วันดีคืนดีภาษีเราจะกลายเป็น F35 หรือไม่”

นอกจากนั้น วรภพ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่ผู้เข้าร่วมเสวนาว่า ทราบมาว่า รัฐบาลจะมี ร่าง พ.ร.บ.สรรพสามิต ออกมาประกบกับร่างของพรรคก้าวไกลและจะส่งกลับคืนสภาเร็วกว่า 60 วัน ตรงนี้ถือเป็นข่าวดี เพราะเปิดสภามาก็จะเป็นร่างแรกๆที่จะเข้าสู่การพิจารณา อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้อยู่ที่การกดดันของประชาชนด้วย หากรณรงค์พูดถึงมากพอสุดท้ายเชื่อว่าเขาจะยอม จึงอยากบอกว่า อย่าเพิ่งหมดหวัง ส่วนพรรคก้าวไกลเราชัดเจน เรายืนยันว่าจะทำเรื่องนี้ให้ได้

ด้าน เท่าพิภพ ยืนยันว่าเราต้องสู้ให้ได้ จากบทเรียนที่ผ่านมาไม่ใช่ว่าไม่เคยมีการเสนอนโยบายปลดล็อกการผลิตสุรา แต่มักถูกต่อรองจนเหลือเท่าที่เห็น สมัยก่อนก็คงรับไว้ก่อนดีกว่าไม่ได้ผลิตเลย แต่ครั้งนี้ไม่เอาอีกแล้ว ถ้าสู้ต้องสู้ให้สุด ถ้าร่างของรัฐบาลให้น้อยกว่าร่างที่พรรคก้าวไกลเสนอ เราก็ไม่เอา จึงอยากให้ช่วยกันจับตาดูว่ารัฐบาลจะมาไม้ไหน เพราะไม่เคยเชื่อใจได้อยู่แล้ว

เสียงสะท้อน นักวิชาการ-ผู้ประกอบการ กฎหมายคืออุปสรรคสำคัญของการพัฒนาศักยภาพสุราพื้นบ้านไทย

ในช่วงหนึ่งของการเสวนา รศ.ดร.โชคชัย วนภู ในฐานะนักวิจัยสุราแช่- เบียร์ กล่าวว่า ได้ทำวิจัยเรื่องนี้มากว่า 20 ปี ประเทศไทยผลิตข้าวได้มหาศาล มีหลายชนิดไม่ว่าจะเม็ดสั้นแบบสายพันธุ์ญีปุ่นจีน หรือเมล็ดยาวแบบสายพันธุ์อินเดีย ข้าวเหนียว และข้าวเจ้า การทำสุราไทยนิยมใช้ข้าวเหนียวเพราะย่อยเร็วให้น้ำตาลมาก ในการหมักจะใช้หัวเชื้อที่เรียกว่า ลูกแป้ง จะมีเชื้อราเพื่อย่อยแป้งเป็นน้ำตาล และยีสต์ที่กินน้ำตาลเปลี่ยนให้เป็นแอลกอฮล์ จากการสำรวจไปทั่วประเทศ พบว่า ไทยมีเชื้อสารพัด มีวัตถุดิบหลากหลายที่สามารถนำมาผลิตสุราที่มีคุณภาพได้ แต่ด้วยขอจำกัดของกฎหมายทำให้จำกัดการใช้เทคโนโลยี จึงทำให้เสียศักยภาพนี้

“คนไทยมีภูมิปัญญาในการผลิตสาโทใกล้เคียงกับสาเก จุดต่างกันมีนิดเดียวคือตอนต้น สาเกใช้ข้าวเม็ดสั้นมาขัดผิวข้างนอกให้บางลงเรื่อยๆจนเหลือ 40-50 % แต่ข้าวไทยเม็ดยาวขัดไม่ได้ ขัดแล้วหัก ที่เหลือกระบวนการใกล้กัน หัวเชื้อญี่ปุ่น เรียก โฮจิ ส่วนไทยเราเรียกลูกแป้ง แต่ญี่ปุ่นจะพิถีพิถันมากในการเตรียมหัวเชื้อ และใช้เครื่องจักรที่ใช้กินแรงม้าสูงเพื่อให้คุมคุณภาพได้ ขจัดสารปนเปื้อนออกได้ ซึ่งจะไม่สามารถทำแบบนี้ในไทยได้ เพราะกฎหมายจำกัดไว้ที่ 5 แรงม้า สาโทของไทยที่เราทานเมื่อแยกองค์ประกอบออก แน่นอนว่าส่วนใหญ่คือ แอลกอฮอล์ แต่บางรายร้ายสุดคือมี เมธิลแอลกอฮอล์ด้วย การขจัดสารปนเปื้อนในการผลิตสุราชุมชนของชาวบ้านจะไม่สามารถทำได้เลยด้วยเครื่องมือที่จำกัด นี่เป็นภาพเปรียบเทียบเบื้องต้นของภูมิปัญญาเมื่อเทียบกับญี่ปุ่น”

ณัฐชัย อึ๊งศรีวงศ์ หรือผู้ผลิตเบียร์และสุรากลุ่มเทพพนม กล่าวเสริในประเด็นนี้ว่า ปัญหาหลักของกฎหมายไทยคือ การผลิตที่จำกัดไว้ที่ 5 แรงม้า 7 แรงคน  จึงทำอะไรได้น้อยมาก เจ้าหน้าที่อาจมองว่า การผลิตที่อยากให้เราทำคือใช้โอ่ง ใช้เตาแบบเดิมสมัยก่อสมัยกรุงศรีอยุธยาทำแบบใดก็แบบนั้น 

“เครื่องดื่มแอลที่ดี ต้องคุมอุณหภูมิ อยู่ที่ 20-30 องศากำลังเหมาะ ตลอดทั้งปีมีช่วงแบบนี้สั้นมาก สิ่งที่จะแก้ไขคือการใช้เครื่องคุมอุณหภูมิ แต่เตาแก๊ส 1 เตา ก็ 3.5 แรงม้าแล้ว สุราชุมชนจึงทำไม่ได้ การทำสุราให้ใสก็ต้องใช้เทคโนโลยีก็ใช้ไม่ได้ เครื่องบรรจุขวดยังต้องใช้แรงคนเท่านั้นเพราะถูกคิดเป็นแรงหมด สมมติอยากทำเครื่องดื่มหลายชนิด ต้องมีเครื่องบด เครื่องคั้น หม้อหุงข้าว ถูกนับเป็นแรงม้าหมด ดีไม่ดี หม้อต้มร้านก๋วยเตี๋ยวแรงม้ายังเยอะกว่าที่เราใช้ในโรงกลั่น เอาจริงๆ ถ้าไม่มีธุรกิจอื่น ธุรกิจสุราอยู่ด้วยตัวเองยาก อย่างเราทำได้น้อย แต่คุมคุณภาพมาก ใช้ต้นทุนมาก เราจึงตั้งราคาขายที่เหมาะอาจสูงหน่อย ก็กลับมีปัญหาอีกอย่างว่า เราพูดถึงไม่ได้เพราะจะเป็นการโฆษณา ถูกห้ามกระทั่งจะเหตุผลว่าทำไมจึงต้องขายราคานี้ ”

ขณะที่ ณิกษ์ อนุมานราชธนนิก ในฐานะผู้ผลิตเหล้ารัม กล่าวถึงอีกปัญหาที่เจอว่า ปัจจุบันผลิตรัมด้วยอ้อยสด แต่ไม่สามารถเขียนสิ่งที่เราทำบนฉลากขวดว่าเป็น ‘รัม’ ในประเทศไทยได้ เพราะถูกมองว่าเป็นการเพิ่มมูลค่า และใบอนุญาตผลิตคือเป็นสุรากลั่นชุมชน ประเทศไทยพยายามไม่อนุญาตให้เราเรียกว่าสิ่งที่เราทำ แต่พอส่งออกนอก เขาเรียกสิ่งที่เราทำว่ารัมได้ 

“ผู้ผลิตไม่มีโอกาสได้พัฒนา ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ด้วยซ้ำ ซึ่งมันทำได้ด้วยแก้กฎหมาย แก้แรงม้าให้ทำการผลิตด้วยเทคโนโลยีที่คุมคุณภาพได้ เขาอนุญาตทำสุราชุมชนได้แต่ห้ามรวย ห้ามทำให้ดี ห้ามทำให้มีคุณภาพ”

“เรื่องฉลากยังเจออีกว่า เราผลิตในภาคอีสาน เมื่อส่งฉลากไปขออนุญาต หน่วยงานต้องส่งจากต่างจังหวัดไปกรุงเทพ กรุงเทพฯตรวจเสร็จตีกลับมาบอกให้ไปแก้อักษร เรื่องแค่นี้ใช้เวลา 3 เดือน ส่งไปใหม่ก็รออีก สุราผลิตไปได้ที่แล้ว แต่ฉลากยังต้องรออนุญาต ทางแก้จึงต้องเดินทางมาขอที่ส่วนกลางเอง นี่คือปัญหารัฐราชการรวมศูนย์ เป็นอีกเรื่องที่ต้องแก้ไขด้วย” ณิกษ์ ระบุ

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net