Skip to main content
sharethis

คณบดีคณะนิติศาสตร์ 4 สถาบัน ทำหนังสือถึงประมุขฝ่ายตุลาการและนิติบัญญัติชี้ว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงฯ มีปัญหาเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายต้องธำรงไว้ซึ่งเหตุผลที่ถูกต้องและสอดคล้องกับเจตจำนงของประชาชาชน เมื่อใดที่กฎหมายขาดความชอบธรรมเช่นว่า ย่อมนำมาซึ่งการปฏิเสธ

21 ต.ค. 2563 วันนี้ คณบดีคณะนิติศาสตร์ 4 สถาบันได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงประธานรัฐสภาและประธานศาลฎีกาขอให้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งขาดความชอบธรรม

มีรายละเอียดดังนี้

 

จดหมายเปิดผนึกของคณบดีคณะนิติศาสตร์

ถึงประธานรัฐสภาและประธานศาลฎีกา

21  ตุลาคม  2563

กราบเรียน ประธานรัฐสภา  กราบเรียน ประธานศาลฎีกา

 

สังคมไทยเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่เกิดจากการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองของผู้มีอำนาจและเกิดจากอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันของประชาชน หลายครั้งความขัดแย้งเกิดจากการต่อต้านการใช้อำนาจรัฐและการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม หากมองข้ามรูปแบบ ความรุนแรงและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้ง เราพบว่าประชาชนที่เป็นคู่กรณีความขัดแย้งหรือลุกขึ้นต่อต้านอำนาจรัฐต่างมีความปรารถนาที่จะให้สังคมไทยพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นในแนวทางของตน ที่ผ่านมาแม้มีความพยายามในการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งทำให้ปัญหาระงับลงได้เพียงชั่วคราวหรือเพียงผิวเผินเท่านั้น แต่ไม่สามารถทำให้การเมืองเกิดเสถียรภาพและสังคมเกิดความสงบสุขได้อย่างแท้จริง การชุมนุมประท้วงอย่างกว้างขวางที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่าการแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จ การแก้ไขระบบกฎหมายและระบบการเมืองเพียงเพื่อช่วงชิงอำนาจทางการเมืองหรือเพียงเพื่อให้สามารถใช้อำนาจควบคุมผู้ที่เห็นต่างไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน มีแต่จะซ้ำเติมความขัดแย้งให้ฝังลึกลงไปมากยิ่งขึ้น

การชุมนุมประท้วงอย่างกว้างที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้เป็นปรากฏการณ์ที่สังคมไทยไม่เคยพบเห็นมาก่อน ไม่ว่าในแง่เนื้อหาของข้อเรียกร้อง ในแง่รูปแบบและวิธีการของการชุมนุมประท้วง หรือในแง่ช่วงวัยของผู้ประท้วงส่วนใหญ่ ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมที่ให้ปฏิรูปการเมืองและกฎหมายในระดับฐานรากและให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการปฏิรูป นำมาซึ่งทั้งการสนับสนุนและการต่อต้านจากผู้คนในสังคม แม้ว่าเนื้อหาของข้อเสนอรัฐบาลจะเห็นว่าขัดต่อกฎหมายและกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง แต่หากพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของผู้ชุมนุมจะพบว่า ผู้ชุมชุมมีความปรารถนาที่จะเห็นสังคมไทยพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นในแนวทางที่ผู้ชุมนุมเห็นว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาทางการเมืองได้สำเร็จและยั่งยืน การแสดงออกเช่นว่านี้ย่อมเป็นเสรีภาพที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและตามหลักกฎหมายสากล

การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548ถูกโต้แย้งจากนักนิติศาสตร์จำนวนมากถึงความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและความชอบด้วยกฎหมายในการออกประกาศ เนื่องจากมาตรา 11 กำหนดเงื่อนไขของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงว่าจะต้องเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินมีการก่อการร้าย การใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน หรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคลเท่านั้น นอกจากนี้การอาศัยอำนาจตามกฎหมายดังกล่าวในการจับกุม การคุมตัวบุคคล โดยไม่ได้ให้โอกาสผู้ถูกจับกุมต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม การใช้อำนาจปิดกั้นสื่อเพื่อไม่ให้นำเสนอข้อมูลอย่างอิสระและเป็นกลาง ไม่เพียงเป็นการลิดรอนสิทธิภาพของบุคคลอย่างร้ายแรง แต่ไม่อาจนำไปสู่การแก้ไขปัญหาทางการเมืองโดยสันติวิธี

ภายหลังการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ยังมีการจัดชุมนุมอยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ ทั้งยังขยายวงกว้างทั่วประเทศและมีผู้เข้าร่วมชุมนุมมากขึ้น และไม่ปรากฏว่าผู้ชุมนุมได้ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นอย่างร้ายแรง แม้การชุมนุมจะก่อให้เกิดความไม่สะดวกและความเดือดร้อนแก่คนกลุ่มอื่นในสังคม หรือมีการกระทบกระทั่งจนนำไปสู่การใช้ความรุนแรงบ้าง แต่ไม่ได้ทำลายความชอบธรรมของการชุมนุมโดยสงบไปทั้งหมด เมื่อผู้ชุมนุมสามารถจัดการชุมนุมโดยสงบและสามารถจำกัดผลกระทบที่เกิดจากการชุมนุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ การชุมนุมดังกล่าวย่อมเป็นการชุมนุมที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและหลักกฎหมายสากล และแสดงให้เห็นเป็นประจักษ์ว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นมาตรการทางกฎหมายที่ไม่จำเป็นและไม่ชอบโดยหลักการของรัฐธรรมนูญ สมควรที่จะเพิกถอนประกาศดังกล่าวโดยเร็วที่สุด เนื่องด้วยรัฐบาลสามารถบังคับใช้กฎหมายในสถานการณ์ปกติกับการชุมนุมได้อยู่แล้ว

นักนิติศาสตร์ทั้งหลายตระหนักดีกว่า การตรากฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอำนาจรัฏฐาธิปัตย์เพียงอย่างเดียว แต่ต้องธำรงไว้ซึ่งเหตุผลที่ถูกต้องและสอดคล้องกับเจตจำนงของประชาชาชน เมื่อใดที่กฎหมายขาดความชอบธรรมเช่นว่า ย่อมนำมาซึ่งการปฏิเสธ เมื่อใดมีการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ย่อมนำมาซึ่งการต่อต้าน คณบดีคณะนิติศาสตร์ดังมีรายนามแนบท้าย จึงขอเรียกร้องให้มีการพิจารณาเพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทันที ขอเรียกร้องให้ศาลทำหน้าที่กลั่นกรองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของฝ่ายบริหารตามหลักการแบ่งแยกอำนาจอย่างเที่ยงธรรมและยึดมั่นในหลักการทางกฎหมายอย่างซื่อตรงเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และขอเสนอให้ใช้กลไกรัฐสภาในการหาทางออกร่วมกันตามหลักการประชาธิปไตยโดยสันติวิธีอย่างจริงจังต่อไป

 

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง

รองศาสตราจารย์ ดร.มุนินทร์ พงศาปาน
คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์
คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ
คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรชัย วิสุทธิศักดิ์
คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net