Skip to main content
sharethis

แม่ “สยาม ธีรวุฒิ” เข้าพบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ติดตามความคืบหน้ากรณีอุ้มหายลูกชาย หลังสยามซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองถูกบังคับสูญหายที่ประเทศเวียดนามครบ 5 ปี กสม. ระบุ กำลังจัดทำรายงานรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงการอุ้มหายสยามและบุคคลอื่นรวม 9 กรณี คาดจะเสร็จในสัปดาห์หน้าหนึ่งพร้อมเปิดเผยต่อสาธารณะ และส่งข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานต่างๆ

 

8 พ.ค. 2567 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมรายงาน  เวลา 11.00 น. ที่ผ่านมา ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กัญญา ธีรวุฒิ แม่ของสยาม ธีรวุฒิ หรือสหายข้าวเหนียวมะม่วง ผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่ถูกบังคับให้สูญหายที่ประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2562 ก่อการ บุปผาวัฎฎ์ ลูกชายชัชชาญ บุปผาลัลย์ ผู้สูญหายจากประเทศลาวและพบเป็นศพที่บริเวณแม่น้ำโขง จ.นครพนม 

ผู้แทนมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เดินทางเข้าพบผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อติดตามความคืบหน้ารายงานและผลการพิจารณาเรื่องร้องเรียนกรณีอุ้มหาย 9 กรณี และการนำผลพิจารณาดังกล่าวเปิดเผยสังคมต่อไปเพื่อการรณรงค์เสริมสร้างความตระหนักรู้ต่อสังคมและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกระตุ้นหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบค้นหาความจริงกรณีการกระทำให้บุคคลสูญหาย (“การอุ้มหาย”) โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นนอกประเทศทั้ง 9 รายจากแรงจูงใจทางการเมืองในอดีต

ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นผู้แทนมารับหนังสือในครั้งนี้พร้อมคณะทำงานผู้รวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงการอุ้มหาย 9 กรณี โดยได้ชี้แจงว่ากระบวนการจัดทำรายงานพิจารณาดังกล่าวเป็นการตั้งกลไกพิเศษครั้งแรก เมื่อปี 2564 ที่มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว โดยรวบรวมจากการสัมภาษณ์บุคคลและพิจารณาเอกสารที่เกี่ยวข้อง โดยทีมงานศึกษาจากสถาบันการศึกษาเป็นผู้เขียนและวิเคราะห์ จากนั้นจึงนำเสนอรายงานต่อ กสม.เพื่อการพิจารณาและรับรองไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 และขณะนี้รายงานใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว อยู่ระหว่างการปรับแก้ถ้อยคำภาษาและลงนามโดยประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยคาดว่าจะใช้เวลาต่อไปอีกหนึ่งสัปดาห์จึงจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดเผยต่อสาธารณะและส่งข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

สำหรับเนื้อหาโดยสรุปของผลการพิจารณานั้น รายงานระบุว่า

1. การอุ้มหายทั้ง 9 กรณีมีลักษณะเข้าข่ายตามนิยามการกระทำให้บุคคลสูญหายตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (“อนุสัญญาอุ้มหาย” - ICPPED) เนื่องจาก

a. ผู้สูญหายทั้ง 9 กรณีเป็นผู้ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองเกี่ยวข้องกับสถาบันทั้งสิ้น มีความเชื่อมโยงกับการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และไม่พบว่ามีคู่ขัดแย้งอื่น

b. ประเทศปลายทางที่เกิดเหตุมักปฏิเสธไม่รับรู้การพำนักอาศัย

c. การกระทำในลักษณะนี้ย่อมไม่ใช่การกระทำโดยเอกชนธรรมดา ผลการศึกษาจึงชี้ไปในแนวโน้มว่ารัฐไทยมีส่วนเกี่ยวข้อง

2. การสืบสวนสอบสวนโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องล่าช้า ไม่ครอบคลุมและไม่มีประสิทธิภาพ ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

3. การชดเชยเยียวยาครอบครัวและญาติของผู้สูญหายล่าช้า ถูกละเลย ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

4. ข้อจำกัดที่พบในการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ มักอ้างว่าเหตุเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรจึงดำเนินการยากลำบาก อย่างไรก็ตามกสม.ยืนยันว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นกับคนไทย รัฐไทยจึงมีหน้าที่ในการรับผิดชอบกรณีดังกล่าว

 

ทั้งนี้ รายงานยังได้ระบุข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยได้กำหนดมาตรการออกแบบ 2 รูปแบบหลัก ได้แก่ 1. มาตรการป้องกันแก้ไข โดยเสนอให้คณะกรรมการตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงจนกว่าจะทราบที่อยู่และชะตากรรมของผู้สูญหาย รวมถึงค้นหาผู้กระทำผิดด้วย ออกมาตรการชดเชยเยียวยาโดยพิจารณาตามหลักการชดเชยเยียวตามอนุสัญญาฯ และแจ้งให้ครอบครัวและญาติทราบถึงความคืบหน้าด้วย โดย กสม. มีความเห็นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อเสนอภายใน 180 วันนับแต่ได้รับรายงาน 2. มาตรการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิ เช่น เสนอให้คณะรัฐมนตรีให้สัตยาบันในอนุสัญญาอุ้มหาย (ICPPED) และพิธีสารเลือกรับว่าของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (OPCAT) อนุวัติกฎหมายภายในประเทศให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น รวมถึงหลักเกณฑ์วิธีการชดเชยเยียวยาที่ครอบคลุม

สำหรับการเปิดเผยรายงานต่อสาธารณะ กสม.กล่าวว่า จะมีการจัดเวทีสาธารณะอีกครั้งเพื่อแถลงข่าวเกี่ยวกับรายงานและผลการพิจารณาเรื่องร้องเรียนกรณีอุ้มหาย 9 กรณี โดยจะเชิญผู้เสียหายเข้าร่วมฟังการแถลงและแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับรายงานต่อไป

กสม. ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าครอบครัวหรือญาติของผู้สูญหายสามารถมาทราบและเข้าถึงข้อมูลดิบที่เกี่ยวข้องกับ กรณีของตนได้ แต่ก็ต้องคำนึงถึงข้อมูลส่วนบุคคลด้วย รวมถึง รับข้อเสนอของครอบครัวผู้เสียหายว่าจะมีข้อเสนอเรื่องความปลอดภัยของผู้มาร้องเรียนต่อ กสม. ถึงรัฐมนตรีด้วย ด้วยเหตุที่วันนี้ก็มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนายมาติดตามการเข้าติดตามผลของครอบครัวกับ กสม. ที่หน้าห้องประชุมในวันนี้ด้วย

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอยืนหยัดเคียงข้างครอบครัวของสยาม ธีรวุฒิในโอกาสครบรอบ 5 ปีการสูญหาย และครอบครัวอื่นๆ ที่ยังรอคอยที่จะทราบความจริงและเดินหน้าเรียกร้องความยุติธรรมให้กับคนที่พวกเขารัก เพื่อไม่ให้เกิดกรณีการสูญเสียเช่นนี้กับใครได้อีก มูลนิธิฯ ขอเชิญชวนสื่อมวลชนและประชาชนที่สนใจ ร่วมกันจับตาและติดตามความคืบหน้าของคดีอุ้มหายดังกล่าวต่อไปอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าสยาม ธีรวุฒิและครอบครัว รวมถึงผู้สูญหายทุกกรณีจะได้รับความเป็นธรรมในที่สุด

กัญญา ธีรวุฒิ กล่าวปิดท้ายไว้ในที่ประชุม พร้อมยื่นรูปของสยามช่วงที่รับปริญญาที่เธอเก็บไว้ในโทรศัพท์ให้ศยามล กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ดู ว่า “แม่ว่าแม่ตามมา 5 ปีแล้วและจะตามต่อไป เรามันคนน้อยก็หวังว่าท่านที่มีความสามารถช่วยได้ก็จะติดตามลูกแม่กลับคืนมาเหมือนกัน”

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net