Skip to main content
sharethis

หาดม่วงงาม จ.สงขลา กลายเป็นประเด็นร้อนหลังมีภาพประชาชนประท้วงโครงการสร้างกำแพงกันคลื่นยาวกว่า 2 กม. บนชายหาด หวั่นส่งผลร้าย หาดทรายหายเหมือนที่อื่น ดูข้อดี-เสีย บทเรียนจากการสร้างกำแพง ข้อเท็จจริงจากคู่ขัดแย้ง จำเป็นหรือไม่ ใครเดือดร้อน ทั้งนี้ ความขัดแย้งดูเหมือนจะเป็นเพียงหนึ่งภาพสะท้อนนโยบายรัฐที่ไปยกเลิกการทำ EIA ของกำแพงกันคลื่นทุกขนาด

หาดม่วงงามตอนเย็น (ที่มา: ชนม์รฏา นุธรรมโชติ)

ต.ม่วงงาม อ.สิงหนคร จ.สงขลา เป็นที่กล่าวถึงกันโลกออนไลน์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อมีกลุ่มประชาชนออกมาประท้วงและส่งหนังสือถึงหน่วยงานราชการเพื่อคัดค้านการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นที่หาดม่วงงามความยาวราว 2.6 กม. เพื่อป้องกันการกัดเซาะของชายฝั่ง โดยยกประเด็นข้อกังวลว่าหาดทรายและวิถีชีวิตที่ผูกติดกับมันอาจจะหายไป 

การสร้างกำแพงกันคลื่นเป็นประเด็นที่อ่อนไหวในท้องที่ริมทะเลมาก่อนหน้านี้หลายแห่ง อันเป็นผลมาจากชุดความคิดเรื่องการใช้งานและจัดการพื้นที่ชายฝั่งคนละแบบ บวกกับกติการะดับชาติที่มีขึ้นเมื่อปี 2556 ที่ทำให้โครงการก่อสร้างชนิดนี้ถูกตั้งคำถามมากขึ้นในแง่ความคุ้มค่าและการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง สมการนี้เป็นสูตรสำเร็จที่สร้างความขัดแย้งในโครงการก่อสร้างสาธารณะมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

ท่ามกลางภาวะการเป็นคู่ขัดแย้งที่ยังหาทางลงไม่ได้ หมุดต้นแรก และต้นต่อๆ ไปกำลังถูกตอกลงไปบนชายหาดม่วงงาม 

กำแพงกันคลื่นคืออะไร ดี-เสียอย่างไร

กําแพงกันคลื่น หรือกำแพงกันตลิ่ง (Seawall, Revetment) คือโครงสร้างที่วางตัวเพื่อแบ่งเขตแดน กันดินกับน้ำออกจากกัน มีไว้ป้องกันการกัดเซาะของดินจากคลื่นและกระแสน้ำ สามารถทำได้หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นการนำหินมากอง กำแพงคอนกรีต ไม้ กระสอบทรายและอื่นๆ ชนิดของวัสดุและการออกแบบความลาดเอียงมีผลกับแรงสะท้อนกลับของคลื่นที่ซัดเข้าใส่กำแพง 

ตัวอย่างเขื่อนหินทิ้ง กำแพงกันคลื่นแบบหนึ่ง (ที่มา:Facebook/ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง)

ประเทศไทยมีการสร้างกำแพงกันคลื่นหลายแห่ง เช่น กำแพงแบบตั้งตรงบริเวณชายฝั่ง อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กำแพงแบบหิน บริเวณชายฝั่งแหลมหลวงรีสอร์ท อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี กำแพงแบบหินเรียงที่บริเวณพระรามราชนิเวศมฤคทายวัน อ.ชะอำ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และกำแพงกันคลื่นแบบเสาเข็มหรือแท่งคอนกรีต บริเวณชายฝั่งบ้านพอด อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี

ข้อดีของกำแพงกันคลื่นคือสามารถดูดซับพลังงานคลื่นได้ดี ค่าบำรุงรักษาต่ำ ชุมชนหรือองค์กรท้องถิ่นสามารถดำเนินการเองได้ ส่วนข้อเสียคือหน้าหาดจะไม่มีทราย ทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์หน้าหาดได้ ราคาก่อสร้างแพง ไม่สวยงาม เกิดปัญหาการทรุดตัวของกำแพงในระยะยาว และการกัดเซาะที่ตอนปลายของกำแพงอันเกิดจากการเลี้ยวเบนของคลื่นที่ปะทะกำแพงที่จะไปกัดเซาะพื้นที่ใกล้เคียงกำแพง (end-wall effect)

(ที่มา: Beach for life, คณะวิทยาการจัดการ ม.ศิลปากร, กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง)

เกิดอะไรขึ้นที่หาดม่วงงาม

ชายหาดม่วงงาม ตั้งอยู่ที่ ต.ม่วงงาม อ.สิงหนคร จ.สงขลา มีความยาว 7.2 กม. เป็นหาดทรายขาวที่ใช้พักผ่อนหย่อนใจ จอดเรือประมง และจัดกิจกรรมต่างๆ โดยมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาอย่างต่อเนื่อง 

กำแพงกันคลื่นถูกก่อสร้างภายใต้โครงการชื่อ “โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ พื้นที่ชายฝั่งหาดม่วงงาม หมู่ที่ 7 ตำบลม่วงงาม อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง”

ประชาชนพักผ่อนหย่อนใจที่หาดม่วงงาม (ที่มา: จาริยา ราชสีห์)

อภิศักดิ์ ทัศนี จากโครงการอนุรักษ์ชายฝั่ง Beach for life เล่าว่า โครงการกำแพงกันคลื่นเริ่มต้นเมื่อปี 2558 เมื่อเทศบาลม่วงงามขอหนังสือสนับสนุนงบป้องกันชายฝั่ง จากนั้นมีการจ้างบริษัทที่ปรึกษามาออกแบบ และเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งแรกเมื่อ ม.ค. 60 และมีจัดรับฟังความเห็นเรื่อยมาอีก 2 ครั้ง การก่อสร้างแบ่งเป็น 2 เฟส เฟสแรกสร้างเป็นระยะทาง 710 ม. เริ่มดำเนินการเมื่อราวเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา และเฟสสองระยะทาง 1,995 เมตร โดยกำแพงกันคลื่นที่ทำนั้นเป็นรูปแบบขั้นบันได

เมื่อ 27 เม.ย. ที่ผ่านมา มีประชาชนในนาม เครือข่ายประชาชนรักษ์หาดม่วงงาม ไปร้องเรียนที่ศาลากลางจังหวัดสงขลา ขอให้ระงับการดำเนินโครงการข้างต้น และขอให้เปิดเผยแบบแปลนก่อสร้าง รายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและเอกสารขออนุญาตดำเนินโครงการ โดยมีข้อห่วงกังวลเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ความจำเป็น และการก่อสร้างที่อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยทางเครือข่ายยังได้เดินทางไปชูป้ายประท้วงที่หาดม่วงงามด้วย โดยใช้แฮชแท็ก #SAVEหาดม่วงงาม

ภาพเครือข่ายประชาชนรักษ์หาดม่วงงามยื่นหนังสือร้องเรียน

เมื่อ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา สื่อสงขลาทูเดย์รายงานว่า นฤทธิ์ มงคลศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พร้อมด้วย วิทศักดิ์ จำเริญนุสิต นายอำเภอสิงหนคร และประสาน เหล๊าะเหม นายกเทศมนตรีเมืองม่วงงาม ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณโครงการก่อสร้างหลังได้รับเรื่องร้องเรียน

นฤทธิ์กล่าวว่า หลังจากได้ดูเอกสารและข้อมูลวิจัย พบว่าบริเวณชายหาดถูกทะเลกัดเซาะไปมากและจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และพบว่าโครงการดังกล่าวผ่านขั้นตอนตามกฎหมาย จึงเน้นย้ำให้เทศบางเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนอีกครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มที่คัดค้าน ให้เข้าใจสาเหตุและความจำเป็น และให้เทศบาลส่งข้อมูลให้กับจังหวัดดูรายละเอียดอีกครั้ง โครงการจะระงับหรือไม่ ต้องมาดูข้อเท็จจริงอีกครั้ง

ข้อเท็จจริงทำให้เห็นต่าง

กลุ่ม Beach for life อ้างอิงข้อมูลจากการศึกษาโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมชายหาดม่วงงามโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ระบุว่าอัตราการกัดเซาะฝั่งชายฝั่งหาดม่วงงามมีอัตรากัดเซาะเฉลี่ย 0.5-1.49 เมตรต่อปี เมื่อเทียบกับเกณฑ์การกัดเซาะชายฝั่งของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งก็ถือว่าเป็นอัตราการกัดเซาะในระดับต่ำ จากการลงพื้นที่ถ่ายภาพชายหาดม่วงงามช่วงพายุปาบึกพัดผ่านเมื่อ 4 ม.ค. 61 เทียบกับภาพหลังพายุพัดผ่านเมื่อ 10 ม.ค. 61 พบว่าสภาพชายหาดไม่มีการกัดเซาะอย่างรุนแรง

เมื่อพิจารณาสภาพชายหาดพื้นที่หมู่ 2 3 7 8 และ 9 ของ ต.ม่วงงาม พบว่าจุดที่มีการกัดเซาะรุนแรงมี 2 พื้นที่ ซึ่งเกิดจากการสร้างสิ่งปลูกสร้างสะพานปลารุกล้ำพื้นที่ชายฝั่งในหมู่ที่ 3 ซึ่งดักตะกอนทรายที่เคลื่อนตัวจากทิศใต้ขึ้นไปทิศเหนือ ทำให้พื้นที่หลังสะพานปลา (หมู่ 7 เป็นต้นไป) มีการกัดเซาะ และทำให้พื้นที่หน้าสะพานปลามีการทับถมของทรายมากขึ้น 

(ภาพสะพานปลา จะเห็นว่าบริเวณตอนใต้มีการทับถมของทราย แต่ตอนเหนือ ทรายโดนสะพานปลากักเอาไว้ ทำให้เกิดการกัดเซาะ ลูกศรแสดงทิศทางการไหลของตะกอนทราย ที่มา: Beach for life)

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการกัดเซาะคือการกองหินเกเบี้ยน กำแพงกันคลื่นที่สร้างโดยกรมทางหลวง ทำให้คลื่นที่ปะทะกำแพงกระชากส่วนทรายหน้ากำแพงไปนอกชายฝั่ง เกเบี้ยนที่เสียหายยังทำให้แรงปะทะจากคลื่นข้ามไปปะทะพื้นที่ด้านหลัง เป็นผลให้ขอบถนนชำรุดและพัง รากต้นสนโผล่ขึ้นจากใต้ดิน แต่ในส่วนพื้นที่ชายหาดเหนือกองหินเกเบี้ยนยังมีสภาพเป็นปกติ ดังนั้น ในส่วนที่ไม่มีโครงสร้างป้องกันชายฝั่งเช่น หมู่ 7 และ 9 ที่ไม่มีการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงก็ไม่จำเป็นต้องมีการสร้างกำแพงกันคลื่นขนาดใหญ่ที่อาจเปลี่ยนแปลงชายหาดอย่างร้ายแรง

เหตุผลจาก Beach for life สอดคล้องกับที่กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง ที่ปรึกษากรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ลงทำการสำรวจพื้นที่ ประมวลผลการตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่กองบริหารจัดการพื้นที่ชายฝั่ง ร่วมกับการใช้ภาพจากดาวเทียมก็พบว่า หาดม่วงงามเป็นชายหาดที่เปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล ไม่เป็นพื้นที่ที่มีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรง อาจมีทรายหน้าหาดหายไปเล็กน้อยเนื่องจากทรายถูกกักไว้บริเวณท่าเรือทางทิศใต้ของพื้นที่

ส่วนการคำนวณของโครงการก่อสร้างที่ระบุว่า การกัดเซาะจะรุนแรงขึ้นในอีก 25 ปีหากไม่มีการดำเนินการใดๆ นั้น รายงาน Beach for life ระบุว่า การดูภาพถ่ายทางอากาศย้อนหลังไป 10 ปีนั้นพบว่าเส้นแนวชายฝั่งไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะชายหาดสามารถฟื้นฟูสภาพตามปกติเป็นพลวัตตามธรรมชาติที่คลื่นจะหอบทรายกลับมาที่หาดในหน้ามรสุม

Beach for life อ้างข้อมูลที่เก็บมาจากหลายหาดในไทย ว่าการสร้างกำแพงกันคลื่นทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งด้านท้ายน้ำ (end-wall effect) จนทำให้ต้องสร้างกำแพงกันคลื่นต่อไปเรื่อยๆ และยังทำให้ทรายหน้าหาดหายไปจากแรงปะทะคลื่นที่กระชากมวลทรายลงทะเล เช่น หาดปราณบุรี ชายหาดอ่าวน้อย และชายหาดทรายแก้ว

อภิศักดิ์ให้ความเห็นว่าสามารถแก้ปัญหาการกัดเซาะได้ด้วยการปล่อยให้ทรายเคลื่อนที่ไปต่อตามธรรมชาติ หากไม่มีการใช้สะพานปลาดังกล่าวก็ควรรื้อทิ้ง หรือไม่ก็ดูดทรายจากอีกฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่ง และด้วยอัตราการกัดเซาะที่เป็นปกติมาก หากกังวลก็อาจใช้โครงสร้างชั่วคราว หรือใช้ไม้ปักในทะเลเพื่อลดแรงปะทะจากคลื่น ซึ่งส่วนนี้ที่ม่วงงามก็ทำอยู่แล้ว

ผดุงเดช ลือปิยะพาณิชย์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสงขลา หน่วยงานที่ทำหน้าที่ประสานงานกรมโยธาธิการในพื้นที่ ให้สัมภาษณ์ประชาไทว่า โครงการก่อสร้างกำแพงกันเขื่อนเป็นประเด็นถกเถียงมาก แต่การก่อสร้างนั้นเกิดขึ้นเพราะประชาชนเดือดร้อนจากการที่คลื่นกัดเซาะจนถนนจะขาด หน่วยงานท้องถิ่นรับมือกับการกัดเซาะไม่ไหว 

ผดุงเดชเล่าว่า โครงการมีการศึกษาและลงมือทำไปแล้ว แต่ว่าการคัดค้านมาทีหลัง การรับฟังความเห็นที่ทำไปแล้ว 3 ครั้งก็มีการคัดค้านเป็นส่วนน้อย ส่วนมากสนับสนุน แต่ก็ถูกฝ่ายคัดค้านกล่าวหาว่าไม่ครอบคลุม

“ถ้าเซาะแล้วกลับคืนมา แล้วถนนมันหายได้ยังไง ผมอยู่ในพื้นที่ เวลากรมมาทำประชาพิจารณ์ผมก็บอกแล้วว่าถ้าไม่เซาะ คุณอย่าทำนะ ผมไม่เอานะ”

“ชาวบ้านเดือดร้อน คนไม่อยู่ในพื้นที่ไม่รู้หรอก ชาวบ้านเดือดร้อน ถนนขาด แล้วคนชายทะเลเขาจะออกถนนยังไง ที่อยู่ได้ทุกวันนี้นะ ถ้าคุณไปดูเลย เขาทำกล่องหินสู้คลื่นทุกปีเลย อบต. เขาสู้ ชุมชนเขาสู้จนหมดแรงแล้วเขาจึงขอให้ส่วนกลางมาทำ”

“คืนสภาพ แล้วมันคืนที่ไหน โลกมันร้อน น้ำทะเลมันขึ้นมาตั้งเท่าไหร่แล้วตั้งแต่ 10-20 ปีที่แล้ว ไม่ทำอะไรมันก็เซาะอยู่แล้ว โลกร้อนทุกคนก็ยอมรับ พื้นที่บกโดนทะเลกินไปตั้งเท่าไหร่แล้วในพื้นที่ที่ไม่ทำอะไรเลยมันก็เซาะ แล้วถ้ามันมีคนอยู่เราจะปล่อยให้มันเซาะไหม ถ้ามันเป็นป่าเป็นเขาก็ปล่อยไปเถอะ ให้หายเป็นร้อยไร่ก็ไม่เป็นไร แต่ตรงนี้มันมีชุมชนอยู่” โยธาฯ จ.สงขลากล่าว

ผดุงเดชกล่าวว่า ลักษณะของกำแพงกันคลื่นเป็นขั้นบันได พอเลยหน้ามรสุมคลื่นจะเอาทรายมา เมื่อทรายตกตะกอน หาดก็จะฟื้นฟู ในทางเทคนิคอาจจะเปิดตัวคอนกรีตให้กว้างขึ้น ทั้งนี้ ภายใต้ผืนทรายจะมีคอนกรีตอยู่แน่นอนเพื่อป้องกันตลิ่งเอาไว้ แล้วก็ทำภูมิทัศน์เป็นแหล่งท่องเที่ยวเหมือนเดิม

กฎหมายทำให้ขัดแย้ง

ความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นที่หาดม่วงงามเป็นเพียงหนึ่งในผลผลิตจากนโยบายระดับชาติที่ทำให้โครงการก่อสร้างประเภทนี้ทำได้ง่ายขึ้น เมื่อ ธ.ค. 2556 สำนักงานนโยบายและแผนฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีมติถอดถอนกำแพงกันคลื่นทุกขนาดออกจากประเภทโครงการที่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จากที่เดิมที กำแพงริมชายฝั่งความยาวตั้งแต่ 200 เมตรขึ้นไปจะต้องจัดทำ EIA

ข้อมูลที่รวบรวมจากกรมโยธาฯ โดย Beach for life และสำนักข่าว TCIJ พบว่าตั้งแต่ปี 2557-2562 หลังยกเลิกการทำ EIA มีโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นบนชายหาดไทยรวม 74 โครงการ ระยะทางกว่า 34,875 เมตร งบประมาณรวมราว 6.9 พันล้านบาท และช่วงปี 2551-2561 การสร้างกำแพงกันคลื่นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และใช้งบประมาณสูงถึง 117 ล้านบาทต่อ 1 กิโลเมตร

เรือเล็กบนหาดม่วงงาม (ที่มา: ชนม์รฏา นุธรรมโชติ)

อภิศักดิ์พูดถึงกระบวนการรับฟังความเห็นที่เกิดขึ้นในกรณีหาดม่วงงามว่าเป็นไปตามกระบวนการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น หรือ IEE ซึ่งมีรายละเอียดน้อยกว่า EIA ซึ่งในทางวิชาการนั้น ในกรณีของกำแพงกันคลื่นถือว่ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง สร้างเมื่อไหร่ก็มีผลกระทบต่อหาด ในงานวิชาการต่างประเทศถือว่าเป็นการฆาตกรรมชายหาด ดังนั้นก็มีความจำเป็นต้องทำ EIA ดังที่กฎหมายรัฐธรรมนูญระบุว่าต้องจัดทำ EIA ในโครงการที่กระทบกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างร้ายแรง

งานข่าวจาก TCIJ ข้างต้นที่เขียนโดยสมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง ยังระบุว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในไทย มีอยู่หลักๆ 3 หน่วยงาน ได้แก่กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคมและกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทยที่ดูแลเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดูแลความสมบูรณ์ของทรัพยากรชายฝั่งคือกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และหน่วยงานส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น แต่ในทางปฏิบัติ การดำเนินการจัดการการกัดเซาะก็กระทำอย่างไม่มีเอกภาพ ยกตัวอย่างพื้นที่บางปู จ.สมุทรปราการ ที่มีการสร้างทั้งไส้กรอกทรายโดยกรมเจ้าท่า ต่อด้วยกำแพงไม้ไผ่โดยกรมทรัพยากรธรรมชาติฯ และอีกฝั่งเป็นกำแพงหินที่ทำโดยกรมโยธาธิการและหน่วยงานท้องถิ่น

หมายเหตุ: ประชาไทแก้ไขเรื่องการแก้กติกาของกระทรวงทรัพยากรฯ ไม่ได้ทำในช่วงรัฐบาล คสช. แต่แก้เมื่อปี 2556 แก้ไขข้อความเมื่อ 9 พ.ค. 63 เวลา 17.53 น.

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net