Skip to main content
sharethis

องค์กรแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของซาดาร์ โคดายารี หญิงชาวอิหร่านที่จุดไฟเผาตัวเองฆ่าตัวตายหลังถูกตั้งข้อหาจากศาลเพียงเพราะพยายามเข้าไปดูการแข่งขันฟุตบอล ระบุ โศกนาฏกรรมของโคดายารีสะท้อนให้เห็นความเลวร้ายจากการกดขี่ทางเพศโดยรัฐบาลอิหร่าน ที่มีกฎหมายกีดกันผู้หญิงในหลายด้านรวมถึงการกีดกันไม่ให้เข้าชมฟุตบอล

ซาดาร์ โคดายารี (ที่มา:วิกิพีเดีย)

13 ก.ย. 2562 ฟิลิป ลูเธอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและรณรงค์ภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือขององค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนลแถลงต่อกรณีของ ซาดาร์ โคดายารี หญิงชาวอิหร่านอายุ 29 ปีที่ฆ่าตัวตายด้วยการเผาตัวเองและไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมา

โคดายารีจุดไฟเผาตัวเองหลังจากที่เธอได้รับหมายศาลในข้อกล่าวหาเรื่องที่เธอพยายามเข้าไปดูการแข่งขันฟุตบอลในสนามกีฬาที่กรุงเตหะราน ซึ่งเป็นเรื่องต้องห้ามในกฎหมายของอิหร่าน

ตัวแทนจากแอมเนสตี้ฯ ระบุว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับโคดายารีนั้นเป็นเรื่องที่น่าเศร้าและในชณะเดียวกันก็เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นผลกระทบจากการเหยียดเพศและการเหยียบย่ำสิทธิสตรีของรัฐบาลอิหร่าน ลูเธอร์แถลงอีกว่าสิ่งที่ถูกมองว่าเป็น "ความผิด" เพียงประการเดียวของโคดายารี คือการที่เธอเป็นผู้หญิงในประเทศที่มีการกีดกันทางเพศแบบฝังรากในกฎหมายและกฎหมายที่ว่านี้ก็ส่งผลกระทบเลวร้ายในทุกแง่มุมของชีวิตไม่เว้นแม้แต่ด้านการกีฬา

ตัวแทนของแอมเนสตีเรียกร้องให้อิหร่านยกเลิกกฎหมายที่มีบทลงโทษห้ามไม่ให้ผู้หญิงเข้าไปดูฟุตบอลซึ่งถือเป็นการกีดกันทางเพศ และเรียกร้องให้ประชาคมโลกรวมถึงสมาคมฟีฟาและสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียมีปฏิบัติการในเรื่องนี้ เพื่อทำให้ผู้หญิงสามารถเข้าชมกีฬาได้ทุกชนิดโดยไม่ถูกกดีกันหรือเสี่ยงต่อการถูกลงโทษ

ลูเธอร์เปิดเผยว่าถึงแม้ทางการอิหร่านจะอนุญาตให้ผู้หญิงจำนวนไม่กี่คนเข้าไปในสนามฟุตบอลได้ในบางโอกาส แต่ก็มักจะเป็นแค่การทำเพื่อสร้างภาพให้รัฐบาลเองเท่านั้น ไม่ได้เป็นความก้าวหน้าในการยกเลิกการกีดกันแต่อย่างใด ทางแอมเนสตี้ฯ เชื่อว่า โคดายารีจะยังคงมีชีวิตอยู่ถ้าหากไม่มีกฎหมายกีดกันผู้หญิงในเรื่องนี้ ซึ่งการทำให้โคดายารีเกิดแผลใจจากการถูกดำเนินคดี

"การเสียชีวิตของเธอต้องไม่สูญเปล่า มันควรจะกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอิหร่าน ถ้าหากจะมีการป้องกันไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมแบบนี้อีกในอนาคต" ลูเธอร์กล่าว

เหตุการณ์ของโคดายารีเกิดขึ้นในเดือน มี.ค. 2562 เธอพยายามขัดขืนกฎหมายห้ามผู้หญิงเข้าสนามฟุตบอลด้วยการแต่งกายเป็นผู้ชายเพื่อที่จะได้ชมทีมฟุตบอลที่เธอโปรดปรานในสนามแข่งที่กรุงเตหะราน  ในตอนนั้นมีสโมสรฟุตบอลของอิหร่านและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กำลังแข่งกันในงานแข่งเอเอฟซีเอเชียนคัพ แต่ก่อนที่เธอจะได้เข้าสนามฟุตบอล ยามก็ห้ามเธอไว้เพราะพบว่าเธอเป็นผู้หญิง จากนั้นเธอจึงถูกควบคุมตัวไปคุมขังที่เรือนจำชาห์รอี ซึ่งเป็นเรือนจำที่ดัดแปลงจากฟาร์มไก่ที่ไม่ได้ใช้งานแล้วเอามาคุมขังผู้หญิงหลายร้อยคนที่ถูกตัดสินในความผิดร้ายแรง สภาพในเรือนจำแห่งนั้นไม่ถูกสุขลักษณะ ต่อมา 2 วันหลังจากนั้นเธอก็ได้รับการประกันตัวและได้ออกจากเรือนจำ

ต่อมาในวันที่ 2 ก.ย. ศาลคณะปฏิวัติในกรุงเตหะรานก็เรียกตัวเธอไปที่ศายเพื่อตั้งข้อหา "กระทำความผิดบาปอย่างเปิดเผยด้วยการ...ปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณะโดยไม่สวมฮิญาบ" และข้อหา "หมิ่นเจ้าพนักงาน" หลังจากที่มีการเลิกศาล โคดายารีก็ออกมาจากศาลแล้วเทน้ำมันราดตัวเองก่อนจะจุดไฟเผาที่หน้าห้องพิจารณาคดี จากข้อมูลของโรงพยาบาลระบุว่าร่างของเธอถูกเผาไปกว่าร้อยละ 90 และเสียชีวิตในวันที่ 9 ก.ย. ที่ผ่านมา

เรื่องราวของเธอได้รับความสนใจอย่างมากในอิหร่าน มีนักการเมือง ดารา และนักฟุตบอลต่างก็วิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่มีการสั่งห้ามผู้หญิงไม่ให้เข้าไปในสนามฟุตบอล

แอมเนสตี้ฯ ระบุว่าพวกเขาได้แสดงความเป็นห่วงในเรื่องกฏหมายบังคับสวมฮิญาบในอิหร่านซึ่งถือเป็นการลิดรอนสิทธิสตรีมาเป็นเวลานานแล้ว นอกจากนี้ยังวิจารณ์เรื่องที่อิหร่านลิดรอนสิทธิในการไม่ถูกกีดกันทางอัตลักษณ์ เสรีภาพทางความเชื่อและการนับถือศาสนา เสรีภาพในการแสดงออก และการคุ้มครองไม่ให้ถูกจับกุมคุมขังโดยพลการ การทารุณกรรม และการปฏิบัติอย่างโหดร้ายทารุณไร้มนุษยธรรม รวมถึงการลงโทษหรือปฏิบัติอย่างลดทอนความเป็นมนุษย์

หมายเหตุ: ประชาไทแก้ไขพาดหัวเพื่อทำให้ข้อมูลถูกต้องตามข้อเท็จจริงเมื่อ 22 ก.ย. 62 เวลา 22.06 น.

เรียบเรียงจาก

Iran: Shocking death of football fan who set herself on fire exposes impact of contempt for women’s rights, Amnesty International, Sep. 10, 2019

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net