Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ภาพประกอบโดย Prachaya Nongnuch

ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจแม้แต่นิดเดียวสำหรับรายชื่อแกนนำพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีคนที่ร่วมงานกับรัฐบาลทางตรงเป็นแกนนำมากถึง 9 คน แม้ก่อนหน้านี้จะดูเหนียมอายที่จะพูดชัดๆ ว่าอยากลงเลือกตั้ง อยากเป็นนักการเมือง แต่หลังจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศว่า “สนใจงานทางการเมือง” ท่าทีของบรรดารัฐมนตรีก็เริ่มแสดงออกชัด จากการสวมบทผู้หวังดีต่อบ้านเมือง เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับเลือกมาบริหารดูแลบ้านเมือง ก็กลายเป็นนักการเมืองเต็มรูปแบบ

พรรคการเมืองน้องใหม่ ชื่อพ้องโครงการรัฐบาล คสช. ถือได้ว่ามีโครงสร้างค่อนข้างแน่นเพราะมีทั้งคนในรัฐบาล กลุ่มทุน ทายาทนักธุรกิจ นักการเมืองท้องถิ่นตระกูลใหญ่อย่างคุณปลื้ม ทหารเสือ กปปส. ก็ร่วมด้วย ต่อจากนี้ก็เหลือเพียงแต่รอดูว่าเมื่อไหร่ ทีมงานกลุ่มสามมิตร จะยกทัพอดีต ส.ส. ในหลายพื้นที่มาสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้มากน้อยเพียงใด แต่มั่นใจได้เลยว่า มาแน่ เพราะอนุชา นาคาศัย อดีต ส.ส. ไทยรักไทย จังหวัดชัยนาท ซึ่งตอนนี้เป็นแกนนำเดินสายดูดของกลุ่มสามมิตร มีรายชื่อติดอยู่ในคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐด้วย

ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรกับการเป็น ‘นักการเมือง’ ไม่ใช่เรื่องผิดบาปอย่างมายาคติที่ถูกสร้างขึ้นว่าการเมืองคือ พื้นที่สกปรก นักการเมืองต้องเลว ต้องชั่วไปเสียทั้งหมด เป็นเรื่องดีด้วยซ้ำไปที่พร้อมจะเปิดหน้าสู้กันตรงๆ ไม่ใช่อิงแอบอยู่กับอำนาจนอกระบบ ถึงอย่างนั้นก็เถอะด้วยเส้นทางที่เดินกันมาจนถึงจุดที่ประกาศตัวเป็นนักการเมืองอย่างเป็นทางการ กับเส้นทางที่จะเดินต่อไปสู่การเลือกตั้ง มาลองทบทวนกันหน่อยไหมว่าสิ่งที่ผิดบาป และผิดปกติคืออะไร

เอาละแม้จะมีข่าวคราวมาก่อนหน้านี้ว่า พลังประชารัฐ มีการพูดคุยจัดตั้งพรรคกันในทำเนียบรัฐบาล แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ คงเอาสะดวกเข้าว่า หรือกระทั่งดึงตัวคนมาร่วมรัฐบาลแบบเปิดเผยไม่กลัวการตั้งคำถาม ทั้ง 2 ใน 4 ทหารเสือของ กปปส. ที่เข้าร่วมงานกับรัฐบาลไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ รวมทั้งสองพี่น้องตระกูลคุณปลื้มก็ด้วย ยกตำแน่งในรัฐบาลให้ และยกเมืองพัทยาให้ปกครองในนามนายกเมืองด้วยมาตรา 44 ก็เข้าใจได้ว่าเป็นการซื้อใจแลกเปลี่นผลประโยชน์ต่างตอบแทนหาคนมาเป็นพวก เพียงแค่ดูประเจิดประเจ้อ ก็เท่านั้น

แต่สิ่งที่ปล่อยผ่านไปไม่ได้คือ ภายใต้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนี้ มันจะเกิดขึ้นภายใต้กฎกติกาคือ รัฐธรรมนูญ 2560 ที่พูดได้ตรงๆ ว่า แม้ กรธ. จะเป็นคนร่าง แต่คสช. คือคนวางเกมไว้ ทั้งระบบการเลือกตั้งที่เปลี่ยนใหม่ ไม่แน่ใจว่าหยิบเอาผลการเลือกตั้งในปี 2554 มาเป็นฐานตั้งต้นหรือไม่ แล้วตั้งโจทย์ว่า ควรออกแบบระบบเลือกตั้งอย่างไรให้ เพื่อไทยได้คะแนนเสียน้อยลงมากที่สุด จนไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้พรรคเดียวได้อีกต่อไป รวมทั้งการเซ็ตซีโร่พรรคการเมืองใหม่ทั้งหมด ให้ทุกพรรคเสมือนว่ามาตั้งต้นกันใหม่อีกครั้ง

แม้กฎหมายพรรคการเมืองจะมีผลบังคับใช้ไปนานแล้ว แทนที่จะปล่อยให้พรรคการเมืองดำเนินการตามกฎหมายได้ กลับออกคำสั่งหัวหน้า คสช. 53/2561 มาดักทางห้ามพรรคการเมืองขยับมากเกินกำหนด จนทำให้ถูกวิจารณ์ตัวเองตั้งพรรคไม่เสร็จ จึงออกคำสั่งเบรกพรรคอื่นๆ เอาไว้ก่อน แต่พอพรรคตัวเองเริ่มเข้าที่เข้าทางแล้วก็ออกคำสั่งมาอีกชุด 13/2561 อนุญาตให้พรรคการเมืองทำงานทางธุรการตามที่กฎหมายกำหนดได้ แต่ยังห้ามหาเสียง ไม่ว่าจะหาเสียงในพื้นที่ หรือหาเสียงในโลกออนไลน์ ในขนาดที่ตัวเองเดินสายครม. สัญจร พูดจาอ้อนชาวบ้านมาตั้งแต่ปี 60 รวมๆ แล้วตอนนี้ลงพื้นที่ไปราวๆ 13 ครั้ง ไหนจะเปิดโอกาสให้พรรคฝ่ายหนุน คสช. กิจกรรมได้ตามสบายอีก

กติกาที่จะระบุว่าอะไรผิดเงื่อนไขเรื่องการหาเสียงที่ขีดเส้นห้ามไว้ คสช. และ กกต. จะเป็นผู้กำหนดเอง นั่นเท่ากับว่า คสช. จะวางตัวเป็นกรรมการด้วยในเกมเลือกตั้งครั้งนี้ ขณะที่ก่อนหน้านี้เป็นผู้ร่างกฎ

แม้จะยังไม่ประกาศชัดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเข้าเป็น 1 ใน 3 รายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพลังประชารัฐ แต่เชื่อเถอะประชาชนไม่ได้โง่ แค่อ้างปากก็เห็นลิ้นไก่ ถ้าไม่ได้อยู่ใน 3 รายชื่อของพลังประชารัฐ ก็มีช่องทางพิเศษที่จะเข้ามาคือ การเปิดทางให้ ส.ว. 250 ที่จะมาจากการเลือกโดย คสช. ทั้งพวง เข้ามาตั้งรัฐบาลร่วมกับเสียงข้างน้อยที่กระจัดกระจายในรัฐสภาจากพรรคกลางเมืองขนาดกลาง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ส.ว. ไม่มีสิทธิยกมือเลือกนายกฯ แม้จะเป็น ส.ว. ที่มาจากเลือกตั้งก็ตามที

พูดกันมาทั้งหมด พวกก็คงหยิบผลโหวตรับรัฐธรรมนูญมาปาหน้า จะบ่นอะไรกันหนักหนาก็ผลโหวตของประชาชนออกมาอย่างนี้ แต่อย่างว่าผลการลงประชามติมันมีแผล ฝ่ายรัฐออกทีวีทุกเช้าเย็นโฆษณาว่ารัฐธรรมนูญที่ร่างมานี้ดีอย่างไร ตั้งชื่อฉายาว่าเป็น ‘รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง’ แต่เปิดให้คนลงประชามติกันทั้งทีแทนที่จะเปิดโอกาสให้วิพากาษ์วิจารณ์กันได้บ้าง ก็ออกกฎหมายมาปิดปากให้เงียบแทน ทั้งมาตรา 61 ใน พรบ.การออกเสียงประชามติ ทั้งคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 แค่จะชวนคนให้ไปโหวตโนยังทำไม่ได้ ไหนจะมีคนที่ดื้อพยายามออกมาแสดงความคิดเห็นที่โดนจับไปกว่า 200 คนอีก

ประชามติก็ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น ช่วงเตรียมตัวเลือกตั้งก็ยังใส่กุญแจมือพรรคการเมือง ร่างกฎเอง เป็นกรรมการเอง ลงเล่นเอง แถมไม่ลาออกจากตำแหน่งที่ใช้อำนาจรัฐด้วย ล่าสุดก็เพิ่งมีมติอัดฉีดเงินลงตำบล ตำบลละ 5 แสน ใน 10 จังหวัด เห็นชอบวันนี้ เริ่มต้นโครงการในอีก 2 เดือนข้างหน้า พอเหมาะพอเจาะช่วงเดือนธันวาคม พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ เข้าสู่ช่วงการเลือกตั้งเต็มรูปแบบ ไม่รู้ว่าตั้งใจไหม แต่ทุกอย่างดูลงล็อกไปหมด ในมือก็ยังมีอำนาจอาญาสิทธิ์ คือมาตรา 44 นึกไม่ออกว่าระหว่างที่เปิดให้หาเสียงได้ ใบเหลือง ใบแดง ของกกต. จะปลิวว่อนขนาดไหน พรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายตรงข้าม คสช. จะโดนยุบก่อนได้เลือกหรือไม่ ยังไม่หมดห่วง

หากแบบนี้ไม่เรียกว่าผิดปกติ ก็พูดได้อย่างเดียวว่า สวยพี่สวย!

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net