Skip to main content
sharethis

นายกรัฐมนตรี ขอทุกฝ่ายอย่าขยายความประเด็น รมว. คลัง เสนอใช้ ม.44 แก้กฎหมายลดโทษผู้ให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ-รัฐวิสาหกิจ ระบุเรื่องนี้ต้องศึกษาและหารือถึงความเหมาะสม ด้านวิษณุระบุ การกันตัวผู้ให้สินบนเป็นพยานแผ่นดิน สามารถทำได้

ภาพจากสำนักข่าวไทย

สืบเนื่องจากกรณีที่ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาเปิดเผยหลังเข้าหารือกับผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงการคลัง เพื่อวางแนวทาง ในการแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชันของหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากคดีความโรลส์-รอยซ์ของบริษัท การบินไทย เมื่อวันที่ 3 ก.พ. ที่มา โดยที่ประชุมได้มีข้อเสนอไปยังกระทรวงยุติธรรม ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่นว่า ควรจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายโดยกำหกให้อายุความของการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่นไม่มีวันหมดอายุความ และสามารถที่จะดำเนินการพิจารณาคดีย้อนหลังได้ ประกอบกับข้อเสนอให้มีการละเว้นโทษทางอาญาแก่ผู้ที่ให้ยินบน แต่ยังคงโทษเปรียบเทียบทางแพ่งอยู่ เพื่อที่จะสร้างแรงจูงใจให้คนกล้าที่จะออกมาเปิดเผยข้อมูลการคอร์รัปชั่นเพิ่มมากขึ้น เพราะปัจจุบันฎหมายกำหนดลงโทษทั้งอาญาและทางแพ่งกับผู้รับและผู้จ่ายเงินสินบน หรือคอร์รัปชัน โดยกระทรวงการคลังจะเสนอให้นายกรัฐมนตรีเร่งแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ซึ่งเข้าใจว่านายกรัฐมนตรีอาจจะใช้มาตรา 44 เพื่อเร่งแก้ไข กฎหมายให้เสร็จโดยเร็วที่สุด

ต่อมา เสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 5 ก.พ. ที่ผ่านมาว่า กรณีที่ รมว.คลัง ได้เสนอให้นายกรัฐมนตรีใช้มาตรา 44 ยกเว้นโทษแก่ผู้ให้สินบน จนถูกต่อต้านอย่างหนักจากสังคมว่าแนวคิดของกระทรวงการคลังเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นแนวทางการแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นให้สินบนได้ เพราะกฎหมายปัจจุบันที่ระบุว่า คนให้และคนรับสินบนมีความผิดทั้งคู่ ทำให้เกิดการช่วยกันปกปิดความผิด จนไม่สามารถหาหลักฐานมาลงโทษได้ แต่ถ้าเปิดช่องให้คนให้สินบน เพราะไม่รู้ว่า จะถูกนำหลักฐานมาแฉเมื่อใด จะช่วยป้องกันไม่ให้มีการเรียกรับสินบนได้ หรืออาจจะเขียนกฎหมายว่า หากฝ่ายใดไม่ว่า ผู้ให้หรือผู้รับนำหลักฐานเรื่องสินบนมาเปิดเผยก่อน จะไม่มีความผิดหรือได้รับการลดโทษก็ได้

ล่าสุดวันนี้ 6 ก.พ. 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึง ข้อเสนอของกระทรวงการคลัง ที่จะให้ใช้มาตรา44 แก้ไขกฎหมายลดโทษให้กับผู้ให้สินบนในคดีทุจริต ว่า ขอให้ทุกฝ่ายอย่าขยายความ เรื่องนี้ต้องมีการหารือและศึกษาถึงความเหมาะสม การจะตัดสินใจทำเรื่องใดนั้นต้องมีการศึกษา แนวทางในต่างประเทศประกอบด้วย ไม่ใช่การยกโทษให้กับคนให้สินบน แต่ต้องพิจารณาแนวทางให้ได้มาซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริต

วิษณุ ระบุการกันตัวผู้ให้สินบนไว้เป็นพยานแผ่นดิน สามารถทำได้เป็นหลักการที่ใช้ทั่วไป

ขณะที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า เรื่องนี้พูดกันมานานแล้ว ซึ่งหลักมีอยู่แล้วว่า มีคนรู้อยู่ 2 คนคือคนให้และรับสินบนที่สมประโยชน์กัน แต่ถ้ามีพยานหลักฐานที่สามารถเอาจากที่อื่นมามัดทั้งผู้รับและผู้ให้ได้ ก็ไม่มีเหตุอะไรที่จะไปยกเว้นความผิดกับผู้ให้สินบน แต่ถ้ากรณีที่พยานหลักฐาน มาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งหลักมีอยู่แล้วว่าผิดทั้งคู่ กรณีแบบนี้อัยการอาจจะขอกันฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไว้เป็นพยาน ซึ่งในอดีตอาจมีปัญหาว่า จะกันใครระหว่างผู้ให้กับผู้รับให้มาเป็นพยานโดยจะกันฝ่ายไหนก็ได้ ซึ่งหากอัยการจำเป็นต้องเลือกก็มีหลักพิจารณาอยู่แล้ว โดยอัยการต้องชั่งน้ำหนักว่า ระหว่างความผิดของคน 2 คน ฝ่ายไหนร้ายแรงกว่ากัน จะได้กันอีกฝ่ายหนึ่งไว้เป็นพยานแผ่นดิน

วิษณุกล่าวว่า ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่ที่เคยปฏิบัติมา จะดูว่าฝ่ายไหนที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ถ้าคนที่ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็จะประเมินว่า ฝ่ายที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่จะชั่วร้ายน้อยกว่า เพราะเจ้าหน้าที่มีทั้งวินัย มีทั้งรัฐเลี้ยงดู มีอำนาจ แต่เข้ามาทำเสียเอง ดังนั้น ถ้าเป็นกรณีแบบนี้ก็จะกันราษฎร์ไว้เป็นพยาน ซึ่งกรณีแบบนี้กฎหมายเอาผิดทั้งคู่ เพียงแต่ไม่สั่งฟ้องฝ่ายหนึ่งนั้นเอง ซึ่งหลักการนี้เป็นหลักการที่ใช้กันโดยทั่วไป โดยหลักแห่งความยุติธรรม

“สิ่งที่ผมพูดทั้งหมดนี้ ไม่ได้เป็นการเปิดช่องหรือชี้ช่องทุกคดีต้องทำแบบนี้ เพียงแต่บอกว่าถ้าพยานหลักฐานจากข้างนอกมี ก็ต้องผิดทั้งคู่ แต่ถ้าไม่มีพยานหลักฐาน ก็ต้องเอาคนใดคนหนึ่งมาเป็นพยาน และในปัจจุบันก็มีกฎหมายคุ้มครองพยาน”วิษณุ กล่าว

เรียบเรียงจาก: ไทยรัฐออนไลน์ , สำนักข่าวไทย, มติชนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net