Skip to main content
sharethis

ที่มาภาพ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ 

เมื่อวันที่ 18 ม.ค. ที่ผ่านมา นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)  ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน  ได้พิจารณาผลการดำเนินการตามแผนแก้ปัญหารัฐวิสาหกิจ 7 แห่งในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา โดยสั่งการให้รัฐวิสาหกิจหลายแห่งกลับไปทบทวนแผนแก้ปัญหาและเสนอกลับมาให้ที่ประชุมพิจาณาภายในเดือนมี.ค. นี้ ประกอบด้วย 

1. บมจ.ทีโอที และบริษัท กสท โทรคมนาคม มอบหมายให้กระทรวงไอซีทีเข้าไปดูแลและจัดการแยกภารกิจทั้งสององค์กรให้แตกต่างกัน รองรับการแข่งขันที่เกิดขึ้นในอนาคต เพราะการให้บริการมือถือ บริการโทรคมนาคมของบริษัทเอกชนแข่งขันรุนแรงมาก

2. สั่งการให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ต้องจัดแผนการลงทุนพัฒนาระบบรางให้ชัดเจน รวมถึงแหล่งเงินทุน เพื่อเสนอ ครม.พิจารณาและเร่ิมลงทุนได้ภายในปี  59-60  โดยกำชับให้ รฟท.จัดหาเอกชนผู้ร่วมทุน PPP การในการสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์ส่วนต่อขยายไปยังสนามบินดอนเมือง เพื่อให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน นอกจากนี้กำชับ รฟท.เร่งรัดขั้นตอนการโอนที่ดินบริเวณสถานีรถไฟมักกะสันส่งคืนให้กรมธนารักษ์ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี เพื่อนำมาพัฒนาพื้นที่บริเวณดังกล่าวตามแผนที่กำหนดไว้ ยกเว้น รพ.มักกะสันและบ้านพักให้ดำเนินการภายใน 3 ปี

3. สั่งการให้ ขสมก. เร่งรัดเสนอแผนจัดหารถให้ ครม.พิจาณาภายในเดือนมีนาคมนี้ เร่งรัดจัดซื้อรถโดยสารเอ็นจีวี 489 คัน ต้องประกวดราคาให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคมนี้ และต้องจัดทำระบบตั๋วร่วมในส่วนที่ดำเนินการได้ให้ทำไปก่อนโดยเฉพาะรถเมล์ของ ขสมก. และให้กรมการขนส่งทางบกดูแลคัดเลือกรถเมลเอกชนเข้ามาให้บริการเพิ่มเติม 

4. การบินไทย ที่ประชุมสั่งการให้บริหารจัดการเรื่องตัวแทนจำหน่ายตั๋วทั้งระบบให้ความชัดเจน สั่งให้ชะลอการจัดซื้อเครื่องบินที่ไม่มีความจำเป็น และหากจัดหาเครื่องบินเพิ่มเติมควรเป็นประเภทเดียวกันที่มีอยู่เดิมแล้วในฝูงบิน

5.ในส่วนของแบงก์รัฐ ที่ประชุมพอใจแนวทางแก้ปัญหาของเอสเอ็มอีแบงก์ แต่สั่งหาให้แก้ปัญหาหนี้เอ็นพีแอลที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่ธนาคารอิสลามฯยังมีปัญหาหนี้เสีย จึงต้องเร่งแก้ปัญหาดังกล่าวและสรรพาพันธมิตรเข้ามาร่วมทุนเพิ่มเติม นอกจากนี้มอบหมายให้ทุกรัฐวิสาหกิจต้องจัดทำแผนองค์กรในปี 59 ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของรัฐบาล

นอกจากนี้ยังยกเลิการให้ใบเหลืองใบแดงรัฐวิสาหกิจ โดยเปลี่ยนมาเป็นการประเมินผลตามแผนงาน ดีมาก ดี พอใช้ ต้องปรับปรุง เพราะใบเหลืองใบแดงอาจคุมเข้มมากเกินไป

ไฟเขียวร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล คนร. กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …. เพื่อยกระดับรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผ่านการนำหลักบรรษัทภิบาลที่ดี (Good Corporate Governance) มาปรับใช้กับรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง

ร่างกม.ดังกล่าวจะปรับโครงสร้างดูแลรัฐวิสาหกิจทั้งระบบ  โดยโครงสร้างใหม่จะแยกภารกิจระหว่างกันชัดเจนมากขึ้น ประกอบด้วย 1.กระทรวงเจ้าสังกัด ผู้กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจในแต่ละด้าน 2. ผู้กำกับดูแลรายสาขา เช่น  คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ควบคุมดูแลกิจการด้านพลังงาน ธปท.ดูแลสถาบันการเงินของรัฐ 3. สคร.และบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ (Holding Company) ทำหน้าที่เจ้าของในฐานะผู้ถือหุ้นรัฐวิสาหกิจ 4.รัฐวิสาหกิจในฐานะผู้ปฏิบัติตามนโยบายรัฐ

โดยยอมรับว่าได้จัดทำร่างกฎหมายเป็นไปอย่างรอบคอบและโปร่งใส  และกฎหมายฉบับนี้ เป็นการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ไม่ใช่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ  จึงไม่มีผลกระทบต่อสถานะความเป็นรัฐวิสาหกิจและสภาพการจ้างของพนักงานรัฐวิสาหกิจแต่ประการใด เพื่อต้องการยกระดับการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจของประเทศไทยให้มีความชัดเจน โปร่งใส และสอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาลที่เป็นมาตรฐานสากล

ตลอดจนมีการสร้างความโปร่งใสให้กับกลไกการแต่งตั้งบุคคลเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจโดยไม่มีใบสั่งจากการเมือง จึงมีขั้นตอนคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญ ผู้ความรู้ความสามารถเข้ามาเป็นผู้บริหาร แต่ได้คงสัดส่วนบอร์ดยังมีตัวแทนจากรัฐเข้ามาเป็นกรรมการ  ในสัดส่วนรัฐบาลส่งมาบริหาร 5 ราย  ข้าราชการ 5 ราย และสรรหาผู้เชี่ยวชาญรายสาขา 5 ราย  และยังกำหนดแผนป้องกันการแทรกแซงจากการเมืองที่ไม่เหมาะสมเพื่อลดโอกาสการนำรัฐวิสาหกิจไปใช้สนองนโยบายประชานิยมที่ไม่รับผิดชอบ

ในด้านการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจออกเป็น 2 ส่วน คือ “บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ”  (Holding Company) รับผิดชอบดูแลรัฐวิสาหกิจที่มีทุนเรือนหุ้น ทั้งบริษัทจำกัด  และบริษัทจำกัด (มหาชน)  ดูแลในฐานะเป็นภาครัฐยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในรัฐวิสาหกิจกลุ่มดังกล่าว  ส่วนรัฐวิสาหกิจ เช่น รฟท. ,รฟม., ขสมก. จะกำกับดูแลโดย สำนักงาน สคร. โดยทั้งสองหน่วยงานอยู่ภายในคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน   เพื่อทำหน้าที่จัดทำแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจเพื่อกำหนดนโยบายที่เป็นเอกภาพให้รัฐวิสาหกิจถือปฏิบัติ การประเมินผลงานรัฐวิสาหกิจที่เป็นรูปธรรมและสอดคล้องกับเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ

คาดว่าจะเสนอ ที่ประชุม ครม. พิจารณาภายในเดือน ม.ค. นี้ และเสนอ สนช. พิจารณา คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในกลางปีนี้

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย และ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net