กสท เตรียมเสนอแผน 'อินเทอร์เน็ตเกตเวย์ชาติ' ชูดิจิทัลฮับ ปัดไม่ใช่ 'ซิงเกิลเกตเวย์'

กสท เตรียมเสนอแผนโครงการอินเทอร์เน็ตเกตเวย์แห่งชาติมุ่งดิจิทัลฮับของอาเซียน ปัดไม่ใช่ซิงเกิลเกตเวย์ หวังกระทรวงไอซีทีเป็นเจ้าภาพดึงเอกชนตั้งคณะทำงานร่วม

21 ต.ค. 2558 เดอะเนชั่นและ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ รายงานตรงกันว่า กสท เตรียมเสนอแผนโครงการอินเทอร์เน็ตเกตเวย์แห่งชาติ (National Internet Gateway) เพื่อนำประเทศไทยไปสู่การเป็นดิจิทัลฮับของอาเซียน พร้อมปฏิเสธด้วยว่าไม่ใช่การทำซิงเกิลเกตเวย์อย่างที่มีผู้กังวลกัน

พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการและรักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภายหลังที่ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) มอบนโยบายให้ กสท เป็นเจ้าภาพในการขับเคลื่อนโครงการเคเบิลใต้น้ำ ร่วมกับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) นั้น ทาง กสท กำลังเตรียมทำร่างโครงการเพื่อเสนอให้กระทรวงไอซีทีเป็นเจ้าภาพในการจัดตั้งคณะทำงานซึ่งไม่ได้จำกัดแค่ กสท และ ทีโอที เท่านั้น แต่ต้องการให้นำทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ประกอบการภาคเอกชนมาร่วมเป็นคณะทำงานด้วย โดยมีวัตถุประสงค์ในภาพใหญ่เพื่อทำเป็น “National Internet Gateway” อันจะนำประเทศไทยไปสู่การเป็นดิจิทัลฮับของอาเซียน ไม่ใช่เพื่อควบคุมการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารในประเทศทางอินเทอร์เน็ตอย่างที่มีผู้กังวล
      
"อินเทอร์เน็ตเกตเวย์แห่งชาติเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ดิจิทัลฮับของประเทศ ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อรวมทราฟฟิกอินเทอร์เน็ตทั้งหมดเป็นเกตเวย์เดียว (single gateway) เพื่อควบคุมเนื้อหาอินเทอร์เน็ต อย่างที่คนเข้าใจกัน" พ.อ.สรรพชัยระบุ

พ.อ.สรรพชัย ระบุว่า สาเหตุที่ต้องการให้กระทรวงไอซีทีเป็นเจ้าภาพ เนื่องจาก กสท ต้องการให้การขับเคลื่อนไปสู่ National Internet Gateway นั้นต้องมีนโยบายรองรับให้ผู้ที่จะเข้ามาใช้งาน โดยเฉพาะผู้ผลิตคอนเทนต์ อย่าง ไลน์ กูเกิล เฟซบุ๊ก ซึ่งคนไทยมีการใช้งานสูงสุด เชื่อมั่น และใช้ไทยเป็นฐานแทนประเทศสิงคโปร์ รัฐบาลต้องมีนโยบายในการสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นทางการเมือง ความชัดเจนของนโยบายด้านเศรษฐกิจ สิทธิพิเศษด้านภาษีสำหรับผู้ที่จะมาลงทุน การเอื้อประโยชน์เกี่ยวกับการจ้างแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทย รวมถึงเรื่องการดูแลความปลอดภัยด้านข้อมูล ซึ่งกระทรวงไอซีทีเองก็ต้องเป็นตัวแทนในการเจรจากับผู้ผลิตคอนเทนต์ดังกล่าวเพื่อให้เข้ามาใช้บริการของประเทศไทย
      
ทั้งนี้ เมื่อทราบความต้องการของปริมาณการใช้งานแล้วก็จะทำให้สามารถลงทุนได้อย่างคุ้มค่า ขณะที่ภาคเอกชนเองก็ไม่ควรลงทุนเพิ่ม เพราะเป็นการลงทุนสูง แต่กำไรต่ำ จึงควรหันมาเช่าใช้ของ กสท ซึ่งจะทำให้สามารถทำราคาแข่งขันกับประเทศสิงคโปร์ได้ นอกจากนี้ ยังทำให้ประเทศไทยสามารถกระจายเส้นทางอินเทอร์เน็ต เกตเวย์ได้ดีขึ้น จากเดิมที่ส่วนใหญ่มีเส้นทางลงไปยังภาคใต้ 80% ภาคตะวันตก และตะวันออก เพียง 20% โดยเป็นปัจจัยหนึ่งที่นักลงทุนตัดสินใจด้วยว่าจะมาลงทุนหรือไม่ หากเส้นทางกระจุกตัวที่ใดที่หนึ่งมากเกินไปก็เป็นความเสี่ยง
      
ปัจจุบัน ตลาดรวมของประเทศไทยมีความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ต เกตเวย์ อยู่ประมาณ 2 เทราไบต์ อัตราการเติบโตปีละ 80% คาดว่าภายใน 5 ปี ตลาดจะเติบโตถึง 60 เทราไบต์ ดังนั้น หากสามารถทำให้เกิดโครงการดังกล่าวได้จะทำให้การให้บริการอินเทอร์เน็ต เกตเวย์ ของรัฐวิสาหกิจเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะทำให้ราคาการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตลดลงจากปัจจุบัน ประมาณ 15 เหรียญสหรัฐ/Mbps/เดือน ให้อยู่ในระดับที่แข่งขันได้กับการไปเชื่อมต่อโดยตรงที่สิงคโปร์ (ระดับ 5 เหรียญสหรัฐ/Mbps/เดือน ในระยะยาว) และส่งผลให้ราคาอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ครัวเรือนในประเทศถูกลงราว 15-20% และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต บรอดแบนด์ได้ทุกครัวเรือนภายในปี 60 รวมถึงจะเพิ่มสัดส่วนการใช้งานเกตเวย์ ของ กสท โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาดอินเทอร์เน็ต เกตเวย์ ของรัฐวิสาหกิจจากเดิม 20-25% ให้อยู่ที่ประมาณ 50-60% ของปริมาณทราฟฟิกรวมของทั้งประเทศ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท