Skip to main content
sharethis

แม่ทัพภาค 4 พบสื่อชายแดนภาคใต้ แจงโรดแมปพูดคุยเพื่อสันติสุข มุ่งสร้างความไว้วางใจ พร้อมเปิดเวทีสาธารณะ เผยเริ่มแล้ว 18 เวทีพบ 40 กลุ่ม ย้ำปี 58 ทำงานเชิงรุกด้านการเมือง เตรียมขยายทุ่งยางแดงโมเดล ตำรวจมั่นใจระบบ FIDS เชื่อมโยงข้อมูลคดี ให้ความยุติธรรมประชาชนได้ ตัวแทนสื่อชี้อยู่ระยะเปลี่ยนผ่านต้องใช้ Soft Power ให้มาก พร้อมถามมีอะไรที่เป็นความก้าวหน้าของสื่อมวลชน ด้านสมาคมนักข่าวห่วงเรื่องติดอาวุธให้กำลังประชาชน

6 พ.ย. 2557 เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ค่ายสิรินธร อ.ยะรัง จ.ปัตตานี พล.ท.ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาค 4/ผอ.รมน.ภาค 4 สน.ประชุมพบปะสื่อมวลชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องด้านความมั่นคงเข้าร่วมจำนวนมาก และมีสื่อมวลชนทุกแขนงในจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา เข้าร่วมกว่า 100 คน

ปี 58 ทำงานเชิงรุกด้านการเมือง
พล.ท.ปราการ กล่าวว่า วันนี้การปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐจะเน้นบูรณาการทุกภาคส่วนร่วมกัน โดยการแปลงนโยบายมาสู่การปฏิบัติให้บรรลุเป้าประสงค์ การเสริมสร้างสันติสุขและพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยในปี 2558 ได้กำหนดให้เป็นปีที่ทำงานเชิงรุกในด้านการเมือง ด้วยการเสริมสร้างความเข้าใจของรัฐบาล สร้างความเชื่อมั่นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐให้กับประชาชน เน้นย้ำการปฏิบัติของกำลังพลจะต้องไม่สร้างเงื่อนไข

สำหรับการปฏิบัติของทหารนั้น จะเร่งรัดความปลอดภัยของพื้นที่ไม่ให้ส่งผลกระทบกับงานด้านการเมือง โดยมีปัจจัยสำคัญ คือการลดการใช้กฎหมายพิเศษลงโดยใช้เท่าที่จำเป็น เน้นการใช้งานนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อป้องกันการใส่ร้ายและถูกบิดเบือนของฝ่ายตรงข้าม และการเดินหน้าสร้างความเข้มแข็งให้กับส่วนราชการปกติ พี่น้องข้าราชการพลเรือน สร้างความเข้มแข็งให้กับกำลังภาคประชาชน ซึ่ง “ทุ่งยางแดงโมเดล” อยู่ในกรอบนี้ด้วย

ขยายพื้นที่ทุ่งยางแดงโมเดล
พล.ท.ปราการ กล่าวว่า หัวใจสำคัญคือการสร้างศักยภาพประชาชนให้มีความเข้มแข็ง ดูแลพื้นที่ ถนนเส้นทางของโรงเรียนแทนกำลังเจ้าหน้าที่หลัก รวมทั้งสร้างจิตสำนึกพี่น้องประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมทั้งการรักษาความปลอดภัยและการพัฒนาให้ตรงกับความต้องการของชุมชน เรามุ่งหวังและเสริมสร้างศูนย์ปฏิบัติการอำเภอที่มีกำลังภาคประชาชน 1,970 หมู่บ้านใน 37 อำเภอ กำลังขับเคลื่อนและลุกขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันดูแลพื้นที่ชุมชน

“ไม่น่าเชื่อว่า วันเปิดเทอมวันแรกเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 ที่ผ่านมา มีพี่น้องประชาชนที่ทำหน้าที่เป็นชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือ ชรบ. ออกมาต้อนรับและดูแลการเดินทางของครูเกือบ 7,000 นาย แสดงความทุกคนอยากมีส่วนร่วมดูแลพื้นที่ของตัวเองมาก”

เวทีพูดคุยสันติสุขนำร่อง 18 ครั้ง 40 กลุ่ม
พล.ท.ปราการ กล่าวว่า กอ.รมน.ภาค 4 สน.ยังมุ่งเน้นขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ วันนี้ยอมรับเป็นสากลว่าไม่มีความขัดแย้งใดยุติได้ด้วยความรุนแรงและการใช้อาวุธ กระบวนการพูดคุยเริ่มปฏิบัติได้ในช่วงเวลานี้แล้ว มีการจัดเวทีประชาคมนำร่องไปแล้ว 18 ครั้งจากกลุ่มต่างๆ 40 กลุ่ม และยังได้เปิดท่อเชื่อมให้ผู้ที่เห็นต่างที่อยู่ในต่างประเทศด้วย แม้วันนี้ความรุนแรงยังปรากฏอยู่ แต่ความสำเร็จของเราคือการที่ประชาชนเข้าใจเรามากขึ้น วันนี้สถานการณ์โดยรวมเริ่มดีขึ้น

จากนั้นมีการชี้แจงของหน่วยต่างๆ ประกอบด้วย สำนักนโยบายและแผน กอ.รมน.ภาค4 สน.เรื่องแผนทุ่งยางแดงโมเดล สำนักการบังคับใช้กฎหมายและสิทธิมนุษยชน กอ.รมน.ภาค4 สน.เรื่องยุทธศาสตร์การพูดคุยเพื่อสันติสุข ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) เรื่องการใช้นิติวิทยาศาสตร์และความคืบหน้าคดีที่สำคัญ และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เรื่องการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สอดคล้องกับงานด้านความมั่นคง 

แจงยิบโรดแมปพูดคุยเพื่อสันติสุข
พ.อ.สุรสัณห์ ช่วยบุญนำ หัวหน้าสำนักการบังคับใช้กฎหมายและสิทธิมนุษยชน กอ.รมน.ภาค4 สน. อธิบายว่า สื่อมวลชนมีความสำคัญมากที่จะทำให้การพูดคุยประสบความสำเร็จ ซึ่งการพูดคุยเคยประสบความสำเร็จมาแล้วเมื่อ 20 ปีก่อน กรณีการแก้ปัญหาโจรจีนคอมมิวนิสต์ หรือ จ.ค.ม. ซึ่งหลังจากการพูดคุยประสบความสำเร็จ ทางการได้มอบที่ดินให้คนละ 15 ไร่แก่ผู้ที่กลับมาร่วมพัฒนาชาติไทย ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวจะนำมาปรับใช้อีกครั้งได้อย่างไร

พ.อ.สุรสัณห์ อธิบายต่อไปว่า สำหรับยุทธศาสตร์การพูดคุยเพื่อสันติสุขของ กอ.รมน. มี 2 ระดับ คือ 1. ระดับรัฐบาล โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนการพูดคุยเพื่อสันติสุข และ 2.ระดับพื้นที่นำโดย กอ.รมน. ภาค 4 สน.

สำหรับภารกิจของกอ.รมน. ภาค 4 สน. คือพูดคุยกับทุกกลุ่มและรวบรวมข้อมูลนำมาวิเคราะห์ โดยมีเป้าประสงค์ 2 ข้อคือ 1.การพูดคุย และ 2.ทำให้เกิดสันติสุข

ในการพูดคุยแบ่งออกเป็น 3 ขั้น คือ 1.ขั้นตอนการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน 2.ขั้นตอนการทำสัตยาบันร่วมกัน และ 3.ขั้นตอนการจัดทำแผนดำเนินการสร้างสันติสุขกับกลุ่มผู้เห็นต่างหรือโรดแมป ซึ่งในขั้นที่ 2 และ 3 นั้นเป็นหน้าที่ของระดับรัฐบาลที่จะดำเนินการต่อไป ส่วนภารกิจของกอ.รมน. ภาค 4 สน.ดำเนินการในขั้นที่ 1 เท่านั้น

กอ.รมน.หวังสร้างความไว้วางใจ พร้อมเปิดเวทีสาธารณะ
พ.อ.สุรสัณห์ กล่าวต่อว่า ส่วนเป้าประสงค์ที่ 2 คือการทำให้เกิดสันติสุขนั้น ด้วยการปฏิบัติการทางการเมืองภาคประชาชนในทุกรูปแบบผ่านเวทีเสวนาสาธารณะ เวทีชาวบ้าน ร่วมกับภาคประชาสังคมและทำให้เกิดเป็นกระแสสังคม

“ผลลัพธ์ที่ต้องการก็คือ กลุ่มผู้เห็นต่างเห็นด้วยกับแนวทางสันติด้วยกระบวนการพูดคุยเพื่อสร้างสันติสุข โดยการแสดงพลังของทุกภาคส่วน เพื่อลดเงื่อนไขการแบ่งแยกดินแดนเพื่อปกครองตนเอง” พ.อ.สุรสัณห์ กล่าว

พ.อ.สุรสัณห์ กล่าวอีกว่า สำหรับการพูดคุยผ่านเวทีสาธารณะนั้นจะให้การแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง เป็นการหาจุดร่วมที่ทุกคนสามารถพูดคุยได้ เช่น ปัญหายาเสพติด ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ปัญหาเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต การศึกษา ความต้องการมีส่วนร่วมในสังคม สิทธิความเป็นพลเมืองไทย รวมทั้งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และการกระจายอำนาจการปกครอง

พ.อ.สุรสัณห์ กล่าวอีกว่า ในการพูดคุยเพื่อสร้างสันติสุขของกอ.รมน. ภาค 4 สน. สรุปประเด็นสำคัญๆ ได้แก่ การสร้างความไว้วางใจ สร้างสภาวะให้เกื้อกูลต่อการสร้างสันติสุข ประชาชนมีความหวังและอยากให้เกิดสันติสุข เกิดกระแสปฏิเสธความรุนแรงในหมู่ประชาชนเป็นวงกว้าง ประชาชนให้ความร่วมมือกับรัฐเพื่อให้ความหวังของตนเองสำเร็จ ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อันจะนำไปสู่สันติสุข

ตำรวจมั่นใจระบบ FIDS เชื่อมโยงฐานข้อมูลคดี หวังให้ความยุติธรรมแก่ประชาชนได้
พล.ต.ท.อนุรุต กฤษณะการะเกตุ ผู้บัญชาการ ศชต.กล่าวว่า รู้สึกเสียใจและขอโทษที่ทำให้เกิดความสูญเสียในหลายปีที่ผ่านมา สิ่งที่จะต้องทำก็คือการลดความหวาดระแรง การต่อสู้ที่ใช้ความรุนแรงจะต้องถูกจำกัด และที่สำคัญจะต้องมีความเสมอภาค และความเป็นธรรม นอกจากนั้นการใช้กฎหมายจะต้องมีมาตรฐาน เนื่องจากสถิติที่ผ่านมาของการดำเนินคดีปรากฏว่า อัยการสั่งไม่ฟ้อง 42% และศาลยกฟ้อง 63% ปัญหาอยู่ที่ ความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรม พยานบุคคลมีน้อย พยานหลักฐานด้านนิติวิทยาศาสตร์ยังขาดความสมบูรณ์

พล.ต.ต.ปรีดี พงศ์เศรษฐสันต์ ผู้บังคับการศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 ยะลา นำเสนอเรื่องการใช้นิติวิทยาศาสตร์และความคืบหน้าคดีที่สำคัญว่า ที่ผ่านมาการดำเนินกระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีปัญหา ส่งผลให้มีคดีที่ถูกยกฟ้องจำนวนมากเพราะไม่มีพยานหลักฐานที่ชัดเจน ซึ่งจากการศึกษาวิจัยของสำนักงานอัยการพบว่าปัญหาเกิดจาก 4 อย่างได้แก่

1.ความล่าช้าของการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ตั้งแต่ชั้นตำรวจ ชั้นอัยการและชั้นศาล 2.ไม่มีพยานบุคคล 3.ศาลไม่พิจารณาจากคำรับสารภาพทั้งที่มีคดีที่จำเลยรับสารภาพเยอะ และ 4.ศาลตัดสินคดีจากหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ แต่การตรวจพิสูจน์หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ผ่านมาไม่สมบูรณ์

ด้วยเหตุนี้จึงมีการปรับปรุงเรื่องการเก็บและการตรวจพิสูจน์หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ใหม่ ให้มีมาตรฐานมากขึ้น โดยใช้มาตรฐาน ISO 17020 และการจัดทำระบบฐานข้อมูลใหม่ ได้แก่ระบบ FIDS ซึ่งสามารถเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ ตั้งแต่อดีตที่ได้มีการเก็บเป็นฐานข้อมูลไว้ ประกอบด้วย ฐานข้อมูลอาวุธปืน ฐานข้อมูลร่องรอยเครื่องมือ ฐานข้อมูลลายนิ้วมือ และฐานข้อมูล DNA

ซึ่งจากฐานข้อมูลอาวุธปืนที่ใช้ก่อเหตุในพื้นที่พบว่ามีทั้งหมด 6,303 กระบอก โดยเป็นอาวุธปืนสงคราม 3,131 กระบอก ใช้ยิงซ้ำกัน 896 กระบอก มีฐานข้อมูลร่องรอยเครื่องมือที่ใช้ในการก่อเหตุรวม  918 ข้อมูล และฐานข้อมูลลายนิ้วมือ/ฝ่ามือ 11 ล้านข้อมูล ลายนิ้วมือผู้ต้องสงสัย 35,191 ข้อมูล ลายนิ้วมือแฝงอีก 24,087 ข้อมูล ฐานข้อมูลDNAจากบุคคล 34,443 ข้อมูล และจากวัตถุพยาน 6,604 ข้อมูล

พล.ต.ต.ปรีดี ระบุว่า จากการเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ โดยระบบ FIDS ทำให้สามารถทราบผู้ก่อเหตุและอาวุธที่ใช้ได้จำนวนมาก แม้ว่าบางคนผ่านไปแล้วหลายปีก็ตาม เช่นเหตุโจมตีจุดตรวจยุทธศาสตร์บ้านน้ำดำ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมา พบว่ามีการใช้อาวุธปืนทั้งหมด 21 กระบอก หรือการตรวจค้นตามแผนพิทักษ์ตะเว อ.ระแงะ จ.นราธิวาสเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2557ที่ผ่านมา พบว่าบนเขาตะเวมีกลุ่มคนเคลื่อนไหวอยู่บนเขาตะเว 34 คน ทราบชื่อแล้ว 16 คน เป็นต้น

การปรับระบบดังกล่าวทำให้มีหน่วยงานต่างๆ มาเยี่ยมชมศูนย์จำนวนมากโดยเฉพาะเอกอัครราชทูตประจำกระทรวงการต่างประเทศ เพราะต้องตอบคำถามจากต่างประเทศเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งอัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษคดีความมั่นคงที่มาเยี่ยมด้วย และจะใช้ฐานข้อมูลที่ได้จากระบบ FIDSไปใช้ในการพิจารณาสำนวนคดีด้วย

“การที่เรามีระบบที่มีมาตรฐานสามารถให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนได้ เพราะเราไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวบนโลกนี้ ต่างประเทศมองดูเราอยู่ และที่สำคัญเพื่อตอบโจทย์หลักการสิทธิมนุษยชน” พล.ต.ต.ปรีดีกล่าวและว่า หลังจากนี้เชื่อว่าการดำเนินคดีข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจรจะได้พิจารณากันจริงๆ เพราะสามารถเชื่อมโยงโครงข่าวของผู้ก่อเหตุได้จริง

แนะใช้ Soft Power ในระยะเปลี่ยนผ่าน
นายมูฮัมหมัดอายุบ ปาทาน บรรณาธิการอาวุโสศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันเราอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน ซึ่งมีความสำคัญมาก กล่าวคือ เราจะสร้างภูมิคุ้มกันอย่างไรที่จะไม่ให้เหตุการณ์มันปะทุขึ้นมาอีก และที่สำคัญคนในพื้นที่ยึดติดกับความรู้สึกมากกว่าเหตุผล

“การที่คนในพื้นที่อยากจะจัดเวทีพูดคุยแล้วจัดได้จริงๆ นั้นเป็นการตอบสนองต่อความรู้สึกของเขา หรือหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สนองความรู้สึกได้ว่านั้น คือหลักฐานตามมาตรฐานจริงๆ เพราะปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรมเป็นปัญหาหัวใจ”

"เรายังใช้อำนาจแบบอ่อน (Soft Power) น้อยไป ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านเราต้องมาช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้สามารถใช้อำนาจแบบอ่อนให้เยอะขึ้น ตัวอย่างเช่น วิทยุชุมชนที่ใช้ภาษาท้องถิ่นที่สามารถสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจโดยตรง นั่นก็คืออำนาจแบบอ่อนอย่างหนึ่ง ในต่างประเทศที่มีปัญหาความขัดแย้งมีการใช้อำนาจแบบอ่อนเยอะมาก"

ถามมีอะไรที่เป็นความก้าวหน้าของสื่อมวลชน
นายมูฮัมหมัดอายุบ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่เห็นในวันนี้ก็คือความก้าวหน้าของฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่มีโรดแมปในการพูดคุยเพื่อสันติสุข ฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็นก็มีโรดแมปของตัวเอง หรือภาคประชาสังคมก็โรดแมปในการสร้างสันติภาพเช่นกัน คำถามก็คืออะไรคือความก้าวหน้าของสื่อมวลชน?”

“หน้าที่ของสื่อในระยะเปลี่ยนผ่านมีอยู่ 3 ข้อ คือ 1.ใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมที่มีให้มากที่สุด เช่น ความสัมพันธ์ของคนไทยพุทธ จีน มุสลิม เป็นต้น 2.ใช้การสื่อสารสาธารณะ 3.ใช้อำนาจแบบอ่อนให้มากกว่าเดิม” นายมูฮัมหมัดอายุบ กล่าว

สมาคมนักข่าวห่วงเรื่องติดอาวุธให้กำลังประชาชน
นายไชยยงค์ มณีพิลึก นายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภาคใต้ แสดงความเห็นว่า เป็นห่วงก็คือการตั้งกองกำลังท้องถิ่น เพราะหากดูแลไม่ดีจะกลายเป็นการติดอาวุธให้กับมวลชน และที่สำคัญมีบางคนที่สมัครเข้ามาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะเข้าถึงอาวุธและอำนาจ จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบ อาวุธที่ส่งไปอย่าให้กลับมาทำร้ายประชาชน

พล.ท.ปราการ กล่าวสรุปว่า วันนี้ 3 หน่วยงานคือ กอ.รมน., ศอ.บต.และตำรวจ ทำงานอย่างมีเอกภาพและไม่มีช่องว่าง สิ่งที่จะต้องทำต่อไปก็คือ จะพัฒนาการศึกษาอย่างไร?  เพราะเราจะนำการศึกษามาแก้ปัญหา เนื่องจากปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากประชาชนขาดโอกาสในการศึกษา และที่สำคัญที่สุดคือการทำความเข้าใจ ซึ่งท่าทีหรือนโยบายของรัฐบาลกำหนดไว้ชัดเจนในเรื่องของการสร้างความเข้าใจ และสุดท้าย พลังอันสำคัญยิ่งของสื่อมวลชนจะนำไปสู่สังคมที่ดีและมีสันติสุขได้

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net