Skip to main content
sharethis

เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ และตัวแทนแรงงานข้ามชาติ แรงงานภาคเกษตร แรงงานแม่บ้าน แรงงานก่อสร้าง แรงงานบาริสต้า ยื่นข้อเรียกร้องวันแรงงานสากลปี 2567 ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

1 พ.ค. 2567 เวลาประมาณ 13.30 น. เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ และตัวแทนแรงานข้ามชาติ แรงงานภาคเกษตร แรงงานแม่บ้าน แรงงานก่อสร้าง แรงงานบาริสต้า ไปยื่นหนังสือข้อเรียกร้องวันแรงงานสากล ปี พ.ศ. 2567 ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ โดยผู้ว่าฯ ได้ส่งตัวแทนออกมารับหนังสือ

สำหรับข้อเรียกร้องวันแรงงานสากล ปี พ.ศ. 2567 ของเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ มีดังต่อไปนี้

ด้วยวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี เป็น “วันแรงงานสากล” ซึ่งเป็นวันที่คนทำงานทั่วโลกได้รำลึกถึงการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมของคนทำงาน เป็นการยกย่องและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของคนทำงานในทุกสาขาอาชีพ สิทธิอันชอบธรรมที่คนทำงานสมควรได้รับในฐานะมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับประชาชนกลุ่มอื่น ๆ ในฐานะที่คนทำงานเป็นส่วนสำคัญหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ก้าวไปข้างหน้าและทัดเทียมกับนานาประเทศ   
เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาและส่งเสริมให้เห็นถึงคุณค่าความสำคัญของคนทำงาน เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ร่วมกับคนทำงานทุกสาขาอาชีพจึงขอเรียกร้องดังต่อไปนี้

1.    ขอให้รัฐบาลกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำไม่ต่ำกว่า 700 บาทต่อวัน เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพและเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว รัฐบาลต้องใช้หลักค่าจ้างเพื่อชีวิต (Living Wage) ในการพิจารณาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ หมายถึงค่าจ้างที่ทำให้แรงงานสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ใช้ค่าจ้างอัตราเดียวกันทั้งประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ด้านงานที่มีคุณค่า (Decent Work) และด้านการลดความเหลื่อมล้ำ นอกจากนี้รัฐบาลต้องแก้ไขกฎกระทรวงให้การสรรหาคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งทำหน้าที่กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ มีความโปร่งใสและเป็นประชาธิปไตย เปิดเผยบันทึกการประชุมค่าจ้างทุกครั้ง เปิดเผยข้อมูลและสูตรการคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำ

2.    รัฐบาลและรัฐสภาต้องส่งเสริมการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน ให้แรงงานทุกอาชีพ ทุกสภาพการจ้าง โดยเฉพาะแรงงานภาครัฐและแรงงานข้ามชาติ สามารถรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานเพื่อต่อรองได้อย่างเสรี โดยให้สัตยาบันแก่อนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง 

3.    รัฐต้องกำหนดเวลาทำงานพื้นฐาน 4 วัน หรือ 32 ชั่วโมง ต่อสัปดาห์ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้มั่นใจว่าแรงงานทุกภาคส่วนจะได้รับความคุ้มครองและสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีเวลาใช้ชีวิตของตัวเอง โดยเฉพาะบุคลากรด้านสาธารณสุขต้องทำงานไม่เกิน 60 ชม.ต่อสัปดาห์ อีกทั้งยังได้รับการพิสูจน์ในหลายประเทศแล้วว่าทำให้แรงงานมีผลิตภาพมากขึ้น

4.    ขอให้รัฐบาล รัฐสภา คณะกรรมการประกันสังคม กำหนดให้แรงงานทุกคนเข้าสู่ระบบประกันสังคม โดยไม่แบ่งแยกอาชีพ สภาพการจ้าง และสิทธิประโยชน์ที่ได้รับ เพิ่มสิทธิประโยชน์ที่ได้รับ เช่น เงินอุดหนุนบุตร ค่าคลอดบุตร บำนาญ ประกันการว่างงาน ค่ารักษาพยาบาล และเพิ่มอัตราการสมทบของผู้ที่มีรายได้เกินกว่า 15,000 บาทในปัจจุบัน เพื่อไม่ให้การสมทบเป็นแบบถดถอย (regressive) กล่าวคือ มีมากต้องจ่ายสมทบมากเช่นเดียวกับภาษี

5.    รัฐบาลต้องให้ความคุ้มครองด้านแรงงานแก่แรงงานทุกกลุ่มโดยไม่แบ่งแยกและไม่เลือกปฏิบัติ แรงงานทุกกลุ่มต้องอยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานภาครัฐ แรงงานมหาวิทยาลัย แรงงานภาคประชาสังคมที่ไม่แสวงหาผลกำไร แรงงานที่ทำงานให้พรรคการเมือง แรงงานอิสระ แรงงานแพลตฟอร์ม แรงงานนอกระบบ แรงงานภาคเกษตร แรงงานประมง แรงงานข้ามชาติ แรงงานที่ทำงานบ้าน ลูกจ้างชั่วคราวเหมาค่าแรงของภาครัฐ แรงงานบริการ 

6.    ขอให้รัฐบาล รัฐสภา พิจารณา พรบ.คุ้มครองแรงงานที่กำลังอยู่ในขั้นตอนคณะกรรมาธิการ (กมธ.)ขณะนี้ ให้กำหนดให้มีวันลาคลอดไม่ต่ำกว่า 180 วัน โดยสามารถลาได้ทั้งพ่อและแม่ และกำหนดให้มีโควต้าวันลาเฉพาะพ่อเท่านั้นเพิ่มอีก 30 วัน เพื่อกระตุ้นให้พ่อใช้วันลาคลอดมากขึ้น แบ่งเบาภาระการเลี้ยงดูบุตรของแม่ ส่งเสริมการลดบทบาทเฉพาะเพศ ส่งเสริมให้แม่กลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน และลดการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานแม่

7.    รัฐบาลต้องมีการบังคับใช้กฎหมายแรงงานที่มีอยู่แล้วอย่างเคร่งครัด แรงงานจำนวนมากยังต้องทำงานโดยได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด ยังต้องทำงานเกินชั่วโมงการทำงานโดยไม่ได้รับค่าล่วงเวลา ยังถูกหักค่าจ้างเป็นการลงโทษ นายจ้างหักเงินแต่ไม่นำส่งประกันสังคม ฯลฯ เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจเจริญเติบโตอย่างมาก โดยรัฐต้องเพิ่มจำนวนพนักงานตรวจแรงงานให้มากขึ้น 10 เท่า จากปัจจุบันที่มีสัดส่วน 1 คน ต่อประชากร 100,000 คน เป็น 1 ต่อ 10,000 คน เพื่อความครอบคลุมในการบังคับใช้กฎหมาย รัฐบาลต้องรับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 81 ว่าด้วยการตรวจแรงงาน และฉบับที่ 129 ว่าด้วยการตรวจแรงงานเกษตรกรรม รัฐบาลต้องทำให้การตรวจสอบเรื่องร้องเรียนด้านแรงงานสามารถตรวจสอบออนไลน์ได้

8.    รัฐบาล รัฐสภา ต้องพิจารณากำหนดให้วิสาหกิจขนาดใหญ่ มีการจ้างงานมากกว่า 200 คน ต้องมีตัวแทนแรงงานอยู่ในคณะกรรมการบริษัทไม่ต่ำกว่า 25% และกำหนดให้คณะกรรมการบริษัทต้องมีเพศหญิงหรือเพศหลากหลายไม่ต่ำกว่า 30% ตามหลักการบริหารอย่างมีส่วนร่วม (Co-determination)

9.    รัฐบาลต้องเพิ่มโทษของนายจ้างที่ละเมิดสิทธิแรงงาน ทั้งเพิ่มโทษปรับ โทษจำคุก และเพิกถอนสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เช่น การลดหย่อนภาษี ให้กองติดตามและประเมินผลของ BOI มีช่องทางร้องเรียนด้านการละเมิดสิทธิแรงงานเพื่อเพิกถอนสิทธิประโยชน์

10.    รัฐบาลต้องกำหนดมาตรการในการกำจัดการเลือกปฏิบัติและการละเมิดสิทธิทั้งทางการเมืองและทางเพศ สนับสนุนพรบ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล และยกเลิกระเบียบที่ละเมิดสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น ต้องไม่มีการกำหนดและตรวจสอบความคิดทางการเมืองก่อนและหลังเข้าทำงาน ต้องไม่มีการตรวจสอบการตั้งครรภ์ก่อนเข้าทำงาน ค่าจ้างในตำแหน่งเดียวกันต้องเท่ากันทุกเพศ ต้องมีมาตรการการตรวจสอบและลงโทษการล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน ต้องไม่มีนโยบายไม่รับบริจาคเลือดจากผู้มีความหลากหลายทางเพศของสภากาชาด ยกเลิกการเกณฑ์ทหารโดยเปลี่ยนไปใช้ระบบสมัครใจ อีกทั้งรัฐต้องส่งเสริมสิทธิของผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศในทุกมิติ เข้าถึงกองทุนและการสนับสนุนของรัฐ เช่น กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี 

11.    รัฐบาลหรือรัฐสภาต้องกำหนดให้มีวันลาพักผ่อนแก่แรงงานทุกคนไม่ต่ำกว่า 25 วันต่อปี และขอให้มีการกำหนดวันหยุดโดยได้รับค่าจ้างให้กับคนทำงานทุกคนในวันที่เป็นประจำเดือน ในวันที่มีอาการเครียด และในวันที่มีอาการหมดไฟในการทำงาน (Burn out)

12.    รัฐบาลต้องยกเลิกการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)จากผ้าอนามัย และต้องจัดให้มีการแจกผ้าอนามัยฟรีให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เพื่อแก้ปัญหาความจนประจำเดือน (Period Poverty) ที่ส่งผลเสียอย่างอื่นตามมา

13.    รัฐต้องจัดให้มีรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (Universal Basic Income: UBI) แก่ประชากรทุกคน ไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจนเดือนละ 3,000 บาท เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตและพัฒนาศักยภาพแรงงานทุกภาคส่วน รวมไปถึงจ่ายค่าตอบแทนให้กับคนทำงานดูแล(care income) เพราะงานบ้านคืองานพื้นฐานที่สำคัญต่อสังคมไม่แพ้งานนอกบ้าน หากไม่มีคนงานบ้านสังคมก็ไม่สามารถเดินต่อไปได้

14.    รัฐบาลและรัฐสภาต้องแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยเร็วที่สุด โดยการผ่านร่าง พรบ.อากาศสะอาด ห้ามนำเข้าสินค้าที่มีกระบวนการผลิตจากการเผา และกำหนดให้ผู้ปล่อยมลพิษต้องจัดทำรายงานความโปร่งใสให้ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุปทาน เพราะผู้ที่ได้รับกระทบมากที่สุดจากฝุ่นคือแรงงานที่ทำงานนอกบ้าน ไม่สามารถหยุดงานได้ เช่น แรงงานก่อสร้าง แรงงานส่งอาหาร พนักงานรักษาความปลอดภัย ผู้ประกอบอาชีพค้าขายอิสระ ฯลฯ

15.    ในการเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างรัฐบาลไทยกับสหภาพยุโรป (EU) และสหรัฐฯอเมริกาที่กำลังดำเนินอยู่ขณะนี้ ตัวแทนทุกฝ่ายต้องคำนึงถึงประเด็นด้านสิทธิแรงงาน ให้คำมั่นสัญญาว่าการเปิดเขตการค้าเสรีจะต้องแลกกับสิทธิแรงงานที่ดีขึ้น เปิดเผยผลการศึกษาว่าเขตการค้าเสรีจะไม่ทำให้ความเป็นอยู่ของแรงงานแย่ลง

16.    รัฐต้องสร้างระบบขนส่งสาธารณะพื้นฐาน รถไฟทุกอำเภอ รถเมล์ทุกตำบล เลนจักรยาน ซึ่งจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นลดภาระค่าใช้จ่ายของทั้งนายจ้างและแรงงานในการเดินทาง ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ขอให้กรมการขนส่งทางบกอำนวยความสะดวกให้แรงงานข้ามชาติสามารถขอใบขับขี่ได้โดยสะดวก

17.    รัฐบาลท้องถิ่นต้องมีสถานดูแลเด็ก (Childcare) ที่มีคุณภาพในทุกเทศบาล โดยรัฐบาลกลางต้องอุดหนุนงบประมาณ เพื่อลดค่าใช้จ่าย/ภาระการเลี้ยงดูบุตรหลานของครอบครัวโดยเฉพาะแม่ ส่งเสริมให้แม่เข้าสู่ตลาดแรงงานได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังส่งผลต่อการพัฒนาทางสติปัญญาและทางอารมณ์ของเด็ก

18.    รัฐบาลต้องเก็บภาษีความมั่งคั่ง (Net Wealth Tax) โดยกำหนดผู้มีทรัพย์สิน 30,000,000 บาท หรือกลุ่มที่มีความมั่งคั่งบนสุด 0.1% ของประเทศ ต้องจ่ายภาษีฐานความมั่งคั่งแก่รัฐในอัตรา 0.1% ของมูลค่าทรัพย์สินทุกปี โดยสามารถพิจารณาเก็บมากขึ้นแบบขั้นบันได เช่น หากมีทรัพย์สินมากกว่า 100,000,000 บาท ต้องจ่ายภาษีความมั่งคั่ง 0.5% ต่อปี เป็นต้น

19.    รัฐบาลและรัฐสภาควรพิจารณาการกำหนดระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ(NEC)อย่างรอบด้าน โดยเฉพาะประเด็นด้านแรงงาน ไม่ให้มีปัญหาซ้ำรอยด้านการละเมิดสิทธิแรงงานเฉกเช่นเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่น จำนวนแรงงานเพียงพอในการสร้างธุรกิจเป้าหมายประเภทต่างๆ ไม่ขายฝัน

20.    ขอให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบันแก่อนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ILO ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน เพื่อส่งเสริมสิทธิของคนงานทำงานบ้าน อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 190 ว่าด้วยการต่อต้านความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงาน 

21.    ขอให้รัฐบาลไทยและรัฐบาลประเทศต้นทางปฏิบัติตามอนุสัญญา ILO 181 ว่าด้วยบริษัทจัดหางานเอกชน ตามมาตรา 7 บริษัทนายหน้าต้องไม่คิดค่าบริการใดๆ จากคนงานไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ตามคำแนะนำของ UN และ ILO

22.    ขอให้รัฐบาลยกเลิก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี เพื่อเลิกการตีตราและกดทับพนักงานบริการทางเพศ

23.    รัฐต้องปรับแก้กฎหมายเพื่อคุ้มครองแรงงานผู้มีความหลากหลายทางเพศ จากการคุกคาม ทำร้ายร่างกาย หรือถูกกระทำรุนแรงที่เกิดจากความเกลียดชัง (Hate Crime) และการเตรียมเพื่อล่วงละเมิดทางเพศ (Grooming) และเพิ่มบทลงโทษต่อผู้กระทำความผิด

24.    รัฐธรรมนูญต้องระบุคำว่า “ผู้มีความหลากหลายทางเพศ” เพื่อรับรองสิทธิและหน้าที่ทางกฎหมายของผู้มีความหลากหลายทางเพศ

25.    ให้รัฐบาลขยายแหล่งที่มาของรายได้ในกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างโดยให้จัดเก็บเงินจากนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในประเทศไทย เพื่อเป็นเงินสำรองจ่ายให้กับคนงานในกรณีปิดกิจการ หรือเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย เนื่องจากที่ผ่านมามีนักลงทุนจำนวนมากไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในกรณีปิดกิจการหรือเลิกจ้างคนงาน โดยผลักภาระให้กับคนงานดำเนินคดีความเพื่อเรียกร้องสิทธิของตนเอง และมีคนงานจำนวนมากชนะคดีแต่ไม่ได้รับการชดเชยแต่อย่างใด เพราะนักลงทุนอ้างว่า ไม่มีเงิน ล้มละลาย หรือหนีออกนอกประเทศ 

26.    ขอให้รัฐบาลไทยมีนโยบายให้ทุกหน่วยงานของรัฐที่ให้บริการในด้านต่าง ๆ แก่แรงงานข้ามชาติ จัดให้มีล่ามแปลภาษาต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาใช้บริการหรือร้องเรียน

27.    ให้แก้ไข กฤษฎีกา ให้แรงงานข้ามชาติที่มีความประสงค์ที่จะกลับประเทศต้นทางและไม่ประสงค์ที่จะพำนักในประเทศไทยอีกต่อไปสามารถยื่นรับเงินจากกองทุนบำนาญชราภาพทั้งก้อนได้ทันที

28.    รัฐต้องกำหนดนโยบายการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติที่เป็นระบบและเป็นนโยบายระยะยาว 5 – 10 ปีที่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน การไม่เลือกปฏิบัติ เน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานและการอนุญาตให้อยู่ในประเทศ โดยให้ความสำคัญกับประเด็นดังต่อไปนี้ 

1.    แรงงานข้ามชาติสามารถดำเนินการขึ้นทะเบียนและต่อใบอนุญาตทำงานได้ด้วยตนเองได้โดยไม่มีการปิดกั้นและดำเนินการได้ตลอดทั้งปี โดยกำหนดระเบียบขั้นตอนการขึ้นทะเบียนและต่อใบอนุญาตทำงานแรงงานข้ามชาติที่ไม่ซับซ้อน ใช้เอกสารและค่าใช้จ่ายน้อย และมีศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service: OSS) ที่เปิดให้บริการตลอดทั้งปี เพื่อลดการพึ่งพานายจ้างและนายหน้าซึ่งเป็นปัจจัยที่อาจจะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายทางอ้อมของการขึ้นทะเบียนและขอใบอนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติได้

2.    รัฐต้องกำหนดกลไกหรือมาตรการที่ทำให้เกิดการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานและการอาศัยอยู่ในประเทศของแรงงานข้ามชาติ เพื่อส่งเสริมสิทธิและการปกป้องคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ 

3.    กำหนดบทลงโทษนายหน้าหรือนายจ้างที่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนและต่อใบอนุญาตทำงานที่นอกเหนือจากกฎหมายกำหนด

4.    กำหนดระยะเวลาของใบอนุญาตทำงานแรงงานข้ามชาติและการต่อวีซ่าให้สอดคล้องกับอายุของหนังสือเดินทาง หรือเอกสารบุคคลของแรงงานข้ามชาติ 

5.    ขยายอายุการจ้างแรงงานข้ามชาติจนถึงอายุ 60 ปี และขยายการเข้าถึงบัตรประกันสุขภาพตามอายุการจ้างงาน

6.    แรงงานข้ามชาติสามารถทำงานได้ตามทักษะความสามารถ และวุฒิการศึกษา การอนุญาตทำงานมีความยืดหยุ่น ไม่จำกัดประเภทงาน และไม่ต้องขึ้นอยู่กับนายจ้างเพียงคนเดียว โดยอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติสามารถทำงานกับนายจ้างอื่นนอกเวลาทำงานที่ระบุตามใบอนุญาตทำงานได้ เช่น แรงงานข้ามชาติที่ทำงานในภาคเกษตรสามารถไปทำงานก่อสร้างในช่วงระหว่างการดูแลรักษาเพื่อรอการเก็บเกี่ยวผลผลิต หรือแรงงานก่อสร้างสามารถไปทำงานเป็นลูกจ้างในตลาดได้ระหว่างที่นายจ้างกำลังหางานก่อสร้างแห่งใหม่

7.    ผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติทุกคนเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพ โดยการปรับอัตราค่าประกันสุขภาพผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติที่อายุไม่เกิน 18 ปี เป็นอัตรา 365 บาท/ปี/คน เนื่องจากยังมีสถานะเป็นเด็กเยาวชนและไม่มีรายได้ และต้องเข้าถึงการได้รับบริการสุขภาพทุกแห่งทั้งภาครัฐและเอกชนที่ใกล้ที่สุด โดยไม่จำกัดเพียงสถานพยาบาลที่ระบุในบัตรประกันสุขภาพ โดยแรงงานข้ามชาติต้องไม่ถูกทวงถามสิทธิก่อนการรักษา และได้รับการรักษาโดยไม่บ่ายเบี่ยง

8.    ผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติทุกคนเข้าถึงสิทธิการศึกษาอย่างเท่าเทียมและต่อเนื่อง ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และกำหนดแนวทางปฏิบัติในการเทียบโอนผลการเรียนของนักเรียนระหว่างประเทศไทย – ประเทศต้นทางที่ชัดเจน

9.    ผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติต้องได้รับความคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชน ไม่ถูกจับปรับหรือคุมขังโดยอำเภอใจ และไม่ถูกบังคับใช้แรงงาน

10.    ผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงการปรับสถานะบุคคลได้ตามที่กฎหมายกำหนด โดยสร้างมาตรการที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ใช้เวลาสั้น และโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้

29.    ในสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศเมียนมาส่งผลให้มีผู้อพยพเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น เครือข่ายแรงงานภาคเหนือขอให้รัฐบาลยุติการกักขังและบังคับส่งกลับทั้งแรงงานและผู้อพยพจากประเทศเมียนมา รวมถึงการอนุญาตให้อยู่อาศัย ทำงาน เข้าถึงการบริการด้านสุขภาพ การศึกษา และการเดินทาง โดยเร่งด่วน

เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ
1 พฤษภาคม 2567

ภาพบรรยากาศ

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net