Skip to main content
sharethis

เนื่องในวันแรงงาน 1 พ.ค. แรงงานหลายจังหวัดมีการจัดกิจกรรมเสนอข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาล - ส่วนกลางยื่น 10 ข้อเรียกร้องรัฐบาล ขึ้นค่าจ้าง ปรับสวัสดิการ แก้กฎหมาย ที่เป็นธรรม ขณะที่ "ก้าวไกล" ขอให้ผลักดัน พ.ร.บ.สหภาพแรงงานฉบับก้าวไกล และขยายสิทธิวันลาคลอด 180 วัน - จ.สงขลา เรียกร้องปรับขึ้นค่าแรงเท่ากันทั่วประเทศ - จ.ตราด จัดกิจกรรมภายใต้แนวคิด “แรงงานสร้างสุข ปลุกจิตอาสา ร่วมพัฒนาความปลอดภัย ห่างไกลยาเสพติด”

1 พ.ค. 2567 Thai PBS รายงานว่าวันนี้ (1 พ.ค.2567) เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ สภาองค์การลูกจ้าง 18 องค์กร เรียกร้องให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิ์ในการรวมตัวของแรงงาน รวมถึงมาตรา 98 ที่ว่าด้วยเรื่องของสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองของแรงงานเพื่อประโยชน์ของแรงงาน

วันนี้ได้มีการเดินขบวนจากแยก จปร.ถนนราชดำเนินนอก ไปลานคนเมือง ซึ่งในปีนี้สภาองค์การลูกจ้างได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ทั้งหมด 10 ข้อ แก่รัฐบาล ได้แก่

1) รัฐบาลต้องรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98

2) ให้รัฐบาลตรา พ.ร.บ.หรือ ประกาศเป็นกฎกระทรวงให้มีการจัดตั้ง กองทุนประกันความเสี่ยง "เพื่อเป็นหลักประกัน" ในการทำงานของลูกจ้าง

3) ให้รัฐบาลปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม เช่น การปรับฐานการรับเงินบำนาญ โดยให้มีอัตราเริ่มต้นที่ 5,000 บาท

4) ให้รัฐบาล (กระทรวงแรงงาน) จัดสร้างโรงพยาบาลประกันสังคม และจัดตั้งธนาคารแรงงานเพื่อผู้ใช้แรงงาน

5) ให้รัฐบาล (กระทรวงแรงงาน) ใช้มาตรการอย่างเคร่งครัด ให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างรับเหมาค่าแรง ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 11/1

6) ให้รัฐบาลเร่งรัดให้ได้ข้อสรุปในแนวทางการจัดระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลหลังเกษียณอายุ ให้ลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจได้มีระบบสวัสดิการจากรัฐเทียบเคียงกับข้าราชการบำนาญ และลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33

รวมถึงให้ลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้จากค่าตอบแทนความชอบด้วยหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับการลดหย่อนเงินได้ก้อนสุดท้าย หรือลดหย่อนเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างเอกชนได้รับเมื่อถูกเลิกจ้าง

7) ให้รัฐบาลเพิ่มหลักประกันความมั่นคงให้กับลูกจ้าง โดยเร่งดำเนินการให้ พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติมีผลใช้บังคับโดยเร็ว

8) ขอให้รัฐบาลยกระดับกองความปลอดภัยแรงงานขึ้นเป็น “กรมความปลอดภัยแรงงาน”

9) ให้สำนักงานกองทุนเงินทดแทนจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เกินให้กับลูกจ้างจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาลเมื่อลูกจ้างบาดเจ็บ เจ็บป่วย หรือประสบอันตราย เนื่องจากการทำงานให้กับนายจ้าง

10) ให้ รมว.แรงงาน แต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ ปี พ.ศ.2567 และจัดให้มีการประชุมเพื่อติดตามผลทุก 2 เดือน

"ก้าวไกล" ดัน พ.ร.บ.สหภาพแรงงานฉบับก้าวไกล

ที่มาภาพ: ทีมสื่อพรรคก้าวไกล

ขณะที่เครือข่ายผู้ใช้แรงงาน พรรคก้าวไกล ปีนี้ ได้มาร่วมเดินขบวนกับสภาองค์การลูกจ้าง โดยมี 2 ข้อเรียกร้องหลักที่ยื่นต่อรัฐบาลให้ดำเนินการเร่งด่วน ทั้งการขอให้ผลักดัน พ.ร.บ.สหภาพแรงงานฉบับก้าวไกล และขยายสิทธิวันลาคลอด 180 วัน

นายเซีย จำปาทอง ประธานเครือข่ายผู้ใช้แรงงานพรรคก้าวไกล และ สส.พรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า ร่างพ.ร.บ. สหภาพแรงงานฉบับก้าวไกล มีเนื้อหาสอดรับกับสภาพแวดล้อมทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และแรงงานที่เปลี่ยนไปสอดคล้องกับหลักการสากลภายใต้กรอบอนุสัญญา ILO 87, 98 ที่เป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ และเพื่อส่งเสริมให้เกิดระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนทำงานและผู้ว่าจ้างได้รับความเป็นธรรม นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและสร้างสังคมที่เสมอภาคเท่าเทียมกัน

ขณะที่สิทธิลาคลอด 180 วันเป็นการเพิ่มสิทธิ์การลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร โดยได้รับค่าจ้างและยังสามารถมอบสิทธิการลาของตนให้บิดาตามกฎหมายของบุตร คู่สมรส หรือผู้ปกครองตามกฎหมาย ได้ลดภาระครอบครัว ส่งเสริมคุณภาพชีวิต และสอดคล้องกับหลักสากลขององค์การอนามัยโลก และกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ การเพิ่มสิทธิลาคลอด 180 วันจะส่งผลดีต่อสุขภาพของมารดา บุตร สร้างภูมิคุ้มกันทางครอบครัวและความมั่นคงต่อสังคม

นอกจากนี้ ยังมีการเรียกร้องเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมด้วย สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย หรือ สสรท. ที่เดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มายังทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 492 บาท และควบคุมราคาสินค้าไม่ให้แพงไปกว่านี้ รวมถึงยื่นข้อเรียกร้องอื่นๆ อีก 13 ข้อ

ข้อเสนอเร่งด่วน

1. รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน

1.1 รัฐต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 492 บาท เท่ากันทั้งประเทศ

1.2 กำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าให้มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพของตนเองและครอบครัว 2 คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ และต้องเท่ากันทั้งประเทศ ครอบคลุมทั้งแรงงานภาคเอกชน และการจ้างงานในภาครัฐ

1.3 กำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้างและมีการปรับค่าจ้างทุกปี เพื่ออนาคตที่ดีของผู้ใช้แรงงาน

1.4 รัฐต้องปรับเงินเดือนและบัญชีโครงสร้างเงินเดือนของพนักงานรัฐวิสาหกิจตามข้อเสนอของ สรส.

2. รัฐต้องลดรายจ่ายของประชาชนลง เพื่อเพิ่มรายได้ เพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน และผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในภาพรวมได้อย่างแท้จริง

2.1 ควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในการดำรงชีพของประชาชนในราคาที่เป็นธรรม

2.2 ลดราคาน้ำมัน ก๊าซ พร้อมกับการปรับโครงสร้างการกำหนดราคาใหม่ เลิกเก็บเงินที่ซ้ำซ้อนทั้งระบบภาษี และ เก็บเงินเข้ากองทุนต่าง ๆ ทำให้ประชาชนต้องจ่ายราคาต่อลิตรสูงมาก

2.3 ลดราคาค่าขนส่ง ค่าเดินทาง ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต รัฐต้องไม่ปล่อยให้กิจการเหล่านี้ตกไปอยู่ในการบริหารจัดการของกลุ่มทุนเอกชน เพราะเป็นความสำคัญและจำเป็นของประชาชนในการดำรงชีพ

2.4 ลดราคาค่าไฟฟ้าที่ปรับราคาสูงขึ้นอย่างมาก จากการบริหารจัดการด้านไฟฟ้าที่ผิดพลาด ทำให้ปริมาณไฟฟ้าสำรองเกินความต้องการ การทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัทผลิตไฟฟ้าเอกชน ถึงแม้ไม่ผลิตไฟฟ้าแต่ประชาชนจะต้องจ่าย ที่เรียกว่า "ค่าพร้อมจ่าย" ทำให้ประชาชนทุกคน ทุกครัวเรือน สถานประกอบการ โรงเรียน โรงพยาบาล ศาสนสถาน หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ฯลฯ ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก และควรจัดวางระบบการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าใหม่ เลิกสัญญาทาส ที่รัฐทำกับกลุ่มทุนผลิตไฟฟ้าเอกชน โดยหน่วยงานของรัฐ เช่น กฟผ./กฟภ./กฟน. เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า ร้อยละ 70 เพื่อความมั่นคงเรื่องพลังงานไฟฟ้า

3. รัฐบาลต้องสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติ อากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ (ฉบับประชาชน) พ.ศ. ….

ข้อเสนอที่ติดตามจากปีก่อน ๆ

1. รัฐต้องหยุดการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในทุกรูปแบบ และให้มีการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพ ในการให้บริการที่ดี มีคุณภาพ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน

1.1.ยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการยกเลิกการออก พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. .... ยกเลิกการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership: PPP) ให้มีการตรวจสอบโครงต่าง ๆ ทั้งเรื่องมาตรฐาน และราคา ที่เป็นธรรมต่อประชาชน ให้มีความโปร่งใส ไม่ให้มีการทุจริต

1.2.ให้จัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ เพื่อปรับปรุงพัฒนารัฐวิสาหกิจให้เป็นกลไกหลักในการพัฒนาประเทศ เป็นเครื่องมือของรัฐในการดูแลชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชน

1.3.ให้มีการบริหารจัดการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้และการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ

2.รัฐต้องปรับปรุงโครงสร้างทางภาษี โดยเก็บภาษีในอัตราที่ก้าวหน้าอย่างจริงจัง การจัดเก็บภาษีการซื้อขายหุ้นในอัตราที่ไม่น้อยจนเกินไป ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อนำมาใช้เป็นงบประมาณแผ่นดิน ในการพัฒนาประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนทุกคนทุกมิติ อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน และขอให้รัฐบาล กระทรวงพลังงาน ปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน ให้มีความเหมาะสม ไม่เก็บภาษีซ้ำซ้อน และ ยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน เพื่อคืนความเป็นธรรมให้แก่ประชาชน

3. รัฐต้องปฏิรูปการประกันสังคม ดังต่อไปนี้

3.1 รัฐต้องตั้งโรงพยาบาลประกันสังคมให้กับผู้ประกันตน ตามสัดส่วนผู้ประกันตนแต่ละพื้นที่ พร้อมกับผลิตแพทย์ พยาบาลและบุคลากรด้านอื่น ๆ ของสำนักงานประกันสังคมเอง

3.2 สนับสนุน ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งสถาบันการเงินของผู้ใช้แรงงาน (ธนาคารแรงงาน)

3.3 ปฏิรูปโครงสร้างสำนักงานประกันสังคมให้เป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม

3.4 การจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมต้องเป็นไปในสัดส่วนที่เท่ากันทั้งรัฐบาล นายจ้าง และผู้ประกันตน รวมถึงให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบพร้อมดอกเบี้ยส่วนที่ค้างให้ครบ

3.5 ให้ผู้ประกันตน มาตรา 33 , 39, 40 ได้รับสิทธิประโยชน์ที่เท่าเทียมกัน

3.6 เพิ่มสิทธิประโยชน์สำหรับผู้รับเงินชราภาพเป็น อัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเดือนสุดท้าย

3.7 ขยายกรอบเวลาในการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลของกองทุนเงินทดแทน จนสิ้นสุดการรักษาตามคำวินิจฉัยของแพทย์

4. รัฐต้องจัดสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้แก่ประชาชนทุกคนได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ

4.1 ด้านสาธารณสุข ประชาชนทุกคนต้องเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและไม่มีค่าใช้จ่าย

4.2 ด้านการศึกษา ประชาชนทุกคนต้องเข้าถึงการศึกษาในทุกระดับ ทั้งในระบบและการศึกษาทางเลือกโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

5. รัฐบาลต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ

5.1 ฉบับที่ 87 ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน

5.2 ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง เพื่อสร้างหลักประกันในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง

5.3 ฉบับที่ 155 ว่าด้วยความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในการทำงาน ค.ศ. 1981 (พ.ศ.2524)

5.4 ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดากำหนดให้ผู้หญิงมีสิทธิลาคลอดได้ 180 วัน และให้ผู้ชายลาไปดูแลภรรยาคลอดบุตรได้ 30 วัน โดยได้รับค่าจ้างตามที่จ่ายจริง 100%

5.5 ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับคนทำงานบ้าน

5.6 ฉบับที่ 190 ว่าด้วยการขจัดความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกของการทำงาน

6. ให้ลูกจ้างทำงานบ้านเข้าถึงสิทธิประกันสังคม มาตรา 33

7. รัฐบาลต้องยกเลิกนโยบายการจำกัดอัตรากำลังบุคลากรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และยกเลิกนโยบายการลดสิทธิประโยชน์สวัสดิการของพนักงานและครอบครัว

8. รัฐต้องกำหนดให้ลูกจ้างภาครัฐในหน่วยงานราชการต่าง ๆ ทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นรับค่าจ้างจากงบประมาณแผ่นดิน และต้องบรรจุเป็นข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างประจำ

9. รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กรณีที่นายจ้างเลิกจ้างคนงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชย หรือจ่ายไม่ครบตามที่กฎหมายกำหนด เช่น การปิดกิจการ หรือ การยุบเลิกกิจการในทุกรูปแบบ (ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 5 มาตรา 53)

10. รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน โดยให้นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิของคนงาน เมื่อมีการเลิกจ้างหรือปิดกิจการ โดยนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย คนงานต้องได้สิทธิรับเงินจากกองทุนนี้ พร้อมทั้งสนับสนุนค่าดำเนินการทางคดีระหว่างผู้ประกอบการกับคนงาน หรือ รัฐกับผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎหมาย

11. รัฐต้องพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิและการบังคับใช้กฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างจริงจัง และต้องจัดสรรงบประมาณให้แก่สถาบันความปลอดภัยฯ ให้เพียงพอ สำหรับการบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพ และสร้างกลไก กติกา ภายใต้การมีส่วนร่วมของคนงานทุกภาคส่วน และ ยกเลิกการใช้แร่ใยหินทุกรูปแบบ

12. รัฐต้องยกเลิกการจ้างงานที่ไม่มั่นคง เช่น การจ้างงานแบบชั่วคราว รายวัน รายชั่วโมง เหมาค่าแรง เหมางานเหมาบริการ และการจ้างงานบางช่วงเวลา ทั้งภาครัฐและเอกชน

13. ข้อเสนอเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ

13.1 รัฐบาลต้องสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สำหรับทุกคนโดยไม่คำนึงถึงสถานะและไม่เลือกปฏิบัติต่อชาติใดชาติหนึ่งเพื่อประสิทธิภาพในการเข้าถึงการรักษาโรคและเยียวยาต่อแรงงานข้ามชาติโดยไม่เลือกปฏิบัติ

แรงงานเรียกร้องปรับขึ้นค่าแรงเท่ากันทั่วประเทศ จ.สงขลา


ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย

สำนักข่าวไทย  รายงานว่า ที่ จ.สงขลา สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ จัดกิจกรรมเดินขบวนของกลุ่มผู้ใช้แรงงานทั้งแรงงานไทย และแรงงานข้ามชาติ เช่นแรงงานชาวเมียนมา โดยเคลื่อนขบวนจาก หน้าสถานีรถไฟหาดใหญ่ ไปรวมกันที่ถนนเสน่หานุสรณ์ หน้าโรงแรมลีการ์เด้นพลาซ่า อ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้องของแรงงานทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างชาติ ให้รัฐบาลแก้ปัญหาเร่งด่วน เช่น ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 712 บาทเท่ากันทั้งประเทศ ซึ่งขณะนี้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำแค่ 8 จังหวัดและไม่เท่ากัน ปรับเงินเดือนและบัญชีโครงสร้างเงินเดือน พนักงานรัฐวิสาหกิจ ตามข้อเสนอของ สรส. ลดรายจ่ายของกิจกรรมวันแรงงาน ประชาชนลง เพื่อเพิ่มรายได้ เพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน และผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในภาพรวมได้อย่างแท้จริง ลดราคาน้ำมัน ก๊าซ ลดราคาค่าขนส่ง ค่าเดินทาง ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าไฟฟ้า โดยข้อเรียกร้องทั้งหมดจะยื่นให้กับนายกรัฐมนตรีผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาต่อไป

กิจกรรมวันแรงงาน จ.ตราด


ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย

ส่วนที่ จังหวัดตราด ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เป็นประธานจัดกิจกรรมวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด “แรงงานสร้างสุข ปลุกจิตอาสา ร่วมพัฒนาความปลอดภัย ห่างไกลยาเสพติด” ซึ่ง สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดตราด ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน เครือข่ายแรงงาน จัดขึ้น บริเวณสนามฟุตบอลหญ้าเทียม โรงเรียนกีฬาจังหวัดตราด มีผู้ใช้แรงงานจากทั้งหน่วยงานภาคเอกชน ตลอดจนผู้แทนภาครัฐเข้าร่วมกิจกรรม ทั้งการมอบทุนการศึกษาให้กับบุตรของผู้ใช้แรงงาน การจับสลากแจกของรางวัลให้กับผู้ใช้แรงงาน ที่เข้าร่วมงาน การเต้นแอโรบิกเพื่อสุขภาพ การแข่งขันฟุตบอลระหว่างส่วนราชการและผู้ใช้แรงงาน ระหว่างฝ่ายชายและฝ่ายหญิง การแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน รวมทั้งการประกวดร้องเพลง อีกด้วย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง วงการแรงงาน และเพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของผู้ใช้แรงงานที่ได้ทำประโยชน์ต่อชาติ

อดีต พนง.การท่าเรือฯ จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ วันแรงงาน

สำนักข่าวไทย รายงานว่าเมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (1 พ.ค.) ที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย คลองเตย กทม. อดีตพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย กว่า 100 คน พร้อมนายกฤษฎา อินทามระ ฉายาทนายปราบโกง ถือโอกาสวันเมย์เดย์ หรือวันแรงงานแห่งชาติ เดินทางมาวางพวงหรีด จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ตอบโต้การกระทำอย่างไร้มนุษยธรรมของอดีตผู้บริหารการท่าเรือแห่งประเทศไทย ที่กลั่นแกล้งร้องดีเอสไอดำเนินคดีพิเศษกับพวกเขามาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 10 ปี โดยที่พวกเขาไม่มีโอกาสตอบโต้ ถูกสังคม ตลอดจนญาติพี่น้อง ตราหน้าว่าเป็นไอ้ขี้โกง ทั้งที่ไม่ได้ทำตามที่อดีตผู้บริหารกล่าวหาแต่ประการใด

จนปี 2566 ดีเอสไอส่งฟ้องอดีตพนักงานการท่าเรือฯ เหล่านี้เพียง 34 ราย จากทั้งหมด 500 กว่าราย ซึ่งยังรออัยการสูงสุดเลื่อนฟังคำสั่งมาแล้วร่วม 10 ครั้ง นานกว่า 1 ปี จนสุดท้ายการท่าเรือฯ ขอยุติคดี แต่ไม่เอ่ยถึงค่าเยียวยาที่เขาเหล่านี้ต้องทนทุกข์ทรมานแสนสาหัสตลอดเวลาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของพวกเขาแต่อย่างใด จึงเป็นที่มาของการไว้อาลัยในวันนี้

ทนายกฤษฎา กล่าวว่า เมื่อเห็นภาพทั้งหมดแล้วพวกเราจะชี้ให้คนทั้งประเทศเห็นถึงความโหดร้ายป่าเถื่อนของผู้บริหารคือเมื่อเดือน ส.ค. 60 รักษาการผู้อำนวยการการท่าเรือฯ ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าจะเร่งกรรมการสอบสรุปคดีโกงค่าล่วงเวลา 3,000 ล้านบาท ให้เสร็จภายในวันที่ 15 ก.ย. 60 ตนขอถามว่าในระหว่างสอบสวนคดีโกงบันลือโลก 3,000 ล้านบาท การท่าเรือฯ จ่ายเบี้ยขยันและโบนัสให้พวกเราทุกคนที่มีชื่อถูกกล่าวหาว่าโกงหรือไม่ ทุกคนตอบว่าจ่ายโดยได้รับเบี้ยขยันและโบนัสทุกปี

แต่เมื่อมาดูระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการลงโทษพนักงาน พ.ศ. 2561 ข้อ 20 วรรคสาม ระบุว่า ในรหว่างดำเนินการสอบสวนทางวินัยให้งดจ่ายเงินที่ผู้ถูกกล่าวหาพึงจะได้รับตามสิทธิ คือเบี้ยขยันและโบนัส เมื่อเป็นเช่นนี้ขอถามกลับไปยังการท่าเรือฯ ว่าในเมื่อการท่าเรือฯ กำลังสอบสวนพวกเราหาว่าโกงโอที 3,000 ล้านบาท ไฉนจึงยอมจ่ายเบี้ยขยันและโบนัสให้พวกเราอีก หรือว่าเป็นเพราะผลการสอบสวนออกมาเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 60 แล้วว่าพวกเราไม่ได้โกง การท่าเรือฯ จึงยอมจ่ายเบี้ยขยันและโบนัสให้พวกเราได้โดยไม่ผิดระเบียบข้างต้น

เมื่อวกกลับมาดูในคดีพิเศษของดีเอสไอ ซึ่งการท่าเรือฯ เป็นผู้ก่อขึ้น ปรากฏว่าการท่าเรือเป็นผู้กล่าวหานายจงเด่น กับพวกรวม 34 คน เป็นคดีอาญา โดยดีเอสไอออกหมายเรียกผู้ต้องหา 34 คน ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาและถูกพิมพ์ลายนิ้วมือในวันที่ 17 พ.ค. 65 จึงขอถามการท่าเรือฯ ว่าในเมื่อ 34 คน ถูกตกเป็นผู้ต้องหาแบบเต็มตัวแล้ว การท่าเรือฯ ยังจ่ายเบี้ยขยันและโบนัสให้ 34 คนหรือไม่ ได้รับคำตอบว่าจ่ายใฟ้ทุกคนตลอดมาตั้งแต่ปี 61 ถึงปี 67

จึงขอสรุปการจัดกิจกรรมวันแรงงานแห่งชาติปีนี้ว่า การท่าเรือฯ เป็นองค์กรนายจ้างที่แย่มาก เพราะกลั่นแกล้งใส่ร้ายพวกเราว่าโกงกันแบบบันลือโลกรวมเป็นเงิน 3,000 ล้านบาท หนำซ้ำยังให้ดีเอสไอตามล่าพวกเรา ส่งผลให้พวกเรามีคดีอาญาติดตัวมาจนทุกวันนี้ ดังนั้น การท่าเรือฯ ได้ตายไปจากหัวใจของพวกเราแล้ว พวกเราไม่เคารพรักการท่าเรือฯ แล้ว จึงขอใช้สิทธิในวันแรงงานแห่งชาติปีนี้ประณามการกระทำของการท่าเรือฯ ด้วยการนำพวงหรีดไปวางไว้ที่ป้ายชื่อการท่าเรือฯ และยืนสงบนิ่งเพื่อเป็นการไว้อาลัยต่อการจากไปของเพื่อนผู้ใช้แรงงานที่ถูกกระทำในคดีพิเศษของดีเอสไอ โดยการท่าเรือฯ เป็นผู้วางแผนเล่นงานผู้บริสุทธิ์ แต่ถ้ากูรูกฎหมายการันตีการแจกเงินเบี้ยขยันและโบนัสให้พวกเราในช่วงเป็นคดีพิเศษไม่ผิดระเบียบ ย่อมหมายถึงคดีพิเศษต้องเน่าทันที เพราะย้อนแย้งกับระเบียบดังกล่าว และต้องกลายเป็นแจ้งความเท็จในคดีพิเศษจึงผิดชัดเจน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net