Skip to main content
sharethis




บทรายงานสาธารณะ ชุด


"ชุมชนบนกองเพลิง"


จับชีพจรชุมชนในสถานการณ์สงครามกลางเมืองชายแดนภาคใต้


 


โดย นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา


 


...........................................................................................


 


ตอนที่ 7


"พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ; ดับหรือโหมไฟใต้"


 


มีเรื่องหนึ่งที่พวกเราเฝ้าติดตามมาโดยตลอดและพบว่ามีพี่น้องประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนมุสลิม ประสบปัญหาอย่างมากคือ ผลกระทบจากพระราชกำหนดบริหารราชการในภาวะฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับพิเศษที่มาแทนที่กฎอัยการศึก เริ่มประกาศใช้เมื่อวันที่ 20 กรกฏาคม 2548


 


ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หลังจากที่มีพระราชกำหนดบริหารราชการในภาวะฉุกเฉิน ก็คือ การมีชื่อในบัญชีดำ และตกเป็นกลุ่มเสี่ยงตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ที่ว่านี้ ปัจจุบันมีผู้นำชุมชนและเยาวชน มากกว่า 1 พันคนที่ตกอยู่ในบัญชีและมีความเดือดร้อนมาก บางคนต้องถูกส่งตัวไปเข้าค่ายฝึกอบรมของทางทหาร ตำรวจ ซ้ำแล้วซ้ำอีกถึง 5-6 ครั้งแล้วก็ยังมี แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะอบรมเท่าไร รายชื่อก็ยังปรากฏอยู่ในบัญชีอยู่เช่นนั้น จะลบชื่อออกก็ไม่รู้จะทำอย่างไร


 


สำหรับในเรื่องทีชาวบ้านมีความเดือนร้อนนี้พบว่า สวนทางกับสิ่งราชการได้กล่าว เพราะทุกครั้งที่จะต่ออายุ พ.ร.ก. รัฐบาลจะอ้างถึงผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เมื่อมีการประกาศใช้พระราชกำหนด เพราะทำให้มีความคล่องตัวในการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกฝ่ายร่วมมือกันแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นเอกภาพ และกฎหมายฉบับนี้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนส่งผลทำให้ติดตาม จับกุม แกนนำผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น


 


จากการประเมินเบื้องต้น ผลกระทบจากพระราชกำหนดฉบับนี้ เมื่อควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหา เจ้าหน้าที่มักจะทำโดยขาดพยาน หลักฐาน เท่าที่ควร ทำให้มีการจับกุม หรือควบคุมตัวผิดคน และในที่สุดก็ต้องปล่อยตัวออกมา การไม่จำแนกแยกแยะระหว่างผู้ต้องสงสัยและผู้ต้องหา กับบุคคลในครอบครัวของเขา ก็เกิดปัญหามาก การใช้อำนาจของเจ้าพนักงานไปควบคุมตัวเบื้องต้น ก่อนที่จะนำตัวไปเข้าสู่กระบวนการคดีอาญานั้น พ.ร.ก. ให้โอกาสเจ้าหน้าที่ทำได้ถึง 30 วัน ซึ่งการจับกุมคนหรือควบคุมคนโดยขาดพยานหลักฐาน. ทำให้ประชาชนสูญเสียเวลาทำมาหากิน และไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายอะไรจากใครได้เลย


 


นอกจากนั้น พ.ร.ก. ยังเปิดโอกาสให้เจ้าพนักงานของรัฐใช้มาตรการกดดันผู้ต้องสงสัย แม้ว่าจะขาดข้อมูลที่เหมาะสมเพียงพอ การตรวจค้นสถานที่ บุคคล รวมทั้งการตั้งด่านตรวจ ส่วนใหญ่มักจะถูกมองว่า เจ้าหน้าที่เพ่งเล็งไปที่พี่น้องมุสลิมเป็นสำคัญ อย่างนี้เป็นต้น ผลกระทบดังกล่าวเป็นที่น่าคิดกันว่า ได้คุ้มเสียหรือไม่ กับการมีพระราชกำหนดฯ ฉบับนี้


 


อีกประการหนึ่งของปัญหาความเดือดร้อน เมื่อตัวเองต้องตกอยู่ในบัญชีใดบัญชีหนึ่งของทางราชการหน่วยงานราชการด้านความมั่นคงก็มักจะสนใจว่าคนที่เข้ามาร่วมกิจกรรมในการเคลื่อนไหวเรื่องอื่นๆ เป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีใดหรือไม่ ซึ่งจะกลายเป็นผู้ต้องสงสัย และหวาดระแวง


 


มีกลุ่มคนกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่มีค่าหัว ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ได้ประกาศบัญชีดำออกมา โดยให้สินบนนำจับ ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก แม้ปัจจุบันยังไม่การประกาศเพิ่ม แต่ว่ารายชื่อที่ประกาศแล้ว หลายคนถูกฆ่า หลายคนถูกจับ แต่อีกจำนวนมากก็ยังหายตัวไป กลุ่มคนเหล่านี้ชื่อของเขาจะติดอยู่ในบัญชีดำตลอดไป ยากที่จะล้างออกได้


 


กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มที่ถูกขึ้นบัญชีเป็น "กลุ่มเสี่ยง" ของฝ่ายปกครอง ซึ่งคำจำกัดความของ "กลุ่มเสี่ยง" ที่ว่านี้ มีความที่กว้างและหลวมมาก จึงเป็นปัญหามาก เพราะขึ้นอยู่กับอำนาจและอารมณ์ของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ


 


เมื่ออยู่ในบัญชีกลุ่มเสี่ยงแล้ว ทางการก็จะตามตัวมาพบและให้เซ็นยินยอมก่อนที่จะส่งตัวไปเข้าค่ายอบรมภายในจังหวัดหรือต่างจังหวัด คราวละประมาณ 7-10 วัน เมื่อไปถึงค่ายก็จะมีการฝึกอบรม และสอนให้เปลี่ยนความคิด เมื่ออบรมเสร็จแล้วก็จะส่งกลับบ้าน กิจกรรมจบไป แต่รายชื่อก็ยังคงอยู่ หมายความว่าคนเหล่านี้ก็จะยังมีชื่ออยู่ในบัญชีกลุ่มเสี่ยงต่อไป ไม่รู้ว่าจะถูกล้างออกจากบัญชีวันไหน และคนเหล่านี้จะถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ


 


มีอีกกลุ่มที่ถูกขึ้นบัญชี พ.ร.ก. โดยตรง ถ้าเป็นการดำเนินงานของฝ่ายทหารและนาวิกโยธิน มักจะเริ่มจากการที่ฝ่ายทหารหรือนาวิกโยธินได้ข้อมูลจากฝ่ายข่าวของตนว่าใครเป็นผู้ที่มีข้อน่าสงสัยก็จะทำการขึ้นบัญชีไว้ จากนั้นก็จะเรียกตัวมาเพื่อเค้นข้อมูล สั่งสอนอบรมและล้างสมอง ตามวิธีการของทหาร ประเภทนี้เกิดจากทหารขี้เกียจออกไปหาชาวบ้าน จึงใช้วิธีการเรียกคนที่อยู่ในบัญชีกลุ่มเสี่ยง มาสอบและอบรม และปล่อยตัวไป แต่ชื่อในบัญชีก็ยังคงอยู่


 


ถ้าเป็นทางสายตำรวจ จะใช้ข้อมูลจากพยานที่ให้การซัดทอด เมื่อมีชื่ออยู่ในบัญชี พ.ร.ก. ตำรวจก็จะออกหมายเรียกผู้นั้นมาสอบปากคำ และสอนสั่งตามแบบของตำรวจ เพื่อไม่ให้เป็นผู้ก่อเหตุการณ์ความไม่สงบ ไม่ให้เป็นแนวร่วม จากนั้นก็มีการเรียกตัวมาซ้ำอีก ได้เมื่อต้องการถ้าหากเรียกมาสอบสวนแล้วไม่มาตามหมายเรียก ตำรวจก็จะออกหมายจับ ป.วิ อาญา เมื่อถูกจับก็ต้องนอนในคุกเพราะเป็นผู้ต้องหา ถ้าไม่อยากนอนในคุกก็ต้องประกันตัวออกไป แล้วก็รอการขึ้นศาล


 


ขั้นตอนของการรอขึ้นศาลนั้น ศาลท่านก็มีเวลาน้อย จึงพบบ่อยๆ ว่าบางคนกว่าจะได้เรียกขึ้นศาลต้องรอคิวถึง 3 ปี ซึ่งในระหว่างนั้นจะเดินทางไปไหนก็ยากลำบากมาก ต้องต่ออายุประกันตัว อย่างไรก็ตามคนเหล่านี้ ก็จะมีชื่อไปปรากฏอยู่ใน พ.ร.ก. เช่นกัน ซึ่งสร้างความเดือดร้อนอย่างมาก


 


ต่อประเด็นนี้ ผมมีข้อเสนอต่อการแก้ไขว่า ฝ่ายข้าราชการทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ผู้ที่รับผิดชอบ ควรมีข้อพึงระวังในระหว่างที่ยังมีความจำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก. ต่อไป หน่วยงานที่รับผิดชอบควรจัดทำมาตรฐานในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในขั้นตอนของการจำแนก ก่อนเริ่มนำตัวบุคคลเข้าสู่กระบวนการใช้ พ.ร.ก. ควรจะมีมาตรฐานในการปฏิบัติอย่างไร เพื่อให้เกิดดุลพินิจที่เหมาะสมและก่อผลกระทบให้น้อยที่สุด และการเผยแพร่มาตรฐานการปฏิบัติงานนี้ให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบได้รับทราบแนวทางปฏิบัติในการใช้กฎหมายนี้ตามสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร


 


รวมทั้งควรจะมีการแพร่ข้อมูลโดยการใช้สื่อวิทยุ โทรทัศน์ เพื่อให้ประชาชนรับรู้สิทธิอันพึงมี พึงได้ ในการที่จะไม่ถูกละเมิด โดยให้ข้อมูลเหล่านี้เข้าถึงประชาชนอย่างรวดเร็ว และควรสื่อที่เป็นสองภาษาเพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจอย่างชัดแจ้ง


 


นอกจากนั้น ควรส่งเสริมให้มีกระบวนการตรวจสอบโดยภาคประชาชน โดยมีองค์กรที่เป็นกลางของทั้งฝ่ายชุมชนและฝ่ายข้าราชการเข้ามาทำหน้าที่ร่วมด้วย


 


พ.ร.ก. เป็นเครื่องมือในการทำงานของฝ่ายรัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบ ถ้าใช้เครื่องมือได้อย่างเป็นธรรมและเหมาะสมก็สามารถยุติไฟใต้ได้ แต่ถ้าใช้อย่างมักง่ายไม่ระมัดระวัง พ.ร.ก. ฉบับนี้แทนที่จะช่วยยุติไฟใต้ก็กลับจะเป็นการราดน้ำมันโหมกระพือไฟใต้ให้ลุกโชน!


 


                                               


 


"พลเดช ปิ่นประทีป" ชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (6) : "ปมสถานการณ์ที่ต้องช่วยกันแก้"


"พลเดช ปิ่นประทีป" ชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (5) : "ปมเงื่อนที่รอการคลี่คลาย"


"พลเดช ปิ่นประทีป" ชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (4) : "พ.ร.บ. สันติสมานฉันท์ ทางเลือก ทางรอด"


"พลเดช ปิ่นประทีป" ชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (3) : "ปฏิรูปการศึกษาเพื่อดับใต้"


"พลเดช ปิ่นประทีป" ชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (2) : "ภูมิปัญญาความเป็นกลางคือทางรอด"


"พลเดช ปิ่นประทีป" จับชีพจรชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (1) : "ชุมชนบนกองเพลิง"


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net