Skip to main content
sharethis

8 ก.ย. 2549 - คณะอนุกรรมการสิทธิในการสื่อสารและเสรีภาพสื่อมวลชนจัดสัมมนา "ประชาพิจารณ์สิทธิประชาชนในร่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์" ที่โรงแรมเฟิสท์ เมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา


 


นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ รักษาการส.ว.อุบลราชธานี กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มีการเปลี่ยนแปลงตลอดหลายครั้ง แต่ละครั้งเมื่อแก้แล้ว อะไรที่เป็นประโยชน์ของภาคประชาชนก็จะหายไปเรื่อยๆ เท่าที่ดูแล้วฟันธงว่า เป็นความล้มเหลวของการปฏิรูปสื่อ


 


ภารกิจสำหรับภาคประชาชนที่ทำงานเกี่ยวกับวิทยุชุมชน เคเบิลทีวี วิทยุภาคธุรกิจตัวเล็กตัวน้อย คือ ต้องไปช่วยกันทำร่างพ.ร.บ. วิทยุโทรทัศน์ฉบับภาคประชาชน เนื่องจากร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ มีปัญหาใน 3 ประเด็น คือ หนึ่ง เชิงโครงสร้าง มีปัญหาตั้งแต่การจำกัดคลื่น เช่น มาตรา 5 ที่กรมประชาสัมพันธ์ไม่อยู่ภายใต้อำนาจของกฎหมายฉบับนี้


 


เมื่อกฎหมายประกาศใช้ คลื่นที่จะนำมาแบ่งให้ภาคประชาชนและภาคธุรกิจรายย่อยจะเหลือเพียงเล็กน้อย เนื่องจาก อสมท. กับกรมประชาสัมพันธ์ หรือ ช่อง11 ที่มี 11/1-3 และ NBC (National Broadcasting) จะไม่เข้ามารวมด้วย รวมถึงช่อง 3 5 7 และ 9 ที่มาตรา 84 ให้ใบอนุญาตประกอบกิจการมีอายุตามระยะเวลาที่เหลือของสัมปทาน ดังนั้น คลื่นจึงตกเป็นของภาครัฐและธุรกิจเกือบหมด กลายเป็นธุรกิจผูกขาด


 


สอง ด้านเนื้อหาและคุณภาพของกิจการทั้ง 3 ประเภท คือ กิจการสาธารณะ ธุรกิจและชุมชน ควรให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบ เพื่อไม่ให้สื่อตกอยู่ใต้การครอบงำจากธุรกิจและการเมือง สุดท้าย ตามที่ในร่างพ.ร.บ. ระบุให้ตั้งคณะอนุกรรมการจรรยาบรรณขึ้นนั้น เสนอว่าจะต้องให้องค์กรวิชาชีพควบคุมกันเอง ไม่ควรให้กสช. นักการเมือง หรือนักธุรกิจเข้ามาควบคุม


 


นอกจากนี้ นพ.นิรันดร์ เสนอให้ไปคุยกับนักการเมืองทุกพรรค ว่าจะผลักดันตรงนี้ไหม ถ้าใครผลักดันก็เลือก ใครไม่มีนโยบายตรงนี้ก็ไม่เลือก วิธีนี้จะทำให้ได้ผลเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ เตือนให้ระวังการลงทุนจากสื่อต่างชาติที่จะเข้ามาจากการลงนามความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) โดยขณะนี้ไทยทำเอฟทีเอกับจีนด้านสินค้าเกษตรไปแล้ว ยังเหลือภาคบริการ ซึ่ง CCTV ของจีน 30 ช่องได้เตรียมเข้ามาแล้ว


 


นางสาวอุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ รองศาสตราจารย์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เรื่องการกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติ เคยมีการพูดคุยกันในที่ประชุม หลายสัดส่วน แต่พอฉบับร่าง พ.ร.บ. ออกมา กลับไม่มีการกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติไว้ เท่ากับไม่คุ้มครองสิทธิคนไทย


 


อยากให้แยกคลื่นชุมชนท้องถิ่นเชิงพาณิชย์ออกจาก 20% ของคลื่นที่ไม่แสวงหาผลกำไร นอกจากนี้ ร่างพ.ร.บ.นี้ยังไม่ชัดว่า จะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในเชิงกองทุนอย่างไร ด้านการต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการที่ให้ต่อได้โดยอัตโนมัติ เห็นว่า ไม่ถูกต้อง ควรต้องมีการประเมินผลก่อนการต่อใบอนุญาตฯ


 


สรุปแล้ว ร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้ล้าหลังมาก ไม่ส่งเสริมประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ควรมีการร่างใหม่ เพราะหลายมาตรามีปัญหา อาจต้องแยกหมวด ทั้งประเภทของกลุ่มผู้ประกอบการ และประเภทของเทคโนโลยี เช่น ช่องส่งคลื่นภาคพื้นดิน เคเบิล ดาวเทียม โทรทัศน์บนอินเตอร์เน็ต (ไอพีทีวี) โทรทัศน์บนมือถือ (ดีเอ็มบี) เพื่อให้ทันกับเทคโนโลยี เพราะกว่ากฎหมายจะออก เทคโนโลยีก็คงไปไกลแล้ว   


 


นางสาวนันทพร เตชะประเสริฐสกุล มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม แสดงความคิดเห็นว่า ประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ การที่กรมประชาสัมพันธ์มีอภิสิทธิ์เหนือกลุ่มอื่น เพราะไม่ต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการ รวมถึงการให้ภาคธุรกิจ เข้ามาทำกิจการในช่องทางเดียวกับภาคสาธารณะและชุมชน ทั้งยังไม่มีการกำหนดเพดานและสัดส่วนการถือหุ้น หรือการถือหุ้นข้ามสื่อ ซึ่งจะทำให้การสื่อสารภาคประชาชนไม่มีเหลือ


 


ประเด็นที่น่ากลัวมากคือ มาตรา 36 ที่ให้สิทธิ์ กสช. ในการระงับการออกอากาศรายการที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ความเสื่อมโทรมทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน โดยทางวาจาหรือหนังสือก็ได้โดยทันที ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นการย้อนไปยุคเผด็จการหรือไม่ 


 


 


เอกสารประกอบ


 


ร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์


 


บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาประกอบร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์


 


รายงานการศึกษาเรื่อง "ปัญหาการดำเนินงานของวิทยุชุมชน" โดยคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา

เอกสารประกอบ

ร่างพระราชบัญญัติประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ....

บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาประกอบร่างพ.ร.บ.

รายงานการศึกษาของวุฒิสภา เรื่องปัญหาการดำเนินงานวิทยุชุมชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net