Skip to main content
sharethis


ประชาไท - 27 มิ.ย. 49     โครงการหน่วยจัดการความรู้ด้านการค้าและสิ่งแวดล้อมในสถานการณ์สากล ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)จัดการประชุม "การเจรจา FTA ไทย - สหรัฐ : ข้อวิเคราะห์บทว่าด้วยการลงทุน" ณ อาคารศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 


รศ.ดร.ลาวัลย์ ถนัดศิลปกุล ทีมวิจัยโครงการหน่วยจัดการความรู้ด้านการค้าและสิ่งแวดล้อมในสถานการณ์สากล เสนอผลการวิจัยโดยกล่าวว่า จากการศึกษาเรื่องการลงทุนระหว่างประเทศพบว่า ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องการเปิดเสรีด้านการลงทุนและการทำเอฟทีเอค่อนข้างมาก เมื่อพิจารณาจากกฎหมายการลงทุนทั่วโลกร่วม 3,000 ฉบับ และกฎหมายทางเศรษฐกิจอีก 300 ฉบับ พบว่าไม่มีประเทศไหนในโลกเปิดเสรีการลงทุนในแง่กฎหมายเลยแม้แต่สหรัฐเอง เพียงแต่ทุกประเทศเปิดต้อนรับการลงทุน


 


จากการศึกษาดังกล่าวพบอีกว่า การลงทุนนั้น เดิมทีกระจุกตัวที่ประเทศพัฒนา ภายหลังจึงเริ่มมีการลงทุนในประเทศที่กำลังพัฒนาประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ หรือใน 12 ประเทศ ที่น่าสังเกตคือยังไม่มีประเทศกำลังพัฒนาลงทุนระหว่างกันเลย จุดที่เป็นห่วงในการทำเอฟทีเอระหว่างไทยกับสหรัฐนั้นไม่ได้อยู่ที่การเหลื่อมล้ำกันทางการบังคับใช้กฎหมาย แต่อยู่ที่การใช้ได้จริง


 


เพราะเอฟทีเอจะบังคับในระดับรัฐเท่านั้น แต่ไม่ได้ครอบคลุมไปถึงระดับมลรัฐของสหรัฐ ดังนั้นสิ่งที่เรียกร้องกับไทยคือการเรียกร้องฝ่ายเดียว โดยสิ่งที่สหรัฐต้องการมากที่สุดคือการให้มีกรอบกฎหมายคุ้มครองมากสุดเท่าที่จะเป็นไปได้


 


ผลการวิจัยพบด้วยว่า เอฟทีเอพยายามเปิดทุกอย่างให้มีการปฏิบัติกับบริษัทสหรัฐเช่นเดียวกับบริษัทของคนในชาติ เพื่อให้กลายเป็นตลาดการลงทุนที่ไม่มีพรมแดน ผลประโยชน์จะไม่ได้อยู่ที่คนท้องถิ่น เพราะสหรัฐสามารถนำการลงทุนมาพร้อมกับแรงงานของตัวเองได้ ทำให้สามารถบริหารจัดการบริษัทอย่างไรก็ได้ไม่ว่าที่ไหนก็ตามโดยไม่มีการเฝ้ามองจากภาครัฐไทยภายใต้ปัจจัยการผลิตที่ต่ำสุด การไหลเวียนเงินมากที่สุด และการส่งเงินกลับประเทศกลับมากที่สุด


 


รศ.ดร.ลาวัลย์ เสนอว่า รัฐบาลควรกลับไปศึกษาการทำเอฟทีเอกับสหรัฐใหม่ เพราะไม่สามารถนำการวิจัยในกรอบการลงทุนแบบเดิมที่ทำเอาไว้เมื่อครั้งพิจารณาการเจรจาในองค์การการค้าโลก (WTO) รอบโดฮา หรือการวิจัยอื่นๆ ที่ผ่านมา เนื่องจากการทำเอฟทีเอเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน ขณะนี้แม้แต่ผลดีจากการทำเอฟทีเอเมื่อไปถามจากนักเศรษฐศาสตร์ที่เห็นด้วยก็ไม่มีใครสามารถระบุออกมาเป็นตัวเลขได้


 


นอกจากนี้ ยังไม่เคยมีการศึกษาอย่างแท้จริงว่าเมื่อทำเอฟทีเอแล้วจะทำให้เกิดการว่างงานเท่าไร ผลจากการถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ของต่างชาติจะเป็นอย่างไร อีกทั้งรัฐบาลต้องไปศึกษากฎหมายสหรัฐในระดับมลรัฐเพิ่มด้วย


 


"เหมือนเราเอารั้วบ้าน ผ้าม่าน มุ้งลวดออกไปแล้วก็ให้เขาเข้าไปนอนเตียงเจ้าบ้านได้ ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องยอมถึงระดับนั้น แค่การต้อนรับก็เพียงพอแล้ว ในสหรัฐ ข้อบังคับของเอฟทีเอไม่สามารถครอบคลุมไปถึงระดับมลรัฐได้ทั้งที่ฝ่าฝืนหมด แต่จะมีผลบังคับไทยซึ่งเป็นรัฐเดี่ยวให้ปฏิบัติ" รศ.ดร.ลาวัลย์กล่าว


 


เอฟทีเอยังให้อำนาจทางกฎหมายแก่นักลงทุนสหรัฐ โดยไทยต้องจ่ายค่าเสียหายเพื่อรับผิดชอบไม่ว่าเป็นกรณีใดก็ตามหากมีความเสียหายกับบริษัทของสหรัฐ เช่น เกิดการจลาจลในประเทศ การสงคราม หรือวิกฤติเศรษฐกิจ แม้รัฐไทยจะทำดีที่สุดแล้วก็ตาม จึงเป็นการโยนความผิดให้รัฐทุกกรณี


 


"สรุปได้ว่า เอฟทีเอ ไม่ใช่แค่เพียงเป็น นาฟต้าพลัส ทริปพลัส อาเซียนพลัส แต่คือความต้องการให้รัฐบาลานซ์ผลประโยชน์กับโลกาภิวัฒน์ ท้ายที่สุดแล้วกรอบการค้าควรเป็นการทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ถ้าไม่ดีก็เจรจากรอบใหม่ได้ ไม่ใช่การเปิดทุกอย่างแล้วดี ผลประโยชน์จากเอฟทีเอผู้ที่ได้มากสุดคือผู้ประกอบการ ไม่ใช่ทั้งประเทศ


 


"เอาเข้าจริงแล้ว เอฟทีเอคือความเห็นแก่ได้ของอเมริกา และไม่ใช่ของประเทศแต่เป็นของทีเอ็นซีที่กระจายไปทั่วโลก"


 


ด้าน นายกฤติ ไกรจิตติ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงต่างประทศ กล่าวว่า การทำเอฟทีเอกับสหรัฐคือครั้งแรกที่เปิดเสรีทุกด้านครบวงจร ทั้งสินค้า บริการ การลงทุน สิ่งแวดล้อม และแรงงาน แม้ว่าก่อนหน้านี้เคยมีการพูดถึงการคุ้มครองลงทุนมาแล้วในการประชุม WTO ที่โดฮา แต่ไทยและประเทศกำลังพัฒนาได้ขอให้เลื่อนการเจรจาเรื่องการคุ้มครองการลงทุนออกไป เพราะยังไม่มีการเข้าใจเพียงพอ และเคยมีประสบการณ์จากวิกฤติการเคลื่อนย้ายทุนข้ามชาติที่มีการดูแลไม่พอมาแล้ว ดังนั้น เมื่อการทำเอฟทีเอกับสหรัฐคลุมเรื่องการค้าบริการและการเคลื่อนย้ายทุนเสรีก็ทำให้มีความเสี่ยงเข้ามาด้วย


 


หากทำเอฟทีเอ ต้องมีการกำกับดูแลเรื่องการเคลื่อนย้ายทุนเสรีด้วย มิฉะนั้นอาจเกิดการนำเงินเข้ามาลักษณะการลงทุนทางอ้อมในตลาดทุนซึ่งมีความเสี่ยง เพราะมีการเข้ามาของเงินและสามารถเอาออกไปได้โดยไม่ทันใช้ในการผลิตเลย การเปิดเสรีจึงไม่ใช่การเลิกกำกับดูแล แต่เป็นการทำให้มีอุปสรรคในการเคลื่อนย้ายทุนน้อยลง


 


ประการต่อมารัฐต้องมีมาตรการควบคุมการเข้าออกของเงินในกรณีเกิดวิกฤติทางการเงินด้วย และประการสุดท้ายต้องพิจารณากฎหมายภายในของไทยเองว่า สอดคล้องหรือรองรับกับการทำเอฟทีเอหรือไม่ โดยเอากฎหมายประกอบธุรกิจคนต่างด้าวเป็นแม่บท


 


"ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม คิดว่ามีเรื่องที่เกี่ยวข้องคือ มีความไม่สอดคล้องตั้งแต่การคำนิยามคำว่าบริษัทต่างชาติ ซึ่งในกฎหมายไทยจะดูเฉพาะสัดส่วนการถือหุ้นเท่านั้น แต่ไม่ได้ดูที่กรรมการหรือผู้มีอำนาจจัดการบริษัท ตรงนี้ต่างจากความหมาย บริษัทต่างชาติ ของ WTO ที่ให้รวมไปถึงบริษัทที่จดทะเบียนในต่างประเทศด้วย ส่วนในสหรัฐ นิยามรวมบริษัทที่กรรมการส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ การนิยามของไทยทำให้ตอนนี้มีบริษัทไทยเทียมเต็มไปหมด อยากให้คณะตัวแทนการเจรจาเอฟทีเอคำนึงถึงตรงนี้ด้วย เพื่อให้มีกฎหมายที่สามารถทำตามการตกลงได้อย่างครบถ้วนตั้งแต่นิยาม มิฉะนั้นไม่อาจใช้สิทธิ์หรือปฏิบัติตามได้"


 


นายกฤติ กล่าวอีกว่า ไม่ได้ขัดขวางการเจรจาเอฟทีเอ แต่อยากให้มีความพร้อมและต้องให้เกิดประโยชน์แก่สองฝ่ายเท่าเทียมกัน การทำเอฟทีเอเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องรู้ อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างเป็นของใหม่จึงควรเรียนรู้จากประสบการณ์และอดีต ปัจจุบันไทยมีองค์กรอังค์ถัดทำหน้าที่อบรมข้าราชการและประชาชนให้มีความรู้ด้านเศรษฐกิจและการตกลงระหว่างประเทศแล้ว


 


"ที่ผ่านมาไทยเองไม่เคยเรียกร้องให้อเมริกาเปิดตลาดให้อย่างจริงจัง ทั้งที่เคยเจรจาในรอบ WTO มาแล้ว หากบังคับให้เป็นตามสนธิสัญญาที่มีอยู่ก็อาจเพียงพอและได้ประโยชน์ เช่น ในเวียดนาม เคยสามารถเจรจาไม่ให้สหรัฐมาทุ่มตลาดเป็นเวลา 1 ปีได้ เป็นต้น แต่ขณะนี้กฎหมายของไทยกลับเปิดเสรีไปก่อนเจรจา ทั้งที่ควรเจรจาก่อน เป็นความไม่เข้าใจให้ไปศึกษาจากอังถัด ใช้ให้เป็นประโยชน์ ซึ่งตรงนี้อเมริกากลัว ไปศึกษาได้ที่ www.itd.or.th" นายกฤติ แนะนำ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net