Skip to main content
sharethis

รายงานโดย : โครงการสถานีอาสากับต้นกล้าแห่งความหวัง"


 


 



 


ในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน ระหว่างเดือนมีนาคม - พฤษภาคม ที่ผ่านมา เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายถึงระดับอุดมศึกษา กว่า 70 คน ต่างภูมิลำเนา ต่างประสบการณ์ ต่างเพศและต่างวัย ต่างสาขาวิชาเรียน แต่ไม่ต่างต่ออุดมการณ์ ได้มารวมตัวเป็นอาสาสมัครใน "โครงการสถานีอาสา (Volunteer Station)"


 


โครงการที่มูลนิธิดำรงชัยธรรมริเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ ในความต่างอันมากมาย พวกเขามีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันนั่นคือ ความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อการแบ่งปัน และส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะพวกเขาคือกลุ่มเด็กๆ ที่เป็นผู้ได้รับทุนการศึกษาในโครงการ "ทุนสร้างคน สร้างบัณฑิต" ของมูลนิธิดำรงชัยธรรมก็เป็นได้ ในวันที่เด็กๆ เรียนรู้ที่จะเป็นผู้รับ มูลนิธิฯ เชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่สำคัญและจำเป็นต้องปลูกฝังและส่งเสริมไปอย่างคู่ขนานกัน นั่นคือ การทำให้พวกเขาเรียนรู้บทบาทของการเป็นผู้ให้ด้วย ไม่สำคัญว่าจะให้อะไร มากหรือน้อยแค่ไหน เพียงแค่มีใจที่รู้สึกว่าอยากทำเพื่อคนอื่นบ้าง เท่านี้ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว ซึ่งนี่อาจถือว่าเป็นความคิดรวบยอดของโครงการก็อาจเป็นได้


 


กับการเริ่มต้นครั้งแรกนี้ มูลนิธิมีสถานที่ทั้งหมด 9 แห่ง ให้น้อง ๆ ได้เลือกไปทำงานอาสาสมัครตามที่ตัวเองพร้อม ทั้งในเรื่องเวลา ค่าใช้จ่าย และความสนใจ งานสอนหนังสือเด็กชาวเขาที่บ้านดอยช้าง จ.เชียงราย, กิจกรรมเรียนรู้ชุมชนและทำแผนที่เดินดินที่ชุมชนบ้านน้ำเกี๋ยน จ.น่าน, การสำรวจและจัดทำแผนที่เพื่อจัดสรรพื้นที่ทำกินไม่ให้ชาวบ้านเข้ามาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนที่หน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำพะโต๊ะ จ.ชุมพรกิจกรรมสอนหนังสือเด็กๆ ที่อยู่ในโรงงาน 505 โภคภัณฑ์ จ.นครราชสีมา, งานเก็บข้อมูลคนชาติพันธุ์กับมูลนิธิชุมชนเขตภูเขา จ.เชียงราย หรือแม้แต่การไปช่วยจัดทำห้องสมุดที่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนป่าตะวันออก บ้านผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม จ.ฉะเชิงเทรา ต่างวัน ต่างเวลา และต่างสถานที่ แต่สิ่งเหล่านี้เป็นภารกิจส่วนหนึ่งที่พวกเขาได้ลงมือทำ


 


การที่เหล่าอาสาสมัครต้องเดินทางไปยังสถานีอาสาด้วยตนเอง การต้องออกเงินค่าใช้จ่ายทั้งค่ารถ และค่าอาหารเอง เป็นสิ่งที่ทีมงานของมูลนิธิฯ เป็นกังวลมากในช่วงแรก ยิ่งบางพื้นที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ให้ติดต่อกันอีกด้วย…แต่แล้วจากความเป็นห่วงก็กลับเปลี่ยนไปเป็นความภาคภูมิใจต่อการเติบโตที่พวกเขามี เมื่อจดหมายที่ส่งมาจากบรรดาอาสาสมัครต้นน้อยๆ ได้ผลิให้เห็นอะไรบางอย่าง


 


"สำหรับการทำงานที่ผ่านมา ทำให้เล็กได้รู้จักคำว่าอาสาสมัครมากขึ้น ตลอดระยะเวลาที่ทำงานตรงนี้ เล็กได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆหลายเรื่อง รวมถึงการได้ลงพื้นที่สำรวจหมู่บ้านช่วยให้เล็กได้เห็นบางสิ่งบางอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เล็กคิดว่าเวลาเพียงเท่านี้แต่มันคุ้มค่ามาก แม้สองมือเราอาจจะไม่พอที่จะทำเพื่อช่วยให้เขาดีขึ้นมากมาย แต่ถ้าเราทำตรงนี้ด้วยใจและตลอดไป เพียงเท่านี้โลกใบที่เราอาศัยอยู่ก็จะมีแต่รอยยิ้ม เล็กอยากเห็นโลกทั้งใบมีแต่รอยยิ้มตลอดไปค่ะ "


 


ข้อความในโปสการ์ดที่ส่งมาจากชุมชนบ้านน้ำเกี๋ยน จ.น่าน โดย น.ส.นสินันดา แซ่เล้า นักเรียนทุนรุ่นที่ 7 ปัจจุบันศึกษาอยู่ชั้น ม. 4 โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์น่าน จ.น่าน


 


"ขอบคุณสิ่งดีๆ ที่พวกพี่หยิบยื่นให้ และที่นี่เป็นโอกาสหนึ่งที่เราจะได้รับสิ่งดี ๆ และให้สิ่งดีๆ กลับไป รอยยิ้มและความสุขที่ไม่ได้เกิดจากการที่เราได้รับสิ่งที่ตนเองปรารถนาเป็นจริง การมีเด็กมานั่งตักทีเดียวพร้อมกันถึง 3 คน ช่างเป็นเรื่องที่หนักหน่วง แต่เรากลับยิ้มได้ เรารับรู้ได้ว่าสิ่งที่เราทำสามารถเติมเต็มสิ่งที่เขาขาด แต่ในขณะเดียวกันเราเองก็เกือบจะไม่รู้เลยว่าพวกเขาก็เติมเต็มช่องว่างในหัวใจของเราเหมือนกัน"


 


ส่วนหนึ่งของจดหมายจาก น.ส.นิภาพร ทองเชื้อ นักเรียนทุนรุ่นที่ 2 ปัจจุบันศึกษาอยู่ชั้น ม.6 โรงเรียนดัดดรุณี จ. ฉะเชิงเทรา และได้ไปเป็นอาสาสมัครที่โรงงาน 505 โภคภัณฑ์ จ. นครราชสีมา


 


และอีก 1 ข้อความที่คัดลอกมาจากสมุดบันทึก ที่ทางมูลนิธิแจกให้แก่อาสาสมัครทุกคน ข้อความที่คัดมาเป็นของ น.ส.ศิริพร บุญประเสริฐ (มด) นักเรียนทุนรุ่นที่ 1 ปัจจุบันศึกษาอยู่ชั้นปริญญาตรีปีที่ 1 สาขาการจัดการชุมชน คณะวิทยาการการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตเพชรบุรี จ.เพชรบุรี


 


"ณ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนป่าตะวันออก ก็มีพวกเราลูกเป็ดทัวร์ ซึ่งประกอบไปด้วย พี่แอน พี่แบงค์ พี่เอ๋ มด นพ น้องบี และน้องซี (ตามลำดับอาวุโส) มาทำงาน และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ทุกคนต่างแยกย้ายกันกลับหมดแล้ว พร้อมกับกล่องใส่ความรู้สึกดีๆ และหัวใจของเยาวชน คนอาสาที่เริ่มจะมีขึ้นอย่างเต็มตัวของเราทุกคน ที่นี่เป็นที่ที่พวกเราต้องจดจำไปอีกนาน เป็นที่ที่พวกเราทำงานร่วมกันและเรียนรู้วิถีชีวิตที่เรียบง่าย แต่เป็นความสุขอย่างแท้จริง ซึ่งนี่เป็นแนวคิดที่ดีต่อการใช้ชีวิตและปฏิบัติตน บางอย่างถ้ารู้แล้วไม่ลงมือทำก็ถือว่าไม่รู้"


 


เรื่องราวที่มดได้บันทึกเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำดี ๆ จากการไปใช้ชีวิตเป็นอาสาสมัครกว่า 15 วัน อยู่ที่ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนป่าตะวันออก บ้านผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม จ.ฉะเชิงเทรา


 


จริงอยู่ที่พวกเขาอาจทำงานกันอย่างเหน็ดเหนื่อย มีบ้างที่จะรู้สึกท้อ คิดถึงบ้าน ต้องอดทนและปรับตัวกันอย่างมากมายเพื่อภารกิจนี้ที่เลือกเอง แต่เชื่อว่าความคิดที่งอกเงยพร้อมจิตใจที่งอกงามอย่างอิสระที่เราเห็นจากข้อความที่สื่อออกมาไม่มีใครที่รู้สึกว่าขาดทุนเลย ประโยคที่เราคุ้นเคยที่ผ่านสายตาบ่อย ๆ ว่า


 


"สังคมดีไม่มีขาย อยากได้ต้องช่วยกัน "


…เยาวชนของสังคมกลุ่มเล็กๆ นี้ กำลังพยายามช่วยกันสานต่อให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา


 



นสินันดา


 



 



นิภาพร-ยีนส์


 



น้ำเกี๋ยน2


 



น้ำเกี๋ยน3


 



น้ำเกี๋ยน4


 



ผู้ใหญ่วิบูลย์-1


 



ศิริพร-มด


 



โรงงาน505


 



โรงงาน505

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net