Skip to main content
sharethis







โดย อิสระ ชูศรี



 


เพี่อนผู้อ่านที่นับถือ หากกำลังเหม็นเบื่อภาษาเทศ ก็ขอให้ผ่านข้อเขียนนี้ไปเลยนะครับ เพราะที่ผมจะชวนเพื่อนๆคุยรอบนี้เป็นเรื่องของศัพท์ภาษาต่างประเทศสองคำด้วยกัน


 


คำแรกคือ deja vu ที่ขาประจำ "ประชาไท" หลายคนคงผ่านตามาแล้ว เพราะเป็นคำที่คุณสมศักดิ์


เจียมธีรสกุล นำมาใช้เพื่อเสนอผลการวิเคราะห์สถานการณ์ขับไล่นายกฯทักษิณและการเรียกร้องนายกฯพระราชทานในขณะนี้


 


ผมอ่านข้อเขียนของคุณสมศักดิ์แล้วก็ไปเปิดพจนานุกรมดูความหมายของคำๆ นี้เพิ่มเติม เห็นว่ามีแง่มุมน่าสนใจดีก็เลยอยากจะนำมาคิดต่อในแง่ของศัพทวิทยาสักหน่อย


 


ส่วนอีกคำหนึ่งคือ rendezvous ซึ่งแว่บเข้ามาในหัวของผม หลังจากได้เดินทางไปฟังการปราศรัยตอนกลางคืนที่การชุมนุมทางการเมือง ณ สถานที่พบปะบนถนนราชดำเนินนอก ซึ่งดำเนินต่อเนื่องกันมาหลายคืนแล้ว


 


เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เรามาเริ่มกันที่ déjà vu หรือ "เดฉ่า-หวู้" หรือ "เดจาวู" กันก่อน


 


พจนานุกรม "อเมริกันเฮริเทจ" (ฉบับแก้ไขครั้งที่ 4) นิยาม deja vu ไว้สองความหมาย ผมได้แปลจากคำนิยามที่เป็นภาษาอังกฤษมาอีกทีหนึ่ง เพราะเกรงว่าถ้ายกคำนิยามมาทั้งดุ้นเลยก็แลจะประดักประเดิดเกินไปหน่อย


 


1. (ทางจิตวิทยา) ความรู้สึกหลอนว่าเคยประสบกับบางสิ่งบางอย่างมาแล้วทั้งที่เพิ่งประสบกับสิ่งนั้นเป็นครั้งแรก


2 (ก) ความรู้สึกว่าเคยเห็นหรือประสบกับบางสิ่งบางอย่างมาก่อน


   (ข) ความคุ้นเคยที่น่าเบื่อ; ความซ้ำซาก


 


คำๆ นี้มีที่มาจากคำภาษาฝรั่งเศสสองคำคือคำกริยาวิเศษณ์ deja แปลว่า "เคย...แล้ว" กับคำกริยา vu


(ผันรูปตามกาลอดีตจากรูปอินฟินิทีฟ voir) แปลว่า "เห็น" รวมกันแล้วได้ความว่า "เคยเห็นแล้ว"


 


ผมรู้สึกว่าความหมายของคำๆ นี้น่าสนใจนะครับ เพราะมันสะท้อนความสำนึกของเราเกี่ยวกับความเป็น


"ประวัติศาสตร์" ได้เป็นอย่างดี


 


ผมคิดว่า สิ่งที่นักประวัติศาสตร์ทำ กับสิ่งที่เราทำกันทุกอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนั้นก็ไม่แตกต่างกันจนสุดโต่งแต่ประการใด นั่นคือการเอาสิ่งที่เราเคยเห็นแล้ว (หรือเชื่อว่าเคยเห็นแล้ว) มาเทียบเคียงกับสิ่งที่เรากำลังประสบอยู่ หรือเชื่อว่าจะประสบต่อไปในอนาคต เราจะได้เลือกกระทำหรือไม่กระทำการบางอย่างโดยพิจารณาจากสิ่งที่เราเชื่อว่าเรา "เคยเห็นแล้ว"


 


คุณสมศักดิ์อาจจะเห็นว่าขบวนการขับไล่ทักษิณในปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะในหมู่ปัญญาชน มีความคล้ายคลึงกับการต่อต้าน พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ก่อนการรัฐประหาร 2500 ในขณะที่ประชาชนแถวราชดำเนินบางคนเลือกจะเขียนหนวดฮิตเลอร์ไว้ใต้จมูกของคุณทักษิณ


 


ทั้งสองฝ่ายก็อาศัยการเทียบเคียงทางประวัติศาสตร์คล้ายคลึงกัน และมีการนำข้อเท็จจริงมาอ้างอิงให้มีความสมเหตุสมผลคล้ายๆกัน ฝ่ายหนึ่งบอกว่าการร้องหานายกฯพระราชทาน คือการกลับไปสู่ยุคสฤษดิ์


ธนะรัชต์ (แย่จัง!) ส่วนอีกฝ่ายบอกว่า พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ และ พ.ร.ก.บริหารราชการแผ่นดินในภาวะฉุกเฉินที่คุณทักษิณเสนอนั้น รวมกันแล้วเท่ากับ พ.ร.บ.ให้อำนาจเบ็ดเสร็จแก่ฮิตเลอร์ (น่ากลัวจัง!)


 


สำหรับคนที่เคยเห็นอะไรต่างๆ มาแล้วมากมาย เราก็มีเหตุให้เชื่อว่าเขามี "ความรู้" มากถูกไหมครับ


สมัยเด็กๆ หลายคนอาจชอบนั่งฟังปู่ย่าตายายเล่าเรื่องโน้นเรื่องนี้ที่พวกท่านเคยพบเคยเห็นมาแล้ว


ยิ่งตอนเรายังอ่านหนังสือไม่ออก เรื่องเล่าของพวกท่านก็ยิ่งมีความหมายต่อเรา เพราะเราต้องอาศัยฟังความรู้จากท่าน ในสิ่งที่เรายังไม่เคยพบเคยเห็น พอเราอ่านหนังสือเป็น เราก็อาจจะอาศัยอ่านคำบอกเล่าของคนอื่นเกี่ยวกับสิ่งที่เขา "เคยเห็นแล้ว" แต่เรายังไม่เคยเห็น


 


ปัญหาที่สำคัญก็คือ เราจะแยกออกได้อย่างไรว่าบางสิ่งบางอย่างที่ตัวเราเองหรือที่คนอื่นได้ประสบนั้น


มันเป็นสิ่งที่เราเคยประสบมาแล้วจริงๆ หรือเป็นแค่ "อาการหลอน" ของความรับรู้เท่านั้น คือเรารู้สึกหรือเชื่อว่าเคยเห็นมาแล้ว ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงแล้วเรายังไม่เคยเห็นหรือประสบกับมันมาก่อน


 


ไม่อย่างนั้นจะมีภาษิตว่า "สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ สิบมือคลำไม่เท่าลองทำดู"


คอยเป็นตัวช่วยเตือนหรือ ว่าอย่าเพิ่งไว้ใจการรับรู้ของตนเองขนาดนั้น


 


สำหรับสถานการณ์ขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน เราควรจะทำอย่างไรดีล่ะ?


 


ผมเชื่ออย่างนี้ครับ (เมื่อไม่รู้หรือไม่แน่ใจก็ต้องยึดความเชื่ออะไรสักอย่างไว้ก่อนหละ) ผมเชืื่อว่าความกลัวทำให้เสื่อม ความรู้ทำให้องอาจ คำยกยอทำให้เกิดความประมาท คำเตือนช่วยให้เกิดความระมัดระวัง


และคำขู่ทำให้เกิดความรู้สึกอยากท้าทาย


 


ถ้าการแสดงภูมิรู้ประเภทไหนทำให้ผมกลัวอย่างไร้เหตุผลแสดงว่ามันทะแม่งๆ แล้วหละ และหากภูมิรู้ประเภทที่ทำให้ผมนั่งงอมืองอเท้าแทนที่จะแสวงหาช่องทางกระทำสิ่งที่งอกงามเป็นประโยชน์ก็ทะแม่งพอกัน


 


ฉะนั้นในความเห็นของผม เดจาวูจึงมีหลายแบบ มีทั้งแบบ? "คนเห็นผี" ที่ทำให้รู้สึกหวาดกลัวมือไม้ชาจนขยับไปไหนไม่เป็น และแบบที่ทำให้เราตื่นตัวกะปรี้กะเปร่าขึ้นมาจนต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างหนึ่ง


 


พักนี้ในสังคมของเรามีความคิดเห็นขัดแย้งกันมากมาย ไม่เฉพาะตามพื้นที่สาธารณะเท่านั้น แต่ความคิดเห็นที่ขัดแย้งยังลามไปสู่ระดับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล พ่อแม่พี่น้องเพื่อนฝูงเถียงกันให้ฮึ่มไปหมด


เพื่อนบางคนถามผมว่าข้อเสียของการคิดมากเถียงมากนี้จะมีประการใดบ้าง ผมตอบว่าไม่รู้ดิ ถ้าข้อถกเถียงไหนทำให้ผมรู้สึกแพสสิีฟผมก็ไม่รับ ถ้าข้อถกเถียงไหนเปิดช่องให้มีส่วนร่วมในเชิงสร้างสรรค์ได้ผมก็รับ


 


ผมคิดว่าจะดีจะชั่วอย่างไร ตอนนี้ถนนราชดำเนินนอกก็ได้กลายเป็น "รองเดซ์วู" ของประชาชนจำนวนหนึ่งไปเรียบร้อยแล้ว และมันทำให้ผมรู้สึกเหมือนกลับไปเข้าโรงเรียนอีกครั้งหนึ่ง มันเป็นโรงเรียนการเมืองที่มีความหลากหลายในทฤษฎีชี้นำอย่างยิ่ง ใครจะคิดละว่าเพลง "สู้ไม่ถอย" กับ "หนักแผ่นดิน" จะถูกแปลงรวมกันเป็นเพลงเดียวกันโดยคุณสุเทพ วงโฮป


 


พจนานุกรม "อเมริกันเฮอริเทจ" เล่มเดิมนิยามความหมายของ rendezvous เอาไว้ว่าอย่างนี้ครับ


 


1 การพบปะกัน ณ เวลาและสถานที่ที่กำหนดล่วงหน้าไว้แล้ว


2 สถานที่นัดพบที่กำหนดไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะจุดรวมพลหรือเรือรบ


3 สถานที่ที่คนนิยมมารวมตัวกัน


4 (อวกาศ) กระบวนการนำยานอวการสองลำมาเชื่อมต่อกัน


 


คำๆ นี้ก็มาจากคำภาษาฝรั่งเศสสองคำเช่นเดียวกันกับเดจาวู คำแรก rendez (ผันรูปตามกาลปัจจุบันบุรุษที่สองพหูพจน์จากคำกริยา rendre) แปลว่า "มอบให้; ส่งคืน; เสนอ" ส่วนคำที่สองคือ vous แปลว่า "ท่าน"


 


ตามความหมายดั้งเดิม rendez vous แปลว่า "มอบตนให้" ซึ่งก็มีความหมายเชื่อมโยงไปสู่การพาตัวเองไปพบปะกับผู้อื่นด้วยตัวของท่านเอง ต่างคนต่างมา จะด้วยความรู้สึกในหน้าที่บงการให้มา อย่างในกรณีของทหาร (นิยามที่สอง) หรือจะด้วยความรู้สึกว่าจะไปพบปะกันฉันท์พลเมืองก็ตาม (นิยามที่สาม)


 


การไปพบปะกันที่ราชดำเนินทำให้ผมมีโอกาสเข้าโรงเรียนการเมืองภาควัฒนธรรมอย่างที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน ก่อนหน้านี้ผมอาจจะรู้สึกว่า นี่เป็นแค่การชุมนุมเพื่อแสดงจุดยืนทางการเมืองเท่านั้น แต่ตอนนี้มันกลับกลายเป็นว่าผมมีโอกาสเปิดหัวรับความรู้และมหรสพหลากหลายรูปแบบ


 


มีทั้งการบรรยายเกี่ยวกับวิชาศีลธรรม-จริยธรรม หน้าที่พลเมือง เศรษฐกิจการเมือง กฎหมายแขนงต่างๆ


ประวัติศาสตร์ แถมมีวิชาดนตรีและขับร้องอีกต่างหาก บางวิชา "อาจารย์" ก็เก่าก็แก่ฟังแล้วโคตรน่าเบื่อ


บางคนก็เอาแต่ด่านู่นด่านี่แบบใส่อารมณ์ ผมก็ทำหูทวนลมหรือไม่ก็ล้มตัวลงนอนเสียบ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นวิชาการน่าสนใจดีครับ


 


นักคิดฝรั่งบางคนเสนอว่า "เมือง" ในความหมายดั้งเดิมนั้นเป็นแหล่งรวมของผลิตภัณฑ์ที่อารยธรรมหนึ่งๆสามารถสร้างขึ้น เป็นแหล่งเรียนรู้และพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันระหว่างพลเมือง


ทำให้เกิดความงอกงามทางปัญญา ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงของเมืองสมัยใหม่ที่ทำให้เกิดชุมชนตามชานเมืองจำนวนมาก เปลี่ยนให้พื้นที่ในตัวเมืองเป็นแค่สถานที่ทำงานและย่านการค้าเท่านั้น เช้าก็แหกตาตื่นเดินทางด้วยรถยนต์มาทำงาน เย็นก็รีบกลับบ้านที่ชานเมือง


 


แต่ตอนนี้ถนนราชดำเนินนอกได้ถูกพลเมืองนำมาใช้ในอีกลักษณะหนึ่งแทนที่จะเป็นแค่พื้นผิวยางมะตอยให้รถยนต์วิ่ง ถนนเส้นนี้ได้กลายมาเป็นพื้นที่พบปะยามค่ำคืนของพลเมืองไทยหลายหมื่นคน ไม่ใช่เฉพาะสำหรับคนในกรุงเท่านั้น


 


ผมไม่นึกไม่ฝันมาก่อนว่าจะมีโอกาสได้ยินการบรรเลงเปียโนหรือเพลงแร็พไล่นายกฯ ในการชุมนุมทางการเมืองกลางกรุงเทพฯ ไม่เคยคิดว่าวิชากฎหมายมหาชนและประวัติศาสตร์เศรษฐกิจจะน่าสนใจขนาดนี้


 


แม้ผมจะเบื่อวิชาทหารกับการเมืองสุดๆ จนถึงขั้นที่ว่าถ้ามีการเชิญศาสตราจารย์มนูญกฤต (รูปขจร) มาบรรยายอีกเมื่อไร ผมโดดเรียนไปกินข้าวต้มแน่ๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net