Skip to main content
sharethis

โครงการข่าวสารประเทศไทยเสนอร่ายงานประจำปี 2548 ภายใต้หัวข้อ "ประเทศไทย 2548 : บ่ายหน้าสู่ทางใด" นำเสนอโดยนายอนุช อาภาภิรม จากโครงการข่าวสารทิศทางประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยมี ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ร่วมให้ความเห็น


 


นายอนุชนำเสนอโดยสรุปภาพสถานการณ์ประเทศไทยตลอดปี 2548 ว่า "รัฐนาวาของไทยเสมือนกำลังแล่นฝ่าคลื่นใต้น้ำ มีอันตรายและความเสี่ยงสูง ต้องการความปรองดองในชาติสูงกว่าครั้งใด ต้องการนวัตกรรมในหลายด้านตั้งแต่เศรษฐกิจไปจนถึงการศึกษา ต้องการวิสัยทัศน์ การมองในมุมที่กว้างกว่าเดิม ต้องการความขยันบากบั่นมานะ ต้องการการปรับปรุงทางโครงสร้าง ต้องการความฉับไว และท้ายสุดต้องการการพัฒนาที่ยั่งยืนและมีโฉมหน้าที่เป็นมนุษย์"      


 


การนำเสนอแบ่งออกเป็น 9 ประเด็นสำคัญประกอบด้วย


1. บทนำ: ในบริบทโลกาภิวัตน์


 


ในช่วงปี 2548 ทั่วโลกได้เผชิญกับวิกฤติและความไม่แน่นอนในหลายด้าน เกิดการปรับเปลี่ยนขั้วอำนาจ โดยขั้วอำนาจเก่า เช่น สหรัฐอ่อนล้าลง ตลาดเกิดใหม่อย่างเช่น จีน อินเดีย รัสเซียและยุโรปตะวันออก ได้เติบโตขึ้น นอกจากนี้ลัทธิก่อการร้าย ลัทธิเชื้อชาติ (Racism) ลัทธิคลั่งไคล้ศาสนา (Fundamentalism) ภัยจากมลพิษและธรรมชาติ โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ไม่ยั่งยืน การใช้โลกเกินความสามารถรองรับ ภาวะน้ำมันราคาแพง การเพิ่มขึ้นของประชากร การขยายช่องว่างและการรวมศูนย์มากขึ้น การแข่งขันและการกีดกันทางการค้า ความไม่สงบภายในประเทศต่างๆ เหล่านี้ยังคงคุกคามสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองต่อไปอีกยาวนาน ข่าวดีก็คือ ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ยังคงสามารถฟันฝ่าวิกฤติและความไม่แน่นอนนี้ไปได้ด้วยดีพอสมควร ก่อให้เกิดความหวังว่าปี 2549 ก็ไม่น่าที่จะเลวร้ายจนเกินไป


 


ผลการสำรวจประชามติโลกของสำนักแกลลัพสากล (Gallup International) ในปลายปี 2548 พบว่า ประชาชนถึงร้อยละ 35 เชื่อว่าคนรุ่นต่อไปจะอยู่ในโลกที่ปลอดภัยขึ้น เมื่อเทียบกับร้อยละ 26 ในปี 2547 และร้อยละ 25 ในปี 2546 ขณะที่ผู้ที่เห็นว่าคนรุ่นถัดไปจะอยู่ในโลกที่ปลอดภัยน้อยลงมีเพียงร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับผู้เห็นเช่นนั้นร้อยละ 48 ในปี 2546 และ ร้อยละ45 ในปี 2547 และผู้ที่เห็นว่าคนรุ่นถัดไปจะอยู่ในโลกที่เจริญรุ่งเรืองขึ้นทั้งเล็กน้อยและเพิ่มขึ้นมากรวมร้อยละ 43 เพิ่มขึ้นจากปี 2547 ซึ่งมีเพียงร้อยละ 33 และ ปี 2546 ซึ่งมีร้อยละ 34 ผู้ที่เห็นว่าคนรุ่นถัดไปจะอยู่ในโลกที่เจริญรุ่งเรืองน้อยลงมีร้อยละ 30 เทียบกับร้อยละ 46 และ 35 ในปี 2547 และ 2546 ตามลำดับ


 


สำหรับสถานการณ์ประเทศและกลุ่มประเทศสำคัญสรุปได้ดังนี้ สหรัฐเผชิญกับการเสื่อมทรุดทั่วด้าน แต่ยังคงรักษาความเป็นอภิอำนาจของตนไว้ได้ สหภาพยุโรปกำลังสยายปีกของตนออก ขณะที่มีแรงเฉื่อยภายในสูง ญี่ปุ่น พบกับการแข่งขันที่สูงขึ้นจากจีนและเกาหลีใต้ และสัญญาณฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ กลุ่มสหภาพโซเวียตเดิมและยุโรปตะวันออก กลายเป็นเขตเศรษฐกิจที่มองข้ามไม่ได้ ลาตินอเมริกาออกจากร่มเงาสหรัฐสู่รัฐบาลแบบกลางซ้าย ตะวันออกกลาง ยังร้อนระอุพร้อมกับการเติบใหญ่ของโลกอิสลาม แอฟริกากับการเปลี่ยนแปลงใหญ่ข้างหน้า ประชาธิปไตยและการแก้ความยากจน จีนก้าวขึ้นสู่ความโดดเด่นพร้อมกับปัญหาที่ละเอียดอ่อนขึ้น อินเดียพยายามก้าวขึ้นเป็นแกนนำของเอเชียใต้ท่ามกลางปัญหาและความขัดแย้ง


เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบสัญญาณการขยายตัวเติบใหญ่ของทุนโลกาภิวัตน์ โดยในปี 2548 กล่าวได้ว่าเป็นปีทองของสิงคโปร์ เมื่อเศรษฐกิจมีอัตราการเติบโตในอัตราสูงเกือบร้อยละ 6 รวมทั้งดัชนีตลาดหลักทรัพย์ก็พุ่งขึ้นสูง สถาบันการเงินของสิงคโปร์ประสบความสำเร็จในการเข้าซื้อหุ้นบริษัทต่างๆ ในย่านนี้ รวมทั้งของชินคอร์ปในช่วงต้นปี 2549 ปีทองของสิงคโปร์จึงเป็นสัญญาณของการเติบโตเข้มแข็งของทุนโลกาภิวัตน์ในเขตนี้ด้วย เวียดนามมีศักยภาพที่จะก้าวสู่การเป็นแกนนำประเทศหนึ่งของภูมิภาค ที่น่าจับตาก็คือการก่อการร้ายรวมทั้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย และปัญหาโจรสลัดในช่องแคบมะละกา เป็นสิ่งท้าทายต่อรัฐบาลในภูมิภาคนี้ในการร่วมมือเพื่อขจัดสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสันติภาพ ความร่วมมือ และความเจริญของภูมิภาค


เหตุการณ์สำคัญในภูมิภาคนี้อีกเรื่องหนึ่ง ได้แก่ การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit) ต้นเดือนธันวาคม 2548 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย โดยกลุ่มอาเซียนซึ่งมีการรวมตัวเหนียวแน่นยาวนานที่สุด ทำหน้าที่เหมือนเป็นแกนนำชั่วคราว


ประเทศไทยนับได้ว่าอยู่ในภาวะขาลงเมื่อเทียบกับสิงคโปร์หรือมาเลเซีย ไม่ใช่เพียงขาลงของรัฐบาล สาเหตุหลักมาจากความขัดแย้งภายในชนชั้นนำที่ยืดเยื้อและดุเดือดรุนแรง ก่อให้เกิดความหวั่นไหวไม่มั่นคง ในขณะที่ต้องเผชิญกับดงของปัญหาจำนวนมาก แต่ก็ยังคงสามารถรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ในระดับที่ไม่ต่ำจนเกินไป


 


รัฐนาวาของไทยเสมือนกำลังแล่นฝ่าคลื่นใต้นำ มีอันตรายและความเสี่ยงสูง ต้องการความปรองดองในชาติสูงกว่าครั้งใด ต้องการนวัตกรรมในหลายด้าน ตั้งแต่เศรษฐกิจไปจนถึงการศึกษา ต้องการวิสัยทัศน์ การมองในมุมที่กว้างกว่าเดิม ต้องการความขยันบากบั่นมานะ ต้องการการปรับปรุงทางโครงสร้าง ต้องการความฉับไว และท้ายสุด ต้องการการพัฒนาที่ยั่งยืนและมีโฉมหน้าที่เป็นมนุษย์ เพื่อการขึ้นหน้าใหม่ของประวัติศาสตร์


 


2. เศรษฐกิจ: ต้นร้าย ปลายค่อยยังชั่ว


สถานการณ์ทั่วไป : เศรษฐกิจไทยปี 2548 เริ่มต้นด้วยการประสบเหตุด้านลบหลายด้าน ได้แก่ ผลกระทบรุนแรงต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวอันเนื่องจากธรณีพิบัติภัยคลื่นสึนามิในปลายเดือนธันวาคม 2547 ราคาน้ำมันที่ขึ้นสูงต่อเนื่องจนทางรัฐบาลต้องค่อยๆ ลอยตัวราคาอย่างมีการจัดการ กระทบต่อการใช้จ่ายและต้นทุนการผลิตในประเทศ ตลอดจนต่อดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดที่แน่นอน อัตราเงินเฟ้อปี 2548 สูงถึงร้อยละ 4.5 จากร้อยละ 2.7 ในปี 2547 ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจลดต่ำต่อเนื่องจากต้นปี เริ่มฟื้นในเดือนกันยายน เนื่องจากความพยายามของรัฐบาลหลายด้านด้วยกัน เช่น การประหยัดพลังงาน ลดการนำเข้าน้ำมันดิบ การเร่งขยายการส่งออก และฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมทั้งการสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจโดยใช้โครงการเมกะโปรเจ็กต์


 


-กระแสควบรวมกิจการและการเทคโอเวอร์สูงขึ้นในปี 2548 นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทยเปิดเผยว่า "พบว่าทั่วโลกมีการควบรวมกิจการมากถึง 25,000 รายการ คิดเป็นมูลค่า 80 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2547 ที่มีจำนวน 21,000 ราย มูลค่า 65 ล้านล้านบาท โดยเอเชีย-แปซิฟิกมีมากที่สุด และมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น... ถึงเวลาที่บริษัทควรให้ความสำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งทั้งในเรื่องของฐานทุน เพื่อให้ทำธุรกิจได้กว้างขวาง มีศักยภาพแข่งขันกับบริษัทข้ามชาติได้" (โพสต์ทูเดย์ 020149) ในประเทศไทยก็เกิดการซื้อขายกิจการใหญ่ อย่างเช่น บริษัทยูคอม และบริษัทสามารถ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นบริษัทด้านโทรคมนาคม นอกจากนี้ ยังมีการซื้อขายกิจการบริษัทเหล็กส่วนที่ปูนซิเมนต์ไทยเป็นเจ้าของ และบริษัทโออิชิซึ่งเป็นบริษัททางด้านอาหารและเครื่องดื่ม


 


คาดหมายกันว่าเศรษฐกิจในปี 2549 จะดีขึ้น จากการลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชนที่สูงขึ้น นอกจากนั้นเศรษฐกิจของภูมิภาคทั้งเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ยังอยู่ในเกณฑ์ดี จีนและอินเดียเป็นตัวขับเคลื่อนใหม่ เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีสัญญาณฟื้นตัว พ้นจากภาวะเงินฝืด ตลาดใหม่อย่างเช่นรัสเซียและยุโรปตะวันออกยังมีศักยภาพที่ช่วยกระตุ้นการส่งออกได้ดี ปัจจัยเสี่ยงสำคัญอยู่ที่ราคาน้ำมัน การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ และภาวะการเมืองในประเทศ


 


กระแสโลกาภิวัตน์ กระแสโลกาภิวัตน์ ได้ครอบคลุมไปทั่วโลกและยังมีกำลังแรง ในปัจจุบันมีทิศทางอยู่ 2 ด้าน ด้านหนึ่งได้แก่การแก้ไขปัญหาความยากจน อีกด้านหนึ่งก้าวเดินไปสู่เศรษฐกิจ/สังคมฐานความรู้ ที่จะทำให้ทุกอย่างหมุนเวียนได้สะดวกและรวดเร็วอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน แนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศไทยคือการก้าวร่วมไปกับกระแสโลกาภิวัตน์อย่างใกล้ชิด


 


3. การเมือง-การปกครอง: ความขัดแย้งยืดเยื้อ


สถานการณ์ทั่วไป : สถานการณ์ด้านการเมืองการปกครองในประเทศ อยู่ในภาวะสับสนอลหม่าน จนถึงขั้นมีข่าวลือเรื่องการรัฐประหารในช่วงปลายปี และกระแสข่าวขาลงของรัฐบาล ความขัดแย้งนี้โดยพื้นฐานเป็นเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์


สถานการณ์การเมืองการปกครองในประเทศดำเนินไปในบริบทดังนี้ ก) การปฏิรูประบบราชการเพื่อให้มีประสิทธิภาพ ความคล่องตัว การวัดและประเมินผล การจัดระบบงบประมาณใหม่ตามยุทธศาสตร์ และการจ่ายผลตอบแทน ให้ใกล้กับองค์กรธุรกิจเอกชน ซึ่งต้องใช้เวลานานถึงสิบปี จึงจะเคลื่อนย้ายได้อย่างพอลงตัว ข) การรวมศูนย์อำนาจทางเศรษฐกิจ-การเมืองค่อนข้างสูง ค) การนำตลาดใต้ดินขึ้นมาบนดินเท่าที่จะเป็นไปได้ ง) การก่อการร้ายในสามจังหวัดภาคใต้ จ) การเรียกร้องมากขึ้นจากประชาชนรากหญ้า ฉ) แรงบีบคั้นที่จะต้องให้ปรับตนเองอย่างเร็ว จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ-การเมืองโลก ช) แรงเฉื่อยจากความเคยชินเก่า และการได้ผลประโยชน์แบบเดิมยังคงสูง


 


สถานการณ์และความคาดหมายการเมืองปี 2549 มีที่น่าสนใจดังนี้


ก) ความขัดแย้งภายในชนชั้นนำภาคต่อ ประเด็นร้อนทางการเมืองในปี 2548 จะต่อเนื่องไปในปี 2549 ผลอาจเกิดขึ้นได้หลายทาง ข) มีการเลือกตั้งในช่วงต้นปี 2549 ที่มีลักษณะชี้แนวโน้มทางการเมือง ได้แก่ เลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา และการเลือกตั้งสภากรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงต้นปีเช่นกัน น่าจะทำให้อุณหภูมิการเมืองร้อนระอุ ค) ในด้านดี คาดหมายว่าความขัดแย้งแก่งแย่งกัน จะเป็นพลังขับเคลื่อนให้การเมืองไทยยกคุณภาพขึ้นอีก กับทั้งมีการปรองดองกันในชนชั้นนำ


 


4. ประชากร สิ่งแวดล้อมและพลังงาน: ก้าวหน้าหนึ่งก้าว ถอยหลังสองก้าว


 


สถานการณ์ทั่วไป : ประชากรของไทยเพิ่มขึ้นในอัตราต่ำลงจนกระทั่งต่ำกว่าระดับทดแทน เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างที่สำคัญคือ สัดส่วนผู้สูงอายุจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในอีกด้านหนึ่งการแก้ปัญหาความยากจนและการยกระดับมาตรฐานการครองชีพ ทำให้มีการผลิตและการบริโภคมากขึ้น ก่อผลกดดันต่อธรรมชาติแวดล้อมและปัญหาพลังงานอย่างสูง ความพยายามในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ก็มักไม่ทันต่อความเติบโตทางเศรษฐกิจ ต้องการนโยบายและการปฏิบัติใหม่ทั้งหมดเกี่ยวกับ ประชากร สิ่งแวดล้อมและพลังงาน


 


- ลักษณะทางประชากรไทย กรกฎาคม 2548 จากสำนักสถิติแห่งชาติ จำนวนประชากรไทยมีทั้งสิ้น 64.76 ล้านคน เป็นชาย 31.83 ล้านคน เป็นหญิง 32.93 ล้านคน ประชากรเกือบร้อยละ 70 อาศัยอยู่นอกเขตเทศบาล ราวร้อยละ 30 อยู่ในเขตเทศบาล ในจำนวนนี้ร้อยละ 34.87 อยู่ในกรุงเทพฯ ความหนาแน่นของประชากรทั่วประเทศเฉลี่ย 126 คนต่อตารางกิโลเมตร ที่กรุงเทพฯหนาแน่นที่สุด 4,332 คนต่อตารางกิโลเมตร สัดส่วนประชากรอายุ 0-14 ลดลงจากร้อยละ 24.4 ในปี 2543 เหลือร้อยละ 23.0 ในปี 2548 สัดส่วนผู้สูงอายุ (60 ปีเป็นต้นไป) เพิ่มจากร้อยละ 9.5 ในปี 2543 เป็นร้อยละ 10.3 ในปี 2548 สัดส่วนประชากรวัยแรงงาน (15-59 ปี) เพิ่มจากร้อยละ 66.1 ในปี 2543 เป็นร้อยละ 66.7 หญิงวัยเจริญพันธุ์ (อายุ 15-49) หนึ่งคนมีบุตรเกิดรอดเฉลี่ย 1.81 คนและมีบุตรที่มีชีวิตโดยเฉลี่ย 1.76 เป็นอัตราที่ลดลงต่ำกว่าระดับทดแทน (สยามรัฐ 100149)


 


สถานการณ์สิ่งแวดล้อมของไทย


 


สถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของไทย โดยทั่วไปมีลักษณะทรงกับทรุด ทั้งน้ำ ดิน ป่าไม้ และในเมือง ในช่วงเก็บข้อมูล 2543-2547 พบว่าใน 5 ปีทรัพยากรป่าไม้ถูกทำลายอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 500 ตารางกิโลเมตร ดินมีพื้นที่เหมาะแก่การเกษตรมากขึ้นร้อยละ 27 แต่ใช้ประโยชน์จริงร้อยละ 20 ที่เหลือร้อยละ 7 หรือ 20 ล้านไร่ต้องวางแผนการใช้ให้เหมาะสม อนึ่ง พบว่าการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมของ "ภาคประชาชน" เป็นไปอย่างคึกคัก


 


ประเทศไทยประสบกับภาวะแปรปรวนทางภูมิอากาศอย่างหนัก มีทั้งน้ำท่วมและฝนแล้ง โคลนถล่ม ซึ่งภาวะนี้เกิดขึ้นทั่วโลก


 


กรณีน้ำมันราคาแพง รัฐบาลได้ใช้หลายมาตรการเพื่อลดทอนผลกระทบ และสามารถแก้ไขได้ระดับหนึ่ง ตลอดปี 2547-ต้นปี 2548 ได้เข้าพยุงราคาน้ำมันโดยใช้เงินไปเกือบแสนล้านบาท ปลายเดือนมีนาคม 2548 ปรับราคาน้ำมันดีเซลครั้งเดียวลิตรละ 3 บาท วันที่ 1 มิถุนายน ปล่อยราคาน้ำมันลอยตัวอย่างมีการจัดการ พร้อมกับการรณรงค์ประหยัดพลังงาน นอกจากนี้บริษัทการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยน่าจะมีส่วนในการช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว จากกรณีน้ำมันแพงทำให้พลังงานทดแทนเป็นที่ยอมรับปฏิบัติกันมากขึ้น


 


5. ท่วงทำนองดำเนินชีวิต: ความสุขที่หดหาย ความสบายเข้ามาเยือน


สถานการณ์ทั่วไป : ในรอบปี 2548 เกิดกระแสสนใจแนวคิดเรื่องความสุขขึ้นในประเทศไทย และประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว สำหรับในประเทศไทยมีรายงานของสภาพัฒน์ว่า ความสุขของชาวชนบทหดหายขณะที่มีความสะดวกสบายเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่ง เนื่องจากการเป็นเมืองขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีคำถามว่า เหตุใดการกลายเป็นเมืองจึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะนี้ และจากการสำรวจนี้แสดงว่าค่านิยมทางสังคมที่เน้นการอยู่กินตามสบาย กำลังจะเปลี่ยนไปสู่ความสุขจากความสำเร็จหรือไม่


 


ด้านการพักผ่อน บันเทิง สื่อมวลชน ภาพยนตร์ ตลาดหนังโรงภาพยนตร์ชั้นหนึ่งในประเทศไทยปี 2548 มีรายได้ตกราว 3.9 พันล้านบาท ไม่ต่างกับปี 2547 นัก โทรทัศน์-วิทยุ มีการแข่งขันสูงขึ้น รายการภาพยนตร์ชุดจากเกาหลีได้รับความนิยมสูง ภาพยนตร์ชุดเกาหลี "ฟูลเฮ้าส์-สะดุดรักที่พักใจ" และ "แดจังกึม" ได้รับการพูดถึงกันจนติดปากในชีวิตประจำวัน รายการประเภทเรียลลิตีโชว์ได้รับความนิยมอย่างสูง เช่น อะคาเดมี แฟนเทเชีย ปีที่ 2 ตรึงผู้ชมได้จำนวนมาก ความเป็นที่นิยมนี้ ถึงขั้นนำไปใช้ในรายการเรียลลิตีโชว์ทางการเมืองในเดือนมกราคม 2549 ความนิยมในรายการเรียลลิตีโชว์นี้ กล่าวได้ว่าเป็นสัญญาณการเติบโตของวัฒนธรรมการแสดง (Performance Culture)


 


สื่อสิ่งพิมพ์ มีสัญญาณการเปลี่ยนแปลงในวงการหนังสือพิมพ์ ที่ค่อนข้างลงตัวและเคลื่อนไหวน้อยมานาน ได้แก่ การรุกซื้อกิจการในเครือ "มติชน" ของกลุ่มธุรกิจบันเทิงแกรมมี่


-ดนตรี-เพลง มีการเคลื่อนไหวไม่มากนัก อาจกล่าวได้ว่าอยู่ในภาวะซบเซา


-แฟชั่น ทั้งนางแบบและเสื้อผ้า "ลุค" แบบตะวันตกยังคงมีอิทธิพลสูง


-การท่องเที่ยว เป็นอุตสาหกรรมใหญ่ที่นำเงินตราต่างประเทศเข้ามาอย่างสดๆ ได้ค่อยๆ ฟื้นตัวจากเหตุร้ายคลื่นสึนามิ


-การกีฬา มีความพยายามที่จะยกระดับการกีฬาของประเทศ ในอีกด้านหนึ่ง พบข่าวความขัดแย้งในการบริหาระดับสูง


ซึ่งคงกระทบต่อความปรารถนาในการยกระดับการกีฬาของชาติไม่น้อย


 


อาชญากรรม-ความรุนแรง


 


มีรายงานการก่ออาชญากรรมในกทม. คดีชิงทรัพย์และปล้นทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์และลักทรัพย์ ตลอดจนคดียาเสพติดในปี 2548 สูงกว่าปี 2547 อย่างมีนัยสำคัญ ส่วนคดีเกี่ยวกับการค้าประเวณีลดลงเล็กน้อย คดีข่มขืนซึ่งมักตกเป็นข่าวใหญ่ ในปี 2548 กลับมีจำนวนน้อยลงเมื่อเทียบกับปี 2547 อย่างเห็นได้ชัด แต่คดีโจรกรรมรถยนต์และรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นพอสมควร โดยรวมกรุงเทพฯมีความปลอดภัยน้อยลง (สยามรัฐ 301248) นอกจากนี้ ยังมีความรู้สึกกันว่าสังคมไทยมีความรุนแรงสูง ควรกำหนดเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขในระดับต้นตอ


 


ศาสนา-ความเชื่อ


ก)         มีการจัดงานทางศาสนาหลายครั้งในประเทศ มีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ (1) งานเพื่อส่งเสริมศาสนา โดยเฉพาะศาสนาพุทธ เช่น งานเนื่องในวันวิสาฃบูชา (2) งานเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างศาสนาต่างๆ ในประเทศ โดยมุ่งหวังที่จะลบความแตกต่างในความเชื่อทางศาสนาที่ถูกอ้างขึ้นมา เพื่อใช้ก่อความไม่สงบในสามจังหวัดภาคใต้ การจัดงานเหล่านี้กล่าวโดยทั่วไปบรรลุความมุ่งหมายในระดับที่แน่นอน สมควรที่จะได้จัดอย่างต่อเนื่องสืบไป


ข)         การฟื้นตัวของโหราศาสตร์ พบว่าคำทำนายทางโหราศาสตร์ได้พื้นที่ในหน้าหนังสือพิมพ์มากขึ้น คำทำนายส่วนใหญ่เป็นด้านลบ การเฟื่องขึ้นของโหราศาสตร์นี้ สะท้อนถึงพื้นฐานที่ยังไม่แข็งแกร่งของวิทยาศาสตร์ภายในประเทศ


การโฆษณาปี 2548


บริษัทเนลสัน มีเดีย รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยตัวเลขการใช้งบโฆษณาปี 2548 ตก 88,931 ล้านบาท มีอัตราเติบโตร้อยละ 5 นายชัยประนิน วิสุทธิผลนายกสมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทยชี้ว่า เมื่อเทียบกับภาวะการปรับขึ้นราคาโฆษณาของสื่อที่ระดับร้อยละ 5-6 แล้วถือว่าไม่มีการเติบโต เป็นสภาวะเหมือนกับปี 2547 สื่อที่มีส่วนแบ่งสูงที่สุดได้แก่โทรทัศน์ ตกร้อยละ 56.24 คิดเป็นมูลค่า 50,016 ล้านบาท อัตราเติบโตร้อยละ 6.03 ที่สองได้แก่หนังสือพิมพ์ซึ่งมีส่วนแบ่งร้อยละ 20.42 มูลค่า 18,159 ล้านบาท เกือบไม่เพิ่มจากปี 2547 ดังนั้นเมื่อเทียบกับภาวะเงินเฟ้อถือว่าลดลง อันที่สามได้แก่วิทยุ มีส่วนแบ่งร้อยละ 7.93 มูลค่า 7,055 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.99 ซึ่งก็ถือว่าลดลงเช่นกัน สำหรับสื่อด้านนิตยสารคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.46 มูลค่า 6.64 พันล้านบาท ถึง 4.5 พันล้านบาท เพิ่มจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 15 (กรุงเทพธุรกิจ 130149,บางกอกโพสต์ 130106)


วัฒนธรรม


กระทรวงพาณิชย์มีแนวคิดตั้ง "กองทุนวัฒนธรรมการพาณิชย์" ภายใต้แผนพัฒนาความทันสมัยของประเทศ เพื่อสนับสนุนการทำงานศิลปะในรูปแบบต่างๆ ให้มีมาตรฐานสากล มีขีดความสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ โดยเฉพาะด้านแอนนิเมชันและภาพยนตร์ (ไทยรัฐ 301248) การมองวัฒนธรรมในเชิงพาณิชย์ได้ถือปฏิบัติมานานแล้ว โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยว การขยายตัวสู่วงการบันเทิงนับว่าเป็นสิ่งน่าสนใจอย่างหนึ่ง


 


6. อาหารและสาธารณสุข: จุดแข็งที่ต้องการปรับตัว


 


สถานการณ์ทั่วไป : อาหารและสาธารณสุขกล่าวได้ว่าเป็นจุดแข็งของประเทศ แต่ก็มีจุดอ่อนที่เป็นเหมือนภัยร้ายซ่อนตัวอยู่ การเป็นจุดแข็งด้านอาหารแสดงออกเช่นประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาไม่กี่ประเทศที่เป็นผู้ส่งออกอาหารสุทธิ อาหารไทยมีรสชาติดีเป็นที่นิยมของนานาประเทศ จากพื้นฐานนี้ก่อให้เกิดนโยบายสร้างภาพการเป็นครัวโลกของประเทศ ตลอดปี 2548 มีการรณรงค์อย่างแข็งขันเกี่ยวกับอาหารปลอดภัย ซึ่งได้ผลอย่างเห็นได้ชัดในเรื่องการปนเปื้อน และยกระดับความสะอาดขึ้น แต่ปัญหาอาหารเป็นพิษก็ยังคงเกิดทั่วไป การวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับการพัฒนาพันธุ์พืชและสัตว์ และด้านอุตสาหกรรมอาหารดำเนินไปพอสมควร แต่กำลังถูกทิ้งห่างเนื่องจากมีเทคโนโลยีใหม่ๆ นอกจากนี้ ข้าวที่เป็นพืชหลักของประเทศ มีผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยของโลก และต่ำกว่าประเทศจีนมาก และยังเกิดโรคระบาดในสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะไข้หวัดนกในไก่และเป็ด ซึ่งยังเป็นภัยคุกคามอยู่ การรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำการเกษตรยังคงดำเนินต่อไป


 


ในด้านสาธารณสุข มีพื้นฐานบุคลากรและระบบที่แข็งแรงพอสมควร สามารถดำเนินโครงการประกันสุขภาพได้ต่อเนื่อง แก้ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นได้ดีพอสมควร โดยทั่วไปยังเป็นที่พอใจของประชาชนผู้รับบริการ ได้รับการชมเชยในการต่อสู้กับไข้หวัดนก และปัญหาโรคเอดส์ได้ดีเป็นแบบอย่าง และความเข้มแข็งของบุคลากรยังทำให้ประเทศไทยรับคนไข้จากต่างประเทศได้ แต่ก็มีปัญหาด้านการบริหาร เกิดการขัดแย้งระหว่างภาคการเมืองและข้าราชการประจำ ทั้งยังมีปัญหาเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างอย่างต่อเนื่อง


 


สถานการณ์ด้านอาหาร


 


สถานการณ์ด้านอาหารเกี่ยวข้องกับสถานการณ์การผลิตและการค้าอาหารโลกอย่างสูง ที่ควรให้ความสำคัญสูงได้แก่ การวิจัยและพัฒนาตั้งแต่การเกษตรธรรมชาติไปจนถึงเทคโนโลยีชีวภาพ โดยเฉพาะขั้นเทคโนโลยีระดับสูง เช่นการดัดแปรยีนและอื่นๆ เนื่องจากประเทศกำลังพัฒนาอื่นอย่างเช่นจีนและเวียดนามเป็นต้น ก็ได้มีการพัฒนาการเกษตรเพื่อส่งออกอาหารด้วยเช่นกัน กระทั่งบรรษัทในอินเดียก็มีความหวังที่จะพัฒนาชนบทของอินเดียให้กลายเป็น "ตะกร้าอาหารโลก" (เอบีซีนิวส์ 290105)


 


สถานการณ์ด้านสาธารณสุข


 


มีที่น่าสนใจได้แก่โครงการประกันสุขภาพ โครงการประกันสุขภาพได้ดำเนินต่อเนื่องมาระยะหนึ่ง มีความมั่นคงจนกลายเป็นสถาบันทางสังคม ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารกับข้าราชประจำที่เป็นแพทย์ การรณรงค์เรื่องลดละเลิกบุหรี่และสุราเมรัย ธุรกิจด้านสุขภาพ มาตรฐานบุคลากรทางการแพทย์ได้เป็นประเด็นเร่งด่วนอย่างหนึ่ง


 


7. การศึกษา: จะไปทางไหนดี


 


สถานการณ์ทั่วไป : ตลอดปี 2548 พบความพยายามในการปฏิรูประบบการศึกษาในหลายด้าน ตั้งแต่การเมืองไปจนถึงการคลัง ในด้านการเมืองที่เห็นชัด ได้แก่ การจัดการศึกษาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดความไม่สงบขึ้น และการเปิดให้มีการถ่ายโอนการศึกษาไปยังองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นแบบใจสมัคร การปรับปรุงหลักสูตรพื้นฐานใหม่ การขยายโอกาสทางการศึกษาโดยมาตรการทางภาษีเช่น เช่นให้องค์กรธุรกิจเอกชนหรือบุคคลที่บริจาคเงินเพื่อการศึกษาสามารถนำไปหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า แต่พลังการขับเคลื่อนดังกล่าวดูไม่พอเพียงที่จะขยับไหวระบบการศึกษาไทยที่ถูกตรึงด้วยปัญหาพื้นฐานที่หนักหน่วงมานานได้ ปัญหาดังกล่าวที่มีการชี้ไว้ เช่น


1)         การบริหารจัดการการศึกษายังไม่ดี 2) การรวมตัวของกลุ่มครู จำนวนหนึ่งเป็นการรวมตัวเพื่อผลทางการเมืองและผลประโยชน์อื่น มากกว่าองค์กรทางวิชาชีพ 3) ช่องว่างระหว่างโรงเรียนยังคงมีสูง 4) มีการสำรวจไอคิวเด็กไทยจากบางสำนัก พบว่าไอคิวเฉลี่ยต่ำกว่ามาตรฐานและลดลงอีก 5) ผลสัมฤทธิ์ในหลายวิชา เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และด้านเทคโนโลยีต่ำมาก ความล้มเหลวในวิชาเหล่านี้ สะท้อนความอ่อนแอของระบบการศึกษาด้วย


จากการที่ระบบการศึกษาไทยที่จัดโดยรัฐมีความอืดอาด ขับเคลื่อนได้ยาก และดูไม่สามารถสนองความต้องการของสังคมได้พอเพียงและทันกาล ได้เกิดผลบางประการ ได้แก่ บทบาทที่เพิ่มขึ้นของภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาต่างประเทศหรือจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ไปจนถึงการเรียนพิเศษ และการเรียนต่อต่างประเทศ ซึ่งดูเหมือนยิ่งจะทำให้ช่องว่างทางการศึกษาขยายออก และแรงกดดันให้มีการปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจังลดลง


 


การทำให้การเรียนการสอนเป็นแบบดิจิตัล


 


ทางการรัฐบาลมีนโยบายและมีการลงทุนในเรื่องการเรียนการสอนระบบดิจิตัลพอสมควร เช่น การเตรียมจัดหาคอมพิวเตอร์มาใช้ในโรงเรียน 2.5 แสนเครื่อง โดยให้นักเรียนอาชีวะเป็นผู้ติดตั้ง และกระทรวงศึกษาฯเป็นผู้ผลิตเนื้อหา นอกจากนี้ยังมีโครงการทำซูเปอร์บรอดแบนด์เน็ตเวิร์ก ซึ่งจะช่วยให้เด็กไทยทั่วประเทศสามารถรับข้อมูลได้ทั่วโลก การทำให้การเรียนการสอนเป็นแบบดิจิตัลนี้ หากกระทำไปอย่างทั่วถึงและจริงจัง จะเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการศึกษาไทยไปอย่างเห็นชัดเจน บางทียิ่งกว่าโดยใช้วิธีการอื่นใด


 


8. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี: การรุดหน้าที่ไม่รั้งรอ


 


สถานการณ์ทั่วไป : มีความก้าวหน้าใหม่จำนวนมากในเทคโนโลยีขั้นสูง ทั้งทางด้านคอมพิวเตอร์ หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ การสร้างหุ่นยนต์ที่รู้จักตนเอง (Self-aware) การสร้างหุ่นยนต์ที่สามารถจำตนเองได้ในกระจกเงา รวมทั้งแยกความแตกต่างระหว่างหุ่นยนต์อื่นที่มีรูปร่างคล้ายกัน และให้หุ่นยนต์เลียนแบบกัน เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การพันธุวิศวกรรม การสังเคราะห์ชีวิตใหม่ การทดลองสังเคราะห์สิ่งมีชีวิต เริ่มต้นจากแบคทีเรีย M. genitalium ที่มีโครโมโซม และมียีน 517 ตัว


 


มีการค้นพบความรู้ใหม่ๆ ทางการแพทย์ การสืบค้นยีนของสิ่งมีชีวิต การสำรวจอวกาศ การไขความลับของจักรวาล ขณะเดียวกันก็พบการแข่งขันที่ดุเดือดยิ่งในปี 2548 เช่น ในด้านคอมพิวเตอร์และการสื่อสาร บริษัทกูเกิลที่เริ่มต้นเป็นเครื่องมือค้นหา ได้ขยายตัวซื้อกิจการ ทั้งเปิดบริการใหม่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2548 มูลค่าหุ้นได้เติบใหญ่ขึ้นมาแทนที่ไมโครซอฟท์ การแข่งขันในหมู่บริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ ทำให้ผู้ผลิตขนาดเล็กบางบริษัทอย่างเช่นพานาโซนิกต้องเลิกสายพานการผลิต ได้เกิดปรากฏารณ์การตลาดทางวิทยาศาสตร์ ที่เด่นในปี 2548 ได้แก่การกุเรื่องงานวิจัยทาง สเต็มเซลล์ และการแถลงข่าวผ่าตัดเปลี่ยนใบหน้าคนเป็นครั้งแรก


 


การแข่งขันทางเทคโนโลยี เช่น ยุโรปส่งดาวเทียมดวงแรกในโครงการกาลิเลโอ ซึ่งเป็นระบบนำร่องหาพิกัดบนพื้นโลก ที่เดิมสหรัฐผูกขาดแต่ผู้เดียว จีนขยายโครงการอวกาศเต็มที่ ถึงขั้นมีโครงการ "เมืองอวกาศ" ส่วนญี่ปุ่นพัฒนาเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ไปอย่างสูง เกาหลีใต้แข่งกับอังกฤษในการวิจัยเรื่องสเต็มเซลล์ จนเกิดเรื่องฉาวโฉ่


สถานการณ์ทั่วไปของวิทยาศาสตร์ไทยแม้ว่าจะประสบความสำเร็จและก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะหลัง แต่ในท่ามกลางการแข่งขันที่เร็วและแรง กล่าวได้ว่า ประเทศไทยยังคงอ่อนแอในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งด้านหนึ่งคงต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากภายนอกต่อไปอีกนานพอสมควร อีกด้านหนึ่ง ต้องเร่งการวิจัยและพัฒนาซึ่งดูจะมีความขาดแคลนตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานไปจนถึงด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะกำลังคน นักวิชาการและนักวิจัยจำนวนไม่น้อย ยังคงให้ความสำคัญกับประเด็นและการเคลื่อนไหวทางการเมืองสูง


 


9. บทลงท้าย: บ่ายหน้าสู่เศรษฐกิจ/สังคมความรู้


 


การสร้างสรรค์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ : กระบวนโลกาภิวัตน์ที่นำโดยบรรษัทข้ามชาติได้ทวีความเข้มแข็งขึ้น ด้วยแรงหนุนสำคัญจากกลุ่มประเทศที่เป็นตลาดเกิดใหม่ อย่างเช่น จีน อินเดีย ได้ร่วมขบวนอย่างแข็งขันในการเปิดการค้าและการลงทุนเสรีทั่วโลก การประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) หรือสภาดาวอส ล่าสุดในปลายเดือนมกราคม 2549 ดำเนินไปอย่างองอาจ ปราศจากกลุ่มประท้วง มีแก่นเรื่องปีนี้ว่า "การสร้างสรรค์ที่ไม่อาจเลี่ยงได้" (The Creative Imperative) ชี้ให้เห็นความจำเป็นในการต้องใช้ความรู้เพื่อการสร้างสรรค์ ในอันที่จะปรับตัวเองใหม่ในภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป และการเปลี่ยนแปลงทางศูนย์อำนาจและความขัดแย้งในโลก กล่าวอีกนัยหนึ่งคือการสร้างเศรษฐกิจ/สังคมความรู้อย่างจริงจัง


 


ในอีกด้านหนึ่ง การประชุมคู่ขนาน ได้แก่ สมัชชาสังคมโลก (World Social Forum) ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งได้ดำเนินการเป็นปีที่ 6 เป็นข่าวน้อยลงกว่าเดิมมาก เป็นสัญญาณบ่งชี้การอ่อนแอลงของกระบวนต่อต้านโลกาภิวัตน์ในเฉพาะหน้านี้ด้วย


 


คาดหมายได้ว่าประเทศไทยจะบ่ายหน้าสู่เศรษฐกิจ/สังคมความรู้ไปด้วย บ้างโดยเต็มใจ บ้างโดยจำใจ และบางครั้งเร็ว บางครั้งช้า แต่เศรษฐกิจ/สังคมความรู้นั้น ก็มิได้ราบรื่นสดใหม่อย่างที่คาด หากเป็นไปด้วยความเร็วและความแรงจากการแข่งขัน มากด้วยความเสี่ยงและความไม่แน่นอน ผู้คนจำต้องเปลี่ยนกรอบความคิดและความเคยชินแบบเก่าสู่แบบใหม่ การเข้าใจสภาวะแวดล้อมตามความเป็นจริง การกล้าเสี่ยงเพื่อไปบรรลุสู่จุดมุ่งหมาย นี่คือมิติหนึ่งของเศรษฐกิจ/สังคมความรู้ มันเป็นสังคมที่ทำให้คนต้องตื่นตัวอยู่ตลอด ต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงและแปลกใหม่ การสำแดงตัวตน การทำงานเป็นทีม เพราะว่าความรู้ที่เป็นประโยชน์ต้องเป็นความรู้ขององค์กร


 


ในเศรษฐกิจ/สังคมความรู้นั้น การออกแบบตั้งแต่การออกแบบทางวัตถุจนถึงการออกแบบสังคม และการแสดงในการแข่งขันคือทุกสิ่ง ถ้าหากไม่ปรับให้เป็นรัฐทันสมัย ก็จะกลายเป็นรัฐที่อยู่ชายขอบได้ในเวลาไม่นาน มันเป็นด่านทดสอบประชาติต่างๆ มากกว่าเป็นสังคมในฝัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net