Skip to main content
sharethis



 


ภาพจาก http://news.bbc.co.uk/2/hi/africa/4735088.stm


 


 


"ในชีวิตของฉัน มีความเชื่อที่สำคัญอย่างหนึ่งว่าหากเรากล้าพูดความจริงเมื่อไหร่ มนุษยชาติก็จะถูกปลดปล่อยจากเงื้อมมือแห่งความรุนแรงอันขลาดเขลาได้ในที่สุด"


 


ประธานาธิบดี เอลเลน จอห์นสัน-เซอร์ลีฟ ผู้นำแห่งไลบีเรีย ประกาศต่อหน้าประชาชนในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2549 ว่ารัฐบาลได้จัดตั้ง คณะกรรมการแห่งสัจจะและสมานฉันท์ หรือทีอาร์ซี (Truth and Reconciliation Commission: TRC) เพื่อตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงสงครามกลางเมือง ซึ่งยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2522 และเพิ่งสิ้นสุดลงเมื่อปี 2546 ที่ผ่านมา


 


ระหว่างที่เกิดสงครามกลางเมืองในไลบีเรีย ได้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การทารุณกรรมทางเพศ การฆาตกรรม การใช้กฎหมู่ และการก่ออาชญากรรมทางธุรกิจ ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าวยังไม่ได้รับความเป็นธรรม ผู้นำคนใหม่แห่งไลบีเรียจึงเรียกร้องให้มีการสอบสวนเรื่องราวต่างๆ อีกครั้งหนึ่ง


 


เจอร์โรม เวอร์เดียร์ ประธานคณะกรรมการทีอาร์ซี และทนายด้านสิทธิมนุษยชนกล่าวว่าการเป็นปากเสียงให้เหยื่อผู้เสียชีวิต คือหนทางเดียวที่จะทำให้สังคมผ่านพ้นความทรงจำเกี่ยวกับสงครามอันเลวร้ายในอดีตไปได้ และหากนำตัวอดีตประธานาธิบดี ชาลส์ เทเลอร์ มาขึ้นศาลพิจารณาคดีได้ ก็จะช่วยให้การชำระประวัติศาสตร์ดำเนินไปถึงที่สุด เนื่องจากเทเลอร์เป็นผู้ก่อกบฏขึ้นในปี 2532 และเป็นชนวนให้เกิดสงครามกลางเมืองยืดเยื้อ ทำให้ผู้บริสุทธิ์จำนวนมากต้องเสียชีวิต


 


อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีจอห์นสัน-เซอร์ลีฟ กล่าวว่าการนำตัวอดีตผู้นำมาพิจารณาคดีเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะขณะนี้ชาลส์ เทเลอร์ลี้ภัยไปอยู่ที่แอฟริกาด้วยความช่วยเหลือของประธานาธิบดี โอลูเซกุน โอบาซันโจ แห่งประเทศไนจีเรีย แต่รัฐบาลไลบีเรียจะพยายามกดดันให้มีการพิจารณาเกิดขึ้น และอาจมีการเรียกตัวชาลส์ เทเลอร์ให้ไปขึ้นศาลที่เซียร์ราลีโอนแทน


 


ถึงแม้การสอบสวนกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนย้อนหลังจะไม่สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องเพื่อทำคดีความได้ แต่ประธานาธิบดีจอห์นสัน-เซอร์ลีฟเชื่อว่าการเปิดเผยความจริงให้กระจ่างจะเป็นหนทางก้าวไปสู่ประชาธิปไตยที่สำคัญ ซึ่งชาวไลบีเรียส่วนใหญ่และนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในแอฟริกาต่างก็เชื่อมั่นและให้การสนับสนุนแนวคิดของผู้นำคนใหม่อย่างเต็มที่


 


ก่อนหน้าที่ประธานาธิบดีจอห์นสัน-เซอร์ลีฟจะได้รับเลือกให้มาดำรงตำแหน่งนี้ในเดือนพฤศจิกายน 2548 เธอเคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลังมาก่อน และพิสูจน์ตัวเองด้วยการทำงานหนัก จนได้รับการขนานนามว่าเป็น "หญิงเหล็ก" แห่งไลบีเรีย


 


เมื่อมีการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2548 จอห์นสัน-เซอร์ลีฟเป็นผู้สมัครหญิงเพียงคนเดียวที่ได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น และถึงแม้ว่าจอห์นสัน-เซอร์ลีฟจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ แต่เธอก็ยังคำนึงถึงการจัดการประเด็นสำคัญอื่นๆ ด้วย เช่น ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนและสวัสดิการสังคม เธอจึงได้รับความนิยมจากชาวไลบีเรียมากกว่าผู้นำคนอื่นๆ ที่เคยมี


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net