Skip to main content
sharethis


ประชาไท—19 ก.พ. 2549 เตะ "อพท." พ้นเกาะพีพี ผู้ว่าฯ กระบี่" ยัน ไม่ประกาศพีพี เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวแน่นอน นัดถกอีก 2 รอบ เคลียร์ผังเกาะ ผู้ประกอบการ - เจ้าของที่ดิน หวั่นนักการเมืองส่ง "อพท." บงการข้างหลัง สนองกลุ่มทุนการเมือง


 


เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2549 ที่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ มีการประชุมคณะทำงานเพื่อบูรณาการพัฒนาพื้นที่บริเวณเกาะพีพี เพื่อพิจารณาแนวทางการฟื้นฟูเกาะพีพี มีคณะทำงานฯ และผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 50 คน มีนายสนธิ เตชานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เป็นประธาน


 


โดยที่ประชุมรับทราบ การกำหนดแนวระยะน้ำทะเลขึ้นสูงสุดตามปกติทางธรรมชาติ ของกรมโยธาธิการและผังเมืองว่า เป็นค่าน้ำขึ้นสูงสุด ซึ่งสูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 2.05 เมตร


 


นายประจิม ไกรรัศมี ผู้แทนบริษัท โมดัส คอลซัลแท้นส์ จำกัด ในฐานะบริษัทฯที่ได้ได้รับการว่าจ้างจากกรมโยธาธิการและผังเมืองให้ศึกษาการจัดวางผังเมืองเกาะพีพี รายงานผลการศึกษาต่อที่ประชุมว่า ได้กำหนดระยะถอยร่นจากแนวชายฝั่งทะเลที่น้ำทะเลขึ้นสูงสุดตามปกติทางธรรมชาติ 10 เมตร เป็นเขตปลอดอาคาร ส่วนชายฝั่งทะเลที่เป็นหิน ให้มีแนวระยะถอยร่นจากแนวชายฝั่งทะเล ตามความยืดหยุ่น 6 เมตร ชายฝั่งทะเลที่เป็นหาดทราย แหลมและเชิงผา ให้มีระยะถอยร่น 15 เมตร สำหรับชายฝั่งทะเลที่ยังไม่มีการพัฒนา ให้มีระยะถอยร่น 30 เมตร


 


นายประจิม กล่าวถึงความสูงของอาคาร พื้นที่อาคารปกคลุมดิน และอัตราส่วนพื้นที่ว่างว่า การก่อสร้างอาคารบนเกาะพีพี มีเงื่อนไขและข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น ประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่กำหนดให้อาคารมีความสูงไม่เกิน 6 เมตร ต้องมีระยะห่างจากแนวชายฝั่งทะเลไม่น้อยกว่า 20 เมตร และต้องมีที่ว่างปราศจากสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของพื้นดินที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ซึ่งเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อเอกชน เจ้าของที่ดิน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในฐานะผู้ให้อนุญาตก่อสร้าง เพราะที่ดินรองรับการพัฒนามีจำกัด ราคาที่ดินสูง ขนาดและรูปร่างของที่ดินและอาคารมีความแตกต่างกัน


 


นายประจิม รายงานต่อที่ประชุมว่า ผลการศึกษาได้แยกความหนาแน่นของอาคารต่อไร่ออกเป็น 4 ลักษณะ คือ การก่อสร้างอาคารอยู่อาศัย, การก่อสร้างห้องแถวหรือตึกแถว, การก่อสร้างสถานที่พักแรม, การก่อสร้างอาคารสาธารณะหรืออาคารขนาดใหญ่ มีสัดส่วนพื้นที่อาคารปกคลุมดินต่อพื้นที่ว่างแตกต่างกันไป


 


นายชาญณรงค์ เตชะรัชต์กิจ เจ้าของโรงแรมพีพีปริ๊นเซส เสนอว่า ให้เพิ่มพื้นที่อาคารเป็นไม่เกิน 1,000 ตารางเมตร และสัดส่วนพื้นที่อาคารปกคลุมดินต่อพื้นที่ว่างเป็น 40 ต่อ 60 และให้เพิ่มความสูงของอาคารเป็น 12 เมตร


 


เนื่องจากเกาะพีพี มีประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่จังหวัดกระบี่ พ.ศ. 2546 กำหนดให้เกาะพีพีดอน ให้ก่อสร้างได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน 6 เมตร ต้องมีระยะห่างจากชายฝั่งทะเลไม่น้อยกว่า 20 เมตร และกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ออกประกาศภายหลังเกิดเหตุคลื่นยักษ์สึนามิ กำหนดระยะถอยร่นจากแนวชายฝั่งทะเลไม่น้อยกว่า 30 เมตร ส่งผลให้ผลการศึกษาของบริษัทโมดัส คอนซัลแท้นส์ จำกัด และข้อเสนอของนายชาญณรงค์ ไม่สามารถปฏิบัติได้ เพราะขัดกับประกาศของทั้ง 2 หน่วยงานดังกล่าว


 


นายสนธิ จึงนัดประชุมเพื่อหาทางออกในประเด็นนี้อีกครั้ง เวลา 13.00 น. วันที่ 3 มีนาคม 2549 ที่ศาลากลางจังหวัดกระบี่


 


นายนิยุต ดุสิตกุล เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดกระบี่ ชี้แจงผลการตรวจสอบรังวัดแนวเส้นทางหนีภัย 11 เส้นทางว่า มี 4 เส้นทางที่มีความกว้างไม่ถึง 5 เมตร จากการประชุมร่วมกับเจ้าของที่ดินทั้ง 11 เส้นทาง เจ้าของที่ดินทั้งหมดยินยอมยกที่ดินให้ใช้เป็นเส้นทางหนีภัยได้ แต่ไม่ยินยอมยกที่ดินให้เป็นของรัฐ และไม่ขอรับเงินค่าชดเชย ทางสำนักงานที่ดินจังหวัดกระบี่ จึงขอให้เจ้าของที่ดินลงนามยินยอมให้รัฐเข้าไปใช้ประโยชน์เหนือพื้นดิน สำหรับที่ดินบางแปลงที่เจ้าของนำไปจำนองกับธนาคาร ต้องให้ธนาคารในฐานะผู้มีส่วนได้เสียลงนามยินยอมด้วย


 


นายสนธิ จึงนัดเจ้าของที่ดินทั้งหมด พร้อมประธานชมรมธนาคารจังหวัดกระบี่ และผู้จัดการสาขาธนาคารที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม เพื่อทำความเข้าใจขั้นตอนการให้ความยินยอม และให้เจ้าของที่ดินและธนาคารที่รับจำนอง ให้ความร่วมมือลงนามยินยอมให้รัฐเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินด้วย ในเวลา 13.00 น. วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2549 ที่ศาลากลางจังหวัดกระบี่


 


ก่อนปิดการประชุม นายสมหมาย จันทร์ทิน ผู้ประกอบการบนเกาะพีพี ได้ขอให้นายสนธิ ยืนยันกับผู้เข้าร่วมประชุมว่า องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) จะไม่ประกาศให้เกาะพีพีเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว


 


นายสนธิ ยืนยันว่า จะไม่มีการประกาศเกาะพีพีเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวแน่นอน ตนขอประกาศให้เป็นที่รับรู้ทั่วกัน โดยไม่ต้องลงนาม


 


นายสนธิ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า ทางจังหวัดกระบี่จะเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ในการฟื้นฟูเกาะพีพี โดยจะดำเนินการให้ให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวทันช่วงไฮซีซั่น ปลายปี 2549


 


อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้ประกอบการ และเจ้าของที่ดินบนเกาะพีพีจำนวนหนึ่ง ยังไม่แน่ใจว่า องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ยังมีบทบาทอยู่ข้างหลังในการกำหนดแนวทางการท่องเที่ยวของเกาะพีพี เพื่อสนองความต้องการของกลุ่มทุนบางกลุ่มอยู่หรือไม่ เนื่องจากขณะนี้มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มทุนที่ใกล้ชิดรัฐบาล เข้ามากว้านซื้อที่ดิน และก่อสร้างโรงแรมบนเกาะพีพีกันอย่างคึกคัก


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net