Skip to main content
sharethis


วิลาศ เตชะไพบูลย์

 


เป็นเรื่องปกติที่ข่าวคราวและภาพเหตุการณ์ของท่านผู้นำประเทศท่านแล้วท่านเล่า ที่หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันลงไปเยียวยาผู้ยากไร้ในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ จะได้รับการบันทึกและถ่ายทอดถึงประชาชนทั่วประเทศอยู่เป็นประจำ หากแต่ว่า ตลอดมา ความยากจนก็หาได้ลดน้อยถอยลงไปแต่ประการใดไม่ ตรงกันข้าม กลับพอกพูนกลายเป็นหนี้เป็นสินมากขึ้นเรื่อยมา


 


และยิ่งไปกว่าทุกครั้ง การลงไปทำงานช่วยเหลือคนจนผู้ยากไร้ที่ตำบลอาจสามารถจังหวัดร้อยเอ็ดของท่านนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรในครั้งนี้ ถือว่าเป็นครั้งแรกในประวัติการณ์ที่แทบทุกอิริยาบถของท่านผู้นำได้ถูกถ่ายทอดผ่านทางจอโทรทัศน์ไปทั่วประเทศเป็นเวลานานถึงสี่วันสี่คืน ข้อความเอสเอ็มเอสที่ไหลมาเทมาทางสถานีต่างๆ ส่วนใหญ่ล้วนแสดงถึงความปลาบปลื้มดีใจ หลายคนแสดงถึงความปรารถนาที่อยากเห็นท่านนายกฯเดินทางไปเยี่ยมเยียนตำบลของเขาบ้าง


 


ฝ่ายที่เห็นด้วยกับท่านนายกก็มองว่า ความจำเป็นในการถ่ายทอดสดที่ตำบลอาจสามารถ เกิดจากการที่ข้าราชการยังไม่เข้าใจวิธีการแก้ไขความยากจนที่ถูกต้องเสียที ดังนั้น ท่านนายกฯจึงจำเป็นต้องลงไปทำให้ดูเป็นตัวอย่าง


 


ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็มองว่า โดยเนื้อหาสาระแล้ว โมเดลอาจสามารถไม่มีความแตกต่างจากการปฏิบัติงานในอดีตของรัฐบาลชุดนี้หรือชุดก่อนๆ แต่ประการใด จะแตกต่างก็ตรงที่ในครั้งนี้ท่านนายกฯใช้เงินส่วนตัวช่วยเหลือชาวบ้านมากกว่าที่เคยให้ เท่านั้นเอง


 


อย่างไรก็ตาม ผลของการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนดูจะชี้ว่า ผู้คนส่วนใหญ่ไม่ได้มีความคิดเห็นแต่อย่างไรต่อการถ่ายทอดสดนี้ หรืออีกนัยหนึ่ง พวกเขากลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับการกระทำครั้งนี้ของท่านนายกฯเลย


 


สำหรับผู้ที่มีอำนาจในการปกครองแล้ว การที่มีประชาชนกว่าครึ่งไม่สนใจเรื่องส่วนรวมไม่ใช่เป็นเรื่องเสียหายเลย หากแต่เป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะหากบวกรวมคนกลุ่มใหญ่นี้เข้ากับคนอีกเล็กน้อยที่เห็นพ้องกับผู้กุมอำนาจ ก็เท่ากับว่าเป็นมติเสียงส่วนใหญ่แล้วที่ยินยอมให้ผู้ปกครองสามารถจะทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ โดยไม่จำเป็นต้องแยแสต่อคำคัดค้านใดๆจากกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับพวกเขาเลย


 


หลายคนเชื่อว่าความเมินเฉยต่อสังคมของผู้คนส่วนใหญ่นี้ เป็นแค่เรื่องตามธรรมชาติของมนุษย์เท่านั้น จริงหรือที่ธาตุแท้ของมนุษย์คือความเห็นแก่ตัว จริงหรือที่คนส่วนใหญ่พออกพอใจกับการเป็นเพียงผู้บริโภคที่ดี ต้องการแต่รอคอยเพื่อแก่งแย่งกันตักตวงผลประโยชน์ที่คนอื่นเป็นผู้ทำ ทั้งนี้โดยไม่ได้แยแสเลยว่าจะมีใครบ้างมีต้องเดือดร้อน หากทั้งหมดนี้เป็นเรื่องจริง ก็เท่ากับว่าเราคงหมดหวังแล้วที่จะเห็นสังคมไทยที่เป็นอยู่พัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีงามขึ้นกว่านี้ได้


 


การค้นพบยีนความร่วมมือในมนุษย์


ก่อนหน้าที่จะวิวัฒนาการมาเป็นมนุษย์ เราต่างก็มีคุณสมบัติในการเป็นสัตว์สังคมที่จำเป็นต้องร่วมมือกัน พร้อมบูรณ์ในตัวเองอยู่แล้ว มาเมื่อประมาณ 10 ปีนี้เอง ที่นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบเซลประสาทชนิดพิเศษในสมองลิงที่เรียกว่า เซลประสาทกระจก (mirror neurons)[1] ซึ่งต่อมาทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยยูซีแอลเอในสหรัฐก็พบว่า มนุษย์เองก็มีเซลชนิดนี้เช่นกัน


 


ในการทดลองพบว่า เมื่ออาสาสมัครเห็นอาสาสมัครอีกคนหนึ่งถูกแทงด้วยเข็ม เซลประสาทนี้จะส่งสัญญาณเลียนแบบทำให้เขารู้สึกได้เสมือนหนึ่งว่าเขากำลังถูกเข็มแทงเอง[2]


 


จากคุณลักษณะพิเศษของเซลนี้ จึงทำให้เราไม่อาจแยกตัวเองออกจากผู้อื่นได้ หรืออีกนัยหนึ่ง เราถูกโปรแกรมมาในยีนเพื่อไม่ให้มีแต่ความเห็นแก่ตัว นั่นเอง


 


ยิ่งไปกว่านี้ ด้วยแรงผลักทางธรรมชาติของมนุษย์ในการร่วมมือกัน อันเป็นผลมาจากเซลประสาทกระจกนี้เอง มนุษย์จึงได้ช่วยกันค้นคิดปรับปรุงเทคโนโลยีในการติดต่อสื่อสารและประสานงานกันให้มีประสิทธิภาพสูงยิ่งกว่าที่ธรรมชาติสร้างให้ ตั้งแต่ ภาษา ตัวอักษร การพิมพ์ โทรศัพท์ วิทยุ โทรทัศน์ จนกระทั่งมาถึงระบบอินเตอร์เน็ทไร้สายในปัจจุบัน


 


ทฤษฎีเกมกับกลไกความร่วมมือในสมองมนุษย์


เพิ่งไม่นานมานี้เองที่สังคมไทยได้เริ่มรู้จักกับศาสตร์ในการศึกษาพฤติกรรมในการร่วมมือกันของมนุษย์ที่เรียกว่า "ทฤษฎีเกม" หากแต่ว่าเป็นที่น่าเสียดายที่ข้อมูลเกี่ยวกับทฤษฎีนี้ในประเทศไทยมีอยู่เพียงข้อมูลงานวิจัยเก่าๆ ในอดีตจากการค้นพบของทฤษฎีนี้ในยุคต้นๆ ที่ยังตั้งอยู่บนสมมุติฐานผิดๆ ว่า มนุษย์ตัดสินใจอย่างมีเหตุมีผลเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของตนเท่านั้น (rational choice model)[3]


 


ในปี 2545 ได้เกิดการค้นพบอันสำคัญในศาสตร์นี้ที่นำไปสู่การหักล้างสมมุติฐานดั้งเดิมจนหมดสิ้น ในการทดลอง 2 ชุดที่มีชื่อว่า เกมข้อเสนอสุดท้าย (ultimatum game) และเกมทรัพย์สินสาธารณะ (public goods game) ได้ข้อสรุปว่า 1.มนุษย์แสดงออกถึงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มากกว่าที่ทฤษฎีเกมเคยตั้งสมมุติฐานไว้ 2.มนุษย์พร้อมจะลงโทษคนโกงแม้จะต้องสูญเสียประโยชน์ส่วนตนก็ตาม 3.ความรู้สึกเป็นสุขที่เกิดจากการเสียสละเพื่อผู้อื่น บวกกับความโกรธที่ถูกเอาเปรียบและความสะใจที่มาจากการได้ลงโทษคนที่เอาเปรียบ เป็นตัวตอกย้ำให้ปัจเจกบุคคลกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม[4]


 


เกม "ข้อเสนอสุดท้าย" : เรื่องดีของการซุบซิบนินทา


 


ในเกม ข้อเสนอสุดท้ายนั้นมีผู้เล่นคราวละ 2 คนที่จะเล่นกันเพียงครั้งเดียว หลังจากที่ได้เล่นแล้วทั้งสองจะไม่ได้เล่นด้วยกันอีก การเล่นเป็นการแบ่งเงิน 100 เหรียญระหว่างกัน ผู้เล่นคนแรกจะเป็นผู้โยนเหรียญหัวก้อยเพื่อตัดสินว่า ใครจะได้มีสิทธิกำหนดส่วนแบ่ง ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับส่วนแบ่งมีสิทธิที่จะเลือกว่าจะรับส่วนแบ่งนั้นหรือไม่ ถ้ารับต่างฝ่ายต่างก็ได้ แต่ถ้าผู้รับไม่รับ ผู้ที่ทำการแบ่งก็จะไม่ได้รับเช่นกัน[5]


 


ราวสองในสามของผู้เล่นจะแบ่งเงิน 40 ถึง 50 เหรียญให้หุ้นส่วน แต่มีเพียง 4 คนใน 100 เท่านั้นที่กล้าแบ่งให้น้อยกว่า 20 เหรียญ การทดลองนี้แสดงว่า ผู้คนส่วนใหญ่ไม่ต้องการเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น


 


ส่วนใหญ่ของผู้ที่ได้รับข้อเสนอส่วนแบ่งที่น้อยกว่า 20 เหรียญนี้ ปฏิเสธการรับเงินเพื่อลงโทษผู้ที่แบ่งอย่างไม่เป็นธรรม[6] สาเหตุที่มนุษย์ยอมเสียผลประโยชน์ส่วนตัวเพื่อลงโทษผู้ที่เอาเปรียบ เกิดจากการถูกปลูกฝังในจิตใต้สำนึกผ่านการวิวัฒนาการของมนุษย์ที่สะสมมานับล้านปี


 


ในอดีตมนุษย์อาศัยอยู่กันเป็นกลุ่มเล็กๆ สมาชิกของกลุ่มสื่อสารข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับกันและกันผ่านการซุบซิบนินทา หากมีผู้ใดผู้หนึ่งยินยอมให้ผู้อื่นเอาเปรียบโดยที่ไม่พยามต่อสู้แต่ประการใดเลย เมื่อชื่อเสียงว่าเป็นคนอ่อนแอนี้เป็นที่ล่วงรู้กับสมาชิกอื่นๆในกลุ่ม ต่อไปสมาชิกคนอื่นก็จะหันมาเอาเปรียบสมาชิกคนนี้อีก ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเอารัดเอาเปรียบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มนุษย์จึงถูกโปรแกรมมาให้ต้องพยายามต่อสู้กับผู้ที่เอารัดเอาเปรียบด้วยทุกวิถีทาง[7]


 


เกม "ทรัพย์สินสาธารณะ" ข้อดีของการลงโทษ


ส่วนเกมทรัพย์สินส่วนรวมนั้นเป็นการเล่นกันเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 4 คนและเล่นกันหลายรอบ ในตอนเริ่มต้นแต่ละคนจะได้รับเงินคนละเท่าๆกันไว้เป็นเงินก้นถุง ต่างมีสิทธิตัดสินใจว่าจะลงขันในกองกลางเท่าไหร่ เสร็จแล้วเงินที่อยู่ในกองกลางจะถูกนำมาคูณเพื่อให้เกิดเป็นกำไร แล้วจึงหารสี่เพื่อแบ่งให้แต่ละผู้เล่นคนละเท่าๆ กัน จากนั้นก็เฉลยว่า แต่ละคนได้ลงขันไปคนละเท่าไหร่ และเริ่มเล่นรอบใหม่ด้วยการให้แต่ละคนตัดสินใจลงขันกันอีก[8]


 


ในการเล่นของบางกลุ่ม ผู้เล่นมีสิทธิที่จะลงโทษผู้เล่นที่เอาเปรียบส่วนรวมได้ แต่ต้องควักกระเป๋าเป็นค่าใช้จ่ายในการลงโทษ


 


ผลสรุปของการทดลองพบว่า กลุ่มที่อนุญาตให้มีการลงโทษผู้ที่เอาเปรียบได้ ส่วนรวมทำได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่สามารถลงโทษกันได้


 


ยุทธ์ศาสตร์ "ดีมาก็ดีไป" แวมไพร์ และชื่อเสียง


ในโลกที่มีทั้งการเอารัดเอาเปรียบและการร่วมมือนี้ จะรู้ได้อย่างไรว่าเมื่อไหร่ควรจะร่วมมือกับใคร และเมื่อไหร่ไม่ควรจะร่วมมือ นี่คือคำถามที่นำไปสู่การทดสอบทางคอมพิวเตอร์ในปี 2522 ของนายโรเบิร์ต แอกเซลร้อด[9]


 


การทดลองนี้มีชื่อว่า เกมผู้ต้องหา-ฉบับเต็ม (Iterated Prisoner"s Dilemma) เกมนี้มีผู้เล่นสองคนที่สมมุติเป็นผู้ต้องหาในคดีเดียวกันที่ถูกแยกขังและนำมาสอบสวนทีละคน ดังนั้นต่างฝ่ายต่างไม่ทราบว่าอีกฝ่ายให้การไปว่าอย่างไร


 


ถ้าผู้ต้องหาทั้งสองร่วมมือกันไม่สารภาพ ต่างก็หลุดเป็นอิสระ หากทั้งสองฝ่ายสารภาพ ต่างก็ได้รับลดหย่อนโทษเป็นจำคุกคนละ 2 ปี แต่หากว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสารภาพ แต่อีกฝ่ายไม่รับ ฝ่ายที่สารภาพก็ได้รับโทษเพียงปีเดียว ส่วนฝ่ายที่ไม่ยอมสารภาพต้องรับโทษจำคุกเต็มถึง 3ปี


 


นายแอกเซลร้อดได้ทำโปรแกรมไว้ 14ชุด โดยในแต่ละชุดเขาได้กำหนดยุทธ์ศาสตร์ที่แตกต่างกันไว้ให้กับผู้เล่น แต่ละโปรแกรมถูกตั้งให้เล่นเป็นจำนวนทั้งสิ้น 200 รอบ[10]


 


เมื่อการทดสอบทั้งหมดจบสิ้นลง ผลก็คือ โปรแกรมที่ผู้เล่นใช้ยุทธ์ศาสตร์แบบดีมาก็ดีไป (TIT FOR TAT) เป็นผู้ชนะเลิศ ยุทธ์ศาสตร์นี้ก็คือ ให้ผู้เล่นตัดสินใจร่วมมือในตาแรก และในตาต่อไปให้ปรับเปลี่ยนการตัดสินใจไปตามการกระทำของอีกฝ่ายในตาที่แล้ว กล่าวคือ ถ้าอีกฝ่ายไม่ร่วมมือในตานี้ ก็ให้ไม่ร่วมมือในตาหน้า แต่ถ้าอีกฝ่ายหันมาให้ความร่วมมือในตาหน้า ก็ให้กลับมาร่วมมือใหม่ในตาถัดไป[11]


 


ไม่ใช่แต่เพียงมนุษย์เท่านั้นที่รู้จักรใช้ยุทธ์ศาสตร์นี้ สัตว์อีกหลายชนิดก็ใช้วิธีนี้ด้วย ตัวอย่างเช่นค้างคาวดูดเลือดในประเทศคอสตาริก้า พวกมันจะคายเลือดออกมาเลี้ยงเพื่อนที่ต้องหิวโหยเพราะโชคร้ายในการล่าเหยื่อเป็นการตอบแทน เฉพาะตัวที่เคยช่วยเหลือพวกมันเท่านั้น


 


ยิ่งไปกว่านี้ ในสังคมมนุษย์ การมีชื่อเสียงว่าเป็นผู้โอบอ้อมอารีนั้นเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะนั่นหมายถึงว่า การมีคนจำนวนมากที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือและร่วมมือด้วย อีกทั้งยังเป็นโอกาสในสร้างฐานะทางสังคมและการหาคู่ครองที่ดีได้ ดังนั้น มนุษย์จึงยอมที่จะเสียสละเพื่อส่วนรวมเพื่อแลกกับชื่อเสียงของการเป็นคนดี นักชีววิทยาเรียกการกระทำนี้ว่า การส่งสัญญานราคาแพง (costly signaling)[12]


 


การทำสังคมจีเอมโอเพื่อการปกครอง


แท้จริงแล้ว มนุษย์ถูกตั้งโปรแกรมมาให้สามารถร่วมมือกันได้เองอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้โดยไม่ต้องมีผู้อื่นมากำกับดูแล ธาตุแท้ของมนุษย์นั้น สนใจและห่วงใยกันและกัน ต้องการเสียสละเพื่อผู้อื่น สามารถแยกแยะได้ว่าใครคือคนดีคนไม่ดี พร้อมที่จะสนับสนุนคนดี และต้องการลงโทษคนที่เอาเปรียบส่วนรวม แต่ถ้ามนุษย์เป็นเช่นนั้นแล้ว สังคมปัจจุบันเป็นแบบอยู่นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร


 


คำตอบก็คือ เป็นไปตามแนวคิดในการปกครอง สมมุติฐานของการปกครองในช่วงหนึ่งศตวรรษมานี้ ไม่ว่าจะเป็นระบอบเผด็จการ สังคมนิยมหรือประชาธิปไตย ทุกระบบก็ตั้งอยู่บนแนวคิดที่ว่า มนุษย์โง่เขลา เห็นแก่ตัว และเป็นอันตรายต่อส่วนรวม ดังนั้นสังคมจึงจำเป็นต้องมีกลุ่มคนส่วนน้อยที่มีความรู้ความสามารถมาปกครอง


 


และตลอดมาภายใต้การปกครองของพวกเขา แนวคิดนี้ก็ได้ถูกปลูกถ่ายฝังรากลึกลงสู่จิตสำนึกของเราทุกคน จนกระทั่งในเวลานี้ ธรรมชาติที่แท้จริงของความห่วงใยในเพื่อนมนุษย์ที่มีอยู่ในตัวของกันและกันได้กลายเป็นเพียงแค่ความทรงจำอันเลือนลางในอดีตที่หมดสิ้นไปนานแล้ว เท่านั้น เช่นเดียวกันกับสายตาของเหล่าชนชั้นปกครองที่มองเราอย่างหวาดระแวง วันนี้เราต่างก็มองกันและกันในฐานะคนแปลกหน้าที่ต้องระวัง เช่นกัน


 


ทางเดียวที่คนส่วนน้อยจะสามารถควบคุมสั่งการคนส่วนใหญ่ได้ จำเป็นต้องอาศัยยุทธ์ศาสตร์แบ่งแยกแล้วปกครอง ทั้งนี้โดยผ่านการใช้กฎหมายบังคับและการควบคุมความคิดอ่าน


 


ในช่วงต้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อราว 200 ปีที่แล้ว นายเจอรามี่ เบ็นแฮมนักปรัชญา รัฐศาสตร์และสถาปนิกชาวอังกฤษได้ค้นพบว่า การควบคุมความรู้สึกนึกคิดเป็นวิธีการควบคุมสังคมที่ดีกว่าการใช้กฎหมายลงโทษ


 


ในคุกที่เขาออกแบบขึ้น นักโทษจะถูกแยกขังในห้องที่ไม่สามารถจะติดต่อสื่อสารกันได้ หลังคาห้องขังจะเปิดโล่งออกเพื่อให้ผู้คุมสามารถจับตาดูนักโทษได้ตลอด 24ชั่วโมง จากยอดหอคอยซึ่งเป็นจุดที่นักโทษมองไม่เห็น


 


เขาพบว่า คุกแบบใหม่นี้ไม่จำเป็นต้องมีผู้คุมจำนวนมากไว้คอยตรวจตรานักโทษเท่าแต่ก่อน เพราะเพียงแค่นักโทษรับรู้ว่าผู้คุมสามารถจับตาดูเขาได้ตลอดเวลา เท่านี้ก็พอที่จะทำให้นักโทษไม่กล้ากระทำผิดแล้ว[13]  แนวทางการออกแบบสถาปัตยกรรมนี้ได้ถูกนำใช้ออกแบบสถานกักกัน โรงพยาบาล โรงเรียน และโรงงานต่างๆอีกมากมายทั่วโลก


 


ต่อมาในปี 2475 นายแฮโรลด์ ลาสเวล หนึ่งในนักวิชาการผู้บุกเบิกวิชารัฐศาสตร์แขนงปัจจุบัน ก็ได้ให้กำเนิดแก่ศาสตร์ใหม่ที่เขาเรียกว่าการโฆษณาชวนเชื่อ(Propaganda) [14]


 


สิ่งที่เขาเสนอก็คือ สังคมควรจะเลิกงมงายกับแนวคิดแบบประชาธิปไตยที่เก่าแก่คร่ำครึเสียที ความเชื่อที่ว่าคนธรรมดาสามัญสามารถตัดสินใจเพื่อตัวเองได้นั้นไม่เป็นความจริง พวกเขาทำไม่ได้ แต่ว่าชนชั้นปกครองทำได้เพราะว่ามีความรู้ความสามารถ ดังนั้นผู้ปกครองจึงจำเป็นต้องป้องกันไม่ให้ผู้คนส่วนใหญ่เข้ามายุ่มย่ามกับการปกครองจนเป็นภัยอันตรายต่อตัวพวกเขาเอง ทั้งนี้ด้วยการใช้ศาสตร์ของการโฆษณาชวนเชื่ออย่างถูกวิธี


 


นโยบายทำชุมชม (ของผู้นำ) ให้เข้มแข็ง


ด้วยประสิทธิภาพของการโฆษณาชวนเชื่อที่เพิ่มขึ้นเรื่อยมานี้ กลุ่มนักปกครองไม่ได้ทำเพียงแค่แยกผู้คนส่วนใหญ่ออกจากการปกครองเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขายังประสบความสำเร็จในการลดทอนศักยภาพในการร่วมมือกันเองของสังคมลงอีกด้วย


 


เริ่มต้นตั้งแต่การทำให้เราหวาดระแวงและหมดความไว้วางใจในความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ทางรอดเดียวจึงมีแต่เพียงการยอมรับให้คนส่วนน้อยที่พร้อมด้วยความรู้ความสามารถมาปกครอง เพื่อที่จะได้ปกป้องตัวเราจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน


 


เช่นเดียวกับเหล่านักโทษที่ถูกขังเดี่ยวในคุกของนายเบ็นแฮม วันนี้ เราต่างก็ถูกทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าเราแทบไม่มีค่าต่อกันและกันอีกต่อไปแล้ว ในพื้นที่ส่วนย่อยที่สุดของสังคมที่เป็นส่วนตัวนี้ มีแต่ตัวเรากับผู้กุมอำนาจเหนือเราเท่านั้นที่ดำรงอยู่ ดังนั้นจึงมีแต่ความสัมพันธ์ส่วนตัวกับขั้วอำนาจที่ยังคงความสำคัญ เพราะผู้กุมอำนาจเท่านั้นคือผู้ที่สร้าง แบ่งปันและปกป้องผลประโยชน์ทั้งปวงให้กับเรา ฉะนั้นจึงมีแต่พวกเขานั่นแหละที่เราต้องร่วมมือด้วย ไม่ใช่พวกเรากันเอง


 


สรุป


มาถึงวันนี้ เรามีข้อเท็จจริงพร้อมบูรณ์ที่ชี้ชัดว่า มนุษย์มิได้มีแต่ด้านมืดของความเห็นแก่ตัวดังที่เข้าใจกัน หากแต่ว่า เราต่างก็มีด้านที่ต้องการร่วมมือกันสร้างสรรค์ความดีงามให้กันและกันอีกด้วย


 


แท้จริง ผู้คนส่วนใหญ่มิได้สนใจกับข่าวคราวการบ้านการเมืองเพราะไม่สนใจว่าใครบ้างในสังคมที่เดือดร้อน ตราบใดที่ตัวเองยังสามารถเอาตัวรอดได้ หากแต่เป็นเพราะตลอดมาพวกเขาได้ถูกอบรมบ่มเพาะให้เชื่อมั่นในการปกครองโดยผู้มีอำนาจ แทนที่จะไว้วางใจตนเองและเพื่อนร่วมสังคมเดียวกัน


 


และหากเข้าใจวัตถุประสงค์ที่แอบแฝงอยู่เบื้องหลังแนวคิดการปกครองอย่างถ่องแท้แล้ว เราจะพบว่า แท้จริง การถ่ายทอดสดปฏิบัติการแก้จนที่อาจสามารถ ก็เป็นเพียงการตอกย้ำความสัมพันธ์ส่วนตัวของประชาชนแต่ละคนกับขั้วอำนาจที่ดำรงอยู่มาช้านานอีกครั้งหนึ่งเท่านั้นเอง จะแตกต่างจากในอดีตก็ตรงที่ครั้งนี้เป็นการประกาศว่า วันนี้อำนาจทั้งปวงมิได้อยู่ที่กลุ่มชนชั้นปกครองอีกต่อไป แต่ทว่ามันได้ตกอยู่ในมือของท่านผู้นำคนนี้เพียงคนเดียวแล้ว


 


ประวัติศาสตร์ของการโค่นล้มผู้นำที่คดโกงเอารัดเอาเปรียบครั้งแล้วครั้งเล่าก็เป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่า ตราบเท่าที่สัญชาติญาณในการต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมยังคงดำรงอยู่ในตัวมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม ผู้คนส่วนใหญ่ก็ยังพร้อมที่จะร่วมมือกันลงโทษผู้นำอีกครั้งหนึ่งอย่างแน่นอน คำถามที่สำคัญคือ ก็ในเมื่อร่วมมือกันเองได้ แล้วทำไมถึงต้องให้คนอื่นมาปกครอง


 


..............................


ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://nokkrob.org


------------------------------------------------


[1] " Mind Wild


[1] " Mind Wild Open " Steven Johnson ,2004,หน้า23


[2] " Mirror neurons and a brain in a vat " V.S.Ramachandran,12/01/06, www.edge.org


[3] " The Complexity of Coorperation " Robert Axelrod,1997,หน้า4


[4] " Smart Mobs " Howard Rheingold,2002,หน้า129


[5] เพิ่งอ้าง หน้า130


[6] เพิ่งอ้าง


[7] เพิ่งอ้าง


[8] เพิ่งอ้าง


[9] " Complexity " M.Mitchell Waldrop,1992,หน้า263-4


[10] เพิ่งอ้าง


[11] เพิ่งอ้าง


[12] " Smart Mobs "หน้า 128


[13] http://cartome.org/panopticon1.htm


[14] " Imperial Ambition " Noam Chomsky,2005,หน้า 23


 

 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net