Skip to main content
sharethis


                              



เครือข่ายภาคประชาชนภาคเหนือ ถกปัญหาที่เกิดจากโครงการเมกะโปรเจก ซึ่งจะมีการเสนอในที่ประชุม ครม.สัญจร 7 ก.พ.นี้ ที่เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ชี้เมกะโปรเจกหลายๆ โครงการไม่โปร่งใส มีผลประโยชน์ทับซ้อน และสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต และวัฒนธรรมคนท้องถิ่นอย่างหนัก โดยเฉพาะโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เข้าข่ายผิดกฎหมายหลายฉบับ 


เมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมบ้านธารแก้ว ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เครือข่ายภาคประชาชน ภาคเหนือ ได้จัดเวทีถกปัญหาที่เกิดจากเมกะโปรเจกของรัฐ รวมทั้งทีของรัฐบาลที่จะมีการประชุมครม.สัญจร จังหวัดเชียงใหม่ ขึ้นที่เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ในระหว่างวันที่ 5-7 ก.พ.นี้ 


ฟันธง ไนท์ซาฟารี เข้าข่ายผิดกฎหมายหลายฉบับ


นายนิคม พุทธา มูลนิธิคุ้มครองพรรณพืชและสัตว์ป่าฯ ภาคเหนือ กล่าวว่า กรณีการดำเนินโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีนั้นถือว่าได้ทำผิดกฎหมายหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ พ.ศ.2535 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และ พระราชกฤฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(องค์การมหาชน) รวมไปถึงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ที่ว่าด้วยการเรื่องการมีส่วนร่วม เช่น การรับรู้ข่าวสาร การกำกับดูแล ติดตามตรวจสอบ เป็นต้น 


"เนื่องจากว่า โครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี มีการใช้พื้นที่อุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย แต่ว่าโครงการดังกล่าวกลับไม่ทำตามพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 เช่น ไม่มีการเพิกถอน รวมทั้งกฎหมายอุทยานฯ ที่มีการห้ามนำพืชและสัตว์ต่างถิ่นท้องถิ่นเข้าไปในเขตอุทยานฯ คือให้มีการรักษาสภาพเดิมให้มากที่สุด จะต้องมีการศึกษาระบบนิเวศน์ของพืชและสัตว์เสียก่อน ก่อนที่จะมีการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่กลับมีการนำสัตว์ป่าจากต่างประเทศเข้ามา จนล่าสุด ทำให้ประเทศเคนยา สั่งระงับไม่ให้นำสัตว์ป่าจากเคนยา จำนวน 175 ตัว ให้กับเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี"


นายนิคม กล่าวอีกว่า นอกจากนั้น โครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารียังขัดต่อ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม คือไม่มีการทำการศึกษาผลกระทบ หรือ EIA ทั้งที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ และมีการเปลี่ยนพื้นที่ป่า มีการก่อสร้างขนาดใหญ่ แต่รัฐกลับหลีกเลี่ยงไม่มีการศึกษา EIA รวมไปถึงผลกระทบต่อวิถีชีวิต วัฒนธรรมแต่อย่างใด ดังนั้น ถือว่าโครงการดังกล่าวมีการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง ไม่โปร่งใส มีการใช้จ่ายงบประมาณมากจนผิดสังเกต แต่ไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งล้วนแต่ผลประโยชน์ที่ทับซ้อนอย่างมาก 


ชี้เมกะโปรเจก เร่งแก้ไขน้ำท่วมเชียงใหม่ เพื่อเลี่ยงทำ EIA


ด้านนายมนตรี จันทวงศ์ มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ กล่าวถึงประเด็นที่จะมีการเสนอเมกะโปรเจกต่อที่ประชุม ครม.สัญจร ในวันที่ 6-7 ก.พ.นี้ ว่า ที่น่าเป็นห่วงก็คือ แผนการป้องกันน้ำท่วมเชียงใหม่ ซึ่งมีอยู่ 2 ประเด็นใหญ่ ก็คือ โครงการสร้างพนังกั้นน้ำสองฝั่งแม่น้ำปิง กับการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงตอนบน 3-4 แห่ง ซึ่งที่ผ่านมา ทางภาคประชาชนได้มีการประชุมแลกเปลี่ยนและเสนอแนวทางการป้องกันแก้ไขน้ำท่วมไปหลายครั้งแล้ว แต่ท่าทีของรัฐบาลกลับไม่มีการเปิดเผยแผน ทั้งในระยะสั้น และระยะยาวแต่อย่างใด


"ทุกวันนี้ คนเชียงใหม่ยังไม่เห็นภาพรวมของการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในแอ่งเชียงใหม่-ลำพูนทั้งหมด ดังนั้น สิ่งที่เป็นปัญหาอย่างยิ่งก็คือการขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเอาแผนนี้ออกมาทำอย่างชัดเจน เพื่อเกิดกระบวนการมีส่วนร่วม และความเป็นธรรม" นายมนตรี กล่าว 


นายมนตรี กล่าวด้วยว่าไม่เห็นด้วยที่จะมีการสร้างพนังกั้นสองฝั่งแม่น้ำปิง ยาว 20 กิโลเมตร ว่า การสร้างพนังก่อนการแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ริมน้ำ ก็เท่ากับว่าเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กลุ่มผู้บุกรุกแม่น้ำปิงไม่ต้องรับผิด ซึ่งจะมาทุบพนังกั้นน้ำในภายหลังก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น จะต้องแก้ปัญหาการบุกรุกริมน้ำปิงเสียก่อน


อีกประเด็นหนึ่งที่นายมนตรี ตั้งข้อสังเกต ก็คือ การอนุมัติโครงการของรัฐ โดยอ้างว่าเป็นโครงการเร่งด่วน ซึ่งจะกระทบต่อกฎหมายสิ่งแวดล้อม เช่น กรณี การก่อสร้างบ้านเอื้ออาทร ซึ่งในตัวกฎหมายระบุชัดว่า หากสร้างห้องพักที่เกิน 40 ห้อง จะต้องมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อน แต่โครงการบ้านเอื้ออาทร ซึ่งมีเกินกว่า 80 ห้อง กลับไม่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เนื่องจากรัฐอ้างว่าเป็นโครงการเร่งด่วน ซึ่งหากมีหากโครงการขนาดใหญ่ เช่น การสร้างพนังกั้นน้ำปิง หรือสร้างเขื่อนกั้นน้ำปิง หากรัฐอ้างว่ามีการพิจารณาเห็นว่าเป็นโครงการเร่งด่วน ไม่ต้องมีการศึกษาผลกระทบ ก็ยิ่งจะเป็นการบิดเบือน


"ดังนั้น จึงอยากเสนอให้หน่วยราชการมีการนำร่องในการแก้ไขปัญหา ในเรื่องเกี่ยวกับการแก้ปัญหาน้ำท่วมทั้งแอ่งเชียงใหม่-ลำพูนทั้งระบบ ไม่ว่าปัญหาการวางผังเมืองเชียงใหม่ ที่ปิดกั้นการระบายน้ำ เช่น การสร้างถนนที่ไปปิดขวางระบบระบายน้ำ หรือเหมืองฝายถูกถม เป็นต้น แต่ว่ายังไม่เห็นข้อเสนอถูกบรรจุในแผน ทั้งนี้ ก่อนการอนุมัติโครงการอะไร จังหวัดควรที่จะมีการนำเสนอแผนให้ประชาชนรับทราบเสียก่อน" นายมนตรี กล่าวทิ้งท้าย 


ค้านการสร้างเขื่อนแม่ขาน ชี้กระทบท่วมหมู่บ้าน-อุทยานฯ ออบขาน


ในขณะที่ นายพันธุ์ จันทร์แก้ว ผู้ใหญ่บ้านแม่ขนิลใต้ ต. อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ระบุว่าจะคัดค้านการเสนอโครงการสร้างเขื่อนแม่ขาน เข้าสู่ที่ประชุม ครม.สัญจร เนื่องจากการสร้างเขื่อนจะทำให้หมู่บ้านแม่ขนิลใต้ทั้งหมดจมอยู่ใต้น้ำ และจะทำลายระบบนิเวศน์ในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติออบขานในวงกว้างอีกด้วย


โวยรัฐไร้ความจริงใจอพยพคนแม่เมาะ ล้มมติ ครม.เดิม


ด้าน นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ เลขานุการเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง กล่าวว่า การประชุมครม.สัญจร ที่เชียงใหม่ครั้งนี้ ทางเครือข่ายฯแม่เมาะ รู้สึกเฉยๆ ไม่ได้คาดหวังอะไรเลย เพราะว่าที่ผ่านมา เครือข่ายฯ ได้ยื่นข้อเสนอต่อ ครม.มากว่า 8 ครั้ง รวมไปถึงการร้องเรียนกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีมาแล้วหลายครั้ง ถึงเรื่องการอพยพหมู่บ้านออกจากพื้นที่อันตรายจากสารพิษของโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ แต่ก็ไม่มีการแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด


"มิหนำซ้ำ มติ ครม.ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 ม.ค.2549 ที่ให้นายยงยุทธ ติยะไพรัช รมว.กระทรวงทรัพยากรฯ ดูแลรับผิดชอบ ก็ไม่มีความชัดเจน แต่กลับไปล้มมติเดิม เมื่อ 9 พ.ย.2548 ทิ้งเสีย และยังมาบอกอีกว่า รัฐจะซื้อบ้านของชาวบ้าน และจะสร้างบ้านน็อกดาวน์ให้ ซึ่งถือว่ารัฐไม่มีความชัดเจนในการแก้ไขปัญหาและมันเป็นไม่ได้ เพราะคนแม่เมาะไม่ได้ประสบภัยจากธรรมชาติ แต่มันเกิดจากภัยจากโครงการของรัฐ เพราะฉะนั้น จึงขอเสนอให้รัฐบาลทำตามมติครม.เดิม และจะต้องเป็นธรรมและนำมาปฏิบัติได้จริง" นางมะลิวรรณ กล่าว


อ้างตั้งเขตป่าอนุรักษ์พิเศษ แต่รัฐกลับทำลายป่าอุทยานฯ สร้างไนท์ซาฟารี


ในขณะที่ นายสรศักดิ์ เสนาะพรไพร ตัวแทนชาวบ้านที่เรียกร้อง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับประชาชน กล่าวว่า อยากฝากโจทย์คำถามให้สังคมและรัฐบาล ในเรื่องป่าชุมชน ว่า ก่อนหน้านั้น ทาง ส.ส.ได้ให้การสนับสนุนทั้งหมด 341 เสียง รวมทั้งตัวนายยงยุทธ ติยะไพรัช ด้วย แต่เมื่อได้เป็น รมว.กระทรวงทรัพยากรฯ กลับมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์พิเศษ โดยบอกว่า ห้ามบุกรุกทำลายป่า แต่ขณะเดียวกันก็มีโครงการขนาดใหญ่ที่จะก่อสร้างในพื้นที่ป่า เช่น เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี หรือการสร้างเขื่อน ถือว่ารัฐกลับเป็นฝ่ายบุกรุกเสียเอง 


"เพราะฉะนั้น สิ่งที่รัฐอ้างนโยบายการจัดการป่าโดยชุมชนมีส่วนร่วม แต่ในทางปฏิบัติ รัฐไม่ได้ให้ความสำคัญกับชาวบ้าน ชุมชนไม่ได้มีส่วนร่วมแต่อย่างใด แต่กลับใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเข้าควบคุมทั้งหมด อีกทั้งยังมีข่าววงในว่า ท่าทีของ รมว.กระทรวงทรัพยากรฯ คนนี้มีท่าทีไม่เหมาะสมที่พยายามจะใช้เจ้าหน้าที่ มีการเตรียมกำลังพลของหน่วยอุทยาน ที่จะมาเคลื่อนไหวทำลายความชอบธรรมของภาคประชาชนอีก ซึ่งตนเห็นว่า บุคคลคนนี้ไม่มีความชอบธรรมในการเป็นเจ้ากระทรวง" นายสรศักดิ์ กล่าว 


แฉรัฐเลี่ยงแก้ปัญหาความยากจนและหนี้สินเกษตรกร


นายสมศักดิ์ โยอินชัย ตัวแทนสหพันธ์กลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ(สกน.) ได้กล่าวถึงกรณีการแก้ไขปัญหาความยากจนและปัญหาหนี้สินของรัฐบาล ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศไว้ว่าจะต่อสู้ความยากจนให้หมดภายในปี 2551 ซึ่งขณะนี้ก็เหลือเวลา 2 ปี มีรายชื่อคนขึ้นทะเบียนคนจน 11 ล้านคน และจากตัวเลขของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พบว่า มีคนขึ้นทะเบียนกว่า 8 ล้านคน หากดูนโยบายในการแก้ไขความยากจน เรื่องหนี้สินเป็นอันดับแรก ปรากฏว่า ในจำนวนทั้งหมด 100 ราย พบว่าเกษตร 87 รายไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ บางส่วนชำระหนี้ได้หากมีการยืดเวลา


"อีกเรื่องหนึ่ง มีการประกาศใช้กฎหมายฟื้นฟูเกษตรกร ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาเกษตรกร ตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบันนี้ พบว่า ในปี 2547 มีการทำข้อตกลงกับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าจะมีการซื้อหนี้ และเปิดการเจรจากับชาวบ้านและรัฐบาลมีการตรวจสอบข้อมูลเท็จจริงรายชื่อผู้ลงทะเบียน แต่สุดท้ายก็ยังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินกิจกรรมใดๆ ซึ่งในส่วนการโอนเข้ากองทุนฟื้นฟู ของ จ.เชียงใหม่จำนวนกว่า 8 แสนราย แต่ได้เพียง 1 รายเท่านั้น"


ตัวแทน สกน.กล่าวอีกว่า ล่าสุด รัฐบาลกลับละเลยในการใช้กฎหมายนี้ไปแก้ไข แต่หันกลับไปใช้แนวทางอื่น เช่น กองทุนหมุนเวียนแก้ไขปัญหาความยากจน(กชก.) หรือ อนุกรรมการแก้ไขปัญหาเกษตรกรผู้ยากจน (อชก.) แทน ซึ่งเป็นเพียงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาจเนื่องจากว่า รัฐบาลกำลังถังแตก เพราะคาดว่า หากแก้ไขปัญหาความยากจนและหนี้สิน โดยผ่าน พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูเกษตรกรฯ อาจต้องใช้เงินงบประมาณเป็นแสนล้าน หรือรัฐอาจต้องการดึงงบประมาณในส่วนนี้ไปโปะเข้ากับเมกะโปรเจกต่างๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า รัฐไม่ได้จริงใจในการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร ฉะนั้น รัฐจะต้องเอากฎหมายกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตร มาใช้ให้เกิดรูปธรรม


 


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net