Skip to main content
sharethis


 



ภาพจาก www.tjanews.com


 


 


วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม 2006 19:33น.


ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


คณะทำงานส่งเสริมการดำเนินกระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติธรรม นำโดย ผศ.ดร.จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นคณะทำงานของคณะอนุกรรมการส่งเสริมความไว้วางใจ ความยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ในคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ได้สรุปรายงานผลการศึกษาวิจัยในหัวข้อ "การดำเนินกระบวนการยุติธรรมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ : ปัญหาและแนวทางการแก้ไข" เพื่อนำเสนอต่อ กอส. ใช้ประกอบการพิจารณายกร่างข้อเสนอต่อรัฐบาล


 


เป็นที่ยอมรับตรงกันทุกฝ่ายแล้วว่า ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในขณะนี้ สาเหตุสำคัญประการหนึ่งมาจากความไม่เป็นธรรมที่ประชาชนในพื้นที่ต้องเผชิญมาอย่างยาวนาน ขณะที่ช่องทางในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเพื่อแสวงหา "ความเป็นธรรม" ก็อยู่ในภาวะตีบตันอย่างยิ่ง


 


คำนำตอนหนึ่งของคณะผู้วิจัย บอกถึงความสำคัญของกระบวนการยุติธรรมที่มีต่อปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไว้อย่างน่าสนใจ โดยระบุว่า


 


"ในสถานการณ์ที่มีความอ่อนไหว เปราะบาง และมีระดับความขัดแย้งทางสังคมสูง อันเป็นเหตุปัจจัยนำไปสู่การล่วงละเมิด ปะทะ ต่อสู้ ทำร้ายร่างกายและชีวิตกันได้ง่ายๆ เช่น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น การดำเนินกระบวนการยุติธรรมยิ่งต้องมีความเคร่งครัดต่อมาตรฐานการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ และยิ่งต้องให้ความคุ้มครองสิทธิของประชาชนตามหลักมนุษยชนมากขึ้น เพื่อป้องกันมิให้มีการแทรกแซงจากบุคคลที่สามมาสร้างเงื่อนไขความไม่ไว้วางใจระหว่างรัฐกับประชาชนให้เกิดความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน จนทำให้ท่าทีของทั้งสองฝ่ายต้องเปลี่ยนแปลงไปจากพันธมิตร กลายเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน"


 


นั่นเองที่ทำให้ทุกฝ่ายต้องแสวงหายุทธศาสตร์เพื่อสร้างกระบวนการยุติธรรมที่จะนำไปสู่เป้าหมาย "การสมานฉันท์เพื่อขจัดความขัดแย้งทางสังคม" ซึ่งคำตอบทั้งหมดก็ถูกบรรจุอยู่ในผลการศึกษาวิจัยฉบับนี้อย่างพร้อมมูลแล้ว


 


"ศูนย์ข่าวอิศรา" ขอนำบทสรุปของผลการศึกษามานำเสนอดังนี้


 


ประเด็นปัญหาพื้นฐานการดำเนินกระบวนการยุติธรรมไทย


สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ประสบปัญหาที่เกิดจากการดำเนินกระบวนการยุติธรรมขาดประสิทธิภาพในการทำงานให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมไม่แตกต่างจากปัญหาที่จังหวัดอื่นๆ ประสบ ได้แก่ การอุ้มการฆ่าตัดตอนที่ไม่รู้ตัวผู้กระทำผิด การรีดพยานหลักฐานจากตัวผู้กระทำผิด การไม่คืนของกลาง การไม่ได้รับความช่วยเหลือในการประกันตัวในกรณีที่ยากจน ฯลฯ ซึ่งเป็นการกระทำบางอย่างที่กระบวนการยุติธรรมไม่ควรกระทำต่อประชาชน แต่ก็ได้กระทำลงไปแล้ว และปัญหาที่สร้างขึ้นกับผลกระทบที่เกิดตามมามีระดับความถี่และรุนแรงอยู่ในขั้นวิกฤติ เนื่องจากเหตุปัจจัยต่างๆ ดังนี้


 


1.ปัญหาโครงสร้างการดำเนินกระบวนการยุติธรรม เป็นปัญหาพื้นฐานดั้งเดิมของกระบวนการยุติธรรมแบบปฏิปักษ์ (adversary system) ปัจจุบันที่ถูกออกแบบมาให้มีลักษณะถ่วงดุล ตรวจสอบ คานอำนาจซึ่งกันและกัน ขณะเดียวกันลักษณะดังกล่าวในตัวเองก่อให้เกิดภาพรวมที่ขาดเอกภาพ ขาดความต่อเนื่องเชื่อมโยง มีความเป็นระบบราชการและแบบแผนพิธีการที่ไม่อาจดำเนินกระบวนการขั้นตอนต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว


 


ประกอบกับการเข้าถึงและใช้บริการของกระบวนการยุติธรรมต้องผ่านผู้รู้ภาษากฎหมาย ใช้ทุนทรัพย์ในการต่อสู้คดี และใช้พยานหลักฐานที่เป็นบุคคลหรือวัตถุสิ่งของในการพิสูจน์ความถูกผิดตามกฎหมาย โดยมีคนกลางเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด และในทางปฏิบัติขาดการประสานงานกระบวนการยุติธรรมทั้งในระดับนโยบายและระดับภูมิภาคเพื่อกำหนดทิศทางแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเชิงรุกแบบบูรณาการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ได้อย่างทันต่อเหตุการณ์


 


2.ปัญหาการขาดการนำเทคโนโลยีและวิธีการทางนิติวิทยาศาสตร์มาใช้ เป็นปัญหาพื้นฐานของกระบวนการยุติธรรมอีกประการหนึ่งที่ยังมีการพัฒนาวิธีการทางนิติวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยสนับสนุนการแสวงหาพยานหลักฐานไม่ทันต่อการนำมาใช้งาน ทำให้เจ้าหน้าที่มุ่งแสวงหาพยานหลักฐานจากพยานบุคคลหรือรีดเอาจากผู้ต้องสงสัยด้วยวิธีการที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ และไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม หรือยอมล่วงละเมิดหลักนิติธรรมเพราะกลัวเสียหน้า ด้วยการสร้างพยานหลักฐานที่เป็นบุคคลและวัตถุสิ่งของขึ้นมาเอง


 


ประเด็นปัญหาการดำเนินกระบวนการยุติธรรมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ขาดประสิทธิภาพในการให้บริการพื้นฐานด้านความยุติธรรมตามหลักนิติธรรมแก่ประชาชน


 


ประเด็นปัญหานี้สืบเนื่องจากการนำกระบวนการยุติธรรมที่มีปัญหาพื้นฐานอยู่แล้วตาม ข้อ 1 และ 2 มาใช้กับบริบททางสังคม วัฒนธรรม และสถานการณ์ที่มีเงื่อนไขความขัดแย้งรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดห้วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดวิกฤตศรัทธาต่อการดำเนินกระบวนการยุติธรรม ขาดความเชื่อมั่นในระบบการบังคับใช้กฎหมายและกลไกการดำเนินงานของรัฐ บางส่วนเรียกร้องหาความยุติธรรมแก่ญาติพี่น้องโดยวิธีการแก้แค้นเอง


 


ดังนั้นการดำเนินกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม และความล่าช้าของการดำเนินกระบวนการยุติธรรมโดยตัวเองจึงเป็นเงื่อนปมปัญหาสำคัญที่เป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาและทำให้เกิดวิกฤตการณ์ที่เรียกว่า "ภาวะไร้ระเบียบ" ตามมา โดยมีองค์ประกอบอันเป็นปัจจัยสนับสนุนดังนี้


 


1.นโยบายและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ : เจ้าหน้าที่ขาดความรู้ความเข้าใจในวิถีวัฒนธรรมมุสลิม เจ้าหน้าที่รัฐที่มาจากต่างพื้นที่ ต่างวัฒนธรรมมีปัญหาในการสื่อสารกับคนในพื้นที่ คิดว่าไม่ใช่พวกเรา มีอคติ ประกอบกับขาดการชี้ทิศทางที่เหมาะสมจากนโยบายอาญาเชิงรุกแบบบูรณาการที่มาจากการประสานงานกระบวนการยุติธรรมระดับนโยบายและระดับภูมิภาค จึงก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นทั้งโดยเจตนาและโดยประมาท ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่กระทำผิดพลาดไป กลับไม่มีการลงโทษให้เป็นที่ประจักษ์ ขณะที่บางรายได้รับรางวัล เช่น กรณีทนายสมชาย นีละไพจิตร และกรณีตากใบ ส่งผลให้เกิดเงื่อนไขความไม่ไว้วางใจซ้ำแล้วซ้ำอีก


 


2.คุณลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ของชาวไทยมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ : มีความผูกพันโยงยึดกันด้วยข้อผูกมัดทางศาสนาและวิถีวัฒนธรรมหลายชั่วอายุคน ซึ่งเป็นความเชื่อและความสัมพันธ์ที่สมาชิกต้องเข้าร่วมกิจกรรมอันเป็นพันธสัญญาผูกมัดที่มีต่อชุมชน จึงมีลักษณะเป็นเครือข่ายชุมชนที่มีอารมณ์ความรู้สึกร่วม และพร้อมที่จะแสดงพฤติกรรมรวมหมู่ เพราะทุกคนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของและเชื่อมั่นต่อการรวมพลัง


 


ดังนั้นเมื่อการดำเนินกระบวนการยุติธรรมบางขั้นตอนได้ลงมือกระทำการบางอย่างที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมด้วยวิธีการที่รุนแรง ขาดเมตตาธรรม และไม่เหมาะสมต่อหลักศาสนาของผู้ต้องสงสัยคนใดคนหนึ่ง ย่อมทำให้พี่น้องและเครือข่ายหลอมรวมร่วมมือกันตอบโต้ต่อต้านและไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ อันเป็นการแสดงกลไกในการป้องกันตนเองของกลุ่มชาติพันธุ์ไปพร้อมๆ กัน


 


ยิ่งกว่านั้น การปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมต่อโต๊ะครูซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับความเคารพนับถือและเป็น "ตัวคูณ" ที่สำคัญ ย่อมส่งผลกระทบในทางเสียหายตามมาอย่างมาก


 


3.การใช้พยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ : ปัญหาการไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดได้ หรือหากได้ตัวผู้ต้องสงสัยก็ไม่สามารถนำไปสู่กระบวนการลงโทษได้ เกิดขึ้นเนื่องจากมีความพยายามในการแสวงหาพยานหลักฐานจากพยานบุคคลในพื้นที่โดยไม่ใช้หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์สนับสนุน ซึ่งกระทำได้ยาก เนื่องจากไม่ได้รับความร่วมมือจากคนส่วนใหญ่ที่อาจเป็นพันธมิตรของผู้ต้องสงสัยที่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่เกิดจากการดำเนินกระบวนการยุติธรรมบางขั้นตอนสร้างไว้


 


และแม้ชาวบ้านจะไม่เห็นด้วยกับผู้ก่อความไม่สงบบางกลุ่ม แต่รัฐก็ไม่ได้สร้างสัมพันธภาพที่ดีไว้กับชุมชนที่จะก่อให้เกิดความรู้สึกไว้วางใจและมั่นคงปลอดภัยเพียงพอต่อการก้าวออกมาเป็นพยานหรือชี้เบาะแสให้ (พยานคดีอุสตาซตายไปแล้ว 4 คน ระหว่างรอการพิจารณาคดี) ทำให้คดีที่เข้าสู่ชั้นการพิจารณาของศาลขาดพยานหลักฐานที่มีน้ำหนัก และยกฟ้องในเวลาต่อมา


 


4.กฎหมาย : การดำเนินกระบวนการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอย่างเคร่งครัดและยุติธรรมมีความเหมาะสมและเพียงพอแล้ว ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ต้องการกฎอัยการศึก (ทนายสมชาย นีละไพจิตร เป็นหนึ่งในผู้นำการต่อสู้เรื่องให้ยกเลิกกฎอัยการศึก) หรือพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เพียงแต่ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการถูกต้องเหมาะสมตามหลักนิติธรรมและไม่สร้างเงื่อนไขใดๆ เพิ่มขึ้นอีกก็พอ


 


ขณะเดียวกันความเข้มแข็งของชุมชน และความไว้วางใจรัฐจะช่วยให้การดำเนินกระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพในการหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ โดยอาจใช้กระบวนการยุติธรรมทางเลือกหลายรูปแบบมาร่วมสนับสนุน


 


แนวทางการแก้ไข


ต้องทำให้การดำเนินกระบวนการยุติธรรมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามหลักนิติธรรม ด้วยการดำเนินกระบวนการยุติธรรมบางขั้นตอนอย่างถูกต้องและรวดเร็ว โดยถือเป็นสถานการณ์พิเศษเร่งด่วนเพื่อลดทอนเงื่อนไขที่เล็งเห็นว่าอาจนำไปสู่ความรุนแรงตามมา โดยการแก้ไขต้องใช้ยุทธศาสตร์การสร้างความเชื่อมั่น 5 ประการ คือ


 


ยุทธศาสตร์ที่ 1 นโยบายการบริหารงานยุติธรรมแบบบูรณาการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


ต้องใช้ยุทธศาสตร์ที่เน้นการอำนวยความยุติธรรมตามกรอบทัศนะการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน (due process model) เต็มรูปแบบและตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น เพื่อถ่วงดุลให้เกิดดุลยภาพกลับคืนมาจากการใช้วิธีการอำนวยความยุติธรรมตามกรอบทัศนะการบังคับใช้กฎหมาย (crime control model) แบบถอนรากถอนโคนด้วยความรุนแรงตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ด้วยการใช้นโยบายการบริหารงานยุติธรรมเชิงสมานฉันท์แบบบูรณาการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเสริมสร้างประสิทธิภาพการดำเนินกระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติธรรม


 


1.ด้านกฎหมาย ลดความสับสนและสร้างความชัดเจนให้กับเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติและประชาชน ด้วยการเผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมาย จัดทำคู่มือและแนวทางในการปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จัดทำคู่มือให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่และขั้นตอนการดำเนินกระบวนการยุติธรรมเป็น 2 ภาษา คือภาษาไทยและภาษามลายู และมีคู่มือให้กับเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการตรวจค้นตัวบุคคล สถานที่ และวัตถุที่อาจละเมิดความเชื่อทางศาสนา


 


2.ด้านการพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินกระบวนการยุติธรรมในภาพรวมให้เป็นไปตามหลักกฎหมาย


 


- กำหนดนโยบายเร่งรัดการดำเนินคดีบางประเภทในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น คดีนักศึกษาต้องขังระหว่างพิจารณาและไม่ได้รับการประกันตัว ฯลฯ และให้ความสำคัญกับการควบคุมตัวเยาวชน โดยปฏิบัตตามหลักกฎหมายอย่างเคร่งครัด


 


- เร่งตรวจสอบและติดตามความคืบหน้าของคดีเพื่อลดความรู้สึกขัดแย้งทางสังคม และช่วยสงเคราะห์ให้ผู้ถูกกล่าวหาเหล่านี้ได้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น


 


- เร่งจัดตั้งคณะกรรมการสอดส่องดูแลการดำเนินกระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติธรรมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อประสานงานและให้มีการแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งในกระบวนการยุติธรรม


 


- แจ้งให้ผู้นำชุมชนหรือผู้บริหารสถานศึกษาทราบก่อนเข้าตรวจค้น หรือให้อยู่ในบริเวณที่ทำการตรวจค้นด้วย และแจ้งให้ญาติทราบโดยเร็วที่สุดเมื่อมีการเชิญตัวหรือจับกุมตัวไป


 


- เร่งปรับปรุงระบบการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย เช่น สิทธิในการทราบความคืบหน้าของการดำเนินคดีทุกขั้นตอน สิทธิในการได้รับเงินชดเชยค่าเสียหาย ฯลฯ


 


- เปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาได้ปฏิบัติศาสนกิจตามที่ร้องขอ


 


- ต้องมีกลไกช่วยเหลือผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ยากจนที่ต้องการขออนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว ทั้งในด้านของคำแนะนำและเงินกองทุนสนับสนุน


 


- เร่งติดตามนำทรัพย์สินของกลางที่ถูกเก็บไว้ คืนให้เจ้าของ


 


ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสลายเงื่อนไขความไม่เป็นธรรมในการดำเนินกระบวนการยุติธรรม


 


- ใช้อำนาจรัฐเพื่อช่วยลดทอนแรงเสียดทานของเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดความล่าช้าในการคลี่คลายคดี ซึ่งสะท้อนถึงความ "อยุติธรรม" ของกระบวนการยุติธรรม อันแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงไปสู่ทิศทางที่แสดงเจตนาสลายเงื่อนไขซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรม


 


- แสดงให้เกิดความกระจ่างชัดว่ารัฐไม่ได้เลือกปฏิบัติหรือละเลยในการอำนวยความยุติธรรม โดยเร่งดำเนินคดีเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำผิดเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไปที่กระทำความผิด


 


- เร่งค้นหาบุคคลสูญหายเพื่อพิสูจน์ความจริงให้ปรากฏ


 


- ในระดับนโยบายควรระมัดระวังในการส่งสัญญาณที่เป็นการชี้นำให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติเกิดความรู้สึกสับสนในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติธรรม


 


- ควรมีการขอโทษต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และเยียวยาความเสียหายให้กับผู้เสียหายทั้งผู้เสียหายโดยตรงและโดยอ้อม รวมทั้งผู้ที่พิการและอยู่ระหว่างการรักษาพยาบาลด้วย


 


ยุทธศาสตร์ที่ 4 การปรับกระบวนทัศน์และวิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่


 


- พัฒนาระบบบริหารงานบุคคล โดยประชาชนในชุมชนมีส่วนร่วมในการให้รางวัลและลงโทษเจ้าหน้าที่


 


- สร้างกระบวนทัศน์ใหม่ให้เจ้าหน้าที่เกิดความภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่สืบสวนสอบสวนเพื่อแสวงหาพยานหลักฐานตามหลักวิชาชีพ


 


- จัดการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้มีความเข้าใจในวิถีการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อนเข้าทำงานในพื้นที่


 


ยุทธศาสตร์ที่ 5 การเสริมสร้างบทบาทของประชาสังคมในกระบวนการยุติธรรม


 


- กระตุ้นและผลักดันให้ภาคประชาสังคมจัดตั้ง "หน่วยพิทักษ์ยุติธรรม" ซึ่งประกอบด้วยบุคคลจากหลายฝ่ายทั้งภาคเอกชน ภาครัฐและประชาชนที่มีความสนใจ เพื่อทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ ติดตามตรวจสอบ เสนอแนะการดำเนินกระบวนการยุติธรรมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นระบบในทุกขั้นตอน


 


- ให้ความสำคัญกับการนำทุนทางสังคม เช่น เรื่องของคุตบะฮ วันศุกร์ (การเทศนาธรรมประจำสัปดาห์โดยอิหม่าม) มาใช้ในการป้องกันปัญหาอาชญากรรมและการกระทำผิดในชุมชน


 


- ประสานและบูรณาการความร่วมมือในการกำหนดยุทธศาสตร์การเข้าถึงเยาวชนไทยมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


 


- เปิดพื้นที่ให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมในฐานะ "ยุวชนยุติธรรม"


 


- นำสื่อมวลชนแบบมีส่วนร่วมในการจัดรายการที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาใช้


 


องค์ความรู้ใหม่


- เกิดมิติใหม่ของคดีความผิดต่อรัฐที่ยังไม่มีคำพิพากษาฎีกาเป็นบรรทัดฐานมาก่อน เนื่องจากเป็นอาชญากรรมที่เกิดขึ้นโดยความร่วมมือของบุคคลหลายฝ่าย (corporate crime) ซึ่งโดยทั่วไปเกิดขึ้นในวงธุรกิจหรือกระทำโดยหุ้นส่วนบริษัทที่มีผลประโยชน์เป็นเป้าหมาย แต่ครั้งนี้ลักษณะการกระทำผิดเคลื่อนที่จากอาชญากรรมทางเศรษฐกิจมาสู่อาชญากรรมการเมืองที่อ้างว่ามีอุดมการณ์ทางศาสนาเป็นเป้าหมาย การกระทำความผิดมีลักษณะที่ไม่สามารถระบุผู้กระทำผิดที่ร่วมมือกันออกมาเป็นรายบุคคลเพื่อลงโทษได้ เพราะเมื่อจำแนกเป็นรายบุคคลแล้ว แต่ละบุคคลอาจมิได้กระทำผิดอย่างใดอย่างหนึ่งชัดเจนหรือร้ายแรง ทำให้พยานแต่ละปากไม่มีน้ำหนัก บอกรายละเอียดไม่ได้ ไม่มีตัวตนคนจ้างวานที่ชัดเจน


 


ฉะนั้นจะต้องผนึกกำลังระดมความคิดร่วมกันของกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้สามารถรับมือกับอาชญากรรมประเภทนี้ได้


 


- เกิดแนวคิดเกี่ยวกับวิธีการจัดการปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แนวใหม่ที่ว่า "ผู้กระทำผิดเหล่านี้ไม่กลัวตาย" การทำให้พบกับความตายอย่างรวดเร็วจึงไม่ก่อให้เกิดความเข็ดหลาบหวาดกลัว และไม่เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้อื่น


 


ฉะนั้นการนำเขาสู่กระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติธรรมของอารยชนด้วยพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาตร์ที่แน่นหนาเท่านั้น จึงเป็นการแสดงเจตจำนงของประชาชนที่มีพลังมากพอที่จะทำให้เขายอมจำนนก้มหน้ารับโทษทัณฑ์ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ได้


 


- ใช้กรณีศึกษาต่างๆ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประสบปัญหาในกระบวนการยุติธรรมมาเป็นต้นแบบในการศึกษา สังเคราะห์ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างกระบวนการยุติธรรม การใช้กระบวนการยุติธรรมทางเลือก และการบังคับใช้กฎหมายเสียใหม่ทั้งองคาพยพ


 


3 จังหวัดใต้ : เขตปลอดอบายมุขของโลก


จับมือกับผู้นำทางศาสนาร่วมกันเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส ด้วยการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็น "เขตปลอดอบายมุขของโลก" เพราะมีศักยภาพและความพร้อมในต้นทุนทางสังคมและวัฒนธรรมอยู่แล้ว


 


ทั้งนี้ กระทำได้โดยรัฐประศาสโนบายด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ยกเลิกการใช้กฎหมายอื่นใดที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ ลบภาพลักษณ์ที่แสดงถึงภาวะสงครามในพื้นที่ และให้ใช้ระเบียบการบริหารราชการแบบยืดหยุ่นที่สอดคล้องกับหลักศาสนา


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net