Skip to main content
sharethis


 


"เราอยู่ไกลจากภาคใต้ก็จริง แต่อยากบอกว่าในภาคเหนือก็เคยมีสงคราม โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับชายแดน อย่างที่แม่สาย ตอนนั้นก็มีการแก่งแย่งพื้นที่กันอย่างในภาคใต้ตอนนี้" หนิง อรวรรณ ขำแป้น เยาวชนจากบ้านแม่สุกเหนือ ต.วังซ้าย อ.วังเหนือ จ.ลำปาง ให้ความเห็นถึงปัญหาสามชายแดนภาคใต้


 


คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ หรือ กอส. ตั้งขึ้นเพื่อรวบรวมปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างรอบด้าน การทำงานที่ต้องลงลึกถึงความเข้าใจอันซับซ้อนในหลายๆ ประเด็นความขัดแย้ง ทำให้เกิดโครงการใหม่ ๆ เพื่อมาช่วยหนุนการสร้างสันติให้เกิดขึ้นอย่างเร็ววัน


 


โครงการหนึ่งที่เริ่มต้นตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา และจะไปเสร็จสิ้นในเดือนมีนาคมปีหน้า คือโครงการ : การใช้สื่อละครเพื่อการพัฒนาเยาวชนในเรื่องการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี หรือในชื่อสั้นๆ ว่า "โครงการสันติวิธีในวิถีชุมชน" มี มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) เป็นทีมงานอบรมทักษะการละคร โดยมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชนจากเหนือและใต้ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนมุมมองและวิธีคิดของเยาวชนต่อการจัดการปัญหา


 


วันนี้  แม้ปัญหายังไม่ถึงจุดคลี่คลายที่ลงตัวในหลายๆ ส่วน แต่เยาวชนจากวังเหนือ จ.ลำปาง ในนามเครือข่ายกลุ่มเยาวชนวังเหนือ มีความคิดเห็นต่อปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ที่อยากจะสื่อผ่านไปยังเยาวชนในสามจังหวัดภาคใต้


 


"เราอยู่ไกลจากภาคใต้ก็จริง แต่อยากบอกว่าในภาคเหนือก็เคยมีสงคราม โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับชายแดน อย่างที่แม่สาย ตอนนั้นก็มีการแก่งแย่งพื้นที่กันอย่างในภาคใต้ตอนนี้" หนิง อรวรรณ ขำแป้น เยาวชนจากบ้านแม่สุกเหนือ ให้ความเห็น


 


นับได้ว่า  เป็นมุมมองการเปรียบเทียบสิ่งที่พบเห็นจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ที่เยาวชนวังเหนือ  ต้องการจะสื่อสารว่าไม่ว่าที่ใดก็ตาม เมื่อมีการขับเคลื่อนของมนุษย์ก็ย่อมมีการปะทะ และกระทบกระทั่งเป็นธรรมดา แต่สิ่งที่น่าสนใจ คงอยู่ที่ว่าเมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่ดำเนินต่อมาคืออะไร


 


ตามข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์ และสื่อโทรทัศน์ ทำให้เยาวชนในสามจังหวัดภาคใต้ ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจากปกติ ให้มีความรัดกุม และปลอดภัยมากขึ้น


 


มุรนี คอลอราแม หรือน้องนี เล่าถึงผลกระทบช่วงเคอร์ฟิวในพื้นที่ ว่า ตอนเกิดเรื่องหนักๆ ในบ้าน สิ่งที่เราทำไม่ได้ คือออกไปกรีดยางตามเวลาปกติ จากที่เคยออกไปตอนตีสองหรือตีสาม ก็ต้องออกไปเก้าโมง เลยไม่ได้น้ำยางดีเท่าที่ควร จากที่เคยมานั่งคุยกันตอนเย็นๆ ค่ำๆ ก็ไม่มีแล้ว


 


จากการพลิกผันของวิถีชีวิต และสื่อที่นำเสนอแต่ภาพความสูญเสียทุกวัน เป็นระยะๆ ทำให้เยาวชนจากทางเหนือเอง ก็มั่นใจว่าเป็นการแบ่งแยกดินแดน


 


"ส่วนใหญ่เยาวชนจะคิดว่าเป็นเรื่องการแบ่งแยกดินแดน ทำไมไม่ฆ่าพวกที่ทำร้ายผู้บริสุทธิ์ให้หมดๆ ไป แต่ก็มานึกดูอีกครั้ง ถ้าเราใช้ความรุนแรง การฆ่า สวนกลับไป จะทำให้ปัญหายิ่งปะทุ ยิ่งใช้กำลังมากเท่าไหร่ ผลที่รุนแรงก็จะยิ่งตอบสนองเรามากเท่านั้น" ณัฐพล แก้วก้อน หรือ น้องแชมป์ รองประธานเครือข่ายกลุ่มเยาวชนวังเหนือ ระบุชัดถึงข้อเสียของการใช้ความรุนแรง


 


หากจะถามว่าเยาวชนภาคเหนือมีการยุติความขัดแย้งในระดับย่อยที่ต้องประสบอย่างไร น้องๆ เยาวชนหลายคนมีคำตอบในหลายๆ แนวทางเช่นกัน!


 


"สัก" สมศักดิ์ วงศ์ฟูฟาน บอกว่า  ในหมู่บ้านจะมีการใช้ดนตรีเพื่อแก้ปัญหาการใช้เวลาว่างไปในทางที่ผิด และเด็กๆ ที่ทำตัวเกเร แล้วก็เอาสิ่งที่ได้ ไปแสดงในงานประเพณีประจำปีด้วย เด็กๆ เลยเกิดความภูมิใจ


 


ดังนั้น จะเห็นได้ชัดว่าในภาคเหนือ ยังมีประเพณีที่สืบทอดกันมาจากหลายรุ่น โดยผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนเล่าว่า หากไม่ปฏิบัติตาม หรือมีการประพฤติออกนอกลู่นอกทางเช่น ส่งเสียงเกินความจำเป็น แต่งกายไม่สุภาพ ประเภทนุ่งสั้นเข้าวัด การแสดงในวันนั้นๆ ก็จะไม่ราบรื่น ต้องล้มเลิกไป กลุ่มคนที่คิดจะฉวยโอกาสจากคนยากคนจนในหมู่บ้านก็ทำไม่ได้


 


ด้าน "น้องเต้" ด.ช.สุทธิพงษ์ ขาวสะอาด  ได้บอกถึงการนำสันติวิธีมาใช้ในการแก้ไขปัญหาระดับครอบครัว ว่า เวลาโดนพ่อแม่ดุ สิ่งที่สำคัญคือ อดทน อดกลั้น นิ่ง และไม่ตอบโต้ เราต้องพยายามยับยั้งชั่งใจไม่ให้โกรธเวลามีปัญหาหนักๆ


 


ในขณะที่ น้องหนิง เสริมว่า ความขัดแย้งที่เราเจอที่บ้าน ไม่ค่อยรุนแรง เพราะเกิดในระดับครอบครัว หรือตัวเองเสียเป็นส่วนใหญ่ ถ้าต้องเจอกับความเสียหายอย่างภาคใต้ มีการฆ่าผู้บริสุทธิ์ เผาโรงเรียน และหนูต้องไปอยู่ในจุดนั้น ก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไง


 


แต่ทั้งหลายทั้งปวง แม้ว่าความรุนแรงในภาคใต้จะขยายใหญ่ไปสู่ระดับประเทศ แต่เยาวชนจากภาคเหนือ ก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าอยากให้เพื่อนๆ ในภาคใต้อดทน เพราะอย่างไรก็ตาม ที่นั่นก็คือบ้าน


 


"น้องจิ๊" มาซีต๊อห์ แวหะยี เยาวชนจากสามจังหวัดภาคใต้ เสนอว่า  ถ้าถามว่าจะใช้อะไรแก้ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ตอนนี้ น่าจะหมายถึงดอกไม้ คือเราน่าจะใช้ดอกไม้ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนความละเอียดอ่อนเพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างราบรื่น และบางครั้งเราต้องตัดสินใจด้วยความนุ่มนวลเพื่อให้เกิดสันติขึ้นในชุมชน


 


สำหรับโครงการสันติวิธีในวิถีชุมชนที่ผู้ใหญ่ใจดีจากหลายๆ ภาคส่วนจัดขึ้นนี้ ก็คงเป็นขั้นตอนของการสร้างสร้างสันติแบบหนึ่ง ที่จะช่วยให้เยาวชนที่อยู่กับปัญหา รวมถึงเยาวชนที่อาจจะเกิดปัญหาขึ้นในวันหนึ่ง เข้าใจความเป็นไปของความขัดแย้งได้เป็นอย่างดี


 


สรุปข้อคิดเห็นทิ้งท้ายจาก "น้องวิว" เกสร เสียงกว้าง เรื่องประโยชน์ของการใช้แนวสันติวิธีในการแก้ไขความขัดแย้งในตัวเอง ว่า คิดว่าจะเอาแนวคิดสันติวิธีไปใช้พัฒนาอารมณ์ร้อนของตัวเอง ให้เย็นลง


 


เสียงจากเยาวชนวังเหนือครั้งนี้ คงเป็นมุมมองอันยิ่งใหญ่ที่จะบอกไปยังผู้ใหญ่ในบ้านเมืองให้ฟังความรอบด้านจากเสียงเล็กๆ เหล่านี้บ้าง!


 


    


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net