Skip to main content
sharethis

ตลอดบ่ายวันที่ 6 มกราคม 2549 เครือข่ายฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยสึนามิ ได้ตระเวนจัดประชุมชาวบ้านในพื้นที่ประสบภัย 3 ชุมชน ในจังหวัดพังงา ที่มีกรณีพิพาทที่ดินกับเอกชน เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะให้ข้อมูลต่อตัวแทนคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินและสัญชาติในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ นำโดยนายพีรพล ไตรทศาวิทย์ อธิบดีกรมที่ดิน นายชาญเชาว์ ไชยานุกิจ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่จะลงสำรวจพื้นที่ในวันที่ 8 มกราคม 2548


 


โดยเวลา 13.00 น. จัดประชุมชาวบ้านบ้านในไร่ ตำบลนาเตย อำเภอท้ายเหมือง ต่อมาเวลา 17.00 น. จัดประชุมชาวบ้านบ้านแหลมป้อม ตำบลบางม่วง และบ้านทับตะวัน ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า มีผู้เข้าร่วมประชุมชุมชนละกว่า 100 คน


 


ทั้งนี้ เครือข่ายฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยสึนามิ ได้แจ้งผลการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินและสัญชาติในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2549 ที่กระทรวงมหาดไทย ให้ชาวบ้านรับทราบและทำความเข้าใจ จากนั้นได้เตรียมความพร้อมของชาวบ้าน ด้วยการกำชับให้แต่ละคนเตรียมหลักฐานและข้อมูลในส่วนของตนเอง นำไปอธิบายต่อคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินและสัญชาติในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ เช่น หลักฐานการก่อตั้งชุมชน เพื่อยืนยันว่าชุมชนอยู่บริเวณนี้มาก่อน ไม่ได้เป็นผู้บุกรุก ภาพถ่ายทางอากาศ เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการครอบครองและเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดิน เป็นต้น


 


สำหรับชุมชนทับตะวัน จะมีการเสนอให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินและสัญชาติในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ แก้ปัญหาขุมเหมืองเก่าที่ชาวบ้านใช้เป็นที่จอดเรือของชุมชน แต่ขณะนี้มีเอกชนเข้ามาทำรั้วกั้น ห้ามชาวบ้านนำเรือเข้าไปจอด ในประเด็นนี้ ที่ประชุมกำหนดให้ชาวบ้านนำเสนอความเป็นมาของชุมชน การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ผังการใช้ประโยชน์เดิม และกิจกรรมการพัฒนาพื้นที่ของชุมชน


 


นายจำนงค์ จิตนิรัตน์ ที่ปรึกษาเครือข่ายฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยสึนามิ เปิดเผยว่า สำหรับกรณีพิพาทที่ดินในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ ระหว่างชาวบ้านกับเอกชนใน 6 จังหวัดอันดามัน ที่นอกเหนือจาก 3 ชุมชนข้างต้น ทางกระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งให้อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ลงมารับข้อร้องเรียนจากชาวบ้านในคราวเดียวกันนี้ด้วย ขณะนี้เครือข่ายฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยสึนามิแต่ละจังหวัดได้จัดเตรียมข้อมูล เอกสารที่เกี่ยวข้อง ที่มาของปัญหา เพื่อเตรียมนำเสนอต่ออธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพแล้ว


 


บ่ายวันเดียวกัน ที่ชุมชนปลากะตัก ตำบลรัษฎา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เครือข่ายคนจนพัฒนาภูเก็ต หนึ่งในองค์กรสมาชิกเครือข่ายฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยสึนามิ ได้ประชุมเตรียมข้อมูลและรวบรวมเอกสารต่างๆ เกี่ยวกับกรณีพิพาทที่ดินกับเอกชน 5 ชุมชน ในจังหวัดภูเก็ต คือ ชุมชนรายัญ, ชุมชนปลากะตัก, ชุมชนประชาสามัคคี, ชุมชนโคกโตนด, ชุมชนเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งมีปัญหาชาวบ้านถูกฟ้องร้องขับไล่ออกจากที่อยู่อาศัยประมาณ 95 คน บางชุมชนมีกรณีนายทุนบุกรุกป่าชายเลน แล้วขับไล่ชาวบ้านที่เข้าไปอยู่อาศัย โดยข้อมูลทั้งหมด จะนำเข้าร้องเรียนขอความเป็นธรรม ต่ออธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ในวันที่ 8 มกราคม 2548 ด้วย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net