Skip to main content
sharethis


จากการรับเรื่องร้องเรียนของชาวบ้าน และตระเวนแก้ปัญหาความขัดแย้งในการจัดการที่ดินและป่าทั่วประเทศมาตลอด 4 ปีเต็ม วานนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้จัดงานสัมมนาใหญ่เพื่อสรุปภาพรวมสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนจากความขัดแย้งดังกล่าว ซึ่งมีรูปแบบคล้ายกันโดยไม่ได้นัดหมายทั่วประเทศ พร้อมทั้งมีการแถลงข่าววิเคราะห์ที่มาของปัญหา และนำเสนอแนวทางแก้ไขไว้หลายประเด็น

 


คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยคณะอนุกรรมการสิทธิในการจัดการที่ดินและป่า และคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบเรื่องสิทธิในที่ดิน ได้รับเรื่องร้องเรียนด้านสิทธิในที่ดินและป่าตั้งแต่ปี 2544 จนถึงวันที่ 20 กันยายน 2548 ตามระบบฐานข้อมูลปัจจุบันรวม 106 กรณี โดยแยกเป็นปัญหาป่าไม้มีจำนวนมากที่สุดคือ 35 กรณี คิดเป็น 33% รองลงมาคือ ที่ดินสาธารณประโยชน์จำนวน 32 กรณี หรือ 30% อันดับสามคือ ที่ดินเอกชน จำนวน 17 กรณี หรือ 16% (มีการแถลงเพิ่มเติมว่าปัจจุบันเพิ่มเป็น 150 กรณีแล้ว)


 


คณะอนุกรรมการ ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า ปัญหาที่มีการร้องเรียนนั้น ส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแล้ว เคยมีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายแห่ง แต่กระบวนการแก้ไขปัญหากลับยืดเยื้อ ไม่มีประสิทธิภาพ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและไม่มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทำให้การแก้ปัญหาไม่มีความคืบหน้า ซึ่งคณะอนุกรรมการ ได้วิเคราะห์สาเหตุปัญหาดังกล่าว พบว่ามีรากเหง้ามาจาก


 


1. ระบบราชการที่ยังใช้กรอบวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยม ในการจัดการพื้นที่ในส่วนที่ตนรับผิดชอบ มากกว่าการมองที่ผลกระทบต่อชุมชน หรือสิ่งแวดล้อมแต่ประการใด ทั้งนี้ รวมไปถึงการใช้อำนาจตามกฎหมายในการข่มขู่คุกคามชาวบ้านและชุมชนที่เป็นคู่ขัดแย้งกัน แต่ในขณะเดียวกันการควบคุมตรวจสอบผู้กระทำความผิดที่เป็นพรรคพวกหรือนายทุน ยังไม่บังเกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพ


 


2. นโยบายการค้าเสรีมีผลทำให้เกิดวิธีคิดที่ให้คุณค่าของ "ที่ดิน" เป็นต้นทุนทางสินค้า และต้องใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างเต็มที่ การให้คุณค่าเช่นนี้เป็นสาเหตุสำคัญต่อการกำหนดนโยบายของรัฐบาลและสร้างวัฒนธรรมการเก็งกำไรซื้อขายที่ดินเพื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์


 


นโยบายดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรรายย่อย และสร้างปัญหาจำนวนคำไร้ที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น เช่น นโยบายการท่องเที่ยว นโยบายการปลูกป่าเชิงพาณิชย์ นโยบายการให้สัมปทานทำประโยชน์ โดยขาดการควบคุมดูแลต่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน และนโยบายเร่งรัดออกโฉนดที่ดิน เป็นต้น


 


3. กฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหา เช่น ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 พ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 เป็นต้น ล้วนแล้วแต่เป็นกฎหมายที่ล้าหลัง ให้อำนาจแก่หน่วยราชการในการดำเนินงานโดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐและประชาชน เช่น การประกาศเขตป่าโดยการขีดวงในแผนที่แต่ไม่ได้มีการสำรวจข้อเท็จจริงในพื้นที่ และเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นแล้วก็ไม่มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา รวมทั้งไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ให้สิทธิชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการบำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน


 


จากสาเหตุดังกล่าวมาแล้วข้างต้น อนุกรรมการ จึงได้พิจารณาและมีข้อเสนอแนะต่อการแก้ไขปัญหาในการละเมิดสิทธิในการจัดการที่ดินและป่า ดังนี้


 


ข้อเสนอระยะสั้น


1.รัฐต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่ถูกข่มขู่คุกคามจากผู้มีอิทธิพล เจ้าหน้าที่ และกลุ่มทุนในการแย่งชิงที่ดินและที่อยู่อาศัย


 


2. ให้ประชาชนผู้เดือดร้อนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาททุกขั้นตอน และให้มีการเร่งรัดแก้ปัญหา ทั้งกรณีพิพาทที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาแล้ว และกรณีพิพาทที่ยังไมมีการริเริ่มแก้ไขปัญหาใดๆ


 


3. กระบวนการแกไขปัญหาของรัฐ การกำหนดนโยบาย และการบังคับใช้กฎหมาย ต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสอดคล้องกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและชุมชนตามรัฐธรรมนูญ การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการเสนอต่อแนวนโยบายแห่งรัฐ


 


4. การพัฒนากลไกการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับที่ดินที่ให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม โดยเฉพาะผู้เดือดร้อนที่เข้าใจสภาพพื้นที่ ได้ร่วมเสนอการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับความเป็นจริง ทั้งในด้านการกำหนดแนวเขตที่ดิน กระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ การออกเอกสารสิทธิ์ที่ดิน การจัดการที่ดิน โดยก้าวข้ามข้อจำกัดทางกฎหมายและกลไกของระบบราชการ


 


5. การกำหนดระเบียบหรือแนวทางการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในระดับนโยบายที่เอื้ออำนวยให้เกิดการดำเนินการแก้ไขตามข้อเสนอ 3 ข้อแรก เนื่องจากการปรับปรุงแก้ไขนโยบายและกฎหมายที่เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาต้องใช้เวลานาน หากไม่มีแนวทางดังกล่าว เจ้าหน้าที่ระดับล่างก็ไม่กล้าปฏิบัติหน้าที่ เพราะกลัวมีความผิด


 


ข้อเสนอระดับนโยบาย


1. กำหนดนโยบายการวางแผนการใช้ที่ดินอย่างเหมาะสมทั้งประเทศ เพื่อจำแนกการใช้ที่ดินแต่ละประเภท เร่งรัดการตรวจสอบขอบเขตพื้นที่ที่ซ้ำซ้อนของหน่วยงานรัฐ และการใช้ประโยชน์ของประชาชนในสภาพความเป็นจริง โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม นำไปสู่ทางออกการจัดการที่ดินร่วมกันโดยชุมชนและสอดคล้องกับระบบนิเวศตามการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเหมาะสม


 


2. ปรับปรุงแก้ไขนโยบาย กฎหมาย คำสั่งและระเบียบข้อบังคับที่มีผลกระทบต่อสิทธิการใช้ประโยชน์และเข้าถึงทรัพยากร รวมทั้งกระทบต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ให้อยู่บนแนวคิดที่ว่า ที่ดินคือต้นทุนทางสังคมที่ต้องมีการจัดการอย่างยั่งยืน และกระจายอำนาจให้ชุมชนมีสิทธิมีส่วนร่วมในการจัดการ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ


 


3. ปฏิรูปการจัดการที่ดินของรัฐ ได้แก่ ที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่ราชพัสดุ ที่นิคมสร้างตนเอง โดยดำเนินการตรวจสอบการสงวนห้วงห้ามให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง โดยให้ประชาชนในพื้นที่เข้าไปมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน รวมทั้งมีมาตรการสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสงวนหวงห้ามและใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐอย่างยั่งยืน


 


4. การพัฒนาระบบฐานข้อมูลเกี่ยวกับที่ดิน เพื่อรวบรวมข้อมูลพื้นฐานไว้ใช้ในการศึกษา ติดตามตรวจสอบสภาพการณ์ปัจจุบัน และเพื่อใช้ในการวางแผนระดับนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรที่ดินได้อย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพ


 


5. การพัฒนามาตรการทางด้านการคลัง เช่น การจัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า เพื่อให้เป็นมาตรการจำกัดการถือครองที่ดิน การกระจายสิทธิในการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างเต็มที่


 


6. การพัฒนากลไกความร่วมมือในการทำงานขององค์กรชาวบ้าน ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและที่ดินของชุมชน ทั้งในด้านการส่งเสริมกระบวนการแก้ไขปัญหาแบบมีส่วนร่วมของชุมชน และการจัดเก็บภาษีประเภทที่เก็บจากมูลค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้น


 


 


คณะอนุกรรมการสิทธิในการจัดการที่ดินและป่า


คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบเรื่องสิทธิในที่ดิน


คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


 


วันที่ 6 ธันวาคม 2548


 


กลับหน้าแรกประชาไท

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net