Skip to main content
sharethis



ประชาไท—24 พ.ย.48      นักรัฐศาสตร์ท่าพระจันทร์ ตีแสกหน้ารัฐบาล อย่ากีดกันท้องถิ่นสร้างบีทีเอส ด้านนักวิชาการสิ่งแวดล้อมเชียร์ กทม.ทำรายงานสิ่งแวดล้อมบีทีเอสได้ฉลุย หวังเป็นแบบอย่างให้รัฐบาลเดินตาม

 


ในงานสัมมนาวิชาการเรื่อง "การเมืองของสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น: กรณี EIA รถไฟฟ้า กทม." มีการพูดคุยถึงบทบาทหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กับการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โดยหยิบยกประเด็นตัวอย่างรถไฟฟ้าบีทีเอสมานำเสนอ


 


งานสัมมนาดังกล่าวอยู่ภายใต้โครงการวิจัยธรรมาภิบาลด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น: ศึกษากรณีการริเริ่มของท้องถิ่น กระบวนการนโยบาย และปัจจัยสู่ความสำเร็จ มี รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหัวหน้าคณะวิจัย


 


ทั้งนี้ ภายหลังจากที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้ส่งหนังสือถึงผู้ว่าฯ กทม.เพื่อให้ส่งรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) ในส่วนที่มีการขยายเส้นทางเพิ่มจากถนนพระเจ้าตากสินไปถึงถนนเพชรเกษม บริเวณบางหว้าระยะทาง 4.5 กิโลเมตร ซึ่งขณะนี้ กทม.ได้ทำการก่อสร้างตอม่อและมีการขยายเปลี่ยนแปลงเส้นทางเพิ่มเติม แต่ยังไม่ได้จัดทำอีไอเอตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ทำให้หลายฝ่ายมองว่า อีไอเอได้กลายมาเป็นประเด็นทางการเมืองระหว่างรัฐบาลกับ กทม.แล้ว ขณะที่ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม.ได้ออกมายืนยันว่าจะมีการดำเนินตามกฎหมายอย่างแน่นอน


 


เวทีสัมมนาได้หยิบยกประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับหน้าที่รับผิดชอบของท้องถิ่นในการจัดทำอีไอเอ นอกจากนี้ยังมีประเด็นว่า เจ้าของโครงการหรือผู้รับผิดชอบควรเป็นขององค์กรปกครองท้องถิ่นหรือรวมไปถึงรัฐบาลกลางด้วย


 


 


รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เห็นว่า มติ ครม.ที่กำหนดให้รถไฟฟ้าบีทีเอสลงทุนโดยเอกชน 100% นั้นขัดต่อหลักการปกครองท้องถิ่น แต่ กทม.ถ่อมตนเกินไป เพราะคิดว่าไม่มีกฎหมายของ กทม.ฉบับใดสู้มติ ครม.ได้ แต่ความจริงมี พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจที่สามารถสู้มติครม.ได้ เพราะถือเป็นกฎหมายลูกของรัฐธรรมนูญ จึงเป็นเรื่องที่น่าจะนำมาฟ้องศาลปกครอง


 


ทั้งนี้ เพราะ อปท.ก็คือรัฐบาลท้องถิ่น (Local Government) ที่รัฐยินยอมให้จัดตั้งขึ้น โดยมีผู้บริหารที่เป็นตัวแทนของประชาชนที่มาจากการคัดเลือกตามหลักประชาธิปไตย และมีความเป็นอิสระของท้องถิ่นอยู่ด้วย


 


"หลังปี 2540 เป็นต้นมา อปท.มีอยู่เต็มพื้นที่และมีงบประมาณลงไปเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าในช่วงที่ผ่านมา แล้วท้องถิ่นทำอะไรได้บ้าง เราจะพบว่าความจริงทำได้แต่ไม่มีแรงจูงใจ เพราะต้องรบกับรัฐบาลส่วนกลาง ทำให้ท้องถิ่นไม่กล้าทำ ไม่อยากไปแข่ง เพราะมีแต่แพ้ ยกเว้นฐานะการคลังดีจริงๆ ซึ่ง กทม.มีงบ 3 หมื่นล้านก็สามารถทำอะไรได้มากหน่อย" รศ.ดร.นครินทร์ กล่าว


 


ทั้งนี้ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มธ. ได้ชี้ถึงจุดอ่อนในเขตเมืองที่สำคัญที่สุดคือ ระบบขนส่งมวลชน โดย มติ ครม.ออกมากำหนดให้รถไฟฟ้าบีทีเอสลงทุนโดยเอกชน 100% ส่วนรัฐบาลเลือกลงทุนในรถไฟฟ้ามหานคร (รฟม.) เท่ากับว่ามี 2 มาตรฐานที่รัฐบาลปฏิบัติ ทั้งยังถือเป็นการก้าวล่วงความเป็นอิสระของท้องถิ่นอีกด้วย


 


อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวถึงการจัดทำอีไอเอในโครงการสำคัญๆ ที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างกรณีบีทีเอสนั้น รศ.ดร.นครินทร์ เห็นว่า การที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมวิธีที่ดีที่สุดคือการเก็บภาษี เพราะ อปท.ไม่ใช่งานการกุศล แต่การบริการจะมาพร้อมกับภาษี แล้วเรื่องสิ่งแวดล้อมก็จะตามมาเอง ทั้งนี้ ยังให้กำลังใจ กทม.ให้เดินหน้าเรื่องอีไอเอโครงการบีทีเอสต่อไป พร้อมยืนยันว่า กทม.ทำถูกแล้ว ส่วนรัฐบาลคือผู้ทำผิด


 


นอกจากนี้ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มธ.เสนอว่า "ผมอยากเสนอให้มีสมาคมท้องถิ่น เพราะตอนนี้ อปท.อ่อนแอมาก ส่วน กทม.ก็แทบไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับใคร วันนี้มีความจำเป็นต้องมีสมาคมขึ้นมาเพื่อต่อรองกับรัฐบาลกลาง โดยมีนักวิชาการเป็นที่ปรึกษาทำงานร่วมกัน นอกจากนี้ผมเสนอให้ อปท.ยืมตัวบุคลากรของรัฐเพื่อมาช่วยการบริหารด้านการเงิน เพราะที่ผ่านมารัฐบาลทำตัวอยู่บนหิ้งไม่เข้ามายุ่ง ไม่ลงมาช่วย ไม่มีแนวคิดหุ้นส่วนกับท้องถิ่นเลย หากมีคนของรัฐบาลกลางมาจะช่วย ก็จะเป็นการเปิดทางให้ท้องถิ่นสามารถกู้เงินและออกพันธบัตรเองได้โดยไม่จำเป็นต้องแบมือขอเงินรัฐบาลอีกต่อไป"


 


ขณะเดียวกัน หัวหน้าคณะวิจัยย้ำในตอนท้ายว่า การบริการสาธารณะนั้นถือว่ามีความสำคัญมากสำหรับพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย และเจ้าภาพก็มีสำคัญมากแต่ประชาชนมักไม่สนใจ โดยถ้าให้รัฐบาลกลางทำบริการสาธารณะเองก็มักไม่ใส่ใจความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ในที่สุด อปท.เคลื่อนไม่ได้ ไม่ใช่เพราะใคร ศัตรูที่ตัวฉกาจที่สุดก็คือรัฐบาลนั่นเอง


 


ด้าน ผศ.สัญชัย สูติพันธ์วิหาร อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายเพิ่มเติมถึงปัญหาในการจัดทำอีไอเอในปัจจุบันว่า ตอนนี้ยังไม่มีการออกร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 ซึ่งอุ้มท้องมานานแล้ว โดยจะเป็นองค์กรอิสระศึกษาอีไอเอด้านเพื่อดูแลดำเนินการกับโครงการใดๆ ที่กระทบรุนแรงต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยกฎหมายระบุว่าต้องมาจากสถาบันการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม (เอ็นจีโอ)


 


ผศ.สัญชัย กล่าวว่า อีไอเอมีความสำคัญ จะต้องได้ข้อมูลถูกต้องครบถ้วนและนำไปสู่การตัดสินใจในโครงการต่างๆ โดยเป็นการคาดการณ์ผลกระทบหลัก 4 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อมกายภาพ สิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ การใช้ประโยชน์ของมนุษย์และคุณภาพชีวิต


 


นอกจากนี้ ผศ.สัญชัย อธิบายปัญหาที่สำคัญของอีไอเอว่านอกจากความเข้าใจ การให้ความสำคัญ ข้อมูลเชิงป้องกันแล้ว ที่สำคัญคือ ปัญหาการทำอีไอเอซึ่งกำหนดให้จัดทำเป็นรายโครงการ แม้จะมีความสัมพันธ์คาบเกี่ยวในพื้นที่เดียวกันก็ต้องทำอีไอเอคนละฉบับ ทำให้ไม่มีการมองภาพรวมก่อน จึงจำเป็นต้องมีผังเมืองมาช่วยตรงส่วนนี้ด้วย


 


"บีทีเอสส่วนขยายอีก 4.5 กิโลเมตรในอนาคต จะเป็นต้นแบบการจัดทำอีไอเอให้กับรัฐบาลที่มีแผนจะสร้างรถไฟฟ้าเพิ่มอีก 7 เส้นทาง การทำอีไอเอในครั้งนี้จึงเป็นตัวชี้วัดว่า อปท.ก้าวล้ำกว่ารัฐบาลเสียอีก นอกจากนี้อีไอเอยังมีการประเมินถึงทางเลือกว่า ที่ตั้งโครงการที่ใดดีกว่าและควรมีข้อเสนอ ซึ่งควรมีให้เลือกมากกว่า 1 เส้นทาง ทั้งนี้ อีไอเอเป็นการสร้างทางเลือกให้มีผลกระทบน้อยที่สุด" นักวิชาการ ม.มหิดล กล่าว


 


ขณะเดียวกัน นายธนา ชีรวินิจ ประธานสภากรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า กทม.เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะมีการจัดทำอีไอเอ แต่มาเกิดในช่วงที่เป็นประเด็นทางการเมืองพอดี ทำให้กทม.ต้องเคร่งครัดในเรื่องนี้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม กทม.มีแผนขยายบีทีเอสอยู่แล้ว แต่ติดอยู่ที่รัฐบาล จึงต้องช่วยกันผลักดันให้รัฐบาลลงมาดู เพราะส่วนต่อขยายอีก 4.5 กิโลเมตรนี้ กทม.ไม่มีงบประมาณแล้ว ถ้าไม่มีใครลงทุนต้องให้รัฐบาลลงทุนเอง


 


"ติดเงื่อนไขที่มติ ครม.โดยระบุให้เอกชนลงทุน 100% ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีแต่ไม่มีใครทำเพราะขาดทุน เนื่องจากกำหนดระยะเวลาสัมปทานเพียง 30 ปี ซึ่งถือเป็นเวลาที่สั้นเกินไป ขณะที่ต้องใช้เงินลงทุนเยอะมาก ถ้าจะแก้ไขต้องขอให้มติ ครม.ขยายระยะเวลาเพิ่มขึ้น" นายธนา กล่าวทิ้งท้าย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net