Skip to main content
sharethis


 


ประชาไท - 24 พ.ย.48 ศาลแพ่งมีคำสั่งแก้ไขคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว กรณีสั่งห้ามนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการกับพวกรวม 10 คน เผยแพร่ข่าวพาดพิง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หลังจากที่เคยมีคำสั่งเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา


 


โดยศาลพิเคราะห์จากพยานหลักฐานแล้ว เห็นควรให้มีการแก้ไขยกเลิกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามจำเลยเผยแพร่วีซีดี รายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรครั้งที่ 5 และ 7 ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่นของเครือญาตินายกรัฐมนตรี และการขายหุ้นในเครือชินคอร์ป เนื่องจากเป็นการวิจารณ์ในฐานะสื่อมวลชน เพราะในขณะนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งถือเป็นบุคคลสาธารณะที่สามารถวิจารณ์ได้


 


อย่างไรก็ตาม ศาลยังคงคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวห้ามเผยแพร่วีซีดี รายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรครั้งที่ 1, 3 และ 4 เนื่องจากเห็นว่า จำเลยได้กล่าวพาดพิง กรณีการวิ่งเต้นสัมปทานดาวเทียมไทยคม และคลื่นโทรศัพท์ระบบ 900 ซึ่งเป็นการวิจารณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ก่อนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี


 


ในช่วงเช้าวันเดียวกัน ศาลจังหวัดยโสธร มีคำสั่งยกคำร้องขออนุมัติหมายจับ นายสนธิ ลิ้มทองกุล และ น.ส.สโรชา พรอุดมศักดิ์ 2 ผู้ดำเนินรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามที่ พ.ต.ท.สำเนียง ลือเจียงคำ รอง ผกก.สส.สภ.อ.เมือง จ.ยโสธร ได้เข้าแจ้งความ กับ สภอ.เมืองยโสธร


 


โดยศาลได้พิเคราะห์ว่า "ถ้อยคำที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองกล่าวในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ เป็นการวิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรีโดยตรง แม้จะมีถ้อยคำบางคำที่กล่าวถึงและเปรียบเทียบพระมหากษัตริย์ และรัชทายาท ซึ่งถือว่าไม่บังควร แต่ถ้อยคำไม่ถึงกับหมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ประกอบกับหลักฐานของพนักงานสอบสวนไม่เพียงพอที่จะทำให้เชื่อว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองน่าจะทำผิดอาญาร้ายแรง ศาลจึงยกคำร้องขอออกหมายจับของพนักงานสอบสวน แต่ถ้าพนักงานสอบสวนเห็นว่าสำนวนยังมีน้ำหนัก ก็สามารถอุทธรณ์ได้"


 


ด้าน นายเริงศักดิ์ ทองแก้ว และนายพิจักษณ์ ภารพันธ์ ทนายความที่มายื่นร้องคัดค้านการขอออกหมายจับนายสนธิกับ น.ส.สโรชา กล่าวว่า คำพิจารณาของศาลได้ชี้ขาดว่า พนักงานสอบสวนไม่สามารถขอออกหมายจับนายสนธิ และ น.ส.สโรชา ได้แล้ว แต่พนักงานสอบสวนอาจหันไปใช้วิธีออกหมายเรียกแทน ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการพิจารณาคดีที่ถูกต้องตามปกติ ส่วนผลคดีจะออกมาเป็นอย่างไร ต้องไปดูหลักฐานของพนักงานสอบสวนมีน้ำหนักน่าเชื่อถือหรือไม่


 


ขณะที่ พล.ต.ท.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) และโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าคดีไม่มีมูล หรือรูปคดีไม่พอฟ้อง ศาลจึงไม่ออกหมายเรียก หรือหมายจับ


 


อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวนสามารถอุทธรณ์คำสั่งศาลได้ ซึ่งตนคงไม่สามารถตอบแทนพนักงานสอบสวนได้ว่าจะมีการยื่นอุทธรณ์หรือไม่ แต่เมื่อศาลมีคำสั่งอย่างนี้ตำรวจต้องถอย เพราะทราบว่าศาลได้ประชุมองค์คณะแล้ว และเห็นว่าคดีไม่มีมูลเลย


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net