Skip to main content
sharethis


ประชาไท—22 พ.ย. 48 ครม.มีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าตามที่กระทรวงพลังงานเสนอแล้ว 7 คน โดยมีอดีตประธานกรรมการ กฟน.เป็นประธาน เพื่อกำหนดอัตราค่าไฟฟ้า และป้องกันการผูกขาดในอนาคต

 


นายวิเศษ จูภิบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า (Regulator) ตามข้อเสนอของกระทรวงพลังงาน โดยมีองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ รวมทั้งสิ้น 7 คน


 


คณะกรรมการฯทั้ง 7 คน มีรายชื่อดังต่อไปนี้ นายยงยุทธ  วิชัยดิษฐ อดีตประธานกรรมการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เป็นประธานกรรรมการ กรรมการอีก 6 คน ประกอบด้วย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นายวิชิต หล่อจีระชุณห์กุล อาจารย์จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) นายชัยเกษม นิติสิริ รองอัยการสูงสุด นายอนันต์ อัศวโภคิน ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการบริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ นายวีระพล จิรประดิษฐกุล รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และนายศิริชัย  สายะศิลปี  อดีตรองผู้ว่าฯ กฟภ.เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยจะมีสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าชุดดังกล่าว


 


ทั้งนี้ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า พ.ศ.2548 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อ 25 มี.ค.2548 กำหนดให้คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลอัตราค่าบริการของผู้ประกอบกิจการไฟฟ้า กำหนดมาตรการส่งเสริมการแข่งขันและป้องกันการใช้อำนาจผูกขาดในทางมิชอบ กำหนดวิธีการและกำกับการแข่งขันการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ กำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบกิจการไฟฟ้า  กำหนดและกำกับดูแลมาตรฐานทางวิชาการและความปลอดภัยของการประกอบกิจการไฟฟ้า รวมทั้งช่วยปฏิบัติงานบางอย่างให้แก่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกิจการไฟฟ้าอีกด้วย


 


นายวีระพล จิรประดิษฐกุล รองผู้อำนวยการ สนพ.หนึ่งในกรรมการฯ กล่าวว่า คณะกรรมการชุดนี้แม้จะยังไม่มีกฎหมายออกมารองรับอำนาจแต่อยู่ภายใต้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) จึงไม่น่าเป็นปัญหา นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าวจะทำหน้าที่ดูแลเรื่องการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าใหม่ที่ขณะนี้กำลังจะมีการปรับปรุงหลังเศรษฐกิจชะลอตัว ดูแลเรื่องแผนการลงทุนของ กฟผ.และยังดูแลเรื่องการประมูลไฟฟ้าทั้งในส่วนของไอพีพี และโครงการพลังงานชีวมวลหรืออาร์พีเอสอีกด้วย โดยคาดว่าจะเริ่มประมูลไอพีพีรอบใหม่ได้กลางปี 2549


 


นายวีระพล กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากที่ร่าง พ.ร.บ.ประกอบกิจการไฟฟ้ามีผลบังคับใช้แล้ว ก็จะมีการสรรหาคณะกรรมการกำกับกิจการไฟฟ้าตามร่างกฎหมาย ซึ่งจะมีกฎหมายรองรับชัดเจนเมื่อนั้นก็จะยุบคณะกรรมการฯ ชั่วคราวชุดนี้ไป และยุบคณะกรรมการการผลิตไฟฟ้าที่ขณะนี้มีอำนาจดูแลเรื่องระบบสายส่งการเวนคืนที่ดินเพื่อปักเสาพาดสาย และเรื่องเขื่อนต่างๆ โดยคณะกรรมการกำกับกิจการไฟฟ้าจะเป็นผู้ดูแลทั้งหมด


 


ขณะเดียวกัน สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค (สอบ.) เห็นว่า คณะกรรมการชุดดังกล่าว เป็นการแต่งตั้งขึ้นมาเพื่อการสร้างความชอบธรรมและบีบบังคับให้การแปรรูปและขายหุ้น กฟผ.สามารถดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งเมื่อพิจารณาอำนาจหน้าที่ ช่วงเวลาในการแต่งตั้งและองค์ประกอบของคณะกรรมการแล้ว ไม่ได้เป็นไปเพื่อการปฏิรูปกิจการไฟฟ้าหรือเพื่อการดูแลการขึ้นค่าไฟ หรือมีการคุ้มครองผู้บริโภคแต่อย่างใด


 


นางสาวสายรุ้ง ทองปลอน ผู้จัดการ สอบ.ระบุว่า มติ ครม.ตั้งคณะกรรมการฯในครั้งนี้เป็นเพียงเสือกระดาษ ไม่สามารถกำกับดูแลหรือลงโทษหน่วยงานใดได้ โดยเป็นเพียงตัวแทนของรัฐบาลที่ตั้งขึ้นเพื่อต้องการสยบกระแสการคัดค้านการแปรรูปและขายหุ้น กฟผ.เท่านั้น

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net