Skip to main content
sharethis


วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน 2005 16:40น. 

กิ่งอ้อ เล่าฮง : ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


เป็นเวลากว่า 2 เดือนแล้วที่ ต่วนฟาร์นี ต่วนกูสีโป เด็กหนุ่มวัย 17 ปีจากหมู่บ้านตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ถูกควบคุมตัวตามอำนาจพรก.ฉุกเฉินฯไว้ที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 หลังจาก ต่วนดรอลี ต่วนกูสีโป ผู้พ่อพาลูกชายเข้ามอบตัวเนื่องจากเชื่อมั่นว่า ต่วนฟาร์นีไม่ได้อยู่ในกลุ่มวัยรุ่นที่ถูกทางการหมายหัวในข้อหาเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของ 2 นาวิกโยธิน


 


ก่อนหน้าที่จะถูกควบคุมตัว เด็กหนุ่มคนนี้มีอาชีพเป็นลูกจ้างชั่วคราวกองพลทหารราบที่ 301 ในตำแหน่งผู้ช่วยรักษาความปลอดภัย โดยได้รับค่าจ้างเดือนละ 4,500 บาท โดยทุกๆค่ำคืนเวลาประมาณสองทุ่มเขาจะออกไปเข้าเวรรักษาความปลอดภัยในหมู่บ้านพร้อมกับคนอื่นๆ แต่เมื่อโศกนาฏกรรมโหดเกิดขึ้น ต่วนฟาร์นี กลับมีรายชื่ออยู่ในบัญชีผู้ต้องสงสัย


 


"ผมทราบจากนายอำเภอว่า มีรายชื่อของต่วนฟาร์นีอยู่ในหมายจับ ก็เลยพาเขาเข้ามอบตัวทันที ไม่ได้หนีไปไหน คืนเกิดเหตุผมนั่งรับประทานอาหารอยู่กับครอบครัว แต่ฟาร์นีไม่ได้อยู่ด้วย เขาออกไปขายลองกองกับเพื่อนตั้งแต่เย็น พอได้ยินเสียงปืนก็ตกใจ  ผมไม่รู้ว่าเขาจะกลับมาหรือยัง ห่วงเขาก็เลยวิ่งมาออกมาดูพบว่ามีการกราดยิงเข้ามาในร้านน้ำชา"ต่วนดรอลี ต่วนกูสีโป ย้อนเหตุก่อนลูกชายจะตกเป็นผู้ต้องสงสัย


 


การกราดยิงร้านน้ำชาของกลุ่มคนร้ายทำให้มีผู้บาดเจ็บและชีวิตทันที และขณะที่ต่วนดรอลีกำลังช่วยหารถเพื่อนบ้านให้รีบนำผู้เจ็บส่งโรงพยาบาล  ต่วนฟาร์นีก็กลับมาถึงหมู่บ้านพร้อมเพื่อนๆ ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทหารและนาวิกโยธิน 2 นายเดินทางมาถึงเช่นกัน


 


"จังหวะนั้นมีการตีกลองผ่านเครื่องขายเสียง เพื่อประกาศว่าในหมู่บ้านมีคนตาย และระหว่างที่เจ้าหน้าที่กำลังเก็บหาปลอกกระสุน เคลียร์พื้นที่อยู่นั้น  มีเด็กคนหนึ่ง คือ อัลซูวัลย์ ถูกยิงตายด้วย พอได้ยินเสียงกลองทหารตำรวจก็รีบวิ่งขึ้นรถ ผมเองก็วิ่งเข้าไปหลบใต้ต้นไม้ สองคนนั่นเขาก็วิ่งแต่ว่ารถสตาร์ทไม่ติด ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งจึงเข้าไปจับตัวไว้"ต่วนดรอลี เล่า


 


 และบอกว่า ขณะนั้นกลัวว่าชาวบ้านจะเข้าไปทำร้ายทหารจึงเข้าไปสอบถามว่าเป็นใครมาจากไหน และนำอาวุธติดมาด้วยหรือไม่


 


 "ทหาร 2 คนบอกผมว่ามีปืน 3 กระบอก คือ ปืนเอ็ม 16 หนึ่งกระบอก ปืนจุด 38 และปืน 11 มม.ชาวบ้านก็พากันไปดูที่รถก็พบว่ามีจริง ผมเลยบอกเขาว่าขอนุญาติเลื่อนรถให้ชิดข้างทางได้มั๊ย เขาบอกว่ารถสตาร์ทไม่ติด ชาวบ้านเลยบอกว่าไม่เป็นไร ผมเป็นช่างทำอู่อยู่ เขาก็ให้กุญแจมา แต่ว่ารถสตาร์ทไม่ติดก็เลยต้องเข็น ตอนนั้นต่วนฟาร์นีอยู่ด้วย ก็เลยบอกให้ลูกช่วยเข็นรถหลบเข้าข้างทาง"ต่วนดรอลี กล่าว


 


 ระหว่างที่ชาวบ้านรวมทั้งต่วนฟาร์นีกำลังเข็นรถอยู่นั้น ต่วนดรอลี เล่าว่า มีเสียงตะโกนจากชาวบ้านคนหนึ่งว่า "ให้จอดขวางไว้ก่อน กลัวจะมีรถเข้ามากราดยิงใส่อีก "


 


"ตอนนั้นผมเองก็ไม่กล้าขัดขืนชาวบ้าน เพราะถ้าเราไม่ทำตามแล้วปล่อยให้เขาทำกันเองอาจจะเสียหายมากกว่านี้ เสร็จแล้ว ผมก็ล็อครถไว้เหมือนเดิม ก็ยังคุยกับเพื่อนบ้านว่า อย่าไปทำลายทรัพย์สินเขานะเดี๋ยวจะมีปัญหา ความรู้สึกของชาวบ้านต้องบอกว่าเขาโกรธจริงๆ แต่คุยแล้วได้ข้อตกลงว่า ตอนเช้าเราจะไปแจ้งความที่โรงพักทั้งหมู่บ้านเลย "


 


"ขณะนั้นผมก็พยายามหาผู้ใหญ่บ้าน อบต.ปรึกษา แต่ไม่มีใครสักคน เข้าใจว่าเขาวุ่นวายกับการพาคนเจ็บไปโรงพยาบาล เลยโทรหาผู้ว่าฯท่านถามว่าจะไปให้ไปตอนนั้นเลยมั๊ย แต่ระยะทางมันไกล ผมเกรงจะไม่ปลอดภัย ท่านเลยตกลงว่าจะมาตอนเช้า คุยเสร็จผมก็พาต่วนฟาร์นีกลับบ้าน....ผมคิดว่าเหตุที่ลูกชายถูกอำนาจพรก.จับกุมเพราะเข้าไปช่วยเขาเข็นรถนายทหาร 2 คนนี้แหละ"ต่วนดรอลี เชื่อมั่นเช่นนั้น


 


เขา เล่าว่า ขณะนี้เด็กวัยรุ่นที่หนีออกจากหมู่บ้านยังไม่กล้าจะกลับเข้ามามอบตัว เพราะเกรงจะมีปัญหาเช่นเดียวกับต่วนฟาร์นี


 


"เพื่อนๆ เขาที่อยู่หมู่บ้านใกล้เคียงก็มาถามว่า ต่วนฟาร์นีเป็นยังไงบ้าง พวกกลุ่มวัยรุ่นนี่จะกลัวเจ้าหน้าที่มากๆเลย จะมอบตัวก็ไม่กล้า กลัวจะเจออย่างลูกชายผม ที่ผมกล้าพาเขาไป เนื่องจากเชื่อว่าลูกไม่ผิด ไม่ได้ทำร้ายใคร ส่วนคนอื่นๆ เขาก็หนีไปหมดแล้ว ตอนนี้หลายคนยังไม่กล้ากลับเข้าหมู่บ้านเลย ถ้าการเข้ามอบตัวและการบังคับใช้พรก.ทำให้ครอบครัวเราตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ ผมจะไปตอบกับครอบครัวคนอื่นๆได้ยังไง"ต่วนดรอลี กล่าว


 


การใช้อำนาจตามกฎหมาย พรก.ฉุกเฉินควบคุมตัวกลุ่มเด็กวัยรุ่นที่ต้องสงสัยไม่ได้เกิดที่บ้านตันหยงลิมอแห่งเดียว แต่ยังแพร่ขยายไปในอีกหลายๆพื้นที่ซึ่งมีความรุนแรงเกิดขึ้น เช่น การจับกุมตัวกลุ่มวัยรุ่น 17 คนในเขตเทศบาลบันนังสตา จ.ยะลา หลังเกิดเหตุการณ์ยิงถล่มบ้านพักนายอำเภอและสถานที่ราชการหลายแห่ง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถวิสามัญ "หาสือมืง จารง" แกนนำฆ่าหัว1 ล้านบาทได้


 


วัยรุ่นคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาลบันนังสตา บอกว่า เขาไม่เชื่อว่ากลุ่มวัยรุ่นที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมที่หอนาฬิกาจะเป็นผู้มีส่วนร่วมหรือรู้เห็นกับเหตุร้ายที่เกิดขึ้น เนื่องจากทุกๆวันสถานที่ดังกล่าวจะมีวัยรุ่นจากหมู่บ้านและเขตอำเภอใกล้เคียงมานั่งดื่มน้ำชาเป็นประจำอยู่แล้ว


 


"ตอนเกิดเหตุผมเห็นคนร้าย 3-5 คน วิ่งเข้ามาพร้อมอาวุธปืน มันไม่ทันมองแล้วพี่ว่าปืนสั้นปืนยาว ผมวิ่งหนีไม่คิดชีวิตเข้าบ้าน แล้วผมก็เห็นวัยรุ่นที่กำลังนั่งกินน้ำชาอยู่ วิ่งกันอลหม่านมาก เขาวิ่งเข้าไปเคาะประตูบ้านคนอื่นด้วย แต่ใครจะเปิดรับเพราะเขาไม่รู้จัก ผมเองพอเข้าบ้านแล้วก็หมอบเงียบอย่างเดียวเลย ไม่กล้าเงย เพราะมันยิงกันทั้งสองฝั่ง ทั้งเจ้าหน้าที่และกลุ่มคนร้าย เหมือนสงครามย่อยๆเลย"เด็กหนุ่มคนเดิมเล่า


 


เขาย้ำว่า ช่วงเวลานั้นเชื่อว่าทุกคนต้องรู้สึกหวาดกลัว โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นที่ไม่รู้จะหันไปทางไหน จะวิ่งหนีก็กลัวถูกลูกหลง จะวิ่งไปอาศัยบ้านชาวบ้าน เขาก็ไม่ให้เข้า เนื่องจากไม่รู้จัก ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร จึงต้องหมอบเฉยๆแล้วรอให้เจ้าหน้าที่มาจับกุมตัวไปทั้งหมด


 


"ช่วงทุ่มกว่าๆ เป็นวิถีทางวัฒนธรรมของพวกเราที่ต้องมานั่งดื่มชาแล้วคุยกัน พวกนี้เขาจะขับมอเตอร์ไซค์มาจาก บาเจาะบ้าง ระแงะ บ้าง เพราะที่นี่เป็นแห่งเดียวที่ไม่เคยมีเหตุร้ายอะไร คือ มันอยู่ในเขตเทศบาลซึ่งน่าจะมีความปลอดภัยสูง เป็นผมรู้สึกแย่นะ นั่งดื่มชาอยู่ดีๆ ต้องกลายเป็นผู้ต้องหา ความรู้สึกมันบอกไม่ถูกหรอก"เด็กหนุ่มคนเดิม ย้ำ


 


ขณะที่เพื่อนวัยเดียวกันอธิบายเหตุที่ทำให้เขาไม่เชื่อว่า วัยรุ่นกลุ่มดังกล่าวเป็นพวกเดียวกับกลุ่มคนร้ายเพราะมีลักษณะการแต่งกายต่างกัน และขณะเกิดเหตุการณ์คนกลุ่มนี้ต่างก็วิ่งหนีกันหัวซุกหัวซุนเช่นเดียวกับคนอื่นๆ


 


"ถ้าเป็นคนร้าย เขาคงไม่แต่งตัวเหมือนพวกผมแล้วก็วิ่งหนีอย่างนั้นหรอก ผมว่าการใช้อำนาจตามกฎหมายมันก็ดีอยู่นะ แต่บางเรื่องรัฐควรเข้าให้ถึงความรู้สึกเขาด้วย การใช้พรก.คุมตัวไม่ควรนำมาใช้กับกรณีนี้ ผมถ้ารัฐไม่ต้องการทำให้ช่องว่างทางความรู้สึกระหว่างกลุ่มวัยรุ่นกับเจ้าหน้าที่ก็ควรจะมีทางออกที่ดีกว่านี้"เด็กหนุ่มอีกคนหนึ่ง กล่าว


 


เขาย้ำว่า วิธีการทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีทำไม่ยาก เพียงแค่ตำรวจเรียกสอบประวัติวัยรุ่นทั้งหมดไว้ และเรียกให้ผู้ปกครองมารับตัวไป  และหากกรายใดสงสัยเป็นกรณีพิเศษว่าอาจอยู่ในกลุ่มแนวร่วมหรือเป็นแกนนำก็อาจมีการติดตามพฤติกรรมอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งแนวทางนี้ดีกว่าการนำทั้งหมดไปคุมขังไว้โดยอาศัยอำนาจพรก.อย่างเดียว


 


"ผมว่ารัฐแก้ปัญหาผิดนะ  ต้องเข้าใจกลุ่มวัยรุ่นด้วย พวกที่ดีก็มี ไม่ดีก็มี ทำไมต้องใช้อำนาจพรก.ทำให้เขารู้สึกต่อต้านการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐด้วยถ้าเขาไมได้ทำผิด ความรู้สึกการถูกคุมขังเป็นเวลานานๆเราไม่รู้ว่าความรู้สึกลึกๆในใจเขาเป็นอย่างไร แล้วถ้ามีคนมาจุดความรู้สึกเกลียดชัง ต่อต้านให้ติดขึ้นมา จะเป็นยังไง นี่เป็นความรู้สึกของผมในฐานะที่เป็นวัยรุ่นคนหนึ่งนะ "เด็กหนุ่มชาวไทยมุสลิมแห่งบันนังสตา ทิ้งท้ายให้คิด


 


ขณะที่ เอกรินทร์ ต่วนศิริ อุปนายกกิจการภายนอก องค์การบริหารนักศึกษา มอ.ปัตตานี  ตั้งข้อสังเกตว่า การใช้อำนาจในทางนิติศาสตร์ โดยเฉพาะอำนาจพรก.ฉุกเฉินฯในการควบคุมตัวและขยายเวลาการกุมขังออกไปเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง


 


"ถ้ากฎหมายบังคับใช้กับคนผิดไม่เป็นไร แต่ถ้าเขาไม่ผิดล่ะ ผมว่าการแก้ปัญหารัฐควรจะเข้าถึงความรู้สึกของพวกวัยรุ่นด้วย เรื่องบางเรื่องต้องแก้ที่ความรู้สึก ไม่ใช้ใช้อำนาจกฎหมายอย่างเดียว วัยรุ่นบางคนแค่รัฐสงสัยก็สามารถใช้อำนาจพรก.ควบคุมตัวได้เลย แต่ถ้าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ล่ะ คือ ผมสงสัยว่า ทำไมการดื่มชาของวัยรุ่นที่นี่เป็นความผิด ทำไมต้องถูกจับตามองจากเจ้าหน้าที่ แต่เวลาพวกวัยรุ่นที่เข้าผับ ดื่มเหล้า ไม่ไปจับตาเขาเลย ตรงนี้มันเป็นมายาคติแฝงอยู่หรือเปล่า" เอกรินทร์ กล่าว


 


เอกรินทร์ บอกว่า ขณะนี้ความรู้สึกระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มวัยรุ่นในพื้นที่สามจังหวัดค่อนข้างจะห่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่เรียนโรงเรียนปอเนาะ ซึ่งมักจะถูกจับตาหรือถูกตรวจค้นจากเจ้าหน้าที่ตลอดเวลา หรือแม้แต่วัยรุ่นในหมู่บ้านต่างๆปัจจุบันแทบไม่กล้าจะออกไปไหน ไม่มีพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทุกพื้นที่อยู่ในภาวะอึมครึมทั้งหมด


 


"วัยรุ่นมีความรู้สึก และมีอารมณ์  ถ้าเขาถูกกดดันมากๆ แล้วมีใครมาจุดประเด็นความรุนแรงให้ น่ากลัวนะ ครับ ผมว่าเจ้าหน้าที่รัฐเองบางครั้งจำเป็นต้องปรับท่าทีและบทบาทของตัวเองเหมือนกัน หลายคนที่เรียนอยู่โรงเรียนปอเนาะ เขาจะกลัวมากและมักจะตั้งคำถามกับพวกผมเสมอว่า ทำไมการเรียนศาสนาจึงเป็นเรื่องที่ต้องถูกจับตามอง"อุปนายกฯมอ.ปัตตานี กล่าว


 


เขายังบอกอีกว่า เห็นด้วยกับแนวคิดของกลุ่มวัยรุ่นที่ต้องการให้เจ้าหน้าที่รัฐทำทะเบียนประวัติและติดตามพฤติกรรมผู้ต้องสงสัยมากกว่าการใช้อำนาจพรก.กุมขัง เพราะในช่วงที่ถูกควบคุมตัวไว้เฉยๆโดยไม่มีความผิดนั้น เชื่อว่าจะทำให้กลุ่มวัยรุ่นเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อเจ้าหน้าที่รัฐและอาจทำให้กำแพงของความเกลียดชังขยายต่อไปเรื่อยๆ


 


กว่า 2 เดือนแล้วที่ต่วนฟาร์นียังไม่ได้กลับบ้าน แม้ว่า พ่อและแม่จะแวะเวียนไปเยี่ยมเขาทุกๆวัน เช่นเดียวกับเด็กวัยรุ่นอีกหลายๆคนที่ต้องตกเป็น"เหยื่อ"และ"จำเลย"ของสถานการณ์ ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าลึกๆในใจของแต่ละคนนั้นกำลังคิดอะไรอยู่ คงได้แต่หวังเพียงว่าอย่าให้ช่องว่างที่มีอยู่แล้วจะไม่กลายเป็นกำแพงที่สูงเกินกว่าจะทลายลงมา !!!!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net