Skip to main content
sharethis


รศ.ภูวดล ทรงประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขียนบทความ "ความขัดแย้งเรื้อรังใน 3 จังหวัดชายแดนใต้" โดยชี้ให้เห็นความหมักหมมของปัญหาทางประวัติศาสตร์ และการจัดการที่ผิดพลาดซ้ำรอยในปัจจุบัน


 


และเมื่อ รศ.ภูวดล นำเสนอแนวคิดจากบทความในเวทีเสวนา วันที่ 19 ต.ค. ก็เป็นไปอย่างเผ็ดร้อน หลายครั้งที่มีเนื้อความกระทบกระทั่งผู้มีอำนาจในบ้านเมืองขณะนี้ จนทำให้หลายคนที่มาฟังต้องถึงกับอภิปรายแสดงความเป็นห่วงสถานภาพความปลอดภัยกันเลยทีเดียว


 


บทความของ ร.ศ.ภูวดล ในหนังสือเล่มนี้ ชี้ให้เห็นว่าความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยกับคาบสมุทรภาคใต้เป็นสิ่งที่เกิดมานาน เพราะรัฐไทยเติบโตด้วยการตักตวงความมั่งคั่งจากคาบสมุทรมาเลเซีย มาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยจับมือกับกลุ่มผลประโยชน์ในพื้นที่เช่นคนจีน และยังดำเนินการเป็นเช่นนี้จนปัจจุบัน


 


และหากต่อไปการตักตวงนี้บวกกับความ "ชอบลุกลาม ซ่า เย่อหยิ่ง ยะโส โอหัง" ของ นายกรัฐมนตรี ความขัดแย้งก็จะดำรงอยู่ไปเรื่อยๆ


 


ร.ศ.ภูวดล ระบุว่า ปัญหาความรุนแรงที่บานปลายที่เกิดในขณะนี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากมรดกบาปตั้งแต่สมัยศักดินา สมัยอาณานิคม และสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม


 


และอีกเหตุหนึ่งของปัญหา คือความกลัวโจรแบ่งแยกดินแดนที่เกิดจากการกดขี่ของรัฐไทยมานมนานโดยเฉพาะสมัยยุคอัศวินหรือรัฐตำรวจ จึงได้นำโจรจีนคอมมิวนิสต์มาเลี้ยงไว้เองเพื่อใช้โจรปราบโจร


 


ส่วนในปัจจุบันที่มีปัญหาลุกลามใหญ่โตขึ้น ก็มาจากการเข้าไปวุ่นวายของรัฐไทย โดยใช้การพัฒนาที่เอื้อประโยชน์ให้กับเฉพาะผู้นำทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็คือพวกเชื้อสายจีน รวมทั้งการตัดสินใจที่ผิดพลาดของ "ทักษิณ ชินวัตร" ในการยกเลิก ศอ.บต. เพราะก่อนหน้าที่จะเลิกหน่วยงานนี้ สถานการณ์ต่างๆ ได้คลี่คลายลงมาแล้ว


 


ต่อมาที่ทุกอย่างกำลังพังเพราะ "ทักษิณนิยม" กระแสที่ออกมาในการยุบปอเนาะเป็นเรื่องที่ใหญ่และ กระทบกระเทือนสังคม 3 จังหวัดและสังคมมุสลิมสูงมาก ขณะเดียวกันรัฐบาลมีความไม่ตรงไปตรงมา ใช้ นายจาตุรนต์ ฉายแสง ตรึงกระแสของกลุ่มต่อต้านความรุนแรง แต่ก็ไม่ให้รุกเข้าไปแก้ปัญหา


 


ในด้านความสัมพันธ์ทางต่างประเทศขณะนี้ ก็กำลังพังไปหมด ทั้งๆ ที่มาเลเซีย เป็นประเทศที่ต้องสร้างความสัมพันธ์กับไทยไว้เพื่อต้านสิงคโปร์ แต่ประเทศไทยกับแสดงความ "กุ๊ย" ในเวทีการเมืองระดับโลก จากการแตกกันครั้งนี้ ต่อไปจะทำให้เอกภาพของอาเซียนแย่ไปด้วย และความรุนแรงก็จะยกระดับขึ้นเป็นการก่อการร้ายสากล และสหรัฐฯก็จะเข้ามาวุ่นวายมากขึ้นกว่าเดิมจากที่ทำอยู่แล้วในตอนนี้


 


ส่วนบทความสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ เป็นการนำเสนอความหวังเล็กๆ ในการสร้างสันติภาพ โดย ดร.เลิศชาย ศิริชัย อาจารย์ประจำสำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในเรื่อง "ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากความรุนแรง สู่สันติวิธี : กรณีศึกษาการเคลื่อนไหวของชาวประมงพื้นบ้าน จังหวัดปัตตานี"


 


การเคลื่อนไหวของชาวประมงพื้นบ้านเป็นการสร้างพื้นที่ทางสังคม เพื่อยืนยันความเป็นมนุษย์ของคนในพื้นที่ เดิมเคยถูกจัดการอย่างไม่เป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่ที่เอื้อประโยชน์ให้กับเฉพาะกลุ่มทุนใหญ่ที่เข้ามาทำลายทรัพยากรทางทะเลในพื้นที่


 


กลุ่มประมงพื้นบ้านก็ได้ใช้ประสบการต่อสู้อย่างหลากหลายรูปแบบทั้งผ่านระบบราชการ ความรุนแรง แต่สุดท้ายก็เลือกที่จะใช้วิธีการรวมตัวเพื่อกดดันให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรม และตั้งเป็นชมรม "ชาวประมงพื้นบ้าน จังหวัดปัตตานี" ขึ้นมาดูแลตัวเอง


 


ดร.เลิศชาย อธิบายว่า ชาวประมงมุสลิมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนมากพึงพอใจที่จะทำประมงพื้นบ้าน แม้ว่าผลตอบแทนจะไม่ได้อย่างมหาศาลเหมือนอาชีพอื่นๆ ก็ตาม


 


ทัศนคติพอเพียงนี้ มาจากการที่คนในพื้นที่มีภาษามลายูเป็นของตนเอง ทำให้แนวทางพัฒนาจากส่วนกลางเข้าถึงชาวบ้านได้น้อย แต่กลับเป็นส่วนกระตุ้นให้ชาวบ้านหันมารักษาความเข้มแข็งทางวัฒนธรรม เพราะการพัฒนาแบบใหม่จากส่วนกลางนั้นเน้นไปที่การพัฒนาแบบมีมาตรฐานเดียว


 


ในขณะที่ชาวบ้านจะพอใจในระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมมากกว่า เพราะเครือข่ายการแลกเปลี่ยนระหว่างกันแบบดั้งเดิมที่แม้จะต้องใช้ความหลากหลายทางภาษามาสื่อสารกัน แต่รูปแบบนี้มีข้อดีคือ อยู่บนพื้นฐานการยอมรับความหลากหลาย ทำให้หลายกลุ่มที่ต่างกันสื่อเข้าใจกันได้


 


นอกจากนี้ การทำประมงแบบใหม่ เช่น เรืออวนลาก อวนรุน ไม่เพียงแค่การทำลายที่ทำกินและทรัพยากรเท่านั้น แต่ชาวประมงพื้นบ้านถือว่าเป็นการทำลายตัวตนของชาวมุสลิมที่ผูกพันกับทะเลด้วย เมื่อชาวบ้านทำประมงไม่ได้ บางส่วนจึงย้ายไปอยู่ประเทศมาเลเซียจำนวนมาก


 


แต่ส่วนที่เลือกจะทำประมงในพื้นที่ต่อได้อดทนมากว่า 10 ปี ภายหลังจึงเริ่มมีการร้องเรียนกับทางเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมากขึ้น และการร้องเรียนก็ไล่ต่อไปจนถึงนักการเมืองระดับประเทศ จนกระทั่งผ่านไปประมาณ 2-3 ปี ก็ไม่มีความคืบหน้า ชาวบ้านเริ่มทนไม่ไหว จึงมีการจับอาวุธ และรุนแรงถึงขั้นนำเรือออกไปไล่ยิง เรืออวนลาก อวนรุน


 


ภายหลังกลุ่มทุนเหล่านี้กลับได้รับการคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่ ทั้งๆ ที่เวลาชาวบ้านร้องเรียนไม่เคยได้รับความสนใจเลยนับเป็น 10 ปี


 


จากนั้นจึงเริ่มเกิดการรวมตัวกัน ภายใต้การเชื่อมผสานของนักวิชาการและนักพัฒนาท้องถิ่น เริ่มจากมีการสร้างผู้นำที่มาจากการเป็นล่ามเพื่อสื่อสาร จนต่อมาสามารถสร้างตัวตนและเคลื่อนไหวไปเรียกร้องใหญ่ที่ศาลากลางจังหวัดปัตตานีได้สำเร็จ


 


จากนั้นมาก็ทำให้เจ้าหน้าที่หันมาดูแลมากขึ้น รวมทั้งกลุ่มดังกล่าวเมื่อรวมตัวกันจนตั้งเป็นชมรมได้ ก็มาระดมทุนเพื่อจัดหาเรือมาตรวจการกันเอง ในระยะแรกมีการด้อมๆ มองๆ ของเจ้าหน้าที่ จึงมีการเชิญเจ้าหน้าที่ไปร่วมตรวจการด้วย เป็นการสร้างสัมพันธ์และความเข้าใจกัน


 


ดร.เลิศชาย ยกกรณีนี้เป็นกรณีตัวอย่างไว้ในหนังสือ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเสริมสร้างกระบวนสร้างตัวตนอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรีของคนในพื้นที่ เพื่อขจัดปัญหาความไม่ยุติธรรมอันเป็นรากเหง้าหนึ่งของปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบัน


 


ที่ผ่านมาปัญหาของการเคลื่อนไหวทางสังคมของคนในพื้นที่ก็คือเรื่องอคติทางชาติพันธุ์ของภาครัฐ และวัฒนธรรมของข้าราชการ สิ่งที่จะช่วยแก้ไขจุดนี้ ต้องทำให้นักพัฒนาเอกชนและนักวิชาการเข้าไปเป็นตัวกลางในการเชื่อมผสาน เพื่อให้เกิดพื้นที่ต่อรองของกันและกัน


 


--------------------------------------------


 


สรุป "ความรู้" ทั้ง 5 ตอน เป็นเพียงส่วนหนึ่งของหนังสือ หวังว่า คงเป็นอีก "ความรู้" หนึ่ง ในหลายๆ "ความรู้" ที่จะมีส่วนช่วยทำให้สังคมขับเคลื่อนไปด้วย "ปัญญา" เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาต่างๆ อย่างถูกต้องตรงจุด โดยเฉพาะสำหรับปัญหาในภาคใต้


 


หากมีโอกาสอ่านหนังสือเล่นนี้ในฉบับเต็มคงจะเป็นการดี เพราะจะทำให้เห็นในรายละเอียดของข้อมูลและการวิเคราะห์ที่หนักแน่นหลากหลายมากขึ้น การประเมินสถานการณ์เพื่อนำมาสู่การออกนโยบายในการจัดการปัญหาก็จะเป็นไปด้วยความรอบคอบมากขึ้น


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net