Skip to main content
sharethis

 ที่มา



คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2547 ให้จัดตั้งสำนักงานข้าวแห่งชาติ มีฐานะเป็นส่วนราชการระดับกรมภายในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมุ่งหมายที่จะให้เป็นองค์กรดูแลเบ็ดเสร็จในเรื่องการพัฒนาข้าวและชาวนา ทั้งการผลิต การแปรรูป ไปจนถึงการตลาด รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนชาวนาและองค์กรชาวนาให้มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งตนเองได้ นำไปสู่ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อย่างไรก็ดี นอกจากโครงสร้างสำนักงานข้าวแห่งชาติที่ปัจจุบันกำหนดให้มีสำนักงานซึ่งมีเลขาธิการ (อธิบดี) เป็นผู้บริหารสูงสุดแล้ว ยังจัดให้มีคณะกรรมการข้าวแห่งชาติ (National Rice Board) ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีคณะกรรมการประกอบด้วยภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องทุกสาขาและตัวแทนชาวนา ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและมาตรการสำคัญในการพัฒนาข้าว


 


นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีกลไกการบริหารจัดการที่จำเป็นอื่นๆ เพื่อเป็นเครื่องมือในการผลักดันให้แนวคิดการดำเนินงานของสำนักงานบรรลุผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีการพระราชบัญญัตินี้ ถือเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งสำหรับสร้างประโยชน์ให้แก่การพัฒนาข้าวและชาวนา รวมทั้งแก่ผู้เกี่ยวข้องสาขาอื่นๆ ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงจัดให้มีการร่างกฎหมายเพื่อใช้ประกอบการจัดตั้งและการบริหารจัดการสำนักงานข้าวแห่งชาติ ตามที่ได้แนบมาพร้อมนี้


 



  1. วัตถุประสงค์ของการมี พ.ร.บ.ข้างแห่งชาติ พ.ศ. .....


เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการด้านข้าวของประเทศ รวมทั้งการส่งเสริมพัฒนาชาวนาและองค์กรชาวนานำไปสู่การเป็นผู้นำในด้านการส่งออกข้าวของโลก และช่วยให้ชาวนาและผู้เกี่ยวข้องมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น


 



  1. หลักการและเหตุผล พ.ร.บ. ข้าวแห่งชาติ พ.ศ. .....


ข้าวมีความสำคัญต่อประเทศและประชาชนไทย ด้านวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี ประวัติศาสตร์ และด้านเศรษฐกิจ จึงสมควรปรับปรุงองค์กรเกี่ยวกับข้าว และมีกฎหมายด้านการบริหารจัดการด้านข้าว เพื่อการพัฒนาข้าวและช่วยเหลือชาวนาและผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น


 



  1. หลักการสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ข้าวแห่งชาติ พ.ศ. .....


1)      จัดให้มีองค์กรรับผิดชอบการพัฒนาข้าวและขาวนาแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร คือ การจัดตั้งสำนักงานข้าวแห่งชาติเป็นนิติบุคคลภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการครบถ้วน ตั้งแต่ การผลิต กาแปรรูป ไปจนถึงการตลาด


2)      สำนักงานข้าวแห่งชาติ มีลักษณะเป็นหน่วยงานราชการ แต่มีการบริหารจัดการในรูปแบบพิเศษ คือ สามารถมีเงินกองทุนเพื่อการบริหารงานเป็นของตนเอง มีระเบียบเบิกจ่ายได้คล่องตัวมากขึ้น


3)      กองทุนมาจากหลายแหล่ง แต่ที่สำคัญคือการเรียกเก็บจากค่าธรรมเนียมในการนำเข้าหรือส่งออกข้าว


4)      ให้มีสำนักงานข้าวจัดหวัดได้ตามความจำเป็น โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ


5)      มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายพัฒนาข้าวที่มาจากภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องทุกสาขา คือกำหนดให้มีคณะกรรมการข้าวแห่งชาติ และมีคณะกรรมการข้าวแห่งชาติระดับจังหวัด


6)      ให้สิทธิพิเศษหรือให้ความช่วยเหลือแก่ชาวนา ผู้ประกอบการธุรกิจข้าว ผู้ประกอบการโรงสี ผู้ค้าข้าว ที่ขึ้นทะเบียนกับทางราชการ


7)      เน้นด้านกำหนดเขตส่งเสริมการปลูกข้าวพันธุ์ดี (zoning) เพื่อความมีประสิทธิภาพในการผลิตข้าว


8)      มีการออกใบรับรองมาตรฐานข้าว เพื่อประโยชน์อย่างแท้จริงด้านการตลาดข้าว


9)      สร้างความเป็นธรรมแก่กระบวนการซื้อขายข้าวเปลือก โดยจัดให้มีเครื่องมือในการตรวจสอบคุณภาพข้าว และกำหนดให้ซื้อขายข้าวตามมาตรฐานที่กำหนด


10)   ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ไปสำรวจตรวจสอบรังวัดพื้นที่นา ซึ่งผู้ขัดขวางมีโทษ รวมทั้งผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศที่ออกโดยชอบ


11)   ผู้ที่หลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าธรรมเนียมสำหรับกองทุน มีโทษปรับ


12)   มีบทเฉพาะกาลให้โอนหน่วยงาน ทรัพย์สิน อำนาจหน้าที่จากกรมวิชาการเกษตร และจากกรมส่งเสริมการเกษตรไปเป็นสำนักงานข้าวแห่งชาติ และกำหนดระยะเวลาด้านการจัดการองค์กรต่างๆ


- - - - - - - - - - - - -


บางส่วนของร่างพ.ร.บ.ข้าวแห่งชาติ


 



หมวดที่ 3 คณะกรรมการข้าวแห่งชาติและคณะกรรมการข้าวจังหวัด


 



มาตรา ๑๔ ให้มีคณะกรรมการข้าวแห่งชาติ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อธิบดีกรมการค้าภายใน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และกรรมการอีกไม่เกินเก้าคนที่รัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้แทนผู้ประกอบธุรกิจข้าว ผู้ประกอบการโรงสี หรือผู้ค้าข้าวจำนวนสามคน ผู้แทนชาวนาหรือองค์กรชาวนาจำนวนสามคน และผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสามคน เป็นกรรมการ


 


ให้เลขาธิการสำนักงานข้าวแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ และมีผู้ช่วยเลขานุการอีกสองคน ซึ่งประธานคณะกรรมการแต่งตั้ง


 



มาตรา ๒๑ คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดนโยบาย มาตรการ ตลอดจนการควบคุมการบริหารงานของ สขช. รวมทั้งอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ ดังต่อไปนี้


 


(๑)   กำหนดยุทธศาสตร์ นโยบาย มาตรการ ทิศทางการพัฒนาข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวทั้งระบบอย่างครบวงจร


(๒)   พิจารณาอนุมัติแผนงานและโครงการเกี่ยวกับข้าว


(๓)   พิจารณากำหนดแผนการผลิตและการจำหน่ายสินค้าข้าวเพื่อยกระดับรายได้และคุ้มครองผลประโยชน์ของชาวนา องค์กรชาวนา


(๔)  พิจารณาออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวพันธุ์ดี


(๕)  พิจารณากำหนดแผนการส่งเสริม ปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตและคุณภาพผลิตผลของข้าว


(๖)   กำหนดมาตรการส่งเสริม วิจัย และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต การแปรรูปข้าว และการตลาดข้าว


(๗)  กำหนดมาตรฐานข้าวและมาตรการให้ความช่วยเหลือชาวนา องค์กรชาวนา และผู้ประกอบการธุรกิจข้าว ผู้ประกอบการโรงสี และผู้ค้าข้าว


(๘)  กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อแก่ชาวนา องค์กรชาวนา ผู้ประกอบธุรกิจข้าว ผู้ประกอบการโรงสี และผู้ค้าข้าว ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ


(๙)   พิจารณาสภาพการตลาดและการแข่งขันจำหน่ายข้าวทั้งในและต่างประเทศ เพื่อกำหนดมาตรการและมาตรฐานการการปฏิบัติต่างๆ รองรับล่วงหน้าในอันที่จะช่วยรักษาเสถียรภาพราคาข้าวให้เกิดความสมดุลและเป็นธรรม


(๑๐)                       ควบคุม และประสานงานการเชื่อมโยงด้านการผลิต การแปรสภาพ การแปรรูป  และการตลาด


(๑๑)                       พิจารณากำหนดอัตราค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน ค่าบริการต่างๆ ที่นำมาเป็นเงินกองทุน


(๑๒)                       ควบคุมกำกับและติดตามให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามนโยบายแผนงานและมาตรการที่กำหนด


(๑๓)                       ติดตามการปฏิบัติงานของ สขช. ให้เป็นไปตามแผนงานและโครงการที่ได้รับอนุมัติตลอดจนกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงาน


(๑๔)                      แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือที่ปรึกษาเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย


(๑๕)                      เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวง และประกาศตามพระราชบัญญัตินี้


(๑๖)                       กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการบริหารกองทุนและการควบคุมการใช้จ่ายเงินกองทุน


(๑๗)                      ปฏิบัติการอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ


 


 



หมวด ๔ การดำเนินงานและการควบคุม


 



มาตรา ๒๔ การขึ้นทะเบียนชาวนา องค์กรชาวนา ผู้ประกอบธุรกิจข้าว ผู้ประกอบการโรงสี และผู้ค้าข้าว ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด


 


มาตรา ๒๕ ชาวนา องค์กรชาวนา ผู้ประกอบการธุรกิจข้าว ผู้ประกอบการโรงสีและผู้ค้าข้าวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ มีสิทธิขอรับการส่งเสริมและช่วยเหลือจากสำนักงานดังต่อไปนี้


 


(๑)   การผลิตและการกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว


(๒)   การส่งเสริม แนะนำ การฝึกอบรม และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการพัฒนาข้าว


(๓)   การขอสินเชื่อจากกองทุนเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการเพาะปลูกข้าว รับซื้อข้าว และอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการกำหนด


(๔)  การอื่นใดตามที่คณะกรรมการกำหนด


 


มาตรา ๒๖ การกำหนดเขตโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวพันธุ์ดีในท้องถิ่นใด ให้เป็นเขตโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวพันธุ์ดี ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา


 


ในพระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่ง ให้มีแผนที่แสดงเขตและระบุท้องที่ที่อยู่ในเขตโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวพันธุ์ดีแนบท้ายพระราชกฤษฎีกานั้นด้วย แผนที่ดังกล่าวให้ถือเป็นส่วนหนึ่งแห่งพระราชกฤษฎีกา


 


การกำหนดเขตที่ดินให้เป็นเขตโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวพันธุ์ดีตามวรรคหนึ่ง ให้กำหนดเฉพาะที่ดินที่จะดำเนินการกำหนดส่งเสริมการปลูกข้าวพันธุ์ดี โดยถือว่าเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อเกษตรกรรมปลูกข้าวพันธุ์ดีเท่านั้น และให้คณะกรรมการมีอำนาจออกระเบียบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขใดใดเป็นกรณีพิเศษในการบริหารจัดการเขตที่ดินดังกล่าวได้ เพื่อให้การส่งเสริม การสนับสนุน และให้ความช่วยเหลือกับชาวนา องค์กรชาวนา ผู้ประกอบธุรกิจข้าว ผู้ประกอบการโรงสีข้าว และผู้ค้าข้าวได้


 


มาตรา ๒๗ ในการกำหนดเขตโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวพันธุ์ดี ให้สอบถามความสมัครใจของเจ้าของที่ดินทุกรายในท้องที่ดินว่า ให้ดำเนินการกำหนดเป็นเขตโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวพันธุ์ดีหรือไม่ และให้จัดทำบันทึกการยินยอมของเจ้าของที่ดินทุกรายไว้เป็นหลักฐาน และถ้าท้องที่นั้น เจ้าของที่ดินยินยอมมีจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของบรรดาเจ้าที่ดินทั้งหมด ก็ให้ดำเนินการออกประกาศตามมาตรา ๒๘ ต่อไป


 




หมวด ๕  บทกำหนดโทษ


 


มาตรา ๓๓ ผู้ใดขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๒๘ หรือไม่จัดให้มีเครื่องมือตรวจสอบคุณภาพข้าวตามหลักเกณฑ์ที่คระกรรมการกำหนดตามมาตรา ๓๐ ไม่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจ ตรวจสอบ รังวัดพื้นที่นา สถานประกอบธุรกิจข้าว หรือไม่มาตามหนังสือเรียกตามมาตรา ๓๒ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ


 


มาตรา ๓๔ ผู้มีหน้าที่ชำระค่าธรรมเนียมผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าธรรมเนียมตามมาตรา ๑๒ หรือเพื่อชำระค่าธรรมเนียมน้อยกว่าที่ควรต้องชำระ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าเท่าถึงยี่สิบเท่าของค่าธรรมเนียมที่ต้องชำระ


 


เงินค่าปรับตามมาตรานี้ ให้ถือเป็นค่าธรรมเนียมที่เก็บได้ตามมาตรา ๙(๗) และให้นำส่งเข้ากองทุน


 


 


หมายเหตุ   บางส่วนจากเอกสารประกอบการสัมมนา สรุปร่างพระราชบัญญัติข้าวแห่งชาติ พ.ศ. ....


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net