Skip to main content
sharethis


เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 14 กันยายน 2548 ที่โรงแรมลีการ์เด้น พลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีการสัมมานาเรื่องทิศทางใหม่ของแผนงานพัฒนาเขตเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย อินโดนีเซีย - มาเลเซีย - ไทย (Indonesia - Malaysia - Thai : IMT - GT) ครั้งที่ 2 กลุ่มจังหวัดสงขลา สตูล และกลุ่มจังหวัดตรัง พัทลุงและนครศรีธรรมราช โดยสภาธุรกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ IMT - GT และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีผู้เข้าร่วม 70 คน ประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และนักธุรกิจจาก 5 จังหวัด


การสัมมนาแบ่งออกเป็น 4 ช่วง ช่วงแรกศักยภาพของ 2 พื้นที่กลุ่มจังหวัดกับบทบาทในแผนงาน IMT - GT ช่วงที่ 2 แนวทางการพัฒนาด้านการค้าการลงทุนและอุตสาหกรรมของ 2 กลุ่มจังหวัดกับกลุ่มประเทศ IMT - GT ช่วงที่ 3 แนวทางการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว บริการ ตลาดเสรีและทรัพยากรมนุษย์ของกลุ่มจังหวัดตรัง พัทลุง และนครศรีธรรมราช ช่วงสุดท้าย บทบาทการสนับสนุโดยการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน และระบบโลจิสติกส์ ภายใต้แผนงาน IMT - GT


นายสมเกียรติ อนุราษฎร์ ประธานสภาธุรกิจชายแดนภาคใต้ กล่าวสรุปผลการสัมมนาว่า ในการสัมมนาครั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันว่า ต้องเพิ่มกลุ่มจังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง และจังหวัดสุราษฎร์ธานี กับกลุ่มจังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดกระบี่ เข้ามาอยู่ในพื้นที่ IMT - GT เพื่อเพิ่มจุดขายและจุดแข็งทางการตลาดของไทย แต่อาจะต้องเปลี่ยนชื่อจากสภาธุรกิจชายแดนภาคใต้ IMT - GT เป็นอย่างอื่น


นายสมเกียรติ กล่าวต่อไปว่า มีการเสนอให้ผลักดันการพัฒนาท่าเรือจังหวัดตรัง ให้เป็นท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยว สำหรับการพัฒนาสาขาตลาดเสรี ผลักดันให้เพิ่มการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ในสาขาตลาดเสรีให้มากขึ้น ผลักดันให้มีการนำเข้าหมอนวดแผนโบราณ และธุรกิจสปา เข้าไปในมาเลเซียและอินโดนีเซียให้มากขึ้น เพราะได้รับความนิยมมาก แต่ต้องมีระบบป้องการการแอบแฝงเข้าไปทำธุรกิจผิดกฎหมาย ซึ่งทางสำนักงานการค้าชายแดน กรมการค้าระหว่างประประเทศ กระทรวงต่างประเทศ และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน รับไปดำเนินการอบรมแล้ว


นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้ผลักดันให้ผู้รับเหมาก่อสร้าง วิศวกร รวมทั้งสถาปนิกไทย สามารถเข้าไปรับงานในมาเลเซียได้ เพราะมีต้นทุนต่ำกว่า รวมทั้งผลักดันให้มาเลเซีย เปิดจุดตรวจสินค้าจุดเดียว เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพ่อค้า การเพิ่มจุดสังเกตและป้ายสัญลักษณ์จราจร เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว รวมทั้งจัดทำแผนที่สถานที่สำคัญๆ ตามฤดูกาลท่องเที่ยวมากขึ้น เพิ่มจุดเด่นการท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัด ทั้งนี้ ข้อเสนอทั้งหมดคณะกรรมการสภาธุรกิจชายแดนภาคใต้ IMT - GT จะผลักดันเข้าสู่การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสในวันที่ 16 - 17 ตุลาคม 2548 ที่จังหวัดตรัง และจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนการประชุมระดับรัฐมนตรีของทั้ง 3 ประเทศ ในเดือนธันวาคม 2548


นายกิตติพล โชติพิมาย นักวิชาการ 8 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตอบคำถามผู้เข้าสัมมนา ถึงการที่รัฐบาลยกเลิกโครงการขุดคลองกระเชื่อมระหว่างอ่าวไทยกับทะเลอันดามันว่า อดีตคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติผู้หนึ่ง เคยประชุมกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งมีการหารือเรื่องนี้ ตัวแทนจากกองทัพได้แจ้งต่อที่ประชุมครั้งนั้นว่า การขุดคลองกระอาจมีปัญหาด้านความมั่นคง เนื่องจากสหรัฐอเมริกาต้องการให้ขุดคลองนี้ โดยอ้างว่าช่องแคบมะละกามีโจรสลัด ซึ่งเป็นเหตุผลที่ไม่น่ารับฟัง เนื่องจากหลังเหตุการณ์สึนามิถล่มชายฝั่งตอนเหนือของเกาะสุมาตราเหนือ ทำให้กลุ่มขบวนการอาเจะห์เสรี (GAM) เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ทำให้มีการเจรจาหยุดยิงกับรัฐบาลอินโดนีเซีย และมีการถอนทหารอินโดนีเซียออกจากอาเจะห์แล้ว หากรัฐบาลตัดสินใจขุดคลองกระ อาจจะทำให้สหรัฐอเมริกาเข้ามาครอบงำ เพื่อสกัดการขยายอิทธิพลของจีน


นายกิตติพล กล่าวว่า ทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน เชื่อมต่อกับน่านน้ำสากล หากขุดเชื่อมสองทะเลเข้าด้วยกัน ตามกฎหมายระหว่างประเทศ อาจทำให้มีปัญหาการครอบครองได้ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการต่อต้านจากมวลชนในพื้นที่โครงการด้วย เพราการขุดคลองจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านแยกออกจากกัน กว่าจะได้พบกันก็ต้องเดินอ้อมขึ้นสะพานไกล และหากขุดคลองแคบๆ เรือก็ผ่านได้น้อยและช้า เพราะต้องรอคิวยาว จึงไม่คุ้มทุน แต่ถ้าขุดกว้างมากก็จะมีปัญหากับมวลชน เพราะต้องเวนคืนที่ดินจากชาวบ้านมาก ชุมชนจะหายไปจำนวนมหาศาล มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมสูง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net