Skip to main content
sharethis

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ออกเอกสารชี้แจงการปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2548 ลงเป็นร้อยละ 3.6-4.0 จากประมาณการก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 4.6-5.1

โดยการปรับลดตัวเลขประมาณการดังกล่าว เป็นผลมาจากแนวโน้มราคาน้ำมันในประเทศที่คาดว่าน่าจะยังคงอยู่ในระดับที่สูงต่อเนื่องไปอีก จากการที่กองทุนน้ำมันจะทยอยลดการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลและผลักภาระไปให้ผู้บริโภคมากขึ้น รวมทั้งจากแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อาจปรับสูงขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ตามความต้องการใช้น้ำมันของประเทศในซีกโลกตะวันตกในช่วงฤดูหนาว

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยอาจจะขาดดุลถึง 4.5 พันล้านดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 2.5 ของ GDP ซึ่งเป็นการขาดดุลที่สูงสุดในรอบ 8 ปี อันเป็นผลจากการขยายตัวของการนำเข้าที่คาดว่าจะเท่ากับร้อยละ 25.4 ในขณะที่การส่งออกน่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 13.0

นอกจากนี้ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดยังเป็นผลจากการปรับลดของดุลบริการ (ตามการปรับลดของจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ) ที่คาดว่าอาจจะเกินดุล 5.2 พันล้านดอลลาร์ฯ ลดลงจากที่เกินดุล 5.4 พันล้านดอลลาร์ฯในปีก่อนหน้า

สำหรับอัตราเงินเฟ้อนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่วัดจากดัชนีราคาผู้บริโภค (Headline CPI Inflation) จะปรับตัวในอัตราที่เร่งขึ้นในไตรมาสที่เหลือของปีนี้ โดยคาดว่า ในไตรมาสที่ 3 อัตราเงินเฟ้อดังกล่าวจะขยับขึ้นเป็นร้อยละ 3.9 จากที่อยู่ที่ร้อยละ 3.7 ในไตรมาสที่ 2 และน่าจะยืนอยู่เหนือระดับร้อยละ 4.0 ในไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยของปี 2548 อาจจะอยู่ที่ร้อยละ 3.8 จากที่เท่ากับร้อยละ 2.7 ในปี 2547

สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI Inflation) ที่ปรับเอาอิทธิพลของราคาสินค้าในหมวดพลังงานและอาหารสด ออกแล้วนั้น คาดว่า จะมีค่าเฉลี่ยในปี 2548 ที่ร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับร้อยละ 0.4 ในปี 2547

ทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงกว่าคาด รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น น่าจะส่งผลกดดันค่าเงินบาท ดังจะเห็นได้จากการที่เงินบาทได้อ่อนตัวทะลุแนวรับสำคัญที่ระดับ 42 บาท/ดอลลาร์ฯในวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เกิดความกังวลว่า เงินบาทอาจจะอ่อนตัวลงไปอีก (โดยแนวรับสำคัญถัดไปน่าจะอยู่ที่ระดับ 44 บาท/ดอลลาร์ฯ)

ทั้งนี้ ความเป็นไปได้ที่ฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดในไตรมาสที่ 4 ของไทยอาจจะปรับตัวดีขึ้นจากรายรับจากการท่องเที่ยว รวมทั้งการที่อัตราการขยายตัวของ GDP ของไทยในไตรมาสสุดท้าย น่าจะเป็นอัตราที่สูงกว่าในไตรมาสก่อนๆ หน้า ตลอดจนการที่ธนาคารกลางของสหรัฐฯน่าจะเสร็จสิ้นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในเดือนพฤศจิกายน (ซึ่งน่าจะทำให้เงินดอลลาร์ฯขาดปัจจัยหนุนเหมือนกับในช่วงที่ผ่านๆ มา) ล้วนอาจเป็นปัจจัยหนุนค่าเงินบาทในช่วงปลายปีได้ทั้งสิ้น

โดยเมื่อคำนึงถึงแนวโน้มปัจจัยบวกต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เงินบาทอาจจะมีค่าเฉลี่ยในปี 2548 นี้ ที่ 40.70 บาท/ดอลลาร์ฯ เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยที่ 40.22 บาท/ดอลลาร์ฯในปี 2547

อย่างไรก็ตาม คาดว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะสามารถฟื้นตัวขึ้นได้ในปี 2549 โดยขึ้นอยู่กับการขยายตัวของการลงทุนและการใช้จ่ายต่าง ๆ ของภาครัฐ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่คาดว่าคงจะประกาศออกมาในเร็ว ๆ นี้ ตลอดจนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ในขณะที่การส่งออกและการบริโภคของภาคเอกชน น่าจะยังคงชะลอลงตัวต่อเนื่องจากปี 2548

ส่วนปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดนั้น มีความเป็นไปได้ว่า การขาดดุลดังกล่าวอาจจะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นไปอีกในปีหน้า อันเป็นผลจากการขยายตัวของการนำเข้าที่เกิดขึ้นตามการใช้จ่ายเพื่อการลงทุน

สำหรับ แนวโน้มการปรับค่าเงินหยวนของจีน น่าจะทำให้ค่าเงินสกุลต่าง ๆ ในภูมิภาครวมทั้งเงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งอาจจะช่วยบรรเทาแรงกดดันที่เงินบาทได้รับจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยได้ นอกจากนี้ เงินบาทยังอาจได้รับแรงหนุนจากแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระบบการเงินไทย ที่ดำเนินต่อเนื่องมาจากในปี 2548 ที่ผ่านมา ในขณะที่คาดว่า อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯน่าที่จะใกล้ถึงจุดทรงตัวในอีกไม่นานนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net