Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการการเลือกตั้งพยายามจะแก้ไขปัญหาบัตรเสีย ด้วยการนำตรายางรูปกากบาทมาใช้แทนการทำเครื่องหมายด้วยปากกา

ออกระเบียบให้เริ่มใช้ 31 กรกฎาคมนี้ ในการเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภาอบต. 3,500 แห่งทั่วประเทศ

เรียกว่าต้องลงทุนทำตรายางแบบนี้และซื้อตลับชาดหลายพันอันไปตามหน่วยเลือกตั้งต่างๆ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นที่ว่า ตรายางนี้จะแก้ไขปัญหาบัตรเสียได้จริงหรือ

ก่อนหน้านี้ กกต.พยายามอีกทางหนึ่ง คือนำเครื่องลงคะแนนเลือกตั้งมาใช้ จับมือกับบริษัทวิทยุการบินไทย ผลิต Thai Voting Machine หรือเครื่องลงคะแนนเลือกตั้งขึ้นมา

วิธีการใช้งานคือ เมื่อผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนมาถึงหน่วยเลือกตั้ง ทำการลงชื่อแล้ว ก็เดินเข้าคูหา ซึ่งมีเครื่องตั้งอยู่ ปรากฏตัวเลขและชื่อผู้สมัคร เมื่อหลอดไฟสีเขียนแสดงการเริ่มลงคะแนนปรากฏขึ้น พร้อมเสียง "เชิญกดปุ่มลงคะแนนค่ะ" ผู้ลงคะแนนก็กดปุ่มหมายเลขที่ตนเองจะเลือก โดยจะไม่มีการกดซ้ำได้ ซึ่งเมื่อเสร็จแล้ว ก็จะมีเสียง "เชิญออกจากคูหาได้ค่ะ" เป็นอันเสร็จสิ้น สำหรับผู้พิการทางสายตา ยังมีอักษรเบรลล์กำกับอยู่ รวมทั้งผู้ที่ไม่ประสงค์ลงคะแนน ก็มีปุ่มให้เลือกด้วย

กกต.กลางเชื่อว่า ทันทีที่เปลี่ยนมาใช้เครื่องกดปุ่มลงคะแนน แทนการกากบาท ปัญหาบัตรเสีย ซึ่งสูงถึง 10 % (จากการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อปี 2544 ) จะหมดลงทันที เช่นเดียวกับปัญหาการรวมคะแนนที่ชักช้าก็จะหมดไปด้วย โดยคาดว่าจะต้องใช้เครื่องนี้ถึง 80,000 เครื่อง แต่ประเด็นอยู่ที่จะต้องแก้กฎหมายให้สอดรับด้วย

เนื่องจากว่า กฎหมายขณะนี้บอกว่า การลงคะแนนให้ไปลงที่หน่วยเลือกตั้งด้วยการกากบาทอย่างเดียว หากจะใช้เครื่องลงคะแนนแบบนี้ก็จะต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฏหมายให้สอดรับ

แต่กับแนวคิดใหม่ ใช้ตรายางแทนการเขียนกากบาท ต่างจากเครื่องลงคะแนนตรงที่ว่า ไม่ต้องแก้กฎหมาย เพราะถือว่าเป็นวิธีการทำเครื่องหมายกากบาทเหมือนกัน แต่ทว่า จะยุ่งยากกว่าการหยิบปากกาเขียนหรือไม่ อาจจะต้องรอดูผลการปฏิบัติงานในปลายเดือนกรกฎาคมนี้

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ความพยายามแก้ไขปัญหาบัตรเสียแบบนี้ มิใช่สาระสำคัญของการเลือกตั้ง บัตรเสียทุกครั้งไม่มีผลต่อผลของผู้แพ้หรือผู้ชนะ แต่กลับจะยิ่งทำให้กระบวนการเข้าคูหายุ่งยากมากขึ้นหรือไม่ ที่สำคัญได้ผ่านการพิจารณาจากผู้ที่จะต้องใช้ นั่นหมายความว่าได้ประชาพิจารณ์หรือสอบถามประชาชนแล้วหรือยัง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ว่าการกำหนดระเบียบใดที่มีผลในทางปฏิบัติต่อคนจำนวนมาก อยากให้มีการทำประชาพิจารณ์ก่อน เพื่อรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายทั้งพรรคการเมืองและประชาชน ในทุกแง่มุม ก่อนที่จะดำเนินการ มิฉะนั้น อาจจะนำไปสู่ปัญหาในภายหลัง

"ผมเห็นใจว่า กกต. ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากในเรื่องระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ จะทำอะไรให้ถูกใจทุกคนคงยาก แต่เวลา กกต. กำหนดระเบียบออกมา ถ้าขาดการรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่ต้น มักจะนำไปสู่ปัญหากันภายหลัง การร้องเรียนกันไปมาก็เกิดจากปัญหาความเข้าใจในระเบียบที่ไม่ตรงกัน หรือระเบียบออกมาแล้วปฏิบัติยาก หรืออาจมีช่องโหว่อย่างที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน ดังนั้น ควรรับฟังความคิดเห็นให้มากที่สุด"

นายอภิสิทธิ์ ตั้งข้อสังเกตว่าว่า หากจะทำในท้องถิ่น และสามารถที่จะควบคุมได้ โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่เพียงพอที่จะไปดูแลการปฏิบัติ ก็อาจจะใช้ได้บ้าง แต่โดยส่วนตัว ตนยังอยากให้มีการรับฟังความคิดเห็นก่อน เพราะในที่สุด จะเกี่ยวข้องกับคนทั้งประเทศที่จะต้องใช้สิทธิเลือกตั้ง.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net