Skip to main content
sharethis

ประชาไท -- 15 มิ.ย. 48 นายจรัล ภักดีธนากุล เลขาธิการประธานศาลฎีกา กล่าวในการสัมมนาเรื่อง "การปฏิรูปสังคมเศรษฐกิจไทย หลังวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 : ความก้าวหน้าและความล้มเหลว" ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วันนี้ ระบุ กฎหมายยุคทักษิณ เข้มแข็ง รวดเร็ว แต่ขาดความรอบคอบ และไม่เปิดพื้นที่ให้เสียงส่วนน้อย

ทั้งนี้ นายจรัลเสนอว่าปัญหาหลัก ๆ ของกฎหมายในรัฐบาลทักษิณ คือ การใช้กฎหมายกดบังคับลงไปยังประชาชนอย่างเข้มข้นนั้น ไม่สามารถแก้ปัญหาเชิงนโยบายได้ เพียงแต่กดอาการของปัญหาไว้ในระยะสั้นเท่านั้น

เช่น กรณีของการปราบปรามยาเสพติดในช่วงปี 2546-2547 ทำให้อาชญากรรมลดลงในช่วงเวลาเดียวกัน แต่หลังจากนั้นก็มีคดีความเพิ่มขึ้นอีก

นอกจากนี้ นายจรัลยังกล่าวถึงช่วงเวลาที่รัฐบาลมีการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2545 ซึ่งก็ส่งผลให้คดีความทั้งอาญาและแพ่งสูงขึ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คดีความผิดที่เกี่ยวกับเช็ค

"สภาพการกด ลงไปที่การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น โดยไม่ได้แก้ที่สาเหตุ มันเป็นการกดอาการไว้ชั่วครู่" นายจรัลกล่าว

ปัญหาต่อมาคือ ภายหลังจากที่รัฐบาลได้แสดงท่าทีว่ามีความพยายามในการปฏิรูปกฎหมาย โดยเห็นได้ชัดจากการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลด้านนี้เฉพาะ และมีนโยบายจะแก้ไขปรับปรุงกฎหมายถึง 377 ฉบับ

"รัฐบาลที่มีอำนาจแข็งขึ้น นี้ กฎหมายเดินเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ เช่นกฎหมาย 30 บาท ซึ่งดำเนินไปอย่างรวดเร็ว โดยที่คณะกรรมการกฤษฎีกายังพิจารณาไปไม่ถึงครึ่งฉบับ ก็ถูกดึงกลับเข้าไปในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และผ่านออกมาเป็นกฎหมายด้วยการลงมติเสียงข้างมาก"

นายจรัลกล่าวละว่า ที่ผ่านมา กระบวนการนิติบัญญัติของไทยจะล่าช้ามากจนน่าเบื่อหน่าย แต่ผลของความล่าช้าก็คือการรอมชอมระหว่างเสียงส่วนใหญ่กับเสียงส่วนน้อย ทำให้ความเห็นจากเสียงส่วนน้อยได้มีพื้นที่อยู่ในกฎหมายแต่ละฉบับ

ในขณะที่ รัฐบาลปัจจุบัน มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพในการออกกฎหมายอย่างรวดเร็ว ซึ่งจรัลได้แสดงความวิตกกังวลถึงความรอบคอบของกระบวนการนิติบัญญัติ และการปิดโอกาสให้เสียงส่วนน้อยโดยไม่มีการรอมชอมด้วยวิธีลงมติเสียงข้างมาก

ทั้งนี้ นายจรัลได้ยกตัวอย่าง การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ฉบับที่ 22 ซึ่งเพิ่งผ่านการลงมติเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ทั้งที่ก่อนหน้านี้วุฒิสภาได้เสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติม และได้ตั้งกรรมาธิการร่วมพิจารณาจาก 2 สภา โดยมติของกรรมาธิการร่วมฯ ก็ลงมติเห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมของวุฒิสภา

แต่ในที่สุด สภาผู้แทนราษฎรก็ยืนยันร่างกฎหมายของตนโดยเลือกที่จะไม่พิจารณาร่างฯ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมของวุฒิสภา และใช้วีลงมติด้วยเสียงข้างมากให้ร่างฯ ของตนผ่านเป็นกฎหมาย

ทั้งนี้ นายจรัลกล่าวว่า ร่างฯ ดังกล่าว เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนของการบังคับคดีกับหนี้สงสัยจะสูญ (NPL) ซึ่งเสนอมาจากกรมบังคับคดี เพื่อความรวดเร็วในการบังคับคดีกับลูกหนี้ NPL แต่ไม่เปิดทางให้กับฝ่ายลูกหนี้

ปัญหาต่อมาที่นายจรัลเสนอคือ ระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ นายจรัลกล่าวว่าเป็นเพราะการออกแบบองค์กรอิสระผิดทำให้เปิดช่องให้กับคนที่ไม่เป็นอิสระเข้ามาดำรงตำแหน่งในองค์กรตรวจสอบได้

"ไม่อิสระไม่ใช่เพราะถูกแทรกแซง หรือถูกข่มแหง แต่ไม่อิสระตั้งแต่คนที่เดินเข้าไปอยู่ในองค์กรอิสระ" นายจรัลกล่าว

ประเด็นปัญหาสุดท้ายที่นายจรัลเสนอก็คือ แม้กระบวนการนิติบัญญัติของรัฐบาลปัจจุบันจะมีความเด็ดขาดรวดเร็ว แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า กฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองประชาชนกลับยังเป็นไปอย่างล้าช้า หรือไม่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากรัฐบาล อาทิเช่น กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งมีความล้าหลังกว่าชาติอื่น ๆ ในโลก และกฎหมายการแข่งขันที่เป็นธรรม ก็ยังไม่สามารถใช้ได้จริง เป็นต้น

พิณผกา งามสม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net