Skip to main content
sharethis



ในละแวกบ้านของ "โมฮัมเหม็ด บารุด" ผู้พลีชีพ (Martyr) เพื่อความเชื่อของชุมชน Jabalya ในดินแดนปาเลสไตน์ เต็มไปด้วยเด็ก ผู้หญิง และคนแก่ นับร้อยคน ยืนจับกลุ่มชุมนุมกันอย่างมุ่งมั่น แม้ว่าประกาศเตือนจากทหารอิสราเอลจะบอกชัดเจนว่าพวกเขากำลังบุกเข้าไปทิ้งระเบิดในบริเวณนั้น




ตามข้อตกลงในสนธิสัญญาเจนีวา การทิ้งระเบิดในเขตที่มีพลเรือนอาศัยอยู่ ถือเป็นความผิดในการสู้รบกันระหว่าง 2 ดินแดน และยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่าจำนวนประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ล้มตายจากการเป็นเหยื่อสงครามในตะวันออกกลางมีมากเกินไปแล้ว... นักบินอิสราเอลจึงตัดสินใจยกเลิกปฏิบัติการเมื่อเห็น "โล่มนุษย์" หรือ Human Shield ยืนอออยู่บนหลังคาบ้านของโมฮัมเหม็ด บารุด (ซึ่งสื่อต่างประเทศรายงานในภายหลังว่าบารุดเป็นสมาชิกคนหนึ่งของขบวนการต่อต้านชื่อว่าพีอาร์ซี: Popular Resistance Committees)


 



ชาวปาเลสไตน์ชุมนุมกันบริเวณบ้านโมฮัมเหม็ด บารุด


หลังจากนักบินอิสราเอลยกเลิกการโจมตีเนื่องจากเกรงว่าจะทำร้าย'โล่มนุษย์'


(ภาพจาก AFP)


 


เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในฉนวนกาซา เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา (19 พ.ย.2549) และเป็นการใช้โล่มนุษย์ต่อรองกับกองทัพติดอาวุธของฝ่ายตรงข้ามอีกครั้งหนึ่งซึ่งประสบความสำเร็จกว่าที่คิด


 


เช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ เบตฮานูน ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2549 ผู้หญิงและเด็กชาวปาเลสไตน์ราว 3 พันคน ได้แสดงบทบาทสำคัญด้วยการยืนปิดล้อมสุเหร่าในพื้นที่ เพื่อป้องกันไม่ให้ทหารอิสราเอลบุกเข้าไปจับกุมสมาชิกของกองกำลังเพื่อการแบ่งแยกดินแดนที่ซ่อนตัวอยู่ข้างใน


 


ทางด้านทหารอิสราเอลอ้างถึงเหตุการณ์ชุลมุนที่เบตฮานูน โดยกล่าวว่าการยิงเปิดฉากต่อสู้มีทิศทางมาจากกลุ่มผู้หญิงที่ยืนปิดล้อมสุเหร่า ทำให้ทหารอิสราเอลบางส่วนต้องยิงตอบโต้กลับไป


 


แม้จะมีผู้หญิงเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว 3 ราย (เสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ 1 ราย และเสียชีวิตจากอาการบาดเจ็บอีก 2) แต่สมาชิกของกองกำลังฯ สามารถหลบหนีไปได้ และการสูญเสียชีวิตก็ไม่ได้ทำให้ชาวปาเลสไตน์หยุดยั้งการใช้กลยุทธ์ดังกล่าวเป็นเครื่องมือกดดันทหารอิสราเอลให้ยกเลิกการโจมตีแต่อย่างใด ซึ่งเราคงพอมองเห็นได้จากข่าวคราวการใช้โล่มนุษย์ที่เกิดขึ้นบ่อยในระยะหลัง


 


ปรากฏการณ์ "โล่มนุษย์" ที่มีเด็กและสตรีเป็นผู้ออกหน้าเหล่านี้ได้แพร่กระจายไปทั่วโลก ตามพื้นที่ต่างๆ ที่มีปัญหาเรื่องความขัดแย้งทางความเชื่อ เชื้อชาติ ศาสนา และดินแดนอาศัย ไม่ว่าจะเป็นที่ปาเลสไตน์ เลบานอน อิรัก อัฟกานิสถาน หรือแม้แต่ประเทศไทยเอง ทำให้นักวิเคราะห์สถานการณ์บางส่วนเกรงว่าการใช้โล่มนุษย์จะนำไปสู่ความขัดแย้งที่ใหญ่โตและรุนแรงกว่าเดิม


 


แต่ถ้ามองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์การต่อสู้ระหว่างชนชาติต่างๆ มีหลักฐานมากมายบ่งชี้ว่าการใช้โล่มนุษย์เกิดขึ้นมาเนิ่นนานแล้ว เช่นเดียวกับที่มีการนำโล่มนุษย์ไปใช้ในสถานการณ์ต่างๆ อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการใช้โล่มนุษย์เพื่อเป็นด่านป้องกันไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามโจมตีในสงคราม หรือแม้แต่การชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องในเรื่องต่างๆ โดยใช้สันติวิธี


 


สิ่งที่ทำให้การใช้โล่มนุษย์ถูกมองว่าเป็นความรุนแรงในระยะเวลาที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งน่าจะมีสาเหตุมาจากการใช้ "ผู้หญิงและเด็ก" เป็นแนวหน้า ทำให้หลายฝ่ายประณามการกระทำของขบวนการที่ใช้ผู้หญิงและเด็กเป็นโล่มนุษย์ในสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อการบาดเจ็บและเสียชีวิต


 


เมื่อความเคลื่อนไหวเรื่องการใช้โล่มนุษย์ได้รับความสนใจอีกครั้งในกระแสโลก คงไม่ผิดความจริงเกินไปนักถ้าจะพูดว่ารูปแบบการต่อสู้ของขบวนการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยครั้งล่าสุดมีแนวโน้มที่เห็นได้ชัดว่าจำนวนผู้หญิงและเด็กที่ออกมาเป็นโล่มนุษย์นั้นมีมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน


 



ประมวลการใช้ "โล่มนุษย์" ในจังหวัดชายแดนภาคใต้


จากการรวบรวมข้อมูลโดยสถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย พบว่าความรุนแรงได้ปะทุขึ้นในพื้นที่ นับตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายนเป็นต้นมา โดยกลุ่มผู้หญิงและเด็กกว่า 300 คนได้ ออกมารวมตัวกันบริเวณฐานปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 3201 ซึ่งตั้งอยู่ในโรงเรียนบ้านบาเจาะ หมู่ 2 ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เพื่อยื่นข้อเรียกร้องให้ ตชด.ชุดดังกล่าว ถอนกำลังออกจากพื้นที่ เนื่องจากเชื่อว่านายอิสมาย สามะ บิดาของนายอับดุลเลาะ สามะ (เจ้าหน้าที่เชื่อว่าเป็นแกนนำระดับหมู่บ้าน) ถูกยิงเสียชีวิตก่อนหน้านั้น 2 วันเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่


 


หลังจากที่เจรจากันเรียบร้อยจึงได้ข้อสรุปว่า ทางการจะถอนกำลัง ตชด.หน่วยดังกล่าวออกไป แต่มีข้อแม้ ว่าถ้าหากเกิดเหตุไม่สงบขึ้น ก็จะนำกำลังเข้ามารักษาความสงบในพื้นที่อีก


 


วันที่ 20 พฤศจิกายน ชาวบ้านกว่าร้อยคนโดยเป็นผู้หญิงและเด็กราว 60 คน รวมตัวกันที่หน้ามัสยิดบ้านสะปอง หมู่ 3 ตำบลปะแต อำเภอยะหา จังหวัดยะลา เรียกร้องให้ ตชด.ที่ตั้งฐานปฏิบัติการอยู่ในโรงเรียน ตชด.ยาสูบ ออกจากพื้นที่ เพราะว่าเจ้าหน้าที่รัฐกราดยิงปืนใส่บ้านนายสือแม อาแว ซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัยเกี่ยวข้องกรณีสังหาร ตชด.2 ราย เพื่อล้างแค้น แต่สถานการณ์คลี่คลายเมื่อนายอำเภอยะหา เข้าไปเจรจาได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า จะจ่ายค่าชดเชยให้เจ้าของบ้านและจะจับตัวคนที่ก่อเหตุให้เร็วที่สุด


 


แต่ใช่ว่าเหตุการณ์จะสงบง่ายๆ คำบอกเล่าของชาวบ้านระบุว่า เย็นวันเดียวกัน ขณะชาวบ้านจากฆอรอราแมเดินทางกลับบ้านพักด้วยขบวนรถจักรยานยนต์ ทหารพรานที่ตั้งฐานอยู่ที่โรงเรียนบ้านท่าละมัย หมู่ 4 ตำบลปะแต ได้ยิงปืนขึ้นฟ้าในลักษณะข่มขู่ ในขณะที่ข้อเท็จจริงจากปากคำของ ตชด.ที่คุมพื้นที่ดังกล่าวชี้แจงว่า ทหารพรานที่ด่านตรวจพยายามจะสกัดการหลบหนีของชายวัยรุ่นรายหนึ่งซึ่งพกปืนติดตัวมาด้วย


 


ทำให้วันรุ่งขึ้น 21 พฤศจิกายน การชุมนุมได้เกิดขึ้นอีกครั้งที่หมู่บ้านฆอรอราแม ตำบลปะแต โดยข้อเรียกร้องให้ "ทหารพราน" ที่เข้ามาทำงานในพื้นที่ซึ่งตั้งฐานอยู่ที่โรงเรียนบ้านละมัย ออกจากพื้นที่ด้วย ซึ่งการชุมนุม แยกเป็น 2 จุดๆ ละประมาณ 60 - 70 คน ห่างกัน 300 เมตร โดยตั้งเต็นท์กลางถนนและใช้รถจักรยานยนต์มาปิดกั้นถนน ต่อมาได้มีการสลายการชุมนุมไปเอง


 


วันที่ 22 พฤศจิกายน การชุมนุมเริ่มขึ้นอีกครั้ง 2 พื้นที่คือ อำเภอธารโตเป็นชาวบ้านจากบ้านเกษตร บ้านแหรและบ้านผ่านศึก อำเภอธารโต ประมาณ 300 - 400 คน ได้มีการนำศพของนายซุกรี บางานิง คนร้ายที่เสียชีวิตจากการปะทะกันในคืนที่ผ่านมาจากโรงพยาบาลธารโต เดินขบวนแห่ศพผ่านหน้า สภ.อ.ธารโต ตลาดธารโต และเข้าทำพิธีฝังศพที่มัสยิดสามัคคีธารโต


 


ส่วนอีกจุดที่ อำเภอบันนังสตา กลุ่มผู้หญิงและเด็กซึ่งใช้ผ้าปิดหน้าประมาณ 150 คน ชุมนุมอยู่ที่หน้าที่ว่าการอำเภอบันนังสตา เพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดจากการปะทะในคืนที่ผ่านมา จนกระสุนพลาดเป้าไปถูกบ้านเรือนของชาวบ้านที่ตำบลป่าหวัง ท้ายสุด นายอำเภอบันนังสตาเจรจารับปากว่ารับผิดชอบ การชุมนุมจึงสลายตัวไปในช่วงบ่ายวันเดียวกัน


 


วันที่ 23 พฤศจิกายน ชาวบ้านกว่า 50 คน รวมตัวกันในตลาดธารโตและเดินทางมาขอความเป็นธรรมที่ที่ว่าการอำเภอธารโตให้ กับนายมะรอยี กาเราะ ที่ถูกยิงเสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่บ้านคีรีเขตดึกคืนที่ผ่านมา โดยเชื่อว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ นายอำเภอธารโตได้รับปากว่าจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย อย่างไรก็ตาม บ่ายวันเดียวกันชาวบ้าน 500 คน เดินขบวนแห่ศพนายมะรอยีเข้าตัวอำเภอธารโตเพื่อทำพิธีฝังตามประเพณี


 


อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน คือ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน กลุ่มสตรีมุสลิมนับร้อยคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นและเด็กในอ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ได้รวมตัวกันขัดขวางไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าชันสูตรพลิกศพ นายราฮิม มูซอ ซึ่งถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนอาก้ายิงเสียชีวิต เพราะเชื่อว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ไม่เกิดเหตุรุนแรงบานปลาย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ยอมถอนกำลังกลับแต่โดยดี


 


นั่นเป็นเพียงเหตุการณ์ส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2549 หากนับย้อนไปก่อนหน้านั้น จะพบว่ากลุ่มก่อความไม่สงบใช้ยุทธวิธีปล่อยข่าวลือ และปลุกระดมมวลชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก เพื่อขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐมาหลายครั้ง รวมทั้งเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมได้ เพราะเชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วย


 


ยกตัวอย่างเช่น กรณีการชุมนุมที่นำมาสู่การสูญเสียชีวิตของคนจำนวนมากก็คือการชุมนุมที่หน้าสถานนี้ตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ซึ่งครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตรวม 85 คน โดยพบว่า ผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งให้เหตุผลเข้าร่วมชุมนุมที่หลากหลาย เช่น บอกว่ามีคนเชิญไปละหมาดฮายัต มีคนเชิญไปละศีลอดร่วมกันและจะมีการแจกผลอินทผาลัม แต่มูลเหตุที่นำมาสู่การชุมนุมดังกล่าว คือ ชาวบ้านเกาะสะท้อน อำเภอตากใบ ต้องการเรียกร้องให้ปล่อยตัวเจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัย 6 คน ที่ถูกจับกุมข้อหานำอาวุธปืนของทางราชการไปให้ผู้ก่อความไม่สงบ ซึ่งชาวบ้านเห็นว่าไม่เป็นความจริงจึงออกมาประท้วง


 


ต่อมา เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2548 ที่บ้านละหาน อ.สุไหงปาดี กลุ่มผู้หญิง เด็ก และคนแก่รวมตัวกันขัดขวางไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าชันสูตรศพโต๊ะอิหม่ามที่เพิ่งถูกยิงเสียชีวิต เพราะเชื่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ลงมือยิง โดยเหตุการณ์นี้นำไปสู่การอพยพย้ายถิ่นของ 131 คนไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยข้ออ้างไม่มั่นใจในความปลอดภัย


 


25 กันยายน 2548 กลุ่มชาวบ้านล้อมจับ 2 นาวิกโยธินเป็นตัวประกัน ที่บ้านตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส โดยมีกลุ่มผู้หญิงและเด็กรวมตัวเป็น "โล่มนุษย์" ขัดขวางเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ไม่ให้เข้าไปช่วย 2 นาวิกโยธิน จนสุดท้ายทั้งคู่ถูกกลุ่มวัยรุ่นชายสังหารอย่างโหดเหี้ยม ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้ฝ่ายรัฐเริ่มจับรูปแบบการใช้มวลชนของกลุ่มก่อความไม่สงบ โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กมาเคลื่อนไหวได้อย่างมีประสิทธิภาพ


 


เหตุการณ์ต่อมา เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2548 ชาวบ้านไอบาตู อ.สุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส กักขังครูโรงเรียนบ้านไอบาตู เพื่อต่อรองให้ตำรวจปล่อยตัววัยรุ่น 2 คนซึ่งถูกจับกุมฐานฆ่าผู้อื่น


 


จากนั้นวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2549 ชาวบ้านฮือจับครูโรงเรียนบ้านเจาะเกาะ ตำบลบูกิต อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เพื่อต่อรองให้ตำรวจปล่อยตัวผู้ต้องหาที่เพิ่งถูกจับกุมในคดีความมั่นคง


 


และเหตุการณ์ที่สะเทือนขวัญอีกครั้ง ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2549 เมื่อชาวบ้าน 300 คนล้อมจับและรุมทำร้าย ครูจูหลิง ปงกันมูล ครูโรงเรียนบ้านกูจิงลือปะ ต.เฉลิม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เพราะไม่พอใจที่ตำรวจนำกำลังเข้าจับกุมผู้ต้องหา 2 คน ซึ่งเชื่อว่าเป็นคนร้ายที่ลอบยิงนาวิกโยธิน 2 นายเสียชีวิต ที่สถานีรถไฟบ้านลาโละ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นขณะที่ชาวบ้านผู้ชายกำลังละหมาดวันศุกร์ เมื่อละหมาดเสร็จจึงมีคนจะเข้ามาช่วย แต่ครูทั้ง 2 คนกลับถูกชายฉกรรจ์ทำร้ายจนบาดเจ็บแล้ว ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐยังไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้เพราะต้องเคลียร์เส้นทางที่คนร้ายโรยตะปูเรือใบและตัดต้นไม้ขวางถนนเอาไว้


 


ส่วนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ก็เคยเกิดกรณีการชุมนุมที่มีผู้หญิงและเด็ก ออกมากดดันเจ้าหน้าที่รัฐหลายครั้งให้ปล่อยผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมได้ เพราะเชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอหนองจิก แต่สถานการณ์ไม่ได้บานปลายจนเกิดความรุนแรง


 


ความหมายในการต่อสู้ของ "ผู้หญิงและเด็ก"


แม้หลายฝ่ายจะเฝ้ามองอย่างเป็นห่วงเป็นใยว่าการปล่อยให้ผู้หญิงและเด็กเป็นหน่วยแรกที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ที่มีปัญหาจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างไม่น่าให้อภัย และผู้หญิงเหล่านั้นถูกใช้เป็นเครื่องมือก็ตามที แต่ก่อนจะสรุปความ "โล่มนุษย์" ที่มีผู้หญิงและเด็กออกหน้าเป็นเรื่องควรประณาม เราคงต้องย้อนประวัติศาสตร์ไปดูสำนวน "มือก็ไกว ดาบก็แกว่ง" และต้องตอบคำถามให้ได้ว่าทำไมการต่อสู้ของผู้หญิงในสมัยก่อนจึงไม่ใช่เรื่องของความรุนแรง ทั้งๆ ที่การกระทำต่างยุคต่างสมัย มีจุดมุ่งหมายแทบไม่ต่างกันเลย


 


จากการสัมภาษณ์ ตูแวดานียา มือรีงิง อดีตนักข่าวจากบีบีซีและสถาบันข่าวอิศราฯ ซึ่งพบเจอเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ ในแถบจังหวัดชายแดนใต้มาอย่างโชกโชน ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปรากฏการณ์โล่มนุษย์ในประเทศไทยผ่านมุมมองของผู้มีประสบการณ์ว่า


 


"ผู้หญิงมีบทบาทในการเรียกร้องทางการเมืองมาตลอด ถ้าเรามองดูในกรุงเทพ ดูจากม็อบชาวนา ม็อบเกษตรกร มีผู้หญิงไหม มีเด็กไหม คำตอบคือมี ทำไมตรงนี้เราถึงไม่มองว่าเป็นเรื่องที่ตึงเครียดหรือน่ากลัว แต่พอเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในสามจังหวัดใต้ เราถึงมาตีความ มาตั้งคำถามว่าทำไมผู้หญิงต้องออกไป ถ้าเราดูประวัติการต่อสู้ของสังคมไทย ผู้หญิงมีส่วนเยอะนะ การประท้วงเหตุการณ์ที่จะนะก็ใช้ผู้หญิง ตรงนี้ก็คือว่าทำไมต้องผู้หญิง เพราะผู้หญิงคือเพศที่ทุกคนมองว่าคือเพศแม่ คงไม่มีใครกล้าทำอะไรผู้หญิง ก็เลยมีการใช้ผู้หญิงในการที่จะมีส่วนต่อรองกับเจ้าหน้าที่ได้"


 


"การที่ผู้หญิงกับเด็กออกมาเป็นโล่มนุษย์เป็นเรื่องเก่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วทั้งนั้น ผมว่าการมองคนสามจังหวัดภาคใต้ว่าเป็นคนชอบใช้ความรุนแรงโดยที่เราไม่ได้เข้าใจวิถีชีวิตของเขาเลย เป็นอคติอย่างหนึ่ง มันก็จะไม่เข้าใจกันได้ เราไม่สนใจเรียนรู้บริบทว่าเพราะอะไรผู้หญิงที่บางระจัน หรือที่ถลาง ภูเก็ต ต้องออกมาต่อสู้ เพราะผู้ชายอาจจะมีไม่เพียงพอ เราต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจประวัติศาสตร์การต่อสู้เหล่านี้ด้วย เพราฉะนั้นประวัติศาสตร์ในภาคใต้มันก็มีเลือดเนื้อ มีความรู้สึก หรือบางทีผู้ชายอาจถูกกระทำ ผู้หญิงเลยต้องออกมา"


 


"เราต้องแยกด้วยว่าประเด็นที่ออกไปเป็นแนวร่วมมาจากการถูกปลุกปั่นเพื่อเป็นเครื่องมือต่อรองต่อกรกับรัฐบาลหรือเปล่า หรือประเด็นที่สองคือเขาออกไปด้วยตัวเอง เพราะตัวเขาโดนกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐโดยไม่มีทางเลือก บางทีสามีเขาอาจจะถูกจับ ลูกชายเขาอาจจะถูกฆ่าก็ได้ เขาเลยต้องออกมาแสดงพลังว่าในเมื่อเขาไม่มีใครก็ต้องออกมา ต้องแยกให้ออกว่ามันแตกต่างกันระหว่างการถูกปลุกปั่นกับการออกไปโดยไม่มีทางเลือก"


 


"โดยจุดมุ่งหมายของผู้ที่ปลุกปั่น เขาต้องการใช้เด็กและผู้หญิง เพื่อดูว่าถ้าเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงตอบโต้กลับมาเมื่อไหร่ ยิ่งจะทำให้เขาได้เปรียบ ได้ความชอบธรรมในการที่จะตอบโต้หรือต่อสู้ต่อไป จะมีข้อทักท้วงว่านี่ขนาดผู้หญิงและเด็กรัฐยังไม่เว้น การที่เขาใช้เด็ก มันก็สมเหตุสมผลว่ารัฐคงไม่กล้าทำอะไร"


 


"สถานการณ์ในพื้นที่เหล่านั้น ชาวบ้านอาจจะถูกปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่ด้วยความรุนแรง พอมีการปลุกระดมว่าเรามาช่วยกันนะ มันก็ทำให้คนออกมาต่อสู้มากขึ้น ทำให้เชื้อไฟที่อยู่ข้างในมันลุกโชนได้มากขึ้น"


 


"ในปาเลสไตน์ ในอิรัก ในอาเจะห์ ผมมองว่า จำนวนแม่หม้ายในพื้นที่เหล่านั้นมีมากขึ้น เพราะผู้ชายถูกระเบิดตายกันเยอะ ต่อไปผู้หญิงก็ต้องทำหน้าที่ในการนี้แทนผู้ชาย เพราะฉะนั้นเขาจะต้องทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้ได้มาถึงจุดนั้น มันจะก้าวผ่านความเป็นเพศไป แต่เรื่องอย่างนั้นคงยังไม่เกิดขึ้นในภาคใต้ เพราะภาคใต้จะมีเรื่องของศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าสามีคุณตาย คุณจะออกนอกบ้านไม่ได้จนกว่าจะพ้น 40 วัน ข้อจำกัดทางศาสนามันยังมีอยู่ บางครั้งก็มีคนไม่เข้าใจเหมือนกัน เขาจะมองว่าเวลาผ่านไปเป็นเดือนแล้วทำไมถึงเพิ่งจะออกมาเรียกร้อง"


 


"ภาคใต้ยังไม่มีอะไรรุนแรงเหมือนอย่างปาเลสไตน์หรืออัฟกานิสถานที่ผู้หญิงเอาระเบิดมาผูกตัวแล้วพลีชีพ แต่สิ่งเหล่านี้เราก็ประมาทไม่ได้ ถ้าครอบครัวของเขาถูกกระทำมากๆ สิ่งเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นก็ได้ ต้องดูว่ารัฐมีมาตรการ หรือมีวัคซีนที่จะป้องกันไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมากแค่ไหน"


 


"ถ้าดูแนวทางตอนนี้ ด้านหนึ่งรัฐบอกขอโทษ ขออภัยในสิ่งที่เกิดขึ้น ถามว่าอีกด้านหนึ่งคุณเข่นฆ่าพี่น้องที่เป็นมุสลิมหรือเปล่า คุณจัดการกับพวกเขาโดยการใช้ศาลเตี้ยหรือเปล่า เพราะตอนนี้คนในพื้นที่กำลังมองว่านายกฯ ขอโทษ แต่ยังส่งเจ้าหน้าที่ที่เป็นมือสังหารเข้าไปทำลาย เข้าไปฆ่าพี่น้องมุสลิมหรือเปล่า มันจะต้องดูว่ารัฐสามารถทำในสิ่งที่พูดได้แค่ไหน รัฐบอกว่าขอโทษ แต่เจ้าหน้าที่จะปฏิบัติตามคำสั่งของคุณทุกคนไหม เจ้าหน้าที่บางส่วนอาจจะพยายามสร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรงขึ้นมาก็เป็นได้"


 


"ถ้ามองในแง่ของการชดเชย ก็เห็นอยู่ว่ารัฐพยายามเข้าไปเยียวยา แต่ถามว่ามันพอไหม ชีวิตของคนมันก็ไม่สามารถที่จะชดเชยด้วยเงินได้ คุณจะทำยังไงไม่ให้มันลุกลาม หรือถูกปลูกฝังในหัวใจของพวกเขาไปสู่ลูกไปสู่หลาน แน่นอนว่าลูกสูญเสียพ่อของเขาไป ใครจะเป็นคนตอบคำถาม และคนที่อยู่กับลูกมากที่สุดคือใคร ก็คือแม่ ก็คือเพศหญิง เรื่องโล่มนุษย์อาจจะเป็นเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงความรุนแรงให้คงอยู่ แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะต้องเลวร้ายอย่างที่คิดเสมอไป เพราะมันมีความรุนแรงที่น่ากลัวกว่านั้น"


 


"ในขณะที่แม่ให้นมลูก เขาอาจจะพูดหรือสอนลูกเขาทุกเวลาก็ได้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องไปเรียนถึงปอเนาะหรอก ลูกที่อยู่บนตักแม่นี่แหละ ถ้าแม่สอนทุกวันว่า "ลูกเอ๊ย เจ้าจงอย่าลืมว่าคนที่ฆ่าพ่อเจ้าคือใคร เมื่อเจ้าโตขึ้น เจ้าก็ต้องทำตามอย่างพ่อ" เพราะฉะนั้นมือแม่นี่แหละที่เขย่าเปลก็ได้ เขย่าโลกก็ได้"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net