Skip to main content
sharethis

9 ธ.ค. 2549 เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้พิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณปี 2550 ผ่านวาระแรกไปแล้ว ตั้งงบประมาณแผ่นดินเอาไว้ 1,566,200 ล้านบาท ประกาศดำเนินนโยบายแบบขาดดุล โดยตั้งเป้าว่า เป็นรายจ่ายประจำ 1,136,060.8 ล้านบาท หรือ 72.5% เป็นงบลงทุน 374,648.7 ล้านบาท หรือ 24% และคาดว่าจะมีรายรับ 1,420,000 ล้านบาท ซึ่งต้องหาเงินมาเพิ่มอีก 146,200 ล้านบาทมาเติมให้เต็มจำนวน เริ่มใช้ 1 ม.ค. จนถึง 30 ก.ย. 2550


 


ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับงบประมาณปี 2549 ที่ผ่านมา ตั้งงบประมาณแผ่นดินไว้ที่ 1,360,000 ล้านบาท โดยดำเนินนโยบายแบบสมดุล


 


งบ 2550 เรียงลำดับหมวดหมู่การจัดสรรงบประมาณตามยุทธศาสตร์ 7 ประการของรัฐบาล จากมากไปน้อย ดังนี้


 


1. เพื่อพัฒนาคนและสังคมที่มีคุณภาพ 593,116.5 ล้านบาท


2. เพื่อรักษาความมั่นคงและส่งเสริมธรรมาภิบาล 348,896 ล้านบาท (งบในส่วนของการส่งเสริมการปฏิรูปการเมืองอยู่ในหมวดนี้ จำนวน 62,582.4 ล้านบาท และการกระจายอำนาจ 140,666.7 ล้านบาท)


3. เพื่อปรับปรุงการบริหารงานภาครัฐ 331,229.6 ล้านบาท


4. เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างสมดุล 185,889.7 ล้านบาท


5. เพื่อขจัดความยากจนและพัฒนาชนบท 57,620.4 ล้านบาท


6. เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน 47,215.5 ล้านบาท


7. เพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน 2,232.3 ล้านบาท


 


เมื่อแยกรายกระทรวงแล้ว งบประมาณปี 2550 จัดสรรให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นอันดับหนึ่ง คือ 18% อันดับสองคือ งบกลาง 12.4 % อันดับสามคือ กระทรวงมหาดไทย 11.5% และอันดับสี่ กระทรวงการคลัง 11.2 %


 


เมื่อเทียบกับงบประมาณปี 2549 ซึ่งตั้งงบกลางเอาไว้มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง มาในงบประมาณปี 2550 ตัดทอนงบส่วนนี้ไป เป็นการลดและยกเลิกค่าใช้จ่ายของรัฐบาลก่อน เช่น


 


ลดงบประมาณสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ได้รับงบประมาณ 1,551.8 ล้านบาท (ลดลง 699.4 ล้านบาท) ลดงบประมาณสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์แห่งชาติ ได้รับงบประมาณ 394 ล้านบาท (ลดลง 184.6 ล้านบาท) ลดงบประมาณสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้รับงบประมาณ 165.8 ล้านบาท (ลดลง 145.4 ล้านบาท) ลดงบประมาณกรมการขนส่งทางอากาศ ได้รับงบประมาณ 904.6 ล้านบาท (ลดลง 550 ล้านบาท) ลดงบประมาณสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ได้รับงบประมาณ 58.9 ล้านบาท (ลดลง 199.4 ล้านบาท)


 


ตัดค่าใช้จ่ายในการพัฒนาศักยภาพหมู่บ้านและชุมชน จากที่เคยได้รับ 19,100 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัด (งบซีอีโอ) จากที่เคยได้รับ 40,000 ล้านบาท ตัดค่าใช้จ่ายเพื่อปรับกลยุทธ์และรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง จากที่เคยได้รับ 27,200 ล้านบาท


 


ยกเลิกกองทุน เช่น กองทุนเงินให้เปล่า จากที่เคยได้รับ 690 ล้านบาท กองทุนกีฬามวย จากที่เคยได้รับ 20 ล้านบาท กองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน จากที่เคยได้รับ 200 ล้านบาท กองทุนพัฒนาพรรคการเมือง จากที่เคยได้รับ 300 ล้านบาท


 


ในส่วนของหน่วยงานที่ได้งบประมาณเพิ่มขึ้น อาทิ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 75,125.9 ล้านบาท (จากเดิมที่ได้ 39,666.8 ล้านบาท) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน 1,993 ล้านบาท (จากเดิมที่ได้ 300 ล้านบาท) และองค์การสวนยางได้ 8,299.4 ล้านบาท (จากเดิมที่ได้ 696 ล้านบาท)


 


ส่วนงบด้านการศึกษา ที่จัดสรรให้แก่กระทรวงศึกษามากสุด แต่ได้ยกเลิกกองทุนเงินให้เปล่านั้น พบว่ากองทุนเงินกู้เพื่อการศึกษาได้รับงบประมาณจำนวน 36,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณแก่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 31,000 ล้านบาท เพิ่มจากปีที่แล้ว 5,000 ล้านบาท เพื่อจัดสรรให้ผู้กู้รายเก่า 600,000 คน และผู้กู้รายใหม่ 300,000 คน และเป็นงบประมาณให้แก่กองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) หรือไอซีแอล 5,000 ล้านบาท ให้แก่คนที่กู้ยืมจากกรอ. ไปแล้วประมาณ 325,000 คน เมื่อเทอม 1 ปีการศึกษา 2549 ที่ผ่านมา


 


ส่วนกองทุนเงินให้เปล่าที่ถูกยกเลิกไปนั้น นายเปรมประชา ศุภสมุทร ผู้จัดการกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เตรียมชงเรื่องแปรญัตติขอเงิน 1,500 ล้านบาท ให้เด็กมัธยมปลายและปวช.เป็นค่าเล่าเรียน และค่ากินอยู่อีกเดือนละ 1,000 บาท


 


เขากล่าวว่า กรอบวงเงินเดิมส่วนนี้ไม่ได้รับการจัดสรร เนื่องจาก สนช.ยังยึดมติเดิมของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ยกเลิกการให้ทุนเปล่าในส่วนนี้ อีกทั้งยังไม่มีมาตรการใดมารับรอง และเดิมถ้าเป็นแบบ กยศ.จะเป็นการให้กู้ ดังนั้นต้องทำเรื่องเสนอไปยัง ครม.เพื่อให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เห็นชอบอนุมัติและทำการแปรญัตติได้เลย


 


ด้านงบประมาณในส่วนที่ส่งเสริมการกระจายอำนาจจำนวน 140,666.2 ล้านบาทนั้น ที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่สามารถจัดสรรให้ได้ 35% ตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองท้องถิ่น ซึ่งคาดว่ารัฐบาลนี้จะเสนอแก้ไขกฎหมายโดยปรับลดลงเป็น 25%


 


 


 


.............................


ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ และ หนังสือพิมพ์มติชน


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net